คุณน่าจะรู้ว่าไทยเป็น ‘ประเทศเดียว’ ที่ประชาชนควักเงินจ่ายวัคซีนทางเลือกเอง และก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนด้วยนะ เพราะถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าเน็ต ลงทะเบียนในเว็บไซต์หรือแอปฯ ต่างๆ ก็อด บางคนมีเงินแต่ก็ยังจองไม่ได้ เพราะจำนวนวัคซีนที่มีให้จำนวนจำกัด
วัคซีนจากรัฐบาลยิ่งไม่ต้องพูดถึง นอกจากให้ Sinovac มาโดยไม่ได้ร้องขอ จนแพทย์ด่านหน้าติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น AstraZeneca ชนชั้นกลางยังคงแย่งลงทะเบียนวัคซีน ได้ฉีดบ้าง เลื่อนโดยไม่มีกำหนดบ้าง Pfizer ที่อเมริกาบริจาคให้ แพทย์บางคนก็ยังไม่ได้ฉีด
การเข้าถึงวัคซีนที่ทรหดในไทยนำไปสู่ยอดติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง โรงพยาบาลรัฐ เอกชน และโรงพยาบาลสนามเต็ม ทำให้ต้องมีระบบ Home Isolation เข้ามา แต่กลับไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจน รัฐแก้ปัญหาด้วยการล็อกดาวน์ แต่ยังทำให้คนตกงาน รายได้หาย คนตายเพิ่ม และใช่ ‘คนนอนตายข้างถนน’ ก็มีเหมือนกัน
น่าเศร้าที่คนตายข้างถนนบางส่วนเป็น ‘คนไร้บ้าน’ เร่ร่อน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีโอกาสจองวัคซีน ไม่มีเงินออกนอกประเทศไปฉีดวัคซีนดีๆ เข้าไม่ถึงระบบการรักษา ไม่มีอะไรเลย พวกเขาเป็นเพียงกลุ่มคนที่กำลังจะหมดลมหายใจ เพราะรัฐไทยไร้ความมั่นคง
“คนเร่ร่อนคือผลกระทบของทุกปัญหาในประเทศที่ถูกซุกไว้ใต้พรม วันที่มีคนตายข้างถนน และนายกฯ ยืนยันว่า ห้ามมีภาพเหล่านั้นอีก ปัญหาคนไร้บ้านที่ปกติคนคงไม่ได้สนใจมากจึงถูกฉายแสงว่า สวัสดิการและสิทธิต่างๆ มันไม่ครอบคลุมทุกคน จำนวนคนออกมาอยู่กลางถนนเพิ่มขึ้นเท่าตัว และรัฐมีทัศนคติเก็บกวาดปัญหาให้หายไป แทนการยอมรับหรือช่วยเหลือ”
จ๋า-อัจฉรา สรวารี จาก มูลนิธิอิสรชน อาสาสมัครเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นไม่กี่องค์กรที่ช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวอยู่ตลอดในช่วงโควิด-19 ทั้งแจกอาหาร ช่วยตรวจหาเชื้อ ประสานงานเรื่องการจ่ายยา ส่งเคสสู่ศูนย์พักคอย (ซึ่งบางเคสรัฐก็ไม่รับ) และต่อสู้ทางนโยบายกับรัฐ เธอบอกฉันว่า คนในประเทศมีโอกาสออกมาเป็นคนไร้บ้านถาวร ถ้ารัฐสวัสดิการยังเป็นแบบนี้
01 ปัญหาคนไร้บ้านที่ต้องปลดแอก
ปี 2539 เวลาหลังเลิกงานอันเหน็ดเหนื่อยของนักกิจกรรมอย่าง นที สรวารี เขาเลือกไปนั่งเล่นในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทว่าเผลอหลับไปเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ยามตื่นขึ้น เขาพบลุงแปลกหน้านั่งพัดให้เขาคลายร้อนอยู่ข้างๆ เขารีบเช็กกระเป๋าสตางค์หรือของมีค่าว่าหายไปไหม ปรากฏว่าอยู่ครบ นั่นทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า มายาคติที่คนนอกมองคนไร้บ้าน และคนเร่ร่อนว่าน่ากลัว หรือเป็นคนไม่ดี ดูท่าจะผิด หลังจากนั้นเขาจึงแบกเป้ลงมาคุยกับคนไร้บ้านหลังเลิกงานเรื่อยๆ พูดคุยถึงปัญหา และคอยช่วยเหลือ จนเริ่มจดทะเบียนเป็น ‘มูลนิธิอิสรชน’ ในปี 2554 และเปิดรับทีมอาสาสมัครเข้ามาช่วยทำงานจนถึงปัจจุบัน
“ถ้าไม่ใช่สถานการณ์โควิด-19 คนเมืองอาจจะไม่ค่อยสนใจประเด็นคนไร้บ้าน และคนเร่ร่อนเท่าไหร่ เพราะทุกคนต่างมองพวกเขาด้วยทัศนคติลบๆ สกปรก ขี้เหล้า เมายา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต่อสู้กับทัศนคติของคนในสังคมมาอย่างยาวนาน แต่วันนี้ วันที่สภาพบ้านเมืองเข้าขั้นวิกฤต หลายคนมีโอกาสที่จะตกงาน ไม่มีบ้าน ถูกไล่ที่ ถูกไล่ออกจากบ้านเช่า มันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน เพราะรัฐสวัสดิการไทยล้มเหลว” ‘จ๋า’ ตัวแทนจากมูลนิธิอิสรชนบอก
คำว่า Homeless แปลตรงตัวคือ คนไร้บ้าน หลายคนจึงเรียกคนทุกกลุ่มที่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะว่าคนไร้บ้าน แต่แท้จริงคนไร้บ้านบางคน เป้าหมายหลักไม่ใช่การกลับบ้าน หรือมีบ้าน พวกเขาแค่อยากหลีกหนีตัวตน อยากมีสังคมใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะไม่อยากถูกกระทำแย่ๆ ซ้ำ ซึ่งถ้าพวกเขามีเงินมากพอก็คงไปเริ่มชีวิตใหม่ในต่างประเทศแล้ว ติดตรงที่ ‘ไม่มี’
“มูลนิธิอิสรชนจำแนกการให้ความช่วยเหลือ และลงไปคุยถึงสาเหตุต่างๆ ของแต่ละเคส แบ่งออกเป็น คนเร่ร่อน คนเร่ร่อนไร้บ้าน คนไร้บ้าน ผู้ป่วยทางจิต ผู้พ้นโทษ พนักงานขายบริการอิสระ คนจนเมือง คนที่ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะชั่วคราว แรงงานข้ามชาติ ชาวต่างชาติเร่ร่อน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพบว่าไม่มีใครออกมาอยู่ในที่สาธารณะด้วยเหตุผลเดียวกันทั้งหมด
“คนไร้บ้านที่ไม่มีบ้านอยู่ ปัญหาของพวกเขาคือการเข้าถึงบ้านในราคาเอื้อมไม่ถึง แม้รัฐบาลจะมีบ้านเอื้ออาทรกับบ้านมั่นคง และบอกว่านี่คือที่อยู่ของกลุ่มคนรายได้น้อย แต่เอาเข้าจริง คนที่มีสิทธิ์ไปจับจองกลับไม่ใช่กลุ่มคนไร้บ้าน หรือกลุ่มคนด้อยโอกาสจริงๆ เพราะราคาที่สวนทาง
“คนเร่ร่อน บางคนอาจจะออกมาบนถนน ด้วยปัญหาครอบครัวที่แตกต่างกัน เพราะการคุยอย่างเข้าใจในบ้านขาดไป หรือบางบ้านมีผู้ป่วยติดเตียงหนึ่งคน คนในครอบครัวรายได้หายไป เลือกทิ้งญาติตัวเองข้างถนน เพราะสังคมบีบให้เห็นแก่ตัวก็มี ซึ่งถ้าพวกเขาอยู่บนถนนแล้วไม่ได้เป็นภาระใคร มีสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองของประเทศ เจ็บป่วยได้รับการรักษาเหมือนคนทั่วไป มีข้าวกิน นอนหลับในที่สาธารณะได้ โดยไม่ได้ทำผิดกฎหมายข้อใด คงไม่มีปัญหาอะไร
“แต่สุดท้ายมันไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะรัฐสวัสดิการของคนไร้บ้านแทบจะไม่มีอะไรเลย เช่น ตาสีตาสาที่ไม่ได้มีบำนาญ มีแค่สวัสดิการผู้สูงอายุหกร้อยบาทต่อเดือน จะเอาอะไรมาประทังชีวิต หรือบางคนเจ็บป่วยแต่งตัวโทรมๆ เดินไปหาหมอ แค่ถึงหน้าโรงพยาบาล ก็โดนกันไม่ให้เข้าไป เพราะถูกกดทับเชิงทัศนคติ จนสุดท้ายเขาต้องนอนรอปอเต็กตึ๊งมารับ หรือหากเป็นคนสมุทรสาคร มาอยู่กรุงเทพฯ แล้วเกิดป่วยขึ้นมา บางคนต้องแบกความเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์รักษาฟรี เฮ้ย ทำไมคนด้อยโอกาสมันเข้าถึงการรักษายากจัง” ฉันพยักหน้าตามคู่สนทนาทันที
02 โควิด-19 : ไร้บ้าน ยิ่งยากไร้
ด้วยสถานการณ์ในประเทศที่คนเจ็บป่วย และล้มตายมากขึ้น ทำให้ประชาชนมองเห็นช่องว่างของการขาดเครื่องมือทางการแพทย์ วัคซีน และการเข้าถึงการรักษา จ๋าในฐานะตัวแทนจากมูลนิธิอิสรชนบอกฉันว่า บางจังหวัดที่เธอลงไปช่วยเหลือ PPE หรือชุดอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคลของแพทย์ก็มีแค่ชุดเดียว ทำให้ประชาชนต้องออกมาระดมทุนช่วยกันเอง
คำถามคืองบประมาณในการช่วยเหลือของรัฐบาลหายไปไหน
“การออกมาพูดแบบนี้ มันเหมือนเรามาด่ารัฐบาล แต่ในเชิงปฏิบัติ คนหน้างานก็จะรู้ว่าล้มเหลวจริงๆ ทุกวันนี้อาสาสมัครจ่ายค่าน้ำมันเอง เปิดรับบริจาคกันเอง ลงหน้างานเองทั้งหมด บางเคสต้องวนรถไปแจกยาฟาวิพิราเวียร์ที่ประสานงานกับโรงพยาบาลเอกชนให้ผู้ป่วยข้างถนน ไปแจกแปดโมงเช้า ถึงสองทุ่ม เพราะผู้ป่วยต้องกินยาตรงเวลา
“พวกเรากลายเป็นที่พึ่งไม่กี่ที่ของคนไร้บ้าน จะนิ่งเฉยก็ทำไม่ลง บางครั้งก็ต้องช่างแม่งรัฐ เพราะถ้ารอ เคสก็ตาย”
จ๋าเล่าการทำงานของมูลนิธิอิสรชนให้ฟังว่า อย่างแรกที่ทำคือการลงไปหาคนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะด้วยความเป็นเพื่อน เหมือนมูลนิธิเป็นเด็กเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย และอยากทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ว่าเธอชื่ออะไร นอนตรงนี้เหรอ เพื่อให้เกิดความสนิทและเชื่อใจกัน ส่วนในช่วงโควิด-19 มูลนิธิอิสรชนจะกระจายรถตู้จิตอาสาไว้แจกจ่ายของใช้พื้นฐาน ยาสามัญประจำบ้าน และให้คำปรึกษาต่างๆ กับคนไร้บ้าน และคนเร่ร่อน พร้อมทั้งเปิดรับเป็นเงินบริจาคมาพัฒนาร้านอาหารที่นำเคสคนไร้บ้านมาเป็นเชฟ เพื่อส่งเสริมการมีรายได้ และทุกๆ วันอังคารในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 นี้จะมีการแจกข้าวกล่อง 600 ชุด สำหรับคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน และคนในชุมชนแออัด
“การแจกข้าวกล่องเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เราได้เช็กจำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งพบว่าจากระลอกก่อน แจกข้าวกล่องสามร้อยชุดพอ รอบนี้หกร้อยชุดยังแทบไม่พอ”
ตัวเลขคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในระลอกนี้ ทำให้มูลนิธิอิสรชนต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เวลาเจอเคสที่อาการไม่ดี ก็จะเข้าไป Swab Test ทันที ถ้าผลออกมาว่าติด จะประสานงานกับภาคเอกชนจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และรักษาตามอาการด้วยยาสามัญประจำบ้านที่ประชาชนบริจาค แต่เส้นทางกลับไม่ได้ราบรื่น เพราะจ๋าบอกว่า บางเคสจำเป็นต้องส่งศูนย์พักคอยให้ได้ โทรหลายร้อยสาย ปาไป 5 ชั่วโมงกว่าจะมารับ และบางเคสที่เคราะห์ร้าย รัฐไม่รับ อ้างว่าเตียงเต็ม มูลนิธิอิสรชน ก็ต้องกำชับผู้ป่วยให้อยู่ในมุมมุมหนึ่งของพื้นที่สาธารณะห้ามไปไหน ซึ่งบางครั้งเคสก็หาย ตามตัวไม่เจอ เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับผิดชอบ
03 รัฐต้องมองเห็นชีวิตของประชาชน
วัวหายล้อมคอก คือสำนวนไทย ที่มีความหมายว่า เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงหาทางป้องกัน มูลนิธิอิสรชนมองว่ารัฐไทยกำลังเป็นแบบนั้น เนื่องจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาพูดว่ามีศูนย์พักคอย มีศูนย์พักพิง แต่หน้างานกลับเต็มหมด หรือบอกว่ามีรถรับส่งทุกเขตพร้อมสแตนด์บาย 24 ชั่วโมง แต่โทรไปไม่ติด หรือพอติดก็ให้รอเข้าระบบก่อนอีกนาน ปลายทางเหล่าอาสาสมัครจึงต้องมาทำพื้นที่ใต้สะพาน หรือพื้นที่สาธารณะบางจุดเป็นที่กักตัว บ้างก็ต้องติดต่อมูลนิธิกระจกเงา หรือกลุ่มเส้นด้าย มาให้ถังออกซิเจนสำหรับเคสที่หายใจแทบไม่ไหว
ไม่มีใครอยากรอรัฐที่ไม่คำนึงถึงชีวิตคน
“บางทีเราก็งงว่าจะมีรัฐบาลไว้ทำไม ถ้าประชาชนจะช่วยกันเองขนาดนี้ ถามว่าเราเคยแจ้งปัญหากับรัฐไหม เราเคยทั้งประชุมร่วมกัน และเสนอแผนนโยบายกับหน่วยงานต่างๆ แต่สุดท้ายรัฐลงมาจัดการในรูปแบบที่ไม่เข้าใจอะไรเลย บางครั้งรัฐมนตรีเดินกันมาเป็นขบวน ถามหน่อยว่าใครจะมานั่งรอต้อนรับคุณ คนไร้บ้านก็ลุกหนีกระจายไปหมด เพราะในอดีตการจัดระเบียบของรัฐไม่เคยเป็นมิตร
“การส่งเข้าระบบก็ลำบากมาก ล่าสุดเราทำเคสผู้ป่วยทางจิตเร่ร่อน ส่งไปที่ไหน โรงพยาบาลเต็มหมด ศูนย์พักคอยก็ไม่รับ แล้วเคสไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้ เพราะอ่อนแรงมาก ขับถ่ายไม่รู้ตัว สุดท้ายต้องรักษากันข้างถนน มีแพทย์ชนบทมาตรวจเชิงรุก ขอยาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็บอกว่ายาหมด ยาไม่พอ เอกชนก็ต้องหากันเองจากเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่ยังเห็นค่าชีวิตคน บางรายที่ไม่มีบัตรประชาชน เราก็ต้องขอร้องโรงพยาบาลเอกชนให้จ่ายยาจากผล Swab Test เพราะความตายมันรอไม่ได้
“มีคนไร้บ้านเคสหนึ่ง เขาอยู่แถวสะพานควาย ส่งเข้ารักษาได้ก็จริง แต่ใช้เวลาติดต่อกว่าสิบสาย ห้าชั่วโมง และทำให้เห็นปัญหามากมายเกิดขึ้น เทศกิจที่มารับไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย เราต้องเอาชุด PPE ของเราบริจาคให้เขาไปสองชุด ไม่งั้นก็ไม่สามารถอุ้มเคสได้ แล้วเขายังถามต่ออีกว่าผมต้องทำอะไรบ้าง เราก็งง ในเมื่อคุณเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอะ ทำไมเป็นแบบนี้”
อีกตัวอย่างการจัดการซึ่งไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลที่จ๋าเล่าให้ฟังคือ โครงการพาคนต่างจังหวัดกลับบ้านเกิด ที่รัฐสื่อสารกับชาวบ้านให้กักตัวบริเวณเถียงนา ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่มีเถียงนาไหนให้กัก จ๋าเล่าว่ามูลนิธิอิสรชนลงพื้นที่ที่โคราช และอุดรธานี พบว่าทุกศาลาจะมีคนนอนข้างถนน เพราะรัฐไม่มีการให้ความรู้คนในชุมชนว่าจะอยู่ร่วมกับคนติดเชื้ออย่างไร คนที่กลับไปบ้านเกิดจึงถูกไล่ไม่ให้อยู่ในชุมชน เพราะทัศนคติรังเกียจเชื้อไวรัส
“ประชาชนควรได้ทราบข้อมูลอย่างชัดเจนว่า สามถึงห้าวัน ถ้าติดแล้วไม่มีอาการต้องทำยังไงต่อ หรือถ้ามีอาการต้องทำยังไงต่อ รุนแรงแล้วไปไหน อยู่ร่วมกันยังไง ทั้งๆ ที่ตอนเราไปปรึกษาแพทย์มา เขาบอกว่าสามารถ Home Isolation ในบ้านเดียวกันได้ แค่ต้องมีฉากกั้น หรือให้คนไม่ป่วยอยู่เหนือลม
“ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการไม่เข้าถึงการรักษา และตายเร็ว คนตกงาน อดอยาก และคนไม่กล้าขยับตัวจะทำอะไร ถ้าเศรษฐกิจยังปิดอยู่แบบนี้ คนจะออกมานอนข้างถนนกันเพิ่มขึ้น จากคนไร้บ้าน และเร่ร่อนหน้าใหม่ ที่อาจจะออกมาอยู่แป๊บๆ จะกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร เพราะการช่วยเหลือที่มันเข้าไม่ถึงคนตัวเล็กเลย” ถ้าถึงวันนั้นแบบที่จ๋าบอก เราจะอยู่กันอย่างไรให้รอดในประเทศนี้กันนะ
04 วัคซีนควรมาหาประชาชน ไม่ใช่ประชาชนต้องดิ้นรนไปหาเอง
กลุ่มคนไร้บ้านควรได้รับวัคซีนที่มีขาเดินมาหาพวกเขา และเข้าถึงวัคซีนตั้งแต่ระลอกแรก แต่กว่าจะมาถึงกลับเป็นกลุ่มคนที่ได้ฉีดช้าที่สุดในประเทศ จ๋าเคยพยายามเรียกร้องจนได้ความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มาฉีดให้ฟรีในช่วงแรกๆ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ล่าสุดทางกรุงเทพมหานครบอกจะฉีดวัคซีนให้คนไร้บ้าน แต่เมื่อถึงหน้างาน มูลนิธิอิสรชนที่เห็นคนไร้บ้านอาบน้ำแต่งตัวให้เกียรติแพทย์ กลับถูกหน่วยงานรัฐมองว่าไร้บ้านปลอม เร่ร่อนปลอม จนไม่ได้ฉีด
“ตัวเลขเฉลี่ยแบบไม่เป็นทางการคือคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ได้ฉีดวัคซีนไปเพียงห้าร้อยถึงหกร้อยคน เพราะรัฐบาลที่อ้างว่าทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีน ยังจับผิดว่าคนนี้ไร้บ้านจริงไหม มีบัตรประชาชนหรือเปล่า สรุปแล้วคุณก็ไม่ได้ให้ใจกับประชาชนอยู่ดี ถึงไม่มีบัตรประชาชน คุณก็ควรให้พวกเขาเข้าสู่ระบบ โดยเช็กการฉีดจากรหัสวัคซีนแทนก็ได้
“ในอเมริกา เขาฉีดวัคซีนให้คนไร้บ้านหมดเลย นิวซีแลนด์เขาก็เปิดโรงแรมให้คนไร้บ้านกักตัว หันมองประเทศเรา คือเอกชนต้องไปขอร้องหมอในโรงพยาบาลหลายๆ ท่านมาช่วยเอง รัฐยังมีทัศนคติติดลบกับประชาชนในประเทศ แบ่งชนชั้น ไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตประชาชนสำคัญเท่ากัน เพราะขนาดชนชั้นกลางยังต้องมาแย่งกันลงทะเบียนในแอปฯ อยู่เลย
“หากวัคซีนมีขาเดินมาหาประชาชน กลุ่มไหนก็ควรจะได้ฉีด และถ้าเรามีวัคซีนดีๆ มากพอ คงไม่ต้องมีใครมาแย่งลงทะเบียน ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือชุดตรวจโควิด-19 ก็คงไม่ต้องมีใครเอาออกมาขายแพงหูฉี่เพื่อหาประโยชน์” มูลนิธิอิสรชนฝาก
สุดท้าย ถ้าทุกอย่างมัน ‘ฟรี’ ตามการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ประเทศไทยคงไม่เดินมาถึงจุดที่คนไร้บ้านมีมากขึ้นทุกวัน ตายมากขึ้นทุกวัน สวนทางกับคนรวย หรือคนมีอำนาจบางกลุ่มที่ลอยตัวกับทุกปัญหาในประเทศตอนนี้
คนไร้บ้าน คือประชาชนในประเทศ
หากรักประชาชนทุกคนเท่ากันแบบที่กล่าวอ้าง ก็ ‘อย่าลืม’ และ ‘อย่าทิ้ง’ พวกเขาให้ตายข้างถนน