ความเจริญและเทคโนโลยีได้เข้ามาเติมเต็มให้ผู้คนใช้ชีวิตได้สะดวกสบายและเกิดความต้องการที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของผู้คนมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ
เช่นเดียวกันกับ ‘ที่อยู่อาศัย’ ซึ่งเป็นความสำคัญหนึ่งในชีวิตของผู้คนที่ใช้พักผ่อนหลับนอน สถานที่เหล่านี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปหลากหลายรูปแบบเช่นกัน บ้านไม่ได้มีหน้าตาเป็นแค่หลังคาจั่วเหมือนภาพวาดตอนประถม แต่ยังมีคอนโดฯ อะพาร์ตเมนต์ หรืออาคารมากมายที่ล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบให้สวยงามแปลกตาและมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายกว่าที่ผ่านมาหลายเท่า
คอลัมน์ Urban’s Pick ครั้งนี้ พาทุกคนไปดู 6 ที่อยู่อาศัยจากหลายประเทศทั่วโลกที่นอกจากจะโดดเด่นเรื่องของไอเดียความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังตอบโจทย์แนวทางการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น และยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นด้วย
Oxygen Eco Tower
ประเทศอิตาลี
เริ่มต้นเราขอพาไปที่โครงการวิลล่าลอยฟ้าในประเทศอิตาลีที่ชื่อว่า ‘Oxygen Eco Tower’ ที่ออกแบบโดยบริษัทชื่อดังในมิลานอย่าง ‘Progetto CMR’ เป็นอาคารที่อยู่อาศัย 75 ชั้น บรรจุไว้ด้วยวิลล่า 161 หลัง ในแต่ละหลังจะมีสวนส่วนตัวและสระว่ายน้ำ มีการผสมผสานทั้งเรื่องของดีไซน์ที่สง่างามและการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนช่วยยกระดับความสะดวกสบาย
แนวคิดการออกแบบอาคารแห่งนี้ได้รับการพัฒนาจากแบบจำลองทางเรขาคณิตของดอกไม้ โครงการนี้จะประกอบด้วยรูปร่างวิลล่าที่แตกต่างกัน 4 แบบ ถูกวางเรียงซ้อนขึ้นไปสูงเสียดฟ้า
นอกจากจะมีที่อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อยแล้ว Oxygen Eco Tower ก็มีพื้นที่อื่นๆ อีกเพียบ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องสมุด โรงเรียนอนุบาล วีไอพีเลานจ์ บาร์ซิการ์ สปา สนามเทนนิส ลู่วิ่ง สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของบริการที่จะมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
ที่อยู่อาศัยแนวตั้งแห่งนี้มีกลยุทธ์การออกแบบด้วยจุดมุ่งหมายจะยกระดับแนวคิดดั้งเดิมของวิลล่า ผ่านอาคารที่อยู่อาศัยใหม่ที่สะท้อนวิสัยทัศน์อันยั่งยืน เพราะตั้งใจจะลดการใช้พื้นที่ในเมืองที่มีความหนาแน่นสูง และลดมลพิษจากการใช้พลังงานที่ไม่หมุนเวียนนั่นเอง
303 Battery
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ตึกสูงแห่งนี้เป็นอะพาร์ตเมนต์ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) หลังแรกของโลก ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ได้รับการรับรองโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง International Living Future Institute (ILFI)
นอกจากความโดดเด่นเรื่องการเป็นอาคาร Net Zero แล้ว 303 battery ยังมีลักษณะการก่อสร้างที่น่าสนใจ ด้วยเทคนิค Prefabricated Building หรือการผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยนำมาประกอบกันในบริเวณที่ต้องการก่อสร้าง
Prefabricated Building นั้นมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ลดขยะจากการก่อสร้าง ลดเสียงรบกวนในเมืองขณะกำลังก่อสร้าง ช่วยลดระยะเวลาก่อสร้าง และทำให้การทำงานก่อสร้างมีเงื่อนไขที่ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการทำงานระหว่างที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ
ในการก่อสร้างอาคารหลังนี้ Sustainable Living Innovations (SLI) บริษัทในซีแอตเทิลได้วางแผนการก่อสร้างโดยผลิตชิ้นส่วนล่วงหน้าราว 44 แบบ เพื่อใช้เป็นพื้น ผนัง เพดาน ฯลฯ ในชิ้นส่วนแต่ละส่วนจะมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า ปั๊มน้ำ รวมถึงฟังก์ชันทางเทคนิคต่างๆ เมื่อนำมาประกอบกับโครงสร้าง Modular จะทำให้การก่อสร้างตึกทั้งตึกกลายเป็น Smart Building Technology แห่งยุคไปได้เลย
แม้การก่อสร้างแบบ Prefabricated Building ยังไม่ได้มีข้อพิสูจน์ว่าจะมีความทนทานมากแค่ไหน เพราะมันเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่จากมาตรฐานในการออกแบบก็สามารถบอกได้ว่า มันเป็นอาคารที่ทนต่อแรงสั่นสะเทือน เช่น แผ่นดินไหวหรือพายุใหญ่ และยังใช้วัสดุที่ไม่ติดไฟ จึงเชื่อมั่นได้ว่าอาคารแห่งนี้จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
ทั้งนี้ อาคารส่วนแรกสร้างเสร็จแล้วในช่วงวันแรงงานสากลที่ผ่านมา ตึกนี้จะต้องใช้เวลาสร้างต่ออีก 5 – 6 เดือน ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากเมื่อเทียบกับการก่อสร้างตึกในขนาดใกล้เคียงกัน เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีห้องทั้งหมด 15 ชั้น 122 ยูนิต ที่แบ่ง 27 ยูนิตให้เป็นที่พักอาศัยราคาถูก ตามโปรแกรม Multi Family Tax Exemption (MFTE) ของรัฐซีแอตเทิลด้วย
OPod Tube Housing
ประเทศฮ่องกง
พาไปดูอีกวิธีการแก้ปัญหาวิกฤตด้านที่อยู่อาศัยในประเทศฮ่องกงที่มีราคาที่ดินและการเช่าที่อยู่อาศัยสูงมากๆ โดย ‘James Law Cybertecture’ สตูดิโอชื่อดังของฮ่องกงได้พัฒนาต้นแบบสำหรับที่อยู่อาศัยขนาดย่อม มีหน้าตาเป็นท่อคอนกรีตชื่อว่า ‘OPod Tube Housing’ ขึ้นมา
โครงการ OPod ยังคงเป็นเพียงแนวคิด แต่สถาปนิกได้สร้างต้นแบบออกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ภายในผนังคอนกรีตโค้งแห่งนี้จะมีตั้งแต่โซนนั่งเล่น ที่ทำอาหาร แผงด้านหน้าที่เป็นกระจกทั้งบานทำหน้าที่เป็นประตูและหน้าต่าง มีแสงธรรมชาติ เพิ่มเติมด้วยแถบไฟใต้ชั้นวางและโคมไฟแบบยืดหดได้ที่ผนัง ภายในทาสีขาวและมีพื้นไม้แบบเรียบเพื่อให้ผู้อาศัยสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ง่ายขึ้น ม้านั่งสามารถพับลงเพื่อใช้เป็นเตียงได้ โดยเบาะรองนั่งก็สามารถพับเป็นที่นอนได้อีก นอกจากนี้ยังมีที่ว่างสำหรับวางตู้เย็นขนาดเล็ก เตาไมโครเวฟ รวมถึงราวสำหรับแขวนเสื้อผ้าและขาตั้งสำหรับวางกระเป๋าเดินทาง
ส่วนด้านหลังของท่อถูกกั้นออกเป็นห้องน้ำพร้อมฝักบัวและโถสุขภัณฑ์ ผนังทรงกลมปูด้วยกระเบื้องหกเหลี่ยมสีขาวเรียบร้อย ปูพื้นด้วยไม้ระแนงเพื่อระบายน้ำ พร้อมประตูที่สามารถปลดล็อกได้โดยใช้สมาร์ตโฟน
ความพิเศษอีกอย่างของ OPod ด้วยลักษณะท่อที่มีความกว้างเพียง 2.5 เมตร พอดีกับช่องว่างแคบๆ ระหว่างอาคาร และด้วยน้ำหนัก 20 ตันที่ยกได้ด้วยรถเครน ทำให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย ทั้งยังสามารถวางซ้อนกันได้อีกต่างหาก แม้จะเป็นข้อเสนอที่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาอย่างถาวร แต่สถาปนิกก็เชื่อว่า การออกแบบนี้จะช่วยบรรเทาทุกข์สำหรับผู้อยู่อาศัยที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยาได้ในอนาคต
The Float
ประเทศเนเธอร์แลนด์
‘Studio RAP’ บริษัทสถาปัตยกรรมในรอตเทอร์ดาม สร้าง ‘The Float’ บ้านลอยน้ำแบบยั่งยืน ด้วยการใช้ท่อนไม้และไม้คอร์ก ทำให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยง่ายขึ้นอย่างมาก มีรายละเอียดที่เรียบง่ายและสง่างามในคราวเดียวกัน
การตกแต่งภายในด้วยไม้เปลือยช่วยให้รับแสงและสร้างประสบการณ์การตกแต่งภายในที่เงียบสงบ ในขณะที่เปลือกนอกไม้ก๊อกทึบก็ยังกลมกลืนกับบรรยากาศของเมืองประวัติศาสตร์อย่าง Leiden ด้วย
ไอเดียในการออกแบบคือ ต้องการให้บ้านลอยน้ำเป็นทั้งทางเลือกในการอยู่อาศัย และยังเป็นบรรยากาศของเมืองได้ด้วย นักออกแบบจึงเลือกทำบ้านลอยน้ำหลังเล็กๆ หลายๆ หลังให้เห็นตลอดริมแม่น้ำมากกว่าจะทำบ้านหลังใหญ่หลังเดียว
รูปทรงของบ้านลอยน้ำหลังนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการพับกระดาษที่ชื่อว่า ‘โอริงามิ’ (Origami) นอกจากความสวยงามแล้ว มันยังทำให้โครงสร้างมีลักษณะเด่นที่การใช้วัสดุน้อยอย่าง โดยใช้เทคนิคการจัดเรียงวัสดุไม้ที่เรียกว่า Cross Laminated Timber Structure หรือการนำไม้หลายๆ ชิ้นมาเรียงซ้อนกันแบบสลับด้านแล้วเชื่อมอัดด้วยกาว ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานได้โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างที่ซับซ้อน และยังเป็นการโชว์ลายไม้ที่สวยงามในโครงสร้างภายใน การออกแบบด้วยลักษณะเช่นนี้ทำให้ลดการใช้ท่อนไม้ไปได้มากถึง 2 ตัน
วัสดุไม้คอร์กที่ใช้มีทั้งลักษณะที่หนาแน่นน้อยและหนาแน่นมาก จึงสามารถปรับใช้ให้เหมาะกับทั้งโครงสร้างภายในและภายนอกได้ และถูกเชื่อมด้วย Cork Mortar หรือวัสดุคล้ายปูนที่ทำจากไม้คอร์ก ทำให้ทั้งอาคารระบายอากาศได้ดี และไม้คอร์กทั้งหมดก็มาจากแหล่งปลูกเฉพาะการนำมาใช้ในการก่อสร้าง ย่อมทำให้ Carbon Footprint น้อยลง
และบ้านลอยน้ำแห่งนี้ยังได้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบ ทำให้ทุกการปรับเปลี่ยนหรือตัดสินใจสามารถแก้ไขได้โดยไม่กระทบกับโครงการ นอกจากจะเอื้อต่อระบบการทำงาน ยังช่วยประหยัดเรื่องงบประมาณและคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก
Currents for Currents
ประเทศฟิลิปปินส์
จากการสำรวจผลกระทบรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและภาวะโลกร้อนต่อสภาพความเป็นอยู่ในอนาคตทั่วโลก ทำให้ ‘Dada’ บริษัทสถาปัตยกรรมในมะนิลาจึงได้ผุดไอเดีย ‘Currents for Currents’ หรือที่อยู่อาศัยลอยน้ำขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาให้กับชุมชนริมฝั่งที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงในวันข้างหน้า
เนื่องจากชุมชนริมฝั่งต้องใช้ชีวิตในสภาวะที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการที่พักอาศัยที่ปลอดภัยและยั่งยืน ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของทะเลได้
หัวใจของโครงการนี้อยู่ที่การออกแบบ ซึ่งอาศัยการพึ่งพิงใช้ประโยชน์จากทะเล เช่น บ้านลอยน้ำแห่งนี้จะใช้พลังงานจากน้ำขึ้นน้ำลงและพลังงานแสงอาทิตย์ เก็บเกี่ยวโดยระบบเทคโนโลยีที่รวมอยู่ภายในยูนิต ทำให้ชุมชนทั้งหมดไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์
และระบบเหล่านี้ไม่เพียงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางในการดำรงชีวิตและแหล่งรายได้เสริมในการสร้างรายได้จากไฟฟ้าเพื่อแบ่งปันไปสู่ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย
รวมถึงการออกแบบชุมชนลอยน้ำเหล่านี้จะใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไปสำหรับโครงสร้างหลักที่เป็นพลาสติกขึ้นรูป ช่วยให้การก่อสร้างทำได้โดยง่าย และยังสามารถนำไอเดียนี้ไปใช้สร้างชุมชนลอยน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทุกแห่งทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้คนริมชายฝั่งให้ดำรงชีวิตอยู่ได้กับสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น
Sheltainer
ประเทศอียิปต์
สถาปนิกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ‘Mouaz Abouzaid’, ‘Bassel Omara’ และ ‘Ahmed Hammad’ ได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในกรุงไคโร
สถาปนิกเล่าจุดเริ่มต้นไอเดียว่า อียิปต์นั้นมีท่าเรือมากมาย ซึ่งท่าเรือที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากพื้นที่โครงการเพียงหนึ่งชั่วโมง มีตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้ใช้จำนวนมากถูกทิ้งไว้จนขึ้นสนิม
โครงการนี้จึงเกิดขึ้นมาในชื่อว่า ‘Sheltainer’ คือการนำตู้คอนเทนเนอร์มาสร้างประโยชน์ใหม่ให้เป็นที่อยู่อาศัย โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย นักเรียน หรือผู้ลี้ภัย เป็นต้น ผ่านการออกแบบที่เรียบง่าย เพื่อสร้างความเป็นอยู่ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของมนุษยชาติให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ทางทีมออกแบบได้เน้นการสร้างบ้านเดี่ยวที่ครบทุกความต้องการสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก เป็นบ้านพักอาศัยจำนวน 8 หลังล้อมรอบหอคอยสูงตรงที่ได้ติดตั้งกังหันลม แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ ถังเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภคที่มีไว้ให้บริการบ้านแต่ละหลัง และมีลานกิจกรรมสีเขียวที่จะเป็นส่วนช่วยให้เมืองไคโรได้มีปอดแห่งใหม่ที่จะทำให้ผู้คนเมืองได้หายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากจะจัดหาที่อยู่อาศัยแล้ว ทางทีมออกแบบยังเสนอแนวคิดการเพิ่มที่จอดรถหลายชั้นด้วยตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อการพัฒนาความสะดวกสบายของที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำแห่งนี้ และยังรวมถึงการแก้ปัญหาการจราจรด้วยการสร้างเครือข่ายถนนใหม่ควบคู่ไปด้วย
Sources :
Arch2O | bit.ly/3BV1ZOp, //bit.ly/45yCYWT
Designboom | bit.ly/3OEsxLI, bit.ly/43nsckC
Dezeen | bit.ly/3MUteix
The Urbanist | bit.ly/3ot3d0i