หนี้สาธารณะของไทยปีล่าสุด - Urban Creature

ปีนี้ไม่ต่างอะไรกับปีที่แล้ว ถ้าเปรียบเป็นภาพยนตร์ก็คงเหมือนหนังรีเมก ที่เปลี่ยนจุดไคลแม็กซ์ให้ใหญ่ขึ้น หรือดำเนินเรื่องให้เข้มข้นยิ่งกว่า แต่เนื้อหาใจความยังคงเดิม เพราะภาคธุรกิจกำลังกลัดกลุ้มจากวิกฤตสองปีซ้อน ภาคสังคมคนรุ่นใหม่บอกว่าไม่เอาแล้วหมดหนทางขอย้ายประเทศดีกว่า แต่ภายใต้ร่มเงาของอารมณ์ขุ่นมัวยังพอมีมุมให้ยิ้มได้บ้าง เพราะตัวเลขบอกว่าภาคสิ่งแวดล้อมของไทย กำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

เพราะตัวเลขไม่เคยโกหกใคร Urban Report ชวนไปเช็กสถานะประเทศไทย ผ่านสถิติ และชุดตัวเลข ที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มทิศคอยบอกว่าเราจะเดินหน้าต่อไปทางไหน และประเทศไทยเป็นไงบ้าง?

| ดิจิทัลเติบโต ธุรกิจเดิมย่ำแย่

ร้านอาหารกับสถานการณ์สีแดงเข้ม

ธุรกิจร้านอาหารในปี 2021 ไม่ต่างอะไรกับภาพยนตร์รีเมกของปี 2020 เนื้อหาใจความคือเจ็บตัวเหมือนเดิม แต่ต่างกันตรงที่จะเจ็บนานแค่ไหน และปีไหนเจ็บมากกว่ากัน สำหรับการระบาดโควิดระลอกที่สาม ธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี และเชียงใหม่) เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และมีระดับความเข้มงวดเป็นสีแดงเข้ม โดยมีคำสั่งห้ามให้บริการนั่งรับประทานอาหารในร้านเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งเวลาเหล่านั้นที่เสียไปคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 1,400 ล้านบาทต่อวัน

จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 น่าจะทรุดหนักไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา โดยอาจมีมูลค่าลดลงมากถึง 30,000 ล้านบาท และหดตัวราวร้อยละ 5.6 ถึงร้อยละ 2.6 จากปี 2563 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังเผยว่า การแพร่ระบาดระลอกนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง จนผู้ประกอบการร้านอาหารเปลี่ยนความท้าทายจากการสร้างรายได้ มาเป็นการอยู่รอด โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง

ธุรกิจทัวร์ประคองตัวรอการท่องเที่ยว

ภาคท่องเที่ยวก็ต้องบอกว่าอ่วมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะธุรกิจนำเที่ยวที่รายได้หายไปกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ รายได้หายไปกว่า 50,000 ล้านบาทต่อเดือน และผู้ประกอบการทัวร์ที่เคยมีจำนวนสูงถึง 50,000 ราย ขณะนี้เหลือเพียง 20,000 รายเท่านั้น แต่ก็ยังขาดสภาพคล่องจึงได้แต่เฝ้ารอวันที่การท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมานายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผยว่า ยังเฝ้ารอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น

ฟู้ดเดลิเวอรีโตต่อเนื่อง

เมื่อร้านอาหารแถวบ้านไม่สามารถนั่งทานได้ และผู้คนไม่อยากเสี่ยงออกไปเผชิญกับเชื้อโรคภายนอก ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีจึงเฟื่องฟูถึงขีดสุดในยุคโควิด-19 นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก โดยสวนดุสิตโพลเผยว่าผู้ทำแบบทดสอบ 47.86 เปอร์เซ็นต์ สั่งอาหารอย่างน้อย 2 – 5 ครั้งต่อเดือน และในช่วงโควิด-19 มีความสนใจจะสั่งอาหารต่อไปมากถึง 90.03 เปอร์เซ็นต์

ทำให้เห็นว่าวงการฟู้ดเดลิเวอรีต่างเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยกันทุกค่าย เช่น Line Man มียอดสั่งซื้อในจังหวัดคุมเข้มเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า Robinhood ยอดขายต่อวันเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ foodpanda มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 20 – 25 เท่า และคาดว่าในปีนี้ ฟู้ดเดลิเวอรีทั้งหมดในไทยจะมีมูลค่ามากกว่า 70,000 ล้านบาท และอาจแตะไปถึง 99,000 ล้านบาทในปี 2567

คริปโทเคอร์เรนซีพุ่งทั้งมูลค่าและความนิยม

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตัวเอกของคริปโทเคอร์เรนซี อย่างบิตคอยน์พุ่งขึ้นไปทำมูลค่าสูงสุดเกิน 2,000,000 บาท ต่อ 1 เหรียญ BTC และไม่ว่าอีลอน มัสก์ จะปั่นแค่ไหน ความนิยมของสกุลเงินนี้ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ผันผวนที่ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกมากนัก เพราะเป็นตลาดที่มีอัตราขึ้นลงสูงเป็นทุนเดิม

แม้จะถูกบ่นว่าเป็นประเทศล้าหลัง แต่ภาคประชาชนของไทยยังขยับตัวตามโลกเสมอ เห็นได้จากผลสำรวจจากอิปซอสส์ (ไทยแลนด์) พบว่ามีคนไทย 68 เปอร์เซ็นต์ที่สนใจลงทุนในบิตคอยน์ และประชากรในวัย 18 – 19 ปี ยังเป็นกลุ่มที่สนใจลงทุนมากที่สุดถึง 72 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นอิปซอสส์ยังพบว่านักลงทุนวัยเดียวกันนี้ ยังหาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสูงถึง 77 เปอร์เซ็นต์ สื่อให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่หาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนจะกระโดดเข้าไปในตลาดที่อยู่ในสถานการณ์ High Risk High Return

อีกตัวเลขที่ยืนยันความนิยมคือ ตัวกลางเทรดบิตคอยน์สัญชาติไทยอย่างบิทคับที่เผยว่า ไทยมีผู้เล่นคริปโทเคอร์เรนซีจำนวนมากถึง 1 ล้านรายในสัปดาห์ที่วัดผล ซึ่งมีมูลค่าซื้อขายถึง 10,000 ล้านบาทต่อวัน และมีแนวโน้มที่ผู้ลงทุนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

| คนรุ่นใหม่ขอย้ายประเทศ

พัฒนาการค่าแรงขั้นต่ำ 

ตั้งแต่กระแสการ ‘ย้ายประเทศ’ เกิดขึ้น ทั้งสำนักข่าว คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และประชาชนทั่วไปก็มีการเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำของไทยและต่างประเทศให้เห็นอยู่เป็นระยะ เราจึงชวนย้อนกลับไปดูการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยครั้งล่าสุด ว่ามีอะไรบ้าง

  • ปี 2560 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 5 – 10 บาท ใน 69 จังหวัด มีค่าแรงต่ำสุดที่ 305 บาท สูงสุด 310 บาท
  • ปี 2561 ปรับขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 7 ระดับ ค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่ 308 บาท สูงสุด 330 บาท
  • ปี 2563 ปรับขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดทั่วประเทศ ค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท สูงสุด 336 บาท

หันไปดูข่าวต่างประเทศที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นถึง 37 เปอร์เซ็นต์ เป็น 470 บาทต่อชั่วโมง พร้อมบอกว่าไม่ควรมีใครที่ทำงานหนักแต่ยังยากจน จึงไม่แปลกที่กระแสย้ายประเทศจะยังไม่ซาลงในเร็ววัน

ประชากรวัยเก๋า

ปัจจุบันวัยแรงงานเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้ แต่ตอนนี้กลับมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้สูงอายุก็เพิ่มมากเรื่อยๆ เช่นกัน

ขณะนี้ประเทศไทยมีเหล่าคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย อยู่ประมาณ 13 ล้านคน หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในอีก 14 ปีข้างหน้าหรือในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรวัยเก๋าสูงขึ้นถึง 19 ล้านคน หรือ 28 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่าจะมีอายุยืนขึ้นอีกด้วย ฉะนั้นเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้น ภาครัฐจะต้องวางแผนดูแลผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม และบริการสาธารณะ รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชนเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

แรงงานต่างแดน กำลังสำคัญของประเทศ

แรงงาน เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกของไทยที่นำเงินกลับเข้าสู่ประเทศไม่น้อย จากการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 แรงงานไทยส่งเงินกลับบ้านเป็นจำนวนถึง 200,254 ล้านบาท แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้แรงงานไทยในต่างประเทศมีจำนวนลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งในปีงบประมาณนั้นมีแรงงานเพียง 58,673 คน หายไปเกือบครึ่งหนึ่งถ้าเทียบกับปี 2562 ที่ส่งออกแรงงานจำนวน 114,656 คน

ซึ่งในปี 2564 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าส่งออกแรงงานไทยให้กลับมาที่ยอด 100,000 คนอีกครั้ง เพื่อดึงรายได้กลับไทย แต่เมื่อเจอกระแสย้ายประเทศก็น่าติดตามเหมือนกันว่าถ้าแรงงานย้ายถิ่นฐานถาวร จนไม่จำเป็นต้องส่งเงินกลับมา ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

ช่วงเวลาวิกฤตทำหนี้สาธารณะพุ่ง

มีเงินเป็นน้อง มีทองเป็นพี่…แล้วมีหนี้เรียกว่าอะไร! หลายคนอาจจะคิดว่า ‘หนี้สาธารณะ’ เป็นเรื่องไกลตัวไม่เกี่ยวกับตัวเอง แต่แท้จริงแล้วมันเกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะหนี้สาธารณะเป็นหนี้ของประชาชนที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และกำลังในการชำระหนี้จะหายไปหากแรงงานย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

ปัจจุบัน ณ เดือนมีนาคม 2564 ไทยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 8.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.32 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แบ่งเป็น ‘หนี้รัฐบาล’ 7.38 ล้านล้านบาท ‘หนี้รัฐวิสาหกิจ’ 7.99 แสนล้านบาท ‘หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน’ 2.85 แสนล้านบาท และ ‘หนี้หน่วยงานของรัฐ’ 7.62 พันล้านบาท เห็นจำนวนหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาแล้ว ก็ได้แต่ส่งแรงเชียร์แรงใจให้ท่านทั้งหลายใช้จ่ายเงินกันอย่างมีสติและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

| คนสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

พื้นที่ป่าไม้ลดลง วิกฤตที่ต้องแก้ไข

นับตั้งแต่มีการจดบันทึกสถานการณ์ป่าไม้ของไทยมาตั้งแต่ปี 2504 เราพบว่าพื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลเองจะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ตั้งแต่จัดตั้งคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ ไปจนถึงกำหนดนโยบายต่างๆ

จากการสำรวจล่าสุด พบว่าในปี 2563 ไทยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ที่ 1.02 ร้อยล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่ง ‘ลดลง’ จากปีก่อน 4,229.48 ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุด คือ ‘เชียงใหม่’ มีพื้นที่สีเขียวรวม 1.94 แสนไร่ รองลงมาเป็น ‘ขอนแก่น’ 1.38 แสนไร่ และ ‘สงขลา’ 9.6 หมื่นไร่

ทั้งนี้เพื่อรักษาพื้นป่าของประเทศ รัฐบาลก็ได้ประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์ และเพื่อเศรษฐกิจให้ไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ ซึ่งในสัดส่วนป่าไม้ของประเทศไทย ครอบคลุม 3 ด้านหลักๆ คือ 1. การบริหารจัดการป่าไม้ สัตว์ป่า และที่ดินของรัฐอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม 2. การใช้ประโยชน์จากผลิตผล การใช้บริการจากพื้นที่ป่าไม้ และอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร และ 3. ด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้

ขยะมูลฝอยลดลง 

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้โลกมีการผลิตเพื่อการอุปโภค บริโภคเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดขยะและสิ่งของเหลือใช้มากขึ้นตามไปด้วย และจากรายงานของ Waste Generation and Recycling Indices 2019 บอกว่าในแต่ละปีโลกมีขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste) เกิดขึ้นปีละมากกว่า 2.1 พันล้านตัน แต่มีเพียง 323 ล้านตันเท่านั้น ที่จะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

ข้ามมาดูตัวเลขขยะมูลฝอยของบ้านเรากันบ้าง อยากจะบอกว่าปี 2563 ไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.35 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 4 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยแล้วคนไทย 1 คน ทิ้งขยะประมาณ 1.13 กก./วัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการควบคุมการเดินทางจากทั้งในและต่างประเทศ แถมยังส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปอย่างการออกไปกินข้าวนอกบ้าน หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งอาจดูเหมือนการใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและการ Work from Home ทำให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมือง

สรุปแล้ว แม้ปริมาณขยะมูลฝอยจะลดลงจากปีก่อน แต่หากดูชาร์ตตัวเลขจริงๆ เราจะพบว่ามันยังไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 11 ปีที่ผ่านมารวมๆ แล้วไทยมีขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านตัน

ปล่อยคาร์บอนฯ น้อยลง ใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

ใครสักคนบอกกับเราว่า ‘มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังทำลายล้างสูงที่สุดในโลก’ พวกเขาไม่เพียงแต่ฆ่าสัตว์ ตัดไม้ทำลายป่า แต่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ยังเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายประเทศตั้งใจแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึง ‘ประเทศไทย’ ด้วย

ในช่วงปีหลังๆ มานี้ไทยได้ออกนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของไทยในทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ‘ลดลง’ อยู่ที่ 224.3 ล้านตัน CO2 ลดลง 10.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2562 ในขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ต่อหัวประชากรของปี 2563 อยู่ที่ 3.77 ตัน CO2 ต่อหัวประชากร ‘ลดลง’ 0.09 ตัน CO2 จากปี 2562 นับว่านโยบายที่ทางกระทรวงพลังงานใช้เป็นแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ผลดีทีเดียว


Sources :
กรมควบคุมมลพิษ
กระทรวงแรงงาน
กรุงเทพธุรกิจ
กรุงเทพธุรกิจ
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี 2562 – 2563 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรื่องเด่นเย็นนี้
สวนดุสิตโพล
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.