วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่เติบโตในจังหวัดอุบลราชธานียุค 1990 – 2000 จะรู้จักหรือคุ้นเคยกับ ‘ราชบุตร’ ร้านเช่าซีดีและดีวีดีที่มีอยู่หลายสาขาทั่วเมืองอุบลฯ เราเองก็คุ้นเคยกับที่นี่ดี เพราะในยุคที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีอย่างจำกัด การเช่าซีรีส์หรือหนังกลับไปดูที่บ้านจึงเป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงไม่กี่ประเภทที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจ และเปรียบเสมือนประตูสู่โลกกว้างให้เด็กต่างจังหวัดสมัยนั้น
นอกจากธุรกิจร้านเช่าซีดีขวัญใจวัยรุ่นยุค 90 หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ก่อนหน้านั้นราชบุตรเคยทำ ‘ค่ายเพลงหมอลำ’ อย่างเต็มตัวนานถึง 20 ปี โดยใช้ชื่อว่า ‘ราชบุตร สเตอริโอ’
ราชบุตร สเตอริโอ เคยเป็นค่ายเพลงที่ประสบความสำเร็จแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเคยอัดเพลงให้ศิลปินแห่งชาติหลายคน เช่น เคน ดาเหลา, บานเย็น รากแก่น, ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม, ทองใส ทับถนน, บุญเพ็ง ไฝผิวชัย, และฉวีวรรณ ดำเนิน
ทั้งนี้ ปัจจุบันค่ายเพลงราชบุตร สเตอริโอ หยุดดำเนินการอย่างถาวรแล้ว เนื่องจากธุรกิจซบเซาลงตามความนิยมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปิดฉากตำนานการอัดเพลงและการผลิตเพลงหมอลำยุค ‘แอนะล็อก’ ลงอย่างสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน ราชบุตร สเตอริโอ กำลังเปลี่ยนถ่ายตัวเองเข้าสู่ยุค ‘ดิจิทัล’ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรามีโอกาสกลับอุบลฯ เพื่อพบกับ บิ๊ก-นภัส ธนาพร ทายาทรุ่นหลานของ ราชบุตร สเตอริโอ ผู้ลุกขึ้นมาแปลงเพลงหมอลำจากเทปคาสเซตและเครื่องแอนะล็อกให้มาอยู่ในระบบดิจิทัล บิ๊กเรียกภารกิจนี้ว่าการเก็บ ‘Archive’ หรือ ‘คลังข้อมูลดิจิทัล’
บิ๊กไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อสะสมผลงานของตระกูลไว้ดูเองแต่อย่างใด แต่เป้าหมายของเขายิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือการเปลี่ยนเพลงหมอลำที่ถูกเก็บไว้ในตลับเทปมานานหลายสิบปี ให้เป็นแหล่งความรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ในการต่อยอดผลิตผลงานสร้างสรรค์ร่วมสมัย โดยหวังว่าจะนำมาสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีท้องถิ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ชุบชีวิตธุรกิจหมอลำของตระกูล
บิ๊กวัย 27 ปี เล่าให้เราฟังว่า เขาเป็นคนอุบลฯ โดยกำเนิด หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 ก็ไปเรียนต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเรียนจบก็มีโอกาสทำงานด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบในกรุงเทพฯ ราวหนึ่งปี ก่อนจะตัดสินใจย้ายกลับบ้านเกิดที่อุบลฯ เพื่อช่วยธุรกิจของครอบครัว
ครอบครัวของบิ๊กทำบริษัทบริการติดตั้งอินเทอร์เน็ต ซึ่งบิ๊กเข้ามาช่วยบริหารกิจการตั้งแต่ปี 2562 แต่หลังจากทำงานได้ราว 2 – 3 เดือน บิ๊กยอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘งานที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ’ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามองหา ‘งานครีเอทีฟ’ ที่จะตอบโจทย์และตรงกับแพสชันของตัวเอง
“พอรู้ตัวว่างานที่ทำอยู่ไม่ใช่ทางของตัวเอง เราเลยอยากลองทำอะไรใหม่ๆ ที่เป็นงานสร้างสรรค์และศิลปะ ซึ่งเราชอบและสนใจอยู่แล้ว ก็เลยกลับมาดูว่าที่บ้านพอจะมีอะไรให้ทำหรือต่อยอดได้บ้าง เรารู้อยู่แล้วว่าอากงอาม่าเคยทำ ราชบุตร สเตอริโอ ค่ายเพลงที่เคยอัดเพลงและจำหน่ายผลงานให้ศิลปินหมอลำหลายราย เราเลยตัดสินใจจะทำราชบุตรต่อ”
ปึงย้ง แซ่ตั้ง และ ยุภาพร แซ่เจีย อากงและอาม่าของบิ๊ก ก่อตั้ง ‘บริษัทราชบุตร’ เมื่อปี 2504 ครอบครัวของบิ๊กเคยทำ 3 ธุรกิจหลักภายใต้บริษัทนี้ เริ่มจากร้านขายยา ค่ายเพลง ก่อนจะมาเป็นร้านเช่าซีดี ซึ่งบิ๊กอธิบายว่า ค่ายเพลงหมอลำไม่ได้เกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรก
“แรกเริ่มบริษัทราชบุตรเปิดร้านขายยาจีนขนาดเล็กชื่อว่า ‘ราชบุตร ฟาร์มาซี’ กิจการร้านขายยาจีนดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐบาลออกกฎหมายในปี 2514 ที่ระบุว่า ผู้จัดจำหน่ายยาทุกชนิดต้องมีใบรับรองวิชาชีพเภสัชกร อากงอาม่าไม่มีใบรับรองตัวนี้ ทั้งสองจึงต้องมองหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ๆ
“อากงเป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ช่วงที่ทำร้านขายยาก็เคยมีมุมเล็กๆ สำหรับขายแผ่นเพลง เป็นเพลงทั่วไปที่อากงนำมาขายอีกที ความบังเอิญในช่วงนั้นคือ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม (ปัจจุบันเป็นศิลปินหมอลำแห่งชาติ) มาขอให้อากงอัดเพลงให้ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าที่ร้านรับอัดเพลงด้วย อากงสนใจเลยลองอัดให้เขาเป็นคนแรก”
บิ๊กอธิบายต่อว่า ช่วงแรกอากงไม่มีห้องอัดเพลงของตัวเอง จึงต้องเช่าห้องชั้นบนสุดของโรงแรม ‘อุบล โฮเต็ล’ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับร้านราชบุตรเป็นสถานที่อัดเพลงชั่วคราว โดยกระบวนการอัดเพลงทั้งหมดในตอนนั้นไม่ใช่การอัดเพื่อจำหน่าย แต่เป็นการอัดเพลงและนำไปให้สถานีวิทยุเปิดเพื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น
“อากงมองว่า ไหนๆ ก็ต้องอัดเพลงอยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจอัดเพลงขายไปด้วยเลย เป็นจุดเริ่มต้นของการทำค่ายเพลงอย่างจริงจัง”
ราชบุตรอัดเพลงให้ศิลปินหมอลำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐบาลออกกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ที่เข้มงวดขึ้น ทางร้านจึงต้องเปิดเป็นค่ายเพลง ‘ราชบุตร สเตอริโอ’ อย่างเป็นทางการในปี 2520
ทั้งนี้ ราชบุตร สเตอริโอ ไม่ได้มีศิลปินในสังกัด แต่ระบบในตอนนั้นเป็นการอัดเพลงและจัดจำหน่ายผลงานให้ศิลปิน หรือบางคนอาจมีสัญญากับทางค่ายเป็นรายเพลง นอกจากการวางขายผลงานที่หน้าร้าน ราชบุตร สเตอริโอ ยังส่งผลงานไปขายตามร้านต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
ที่นี่เคยอัดเพลงให้ศิลปินหมอลำจากอุบลฯ และจังหวัดอื่นๆ ในอีสานหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม, เคน ดาเหลา, บุญเพ็ง ไฝผิวชัย, ฉวีวรรณ ดำเนิน, บานเย็น รากแก่น, สมาน หงษา, และผมหอม สกุลไทย ราชบุตรมีส่วนช่วยทำให้ศิลปินหลายคนแจ้งเกิด มีชื่อเสียง จนหลายคนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินหมอลำแห่งชาติและศิลปินมรดกอีสานในที่สุด
“อัลบั้มที่ดังที่สุดก็คือ ‘ซิ่งสุดสุด’ และ ‘ซิ่งมหามันส์’ (พ.ศ. 2532) ของสังวาลย์น้อย ดาวเหนือ และพัชรี แก้วเสด็จ ช่วงนั้นคนนิยมฟังหมอลำซิ่งกันมาก อาม่าเล่าว่า ตอนนั้นอัลบั้มนี้ดังเป็นพลุแตกเลย ขายได้น่าจะเกือบล้านตลับ ความดังน่าจะสูสีกับ เบิร์ด ธงไชย เลย (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งที่ดังได้ก็เพราะการใช้กลยุทธ์แจกอัลบั้มให้รถบรรทุกและรถที่เดินทางไปต่างจังหวัดฟังฟรี หมอลำซิ่งชุดนี้ก็เลยติดหูคนและดังระเบิดระเบ้อ”
เริ่มศึกษาและรวบรวมเพลงหมอลำจากศูนย์
การกลับมาทำราชบุตร สเตอริโอ ในความหมายของบิ๊ก ไม่ใช่การเปิดค่ายเพลงเหมือนในอดีต แต่เป็นการนำเทปและแมตทีเรียลแอนะล็อกที่อากงอาม่าเก็บไว้ มารวบรวมและบันทึกเป็นคลังข้อมูล และแปลงเพลงเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อให้คนยุคใหม่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด
“หลังจากบอกครอบครัวว่า บิ๊กจะทำราชบุตรต่อนะ ที่บ้านก็ดีใจและสนับสนุนเต็มที่ ราชบุตรมีของอะไรเก็บไว้บ้าง เขาให้เราทุกอย่างเลย ถ้าเราอยากติดต่อศิลปินหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเพลงหมอลำคนไหน ทางบ้านก็พร้อมช่วยเราตลอด เราจึงเริ่มทำคลังข้อมูลเพลงหมอลำ ควบคู่กับงานประจำมาจนถึงตอนนี้”
บิ๊กบอกกับเราว่า แต่เดิมตัวเองไม่ได้มีความรู้ด้านดนตรีมากมาย แถมตัวเองยังเป็นลูกหลานครอบครัวจีนที่พูดอีสานไม่ได้ ช่วงแรกที่ลองฟังเพลงหมอลำ เขาพูดได้เต็มปากเลยว่า ‘ไม่เข้าใจอะไรเลย’ แต่บิ๊กก็ตั้งใจศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเขาไม่อยากให้ผลงานทั้งหมดถูกวางทิ้งไว้ที่บ้านเฉยๆ
“วันแรกเรานั่งเก็บของที่บ้านคนเดียวเลย ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน จากนั้นก็หยิบอัลบั้มเพลงมาเปิดฟังและอ่านหนังสือเกี่ยวกับหมอลำมาเรื่อยๆ แล้วค่อยทยอยเอาเทปเสียงดิจิทัล เทปคาสเซต เทปรีล ซีดี และแฟลชไดรฟ์ที่มีอยู่ ไปจ้างคนที่มีเครื่องแปลงไฟล์เสียง แปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลให้อีกที แต่ปัญหาหลักก็คือใช้เวลานาน อย่างหมอลำหนึ่งเรื่องอาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงเลย”
บิ๊กใช้โปรแกรม Excel ในการทำคลังข้อมูลทั้งหมด วิธีจัดเรียงที่บิ๊กคิดว่าทำง่ายที่สุดก็คือการแยกหมวดหมู่ตามประเภทการลำ โดยปกเทปแต่ละชุดจะระบุประเภทไว้ เช่น ลำผญา ลำกลอน ลำซิ่ง ลำเพลิน และลำภูไท ซึ่งทั้งหมดล้วนแตกต่างกันในด้านของการวิธีการร้อง ดนตรี และเนื้อหา
บิ๊กเล่าต่อว่า การทำคลังข้อมูลเพลงหมอลำเปรียบเสมือนการเดินทางที่เจอเรื่องเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา โดยเฉพาะการเล่าเรื่องของศิลปินหมอลำที่สะท้อนสถานการณ์และวัฒนธรรมของคนในยุคนั้น เป็นเนื้อหาที่แตกต่างจากเพลงยุคปัจจุบันที่เขาเคยเสพมาทั้งหมด
“กลอนลำต่างๆ บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีสานช่วงหนึ่งไว้ เช่น กลอนลำของ เดชา นิตะอินทร์ ที่เล่าเรื่องราวร่วมสมัย เช่น การเข้ามาของทหารจีไอช่วงยุคสงครามเวียดนาม, เซ็กซ์ทอย, โรคเอดส์, ดาวหางฮัลเลย์ ไปจนถึงการเมืองต่างประเทศ ส่วนอัลบั้ม ‘เป็ดสังหาร’ ของ ป.ประยุทธ์ วิไลศรี ที่มีเพลงชื่อ ‘โรคร้ายจากเจแปน’ พูดถึงโรคระบาดที่รัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เราฟังแล้วตกใจเนื้อหาของเพลงนี้มาก เพราะฟังในช่วงโควิด-19 ระบาดพอดี แต่ความจริงแล้ว คำว่าโรคระบาดของเพลงนี้หมายถึงปัญหาเด็กแว้นในไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่มอเตอร์ไซค์คาวาซากิและยามาฮ่าได้รับความนิยมอย่างมาก
“เรามองว่าเพลงหมอลำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวในอดีตไว้เยอะมาก ทำให้เรารู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหมือนได้ฟังข่าวจากยุคก่อนเลย”
ระหว่างรวบรวมตลับเทปและอัลบั้มต่างๆ บิ๊กยังค้นเจอ ‘กลอนลำ’ หรือเนื้อเพลงที่บันทึกไว้ในกระดาษ ซึ่งสมัยก่อนจะมีคนแต่งเนื้อเพลงเหล่านี้เพื่อมาฝากขายให้กับคนที่อยากนำไปร้องหรืออัดเพลงอีกที
“เราเจอกลอนลำที่อยู่ในรูปแบบกระดาษและสมุดบันทึก บางชิ้นมีอายุมากกว่า 40 ปี เราพยายามรวบรวมทั้งหมดไว้ เพราะเรามองว่าเนื้อเพลงเหล่านี้บันทึกประวัติศาสตร์อีสานช่วงหนึ่งไว้ ซึ่งอาจนำไปต่อยอดหรือเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์อีสานได้”
ต่อยอดเพลงหมอลำให้เป็นผลงานและกิจกรรมสร้างสรรค์
บิ๊กเก็บคลังข้อมูลเพลงหมอลำอย่างเหงาๆ คนเดียวได้ราว 4 – 5 เดือน ก็คิดอุตริทำอาร์ตเวิร์กร้านราชบุตรในมุมมองของตัวเองขึ้นมา หลังจากนั้นจึงแชร์ลงอินสตาแกรม เผื่อจะมีคนสนใจสิ่งที่เขากำลังทำอยู่หรืออยากเข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้ ซึ่งก็มีคนติดต่อมาจริงๆ เสียด้วย
หนึ่งในนั้นก็คือ ยอด-วรงค์ บุญอารีย์ ศิลปินอีสานแจ๊สและนักวิชาการอิสระชาวอุบลฯ ผู้เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องหมอลำนานกว่า 10 ปี
“พี่ยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องดนตรีอีสาน เราจึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และเล่าโปรเจกต์ของราชบุตรให้ฟัง จากนั้นพี่ยอดก็กลายเป็นกุนซือของเราไปโดยปริยาย ช่วยเช็กคลังข้อมูล พาไปเจอศิลปินหมอลำระดับบรมครูที่เคยอัดเพลงกับราชบุตร ให้ท่านเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับหมอลำให้ฟัง ทุกครั้งที่ได้เจอศิลปินตัวจริง เราตื่นเต้นมาก เพราะพวกเขาเล่าถึงช่วงเวลาที่อัดอัลบั้มแรกๆ ที่ร้านราชบุตร หลายคนแจ้งเกิดจากอัลบั้มเหล่านี้ บรรยากาศเหมือนได้ย้อนอดีตกลับไปช่วงที่หมอลำเคยรุ่งเรือง”
หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากยอด บิ๊กมีโอกาสต่อยอดเพลงหมอลำของราชบุตรให้เป็นงานสร้างสรรค์สนุกๆ ที่แปลกใหม่และทันสมัยมากขึ้น อย่างการทำ ‘หมอลำบาร์’ ซึ่งเป็นการเอาเพลงหมอลำที่ราชบุตรเคยทำมารีมิกซ์ใหม่ให้ม่วนกว่าเดิม
“เราเคยจัดหมอลำบาร์มาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกจัดที่ร้าน Impression Sunrise ครั้งที่สองจัดที่เซ็นทรัล อุบลราชธานี ในงาน ‘Summer City Pop อีสานมักม่วน เดินชมสวนดอกไม้’ ทั้งสองครั้งคือการเปลี่ยนพื้นที่เป็นบาร์ที่เปิดเพลงหมอลำ ซึ่งพี่ยอดเป็นคนเรียบเรียงดนตรีให้ป็อปและทันสมัยมากขึ้น
“ภายในงานมีค็อกเทลและม็อกเทลขาย เราจึงเพิ่มกิมมิกด้วยการตั้งชื่อเมนูจากชื่ออัลบั้มหมอลำของราชบุตร เช่น ซิ่งเยี่ยมยมบาล ลำเดินดง และซิ่งตามใจขี้เมา มาเสิร์ฟสนุกๆ ในงาน เปิดคู่กับเพลงหมอลำ ตอนแรกเรากังวลว่างานจะเวิร์กไหม แต่โดยรวมแล้วคนที่มางานก็แฮปปี้และเอนจอยมากๆ”
บิ๊กยังอธิบายเสริมว่า เขาไม่มีรายได้จากการทำคลังข้อมูลเพลงหมอลำแม้แต่บาทเดียว ทำเพื่อสนองแพสชันของตัวเองล้วนๆ แต่การจัดหมอลำบาร์คือครั้งแรกที่เขาได้รับค่าตอบแทน แม้จะเป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็ทำให้เขาเห็นช่องทางหารายได้สำหรับต่อยอดผลงานสร้างสรรค์รูปแบบอื่นๆ ต่อไป
ร่วมขับเคลื่อนอุบลฯ สู่เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี
คลังข้อมูลเพลงหมอลำของบิ๊กกลายเป็นสารตั้งต้นของกิจกรรมสร้างสรรค์หลายประเภท และยังบังเอิญกลายเป็นหลักฐานที่อาจเตรียมความพร้อมให้อุบลราชธานีกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO ด้วย
“ช่วงปลายปี 2565 ระหว่างที่เรากำลังนั่งรถไปอัดเพลงกับพี่ยอด มีอาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดต่อพี่ยอดมาถามว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีอีสานเก็บไว้บ้างไหม ตอนนั้นเราทำคลังข้อมูลไว้ส่วนหนึ่งแล้ว เราเลยส่งโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่ให้อาจารย์ดู อาจารย์สนใจจึงเดินทางมาอุบลฯ เพื่อศึกษาดูงาน
“อาจารย์ท่านนี้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการจากโครงการ ‘ขับเคลื่อนอุบลราชธานี สู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO’ ซึ่งคณะกรรมการต้องพิจารณาหลักฐานต่างๆ ราว 20 ข้อ เพื่อพิสูจน์ว่าอุบลราชธานีจะเป็นเมืองทางด้านดนตรีได้จริงไหม ไม่ใช่เฉพาะหมอลำหรือดนตรีอีสาน แต่หมายถึงดนตรีทุกประเภท ทุกมิติ ซึ่งอุบลฯ เองก็เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณา เพราะมีทั้งการแสดงพื้นบ้าน มีศิลปินหมอลำจำนวนมาก และเป็นเมืองที่มีการสร้างสรรค์ทางด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง คลังข้อมูลเพลงหมอลำของราชบุตรจึงเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่อาจช่วยผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นได้”
แม้อุบลราชธานีจะต้องใช้เวลาอีกเป็นปีถึงจะได้รับการเสนอชื่อเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก และยังไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ แต่บิ๊กเชื่ออย่างยิ่งว่า ถ้าทำสำเร็จ มันจะเป็นประโยชน์ต่อคอมมูนิตี้ดนตรีในอุบลฯ ภาคอีสาน หรืออาจไปไกลถึงระดับประเทศ
“ไม่ใช่แค่ราชบุตรที่จะอยู่รอด แต่ทุกคนจะรอดไปพร้อมกับเรา ทั้งนักดนตรี นักแต่งเพลง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทุกคนอาจจะมีโอกาสทำผลงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากขึ้น สังคมและประเทศของเราก็จะมีความครีเอทีฟมากกว่าเดิมด้วย”
บิ๊กรวบรวมเทปและซีดีหมอลำของราชบุตรได้ประมาณ 2,000 ชุด ปัจจุบันเขาทำคลังข้อมูลและแปลงเพลงเป็นไฟล์ดิจิทัลได้ราว 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ต่อจากนี้เขามีแผนการที่จะทำโปรเจกต์นี้ไปเรื่อยๆ ควบคู่กับการหาเพลงหมอลำของค่ายอื่นๆ มาเสริมให้คลังข้อมูลมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น
เมื่อมองย้อนกลับไปถึงค่ายเพลงหมอลำที่ครอบครัวเคยทำ บิ๊กบอกว่าเขารู้สึกภูมิใจมาก และเชื่อว่ายังมีอะไรให้เขาได้ศึกษาอีกเยอะ
“อัลบั้มต่างๆ ผ่านมือเราทุกชิ้น ทำให้เราได้ศึกษาระหว่างทางว่าหมอลำแต่ละประเภทเป็นแบบไหน ศิลปินแต่ละท่านคือใครและเคยทำอะไรบ้าง เราเก็บคลังข้อมูลมาปีกว่าแล้ว แต่ยังศึกษาได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผลงานที่ราชบุตรเคยทำไว้เลย มีข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ ให้เราแปลกใจทุกวัน เดาไม่ได้เลยว่าเราจะเจออะไรต่อในวันข้างหน้า ซึ่งเราสนุกและเอนจอยกับทุกขั้นตอนของโปรเจกต์นี้”
หลังจากพูดคุยเรื่องการทำคลังข้อมูลเพลงหมอลำมานานเกือบหนึ่งชั่วโมง เราอดสงสัยไม่ได้ว่าจุดหมายปลายทางของโปรเจกต์นี้จะไปหยุดอยู่ที่ไหน หรือจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร บิ๊กจึงเล่าถึงความฝันที่ยังเป็นแค่ภาพเลือนรางให้เราฟัง นั่นก็คือการสร้าง ‘ห้องสมุดดนตรี (Music Library)’
“เป้าหมายสูงสุดของเราคือการสร้างห้องสมุดดนตรีเพื่อรวบรวมผลงานและความรู้เกี่ยวกับเพลงหมอลำของราชบุตร เป็นพื้นที่ให้ทุกคนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ดนตรีอีสาน รวมถึงเป็นสารตั้งต้นสำหรับทำงานสร้างสรรค์ทุกประเภท เราไม่อยากเก็บความรู้และผลงานเหล่านี้ไว้คนเดียว อยากส่งต่อให้กลุ่มคนที่สนใจ กลุ่มคนที่เห็นคุณค่า เราอยากสร้าง Ecosystem ที่ทุกคนทำโปรเจกต์ต่างๆ สำเร็จร่วมกัน”
บิ๊กทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เขาเปิดกว้างสำหรับทุกโอกาส ใครมีไอเดียสนุกๆ หรืออยากทำกิจกรรมสร้างสรรค์เกี่ยวกับหมอลำ สามารถติดต่อไปได้ที่ ราชบุตร สเตอริโอ
ส่วนใครที่อยากทำความรู้จักเพลงหมอลำของราชบุตร สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ Rachabutr Stereo Official