สินค้าดีๆ ในแต่ละท้องถิ่นไทยนั้นมีอยู่มากมาย “พีทีที สเตชั่น” จึงขอสนับสนุนพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในสถานีเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการหยิบยกสินค้าจากท้องถิ่นขึ้นสู่ระดับประเทศผ่าน “โครงการไทยเด็ด” อีกหนึ่งโครงการที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจที่ดีแก่ชุมชน เติมเต็มความสุขให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนภายใต้แนวความคิด “การเป็นศูนย์กลางที่จะร่วมเติมเต็มความสุขและเติบโตไปพร้อมกับชุมชน (Living Community)” ของพีทีที สเตชั่น ด้วยการสนับสนุน แบ่งปันพื้นที่โอกาส และสร้างรายได้ให้แบรนด์เด็ดของแต่ละจังหวัดได้นำเสนออัตลักษณ์ วัฒนธรรม และของดีประจำถิ่น ณ ทุก พีทีที สเตชั่น ทั่วไทย
ใครที่เคยเดินห้างฯ แถวบ้าน น่าจะคุ้นกับตู้ปั่นน้ำอ้อยเกล็ดหิมะหรือน้ำอ้อยวุ้นที่มีขายอยู่แทบทุกบิ๊กซี โลตัส เห็นความสำเร็จแบบนี้ ใครจะรู้ว่าตู้ปั่นๆ นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสำเร็จอีกขั้นที่น่าจะสร้างเป็นหนังได้อีกเรื่อง เพราะมันซ่อนการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเพื่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การตีโจทย์ธุรกิจไร่อ้อย หรือการเรียนรู้เทคโนโลยีพาสเจอร์ไรซ์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่เมื่อสิบกว่าปีก่อนของชายวัยใกล้เกษียณ
หรือใครที่เคยเข้าพีทีที สเตชั่น และเห็นสินค้าของชุมชนบนชั้นวางสินค้าโครงการไทยเด็ดหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป น่าจะพอสะดุดตากับเจ้ากระป๋องสีเหลืองอมเขียวรูปทรงคล้ายกับปล้องอ้อยอยู่บ้าง รู้ไหมว่าเบื้องหลังของขวดนี้คือการพลิกชีวิตน้ำอ้อยเกล็ดหิมะที่กำลังจะถึงทางตัน ให้กลับมามีอนาคตที่สดใสอีกครั้ง
สองความคุ้นนี้คือผลผลิตของ ‘ไร่ไม่จน’ ที่เริ่มต้นจากความพยายามของ คุณประกอบ เหรียญทอง ซึ่งส่งต่อมาให้ คุณปุ๋ม-ปภัสราภรณ์ เหรียญทอง ทายาทที่ตั้งใจจะพาไร่ไม่จนไปเป็นแบรนด์ระดับโลก ถ้าใครจะดูเบาว่าจะไหวเร้อ เราขอการันตีด้วยฉายาแบรนด์น้ำอ้อยพาสเจอร์ไรซ์เจ้าแรกของไทยพ่วงเจ้าของรางวัลดีไซน์แพ็กเกจจิ้งระดับโลกเลยเอ้า
ยืดอายุน้ำอ้อย ยืดอายุธุรกิจ
ชาวไร่อ้อยไม่ได้มีเงินรายเดือนเหมือนอาชีพอื่น จะมีก็แต่ “เงินเกี๊ยว” เงินก้อนเดียวจากการตัดอ้อยโตเต็มวัยส่งโรงงานน้ำตาล ที่จะต้องบริหารให้เพียงพอตลอดปี
“ปีหนึ่งคุณพ่อปลูกอ้อยน้ำตาลมาทั้งปีเพื่อใช้หนี้เงินเกี๊ยว สุดท้ายมีเช็คตีกลับมาเป็นรายได้แค่หนึ่งบาท”
ทายาทรุ่นที่สองเล่าให้ฟังว่า คุณประกอบ เหรียญทอง บิดาแห่งไร่ไม่จน เห็นจำนวนเงินที่แลกมาจากการทำงานหนักทั้งปีก็รู้แล้วว่าทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้แน่ๆ เลยหันเหไปปลูกมันฝรั่ง มะเขือเทศ แต่ชาวไร่อ้อยรึจะเก่งปลูกมัน มะเขือเทศ ไปกว่าปลูกอ้อย จนแล้วจนรอด “ไร่ไม่จน” ก็กลับมาซบอกอ้อยจนได้ แต่รอบนี้เป็นอ้อยสายพันธุ์ใหม่สุพรรณบุรี 50 ที่ตอนนั้นเพิ่งถูกพัฒนาสายพันธุ์สดๆ ร้อนๆ
“ในใจตอนนั้นคิดว่าอยากมีรายได้ทุกวัน เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ทีนี้สิ่งที่เชี่ยวชาญก็คืออ้อย เลยนำมาแปรรูปด้วยการคั้นน้ำขายเอง ซึ่งได้ฟีดแบ็กดีมาก คนชอบทั้งรสชาติและการบริการ เพียงแต่ว่า Shelf Life มันสั้น มีรีเทิร์นเยอะมาก กลายเป็นว่าเราก็มาติดปัญหากับจุดนี้อีกทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก”
แต่หัวการค้าของคุณพ่อประกอบยังมองเห็นโอกาสข้างหน้าอีกไกล เพราะหากแก้ปัญหาเรื่องอายุของผลิตภัณฑ์ได้ ท้องฟ้าข้างหน้ายิ่งกว่าสดใส เพราะประเทศไทยในตอนนั้นน้ำผลไม้ที่บรรจุขวดขายก็มีแต่น้ำส้มกับน้ำมะพร้าว และโรงงานน้ำตาลก็ยังไม่ได้มีธุรกิจคั้นน้ำอ้อยอยู่ในสายตา จึงเดินหน้าเต็มตัวเพื่อหาวิธีที่จะทำให้น้ำอ้อยเก็บได้นานโดยไม่เสีย จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของน้ำอ้อยไร่ไม่จนจึงอยู่ตรงนี้แหละ!
“ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าจะยืดอายุน้ำอ้อยอย่างไร คุณพ่อเลยเดินตัวเปล่าเข้าไป ม.เกษตร กำแพงแสน พร้อมกับปัญหาว่าอยากให้น้ำอ้อยมีอายุนานกว่าสองถึงสามวัน จะมีเทคโนโลยีไหนช่วยได้บ้าง จนได้รู้จักกับพาสเจอร์ไรซ์”
ไร่ไม่จนเฟสสองจึงง้างจะสร้างฝันให้ใหญ่กว่าเดิมด้วยการเริ่มทดลองในห้องแล็บคณะวิศวกรรมอาหารของ ม.เกษตร กำแพงแสน และไปอาศัยให้นมหนองโพลองทำตัวอย่างให้ จนมั่นใจก่อนถึงจะซื้อเครื่องพาสเจอร์ไรซ์ที่สนนราคาสูงถึง 3 ล้านบาท และเริ่มแนะนำเพื่อนเกษตรกรให้หันมาปลูกอ้อยพันธุ์คั้นน้ำ เพราะกำไรดีกว่าและมีรายได้เข้ามาทุกวัน โดยเริ่มต้นด้วยการแบ่งพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์มาปลูกอ้อยพันธุ์คั้นน้ำ
“มีทั้งหมดห้าเจ้าที่มีทั้งความเป็นเพื่อนและความแน่นแฟ้นเพราะทำธุรกิจเดียวกัน เจอปัญหามาเหมือนกัน ก็มารวมตัวกันเป็นผู้ถือหุ้นของไร่ไม่จนและแจ้งเกิดน้ำอ้อยพาสเจอร์ไรซ์เจ้าแรกของประเทศไทย”
ไร่ที่ไม่มีความยากจน
หลังจากได้เทคโนโลยีพาสเจอร์ไรซ์มายืดอายุน้ำอ้อย คุณประกอบก็เริ่มขยับขยายด้วยการทำแฟรนไชส์ ที่มีสาขาแรกอยู่หน้าบิ๊กซีนครปฐม ก่อนจะกระจายไปตามที่ต่างๆ แล้วเริ่มสร้าง “ตำนานน้ำอ้อยเกล็ดหิมะ” เครื่องดื่มหวานเย็นที่มีเกล็ดน้ำแข็งให้เคี้ยวเล่นพอกรุบกรับ
“พอพูดถึงน้ำอ้อยเกล็ดหิมะ หรือน้ำอ้อยวุ้น โอ้โห ทุกคนจะพูดว่าเคยกินนะ แต่ไม่มีใครรู้จักไร่ไม่จนเลย เพราะตอนนั้นยังไม่รู้วิธีสร้างแบรนด์ สร้างภาพจำ ไม่รู้ว่าทุกสาขาต้องคุมโทนมี CI เหมือนกัน”
ไร่ไม่จนเห็นแล้วว่าปัญหาคืออะไร จึงเลือกที่จะจดทะเบียนขึ้นมาเป็น บริษัท น้ำอ้อยไร่ไม่จน จำกัด ชื่อเดียวกับที่เมื่อก่อนเคยตั้งให้รถบรรทุกคู่ใจ เพื่อทำทุกอย่างให้เป็นแบรนด์และมีระบบมากขึ้น
“คุณพ่อจะมีกระป๋องน้ำที่เอาไว้ตักล้างรถแล้วหายบ่อยมาก เลยแก้ด้วยการตั้งชื่อให้ทั้งรถและอุปกรณ์ ก็เลยคิดชื่อที่เน้นความหมายดี แล้วจะได้พรินต์สติกเกอร์มาติดของจะได้ไม่หาย พอจะจดชื่อบริษัทก็คิดไม่ออกว่าจะใช้ชื่ออะไร รู้อย่างเดียวคือยังไงความหมายต้องดีเหมือนเดิม สุดท้ายก็เลือกชื่อนี้เพราะอยากให้เป็น ‘ไร่’ ที่ไม่มีความ ‘ยากจน’ อยากทำแล้วรวยเหมือนความฝันของเกษตรกรทุกคนว่างั้นเถอะ (หัวเราะ)”
นอกจากจะได้ชื่อดีแล้วก็ยังมีหัวการค้า ในประเทศที่ร้อนเป็นบ้า เวลาไปเดินตามตลาดหน้าห้างฯ หรือตลาดนัดคราวไหนจะหาซื้อน้ำอ้อยเกล็ดหิมะมาจิบให้เย็นชื่นกายสบายใจก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ทีนี้พอสินค้าดีและขายได้ก็มีคนติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์มากขึ้นเป็นร้อยจุด ทำให้เกิดปัญหาเรื่องวัตถุดิบไม่เพียงพอตามมา เพราะชาวไร่อ้อยเคยชินกับการปลูกพืชตามฤดูการเปิด-ปิดของโรงงานน้ำตาล
“เรามานั่งประชุมกันว่าหลังจากนี้ต้องประกันราคาอ้อยให้เกษตรกร เพื่อให้เขาไม่ต้องปลูกในช่วงเวลาที่ต้นทุนต่ำที่สุด จนผลผลิตล้นตลาดเวลาหนึ่ง แต่กลับมาขาดตลาดอีกเวลาหนึ่ง เราจะทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าถึงต้นทุนการปลูกในบางเดือนจะสูงขึ้น แต่เราจะนำส่วนนั้นมาถัวเฉลี่ยตลอดทั้งปี ราคาก็จะอยู่ที่ตันละหนึ่งพันห้าร้อยบาท
“ที่จริงโรงงานน้ำตาลก็มีประกันราคาเหมือนกัน แต่ต้องอิงราคาจากรัฐบาลและราคาน้ำตาลในตลาดโลก กำหนดราคาเองไม่ได้ ต้องดูว่าผลผลิตของบราซิล ออสเตรเลียหรือประเทศอื่นว่าในปีนั้นผลิตได้มากขนาดไหน ถ้าผลิตได้มากราคาน้ำตาลก็อาจตกลงมาที่ตันละเจ็ดถึงแปดร้อยบาท”
พอคิดนโยบายประกันราคามาให้เกษตรกร ไร่ไม่จนก็ตอบโจทย์สองประการไปพร้อมกัน อย่างแรกคือ ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงและมากขึ้น และอย่างที่สองคือ มีอ้อยคุณภาพดีให้ใช้ตลอดปี เพราะความดีงามของอ้อยราชบุรี ยังหาตัวจับไม่ได้จากที่ไหน
ดินดี อากาศดี อ้อยดี
นอกจากคนงามบ้านโป่ง ที่ราชบุรียังมีข้อดีคือมีชั้นดินทั้งหมด 7 ชั้น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสารอาหารที่พืชต้องการ ไร่ไม่จนเคยทดลองนำอ้อยสุพรรณบุรี 50 ไปปลูกที่จังหวัดชลบุรี พบว่าน้ำอ้อยที่คั้นออกมามีรสชาติหวานอมเค็ม หรือไปปลูกที่ภาคใต้ก็จะมีสีและรสชาติอีกแบบหนึ่งไปเลย
“ถ้าเป็นภาคตะวันตกพูดไปก็จะเหมือนอวยตัวเอง (หัวเราะ) คือมันเป็นรสชาติที่อร่อย ไม่ได้หวานกว้าง หรือหวานแหลมจนเกินไป พื้นที่นี้เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกอ้อยพันธุ์นี้ เราจึงใช้อ้อยแค่จากจังหวัดราชบุรี นครปฐม แล้วก็กาญจนบุรี ไม่ได้ใช้จากภาคอื่นแล้ว เนื่องจากสุพรรณบุรี 50 ต้องการน้ำปริมาณมาก”
การที่ไร่ไม่จนก้าวมาได้ไกลขนาดนี้ปุ๋มก็ยกเครดิตให้กรมวิชาการเกษตรด้วยอีกคน ในฐานะผู้ที่พัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งสำหรับที่นี่ก็ได้อ้อยพันธุ์คั้นน้ำที่หอมหวานมาก แต่เพราะความหวานของเราไม่เท่ากันนี่แหละ ทำให้ไร่ไม่จนต้องหาคำตอบให้ได้ว่าต้องหวานเท่าไหน มันถึงจะชื่นใจกำลังดี ก่อนจะพบว่า 14 บริกซ์ (หน่วยวัดปริมาณน้ำตาลและความหวานในของเหลว) เป็นคำตอบสุดท้าย
“ข้อดีของบริกซ์คือมันเป็นคณิตศาสตร์ ทำมาบวกกันได้ ถ้าสมมติว่าของไร่ไหนหวานไป ก็ไปเอาของอีกไร่ที่หวานน้อยกว่ามาผสม แต่ความเปรี้ยวจะแก้ไม่ได้ สำหรับอ้อยที่อร่อยที่สุดคืออ้อยหน้าร้อน เพราะได้ทั้งน้ำฝนตั้งแต่ตอนเป็นต้นอ่อนและมีช่วงขาดน้ำ ก่อนเก็บเกี่ยวจึงมีความหวาน ทุกอย่างที่มันลงล็อกของธรรมชาติทำให้ออกมาเพอร์เฟกต์มาก”
เคล็ดลับอีกอย่างของไร่ไม่จน คือมีนักชิมอ้อยที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันมาตลอด 18 ปี ชิมตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจนถึงตอนนี้ เชี่ยวชาญชนิดที่แตะลิ้นปุ๊บก็รู้เลยว่าไม่ใช่อ้อยราชบุรี ชิมทุกวันจนรู้ทันทีว่าล็อตไหนติดเค็ม หรือเปรี้ยวอมหวาน อะไรที่วัดออกมาทางเทคนิคและวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ ก็ได้หัวหน้าฝ่ายผลิตท่านนี้ช่วยไว้เสมอ
“เหมือนดื่มจากอ้อย คั้นสดจากท่อนอ้อย”
วันเวลาผันเปลี่ยนหมุนเวียน ยอดอ่อนของอ้อยถูกปักลงดินเติบโตสูงใหญ่หลายเมตรมาหลายต่อหลายรุ่น ไร่ไม่จนก็ถึงเวลาผลัดใบในเวลาที่ไม่มีใครอยากให้มาถึง คุณปุ๋มต้องกลับมาดูแลกิจการแทนคุณพ่อและเผชิญกับโจทย์ครั้งใหญ่เมื่อไม่มีใครจำแบรนด์ของเธอได้เลย จนได้มาเจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญหลังจากได้พบกับ แชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบมือรางวัลผ่านงานสัมมนาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
“ปุ๋มเล่าให้คุณแชมป์ฟังว่าคนไม่หยิบสินค้า ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรทั้งที่ชิมแล้วบอกว่าอร่อย ตอนนั้นบอกโจทย์ไปว่าเราอยากส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ผู้บริโภค ให้มีความรู้สึกว่าดื่มจากปล้องอ้อย คั้นสดจากท่อนอ้อยเลย”
ผลงานการออกแบบของคุณแชมป์ไม่ทำให้ไร่ไม่จนผิดหวัง กับขวดสีเหลืองอมเขียวมีเรียวตรงกลางแถมนำมาต่อกันได้จนคล้ายกับตัดปล้องอ้อยออกมาจากต้น และทำหน้าที่ในการสื่อถึงตัวผลิตภัณฑ์ได้ดีมาก จนไปชนะรางวัลระดับโลกทั้ง IF, Demark, Good Design และอีกมากมาย ซึ่งการเปลี่ยนครั้งนี้นอกจากรางวัลกับบรรจุภัณฑ์ที่จับต้องได้แล้วผลประกอบการก็ดีขึ้นจริงๆ และทำให้กล้ามองถึงก้าวต่อไปมากขึ้น
จากการเรียนรู้และพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้ามีความพร้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านรสชาติ การออกแบบ รวมถึงการแก้ปัญหา Shelf Life ที่ทำให้สินค้าอยู่ได้นานขึ้น ไร่ไม่จนจึงพกความมั่นใจพร้อมปณิธานเดิมตั้งแต่รุ่นคุณพ่อไปเดินหน้าขยายตลาดให้กว้างขึ้น ด้วยการเข้าร่วม “โครงการไทยเด็ด ของ พีทีที สเตชั่น” ที่มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนและรวบรวมสินค้าเด็ดประจำท้องถิ่นเพื่อวางขายในพื้นที่ของ พีทีที สเตชั่น เพราะมองเห็นศักยภาพของ พีทีที สเตชั่น ที่กระจายสาขาอยู่ทั่วไทย ทำให้มีศักยภาพทางด้านการตลาดที่จะทำให้สินค้าเติบโตได้
คุณปุ๋มเล่าให้เราฟังว่า “เวลาไปไหนก็จะไม่ได้พูดถึงตัวเองในฐานะผู้ประกอบการ แต่จะพูดถึงในฐานะเกษตรกร เพราะอยากให้ผู้ใหญ่ใจดีหรือใครก็ตามที่มีศักยภาพมาร่วมมือกัน และวัตถุประสงค์ของเราคือการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
ส่งออกอุตสาหกรรมชุมชน
เมื่อเวลาผ่านไปผู้ประกอบการชาวไร่อ้อยรุ่นลูกหลายคนก็เลือกที่จะกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด เพราะมีข้อดีตรงที่ได้อยู่ดูแลพ่อแม่ ได้อยู่ในที่ที่ตัวเองต้องการ และระบบที่สร้างขึ้นมาก็มีรายได้ที่ชัดเจนเพียงพอกับรายจ่าย ปัญหาราคาอ้อยที่ผันผวนตามราคาตลาด และรายได้ที่เข้ามาเป็นรายปีก็คลี่คลายลงไปได้ด้วยดี
“สำหรับเกษตรกร โมเดลของไร่ไม่จนน่าจะแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชชนิดไหน ถ้าเกษตรกรแปรรูปผลผลิตของตัวเองได้ ก็นับว่าเป็นทางแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตที่สมเหตุสมผล เพราะกำหนดราคาปลายทางเองได้และเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ด้วยตัวเอง แต่ว่าในมุมของผู้ประกอบการบางทีเกษตรกรไม่ได้เก่งเรื่องการตลาด แต่เก่งเรื่องการปลูกพืชออกมาให้ดีที่สุด เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เกษตรกรแล้ว ต้องเป็นทุกอย่าง (หัวเราะ)”
ปัญหาในบ้านแก้ไขได้เรียบร้อย ธุรกิจในบ้านก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะในตลาดก็ยังไม่มีคู่แข่งทางตรงมาต่อกรด้วย เป้าหมายถัดไปของไร่ไม่จน จึงมองถึงการส่งน้ำอ้อยจากราชบุรีไปให้ต่างประเทศได้ชื่นใจเหมือนคนไทยบ้างเท่านั้นเอง
“อยากให้น้ำอ้อยไปโตที่ต่างประเทศแบบเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่ต้องมีโปรดักต์เยอะ ชูตัวเดียวพอ แต่มีวางจำหน่ายทุกประเทศ เวลาเราไปประเทศไหนก็อยากเห็นสินค้าตัวเองวางขาย อยากไปพรีเซนต์งานที่อังกฤษแล้วไม่ต้องหิ้วน้ำอ้อยไปเอง แต่ไปหาซื้อหน้างานเอา”
เมื่อต้นบทสนทนา ปุ๋มบอกเราว่า เธอคืออดีตเด็กหญิงที่ไม่กล้าบอกใครว่าบ้านทำน้ำอ้อย แต่ถึงบรรทัดนี้ เชื่อเถอะว่าเธอยิ่งกว่ากล้าที่จะตะโกนบอกใครก็ตามว่าคุณพ่อและเธอปั้นแบรนด์น้ำอ้อยไร่ไม่จนมากับมือ
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า หนักที่สุดเห็นจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่สายป่านไม่ยาวเท่าธุรกิจรายใหญ่
Urban Creature และโครงการไทยเด็ด ของพีทีที สเตชั่น เชื่อในพลังของ ‘ธุรกิจท้องถิ่น’ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ เราจึงอยากขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่จะช่วยสร้างพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
ด้วยการชวนแบรนด์ที่ได้รับการคัดเลือก มาเปิดห้องเรียนตัวต่อตัว กับ SMEs ที่เติบโตจากการทำงานในระดับชุมชนและก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ประจำถิ่น เรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกันโดยไม่ทิ้งจิตวิญญาณของแบรนด์และการทำมาร์เก็ตติ้ง เพื่อนำสินค้าที่ถูกพัฒนา เข้ามาจำหน่ายในโครงการไทยเด็ด เป็นการสร้างรายได้และความภาคภูมิใจให้กับท้องถิ่นต่อไป
พร้อมส่งต่อเรื่องราวธุรกิจของคุณผ่านตัวหนังสือ ถ่ายทอดบทเรียนพร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เหล่าผู้ประกอบการบนคอลัมน์ #ประจำจังหวัด ของ Urban Creature
ร่วมกิจกรรมและเล่าเรื่องธุรกิจของคุณที่คิดว่าเราไม่ควรพลาดได้ที่ https://forms.gle/jGmwUUh7nPrUcYQk6