คุณคิดว่าชุดนักเรียนไทยยังจำเป็นต้องใส่อยู่หรือไม่?
หลังจากข่าวกระทรวงมหาดไทยมอบหมายผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดสำรวจครอบครัวที่ขาดแคลนเครื่องแบบนักเรียน และจึงจะระดมกำลังภาคีเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดจัดหาชุดเครื่องแบบให้ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราว และอาจไม่ได้ช่วยคลายปมให้ถูกจุดในระยะยาวเท่าไหร่นัก
สำหรับเด็กไทย ชุดนักเรียนคือเสื้อผ้าที่ต้องใส่แทบทุกวัน แถมเครื่องแต่งกายยังมีหลายรูปแบบ เช่น ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี ชุดพละ หรือเสื้อผ้าใส่ในวันพิเศษอย่างชุดกีฬาสี ชุดผ้าไหมไทย หรือชุดอาเซียนร่วมใจก็มี ความหลากหลายของชุดตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายเองแสนหนักอึ้ง สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ที่ซบเซาและค่าครองชีพที่พุ่งสูงมากกว่าเคย
8,840 บาท/คน ค่าชุดนักเรียน (ขั้นต่ำ) ที่พ่อแม่ต้องจ่าย
จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลราคาเฉลี่ยเครื่องแบบนักเรียนไทยเบื้องต้น ชุดนักเรียน 3 ชุด ชุดลูกเสือ/เนตรนารี 1 ชุด และชุดพละ 1 ชุด เริ่มจากวัยอนุบาลประมาณ 1,697 บาท วัยประถมศึกษาประมาณ 1,949 บาท และวัยมัธยมศึกษาประมาณ 2,180 บาท รวมกับค่าใช้จ่ายจุกจิก เช่น เครื่องประดับชุดนักเรียน ชุดกิจกรรม กระเป๋า และรองเท้า ตีรวมเป็นเลขกลมๆ ประมาณ 1,000 บาทคูณสามวัยการศึกษา สรุปได้ว่า หากคุณเป็นผู้ปกครองเด็กคนหนึ่งต้องเก็บเงินเผื่อค่าชุดนักเรียน (ขั้นต่ำ) ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาประมาณ 8,840 บาท/คน
ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2564 พบว่า ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยจากการทำงานประมาณ 18,255 บาท รวมถึงข้อมูลจากสภาพัฒน์กล่าวว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่ยากจนที่สุดมีภาระชุดนักเรียน 14.6 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายการศึกษาทั้งหมด ส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่รวยที่สุดมีภาระเครื่องแบบเพียง 4.3 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายการศึกษาทั้งหมด หมายความว่าคนฐานะยากจนต้องจ่ายเงินในสัดส่วนที่มากกว่าคนรวยหลายเท่าตัว
สำหรับพ่อแม่แค่ค่าเทอมที่ต้องจ่ายหนักแล้ว เรื่องชุดนักเรียนก็เป็นภาระที่ผูกมัดไปมากกว่า 10 ปี แม้ว่าบางครอบครัวสามารถจ่ายไหว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องปวดหัวในการหาเงินซื้อเครื่องแต่งกายให้กับลูกๆ ตั้งแต่การเอาของไปจำนำ จนถึงขอรับบริจาคเสื้อผ้าก็มี
ปี 2551 จุดประสงค์ชุดนักเรียนคือ ความเท่าเทียม
จุดเริ่มต้นชุดนักเรียนไทยมีตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เพราะได้รับค่านิยมและวัฒนธรรมมาจากต่างแดน เพื่อให้สยามสามารถทัดเทียมกับชาติตะวันตก ระหว่างนั้นเครื่องแบบนักเรียนมีการปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง เช่น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจยากจนมากทำให้หลายครอบครัวไม่มีเงินซื้อชุดนักเรียน กฎระเบียบเครื่องแต่งกายนักเรียนสมัยนั้นจึงถูกปรับให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
ตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 กล่าวว่า เครื่องแบบนักเรียนเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสร้างวินัยให้แก่นักเรียน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองไม่ให้คนอื่นแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง ปัจจุบันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทยขึ้นอีกครั้ง และหลายคนลำบากกับค่าใช้จ่ายชุดนักเรียนที่มีราคาแพงมากกว่าสมัยก่อน เมื่อเทียบกับรายได้และค่าครองชีพอันสูงลิ่ว จึงทำให้ในสังคมไทยเกิดการตั้งคำถามที่ว่า ชุดนักเรียนในทุกวันนี้ตอบจุดประสงค์ดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน
ปี 2565 ชุดนักเรียน (ยัง) ช่วยเรื่องความเท่าเทียม?
ปัจจุบันเราจะสังเกตเห็นกระแสความคิดการเปลี่ยนแปลงชุดนักเรียนจากวัยศึกษามากกว่าแต่ก่อน ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายชุดแต่งกายที่ไม่ได้ช่วยเรื่องความเท่าเทียม แต่กลับยิ่งเปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายชุดนักเรียนทั้งหมด โดยไม่ได้มีนโยบายคอยช่วยเหลืออย่างจริงจังและยั่งยืน
ที่ผ่านมา บางคนมองว่าชุดนักเรียนช่วยสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัย แต่เรายังคงพบเห็นข่าวคุ้นตา อย่างนักเรียนโดนล่วงละเมิดหรือถูกทำร้ายอยู่เป็นประจำ รวมถึงชุดนักเรียนคือการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแต่งกาย แถมยังเป็น Fast Fashion รูปแบบหนึ่งที่ผลิตเป็นจำนวนมากๆ ซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย
ทุกวันนี้โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมมากมาย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในทุกวัน สำหรับชุดนักเรียนเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย และเอื้ออำนวยความสะดวกสบายต่อคนสวมใส่ มากกว่าที่จะใส่ชุดนักเรียนเพียงแค่เหตุผลความภาคภูมิใจ แต่ไม่ได้ใส่ใจนักเรียนและผู้ปกครองที่ต้องแบกปัญหาเพียงลำพัง
Sources :
Mango Zero | https://shorturl.asia/2xkC6
PPTV HD 36 | https://shorturl.asia/D7XHA
SDG Move | https://shorturl.asia/D513r
The Matter | https://shorturl.asia/xUKNW
The Momentum | https://shorturl.asia/oSzVx
ข่าวสด | https://shorturl.asia/ukZzo
ข่าว 8 | https://kuza.me/GYKp7
ประชาชาติธุรกิจ | https://shorturl.asia/GqeVS
รัฐบาลไทย | https://shorturl.asia/9jRZL