จะดีไหม ? หากเรามีพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนสามารถออกมาใช้งานร่วมกันอย่างไม่มีข้อจำกัดใดๆ ไม่ว่าจะออกกำลังกาย นั่งพักผ่อนหย่อนใจ พาลูกหลานมาเที่ยว จัดกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกัน เพราะหลายครั้งที่พื้นที่ร้างกลายเป็นพื้นที่ซึ่งถูกปล่อยทิ้งร้างจนกลายเป็นปัญหาจากเล็กไปจนใหญ่ ทั้งจากมุมของผู้คนทั่วไปจนถึงคนในชุมชน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยค่อนข้างตื่นตัวกับการเรียกร้องที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากพื้นที่ว่างเปล่าหลายแห่งกำลังถูกจับตามองว่าจะนำไปใช้ประโยชน์แก่คนในชุมชนอย่างไร
ด้วยแนวคิดเหล่านี้จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ร่วมกันของทาง ‘สถาบันอาศรมศิลป์’ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) จับมือร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านแหลม ในการสร้างโครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน ที่มองเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสุขภาพในชุมชนเพื่อลดปัญหาโรคที่เกิดจากพฤติกรรม หรือที่เราเรียกว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ปัจจุบันคนไทยเป็นแล้วกว่า 14 ล้านคน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้
เราจึงชวน ‘คุณปิ่นทอง ศรจังหวัด’ ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรีมาพุดคุยถึงมุมมองที่เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ตำบลบ้านแหลม
“เราเองก็มองเห็นพื้นที่ในตำบลบ้านแหลมที่สามารถนำมาต่อยอดปรับปรุงอยู่เหมือนกันพอดีกับทางอาศรมศิลป์กับสสส. เข้ามาแนะนำให้ความรู้ก็เลยเกิดเป็นการสร้าง ‘พื้นที่สุขภาวะ’ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกเพศทุกวัยด้วยถ้าย้อนกลับไปเมื่อก่อนตรงนี้เป็นนาเกลือเก่า ชาวบ้านจะเพาะปลูกอะไรก็ค่อนข้างยากทำให้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ก็น้อยลงไป
ก็เลยเป็นเป้าหมายหลัก ‘คือการสร้างพื้นที่สุขภาวะสำหรับประชาชน’ แต่ทำยังไงให้คนมาใช้พื้นที่ได้จริงๆ เราเลยเริ่มพูดคุยกับชาวบ้าน ลงพื้นที่สอบถามความความคิดเห็นของชาวบ้านแต่ละคน และนำมาพัฒนาต่อจนกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการอย่างแท้จริง”
“เมื่อก่อนในช่วงปีแรก เทศบาลตำบลบ้านแหลมเรามีงบประมาณไม่มากนักจึงเริ่มจากการลุกขึ้นมาช่วยกันคนละไม้คนละมือจากชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการตกแต่งภูมิทัศน์ มีการลากเรือประมงเก่าที่พังแล้ว มาทำเป็นเครื่องเล่นให้เด็กปีนป่าย ช่วยกันปรับถนนที่ใช้ในช่วงกลางวันที่เป็นเวลาราชการให้กลายเป็นลู่วิ่งในช่วงเย็น แถมเด็กๆ ยังได้มีส่วนร่วมในการตกแต่งระบายสีเครื่องเล่นของพวกเขาเองด้วย ปรากฏว่าคนในชุมชนต่างเข้ามาใช้บริการกันอย่างคึกคักเลย
ซึ่งตอนเริ่มทำโครงการนี้มีสุภาพสตรีสูงวัยมาเดินกันแค่ไม่กี่คนแต่หลังจากที่เราเริ่มพัฒนาปรับปรุงไปเรื่อยๆก็เริ่มจะมีคนเข้ามามากขึ้นจริงๆอาจเป็นช่วงของเทรนด์ทำให้คนรักสุขภาพมากยิ่งขึ้นแต่เราก็อดคิดไม่ได้ว่าเพราะพื้นที่เปลี่ยนไปดูน่าใช้งานมากขึ้นคนก็เริ่มเห็นประโยชน์มากขึ้นจากมีแค่คนสูงวัยก็มีวัยรุ่นคนวัยกลางคนหรือครอบครัวก็พาเด็กๆมาด้วยมันทำให้เห็นถึงความหลากหลายว่า ‘ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน เทศบาลตำบลบ้านแหลม’ ไม่ได้สร้างมาเพื่อคนกลุ่มเดียวทำให้เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่คนในชุมชนสามารถมาใช้พื้นที่ตามเป้าหมายของเราที่ตั้งใจไว้”
หลังจากได้พูดคุยกับคุณปิ่นทอง ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแหลมแล้ว เราก็ไปลองสำรวจพื้นที่พบว่า ‘ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน’ กลายเป็นศูนย์รวมใหม่ของคนทุกเพศทุกวัยจริงๆ แต่ภาพที่ประทับใจที่สุดคือ ภาพของคุณยายใส่ผ้าซิ่น นุ่งผ้าถุง มาโยกเครื่องเล่นออกกำลังกาย บ้างก็จูงหลานมาเล่นเครื่องเล่น มาก่อกองทราย แล้วตัวเองก็นั่งจับกลุ่มคุยกัน ส่งเสียงหัวเราะร่าเริง ขณะเดียวกันกับกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานก็รวมตัวกันเต้นแอโรบิคอยู่ถัดไปบนลู่วิ่ง
ซึ่งเราเองเห็นภาพของคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มวัยรุ่นหน่อยก็จะสวมชุดกีฬาแบบจัดหนักจัดเต็ม มีการรวมกลุ่มกันวิ่งซักซ้อมกันจริงจัง กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ คุณลุงคุณป้าที่มาพร้อมชุดทำงานสวมหมวกปีกกว้างคลุมกันแดดเห็นแต่ลูกตาสวมกางเกงกับเสื้อที่มาจากที่ทำงาน อาจจะมาจากนาเกลือข้างๆ หรืออาจจะเลิกงานมาจากลานตากหมึก ตากปลาแห้ง ซึ่งคุณลุงคุณป้าเพียงแค่เปลี่ยนมาใส่รองเท้าหุ้มข้อแล้วออกวิ่ง ขยับเดินออกกำลังกายกันอย่างมีความสุข เคล้ากับแสงพระอาทิตย์ยามเย็น ที่มาพร้อมกับลมสบายๆ จากทะเล แถมยังมีนาเกลือกว้างๆ ให้ทอดสายตาออกไปไกลแสนไกล ผสมเสียงพูดคุยของชาวบ้าน เสียงหัวเราะแห่งความสุข นี่แหละพื้นที่ในฝันชัดๆ
คราวนี้เราเลยลองไปชวนคุณปุ๊กไก่ – นฤมลพลดงนอกที่เป็นหัวหน้าโครงการและสถาปนิกชุมชนพูดคุยเกี่ยวกับโครงการนี้บ้าง
“ความรู้สึกเราคือเกินคาดกับพื้นที่นี้เลยนะเพราะว่าพื้นเพที่ตรงนี้มีความยากอยู่หลายปัจจัย ทั้งความต้องการเรื่องสุขภาวะความต้องการพื้นที่ออกกำลังกายมันเยอะมากซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องออกกำลังอย่างเดียวแถมมีความต่างของทั้งเด็กผู้ใหญ่ผู้สูงอายุด้วยเรียกว่ารายละเอียดเยอะมาก
“อย่างในพื้นที่นี้เขาก็มีการทำงานที่แตกต่างกันเช่นคนที่ทำอาชีพเกษตรอาชีพการประมงก็มีการออกกำลังกายอยู่แล้วเราก็เห็นว่าเขาสนใจเรื่องการออกกำลังกายมากขึ้นนะซึ่งปกติเวลาเราไปวิ่งเราก็จะเปลี่ยนเสื้อผ้าครบชุดแต่ที่นี่คุณป้าใส่แค่หมวกรองเท้าหุ้มส้นก็พร้อมแล้วคือเห็นได้เลยว่าคนกลุ่มนี้มีความต้องการที่จะออกกำลังกายจริงๆเห็นแล้วเราก็รู้สึกประทับใจมากๆที่สิ่งที่พวกเราช่วยกันคิดมันเป็นประโยชน์กับคนในชุมชน”
ซึ่งในโปรเจกต์นี้ยังมีมุมมองดีๆจากคุณเป้ – รัฐพงค์ปิ่นแก้วตำแหน่ง Landscape architect ว่าก่อนนี้ที่ท้องถิ่นไม่มีเราเขาออกแบบเป็นอย่างไร
“โดยทั่วไปแล้วงานสถาปนิกส่วนใหญ่ ทางเทศบาลนั้นมีงบที่จะต้องเตรียมการสร้างในส่วนของพื้นที่ตรงนั้นอยู่แล้ว ซึ่งทางอาศรมศิลป์ได้ทำแบบประเมินเรื่องการวางสิ่งของต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับทางชุมชนมากที่สุดด้วยการลงพื้นที่จริง มีการสอบถามข้อมูลจากทางชุมชน ลงไปใช้ชีวิตทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ทางอาศรมศิลป์กับชาวบ้านเข้าใจกันและรู้ถึงความต้องการของแต่ละคนอย่างชัดเจน สุดท้ายก็เอาข้อมูลที่ได้มาทำให้ทุกคนได้ประโยชน์สูงสุด”
หากมองลงไปให้ลึกจริงๆ นอกจากได้ผลลัพธ์ของพื้นที่เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่าง ‘ลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชนบ้านแหลม’ แล้ว การจัดการพื้นที่สาธารณะแบบมีส่วนร่วมยังเป็นตัวอย่างของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการแสดงออกในวิถีประชาธิปไตยในท้องถิ่นแบบที่ยังรักษาตัวตนของชุมชนได้อีกด้วย เพราะทุกสิทธิ์ทุกเสียงของชาวบ้านมีความสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้