เข้าใจกฎหมายจิตเวช แบบไหนบ้าจริงหรือแกล้ง - Urban Creature

“อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา”

ประโยคเตือนสติให้เราคอยระวังคนที่ดูเหมือนจะบ้า เพราะเราไม่รู้เลยว่าคนเหล่านั้นจะมาทำอะไรเราบ้าง บางคนไม่เคยแม้แต่จะไปยุ่งวุ่นวายกับพวกเขา แต่วันดีคืนดีก็โดนทำร้ายเอาดื้อๆ แถมคลิปข่าวยังออกทีวีให้เห็นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นหญิงสติบุกทำร้ายคนไม่รู้จัก หนุ่มหัวร้อนขับรถชนก่อนอ้างซึมเศร้า หรือแม้แต่ชายไม่สมประกอบตระเวนเผารถชาวบ้าน ซึ่งหลายเหตุการณ์มักลงเอยด้วยการปล่อยตัวคนทำผิด เพียงเพราะอ้างว่า ‘บ้า’

ถ้าวันหนึ่งตัวเราเองเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าจะต้องรับมืออย่างไร จะปล่อยให้ลอยนวลดีไหม หรือต้องแจ้งตำรวจให้รู้แล้วรู้รอด แล้วการที่คนบ้าทำผิดนั้นจะได้รับโทษทางกฎหมายหรือเปล่า เพราะดูข่าวก็เห็นว่าไม่เอาผิดคนบ้า เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องสนใจ แม้เราจะไม่ได้บ้าเหมือนเขา แต่ก่อนจะเคลียร์ว่าเรื่องนี้ผิดหรือไม่ เรามาเข้าใจก่อนว่า ในหลักสากลเขาอธิบาย ‘ความผิดปกติทางจิต’ ไว้อย่างไร

Arthur Fleck จากภาพยนตร์ Joker – ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางสรีรวิทยา

‘ความบ้า’ หน้าตาประมาณไหน

ก่อนใช้ศาสตร์ทางกฎหมาย ต้องเข้าใจศาสตร์ทางจิตเวชเสียก่อน ซึ่งสังคมไทยยังมีคนสับสนกับเรื่องพวกนี้ บ้างเรียกคนที่ชอบเอาชุดชั้นในมาสูดดมว่าไอ้โรคจิต บ้างก็ยังไม่รู้ว่าบางอาการที่เราเห็นนั้นถือเป็นความผิดปกติทางจิตเหมือนกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกเรียกความผิดปกติทางจิตว่า ‘โรคทางจิตเวช’ โดยแบ่งเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่

1. ความผิดปกติทางจิตจากโรคทางกาย เช่น โรคของสมอง อย่างประสบอุบัติเหตุมาแล้วจำอะไรไม่ได้ เป็นอัลไซเมอร์ หรือสมองฝ่อ

2. ความผิดปกติทางจิต และพฤติกรรมจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เกิดขึ้นจากการใช้สารเสพติด ทั้งอาการที่เกิดจากพิษยาโดยเฉียบพลัน ติดยา รวมถึงการถอนยา

3. โรคจิตเภทและหลงผิด เช่น หลงผิดคิดว่ามีคนจะทำร้าย หลงผิดคิดว่ามีคนนินทา หลงผิดคิดว่าตัวเองใหญ่โตค้ำฟ้า เห็นในสิ่งที่มันไม่มีอยู่จริง หูแว่วได้ยินในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ยิน

4. ความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์

5. กลุ่มโรคประสาท เกิดจากความเครียด ย้ำคิดย้ำทำ มีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง ตัวสั่น วิตกกังวล กลัวสิ่งต่างๆ เช่น กลัวการเข้าสังคม กลัวที่แคบ กลัวที่โล่งแจ้ง

Kevin Wendell Crumb จากภาพยนตร์ Split ผู้ป่วยจิตเวชหลายบุคลิก

6. กลุ่มพฤติกรรมที่เกิดจากความผิดปกติทางสรีรวิทยา เป็นความผิดปกติในการกิน นอน หรือพฤติกรรมทางเพศ เช่น พวกกินตลอด นอนหลับได้ตลอด ละเมอจนไปก่อเรื่อง ไร้อารมณ์ทางเพศ

7. บุคลิกภาพและพฤติกรรมผิดปกติในผู้ใหญ่ เช่น หวาดระแวง ไม่ไว้ใจใคร แยกตัวออกจากสังคม ไม่คบหาสมาคมกับใคร บุคลิกภาพต่อต้านสังคม

8. ปัญญาอ่อน ภาวะที่มีระดับสติปัญญาด้อยกว่าปกติ เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญเติบโตในวัยเด็ก จนเกิดเป็นข้อจำกัดในด้านการเรียนและการเข้าสังคม

9. ความผิดปกติของพัฒนาการทางจิต พัฒนาการทางจิตที่ส่งผลต่อความผิดปกติของพฤติกรรม เช่น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด อ่าน-เขียนหนังสือไม่ได้ รวมถึงโรคออติสซึม

10. พฤติกรรมและความผิดปกติที่เกิดในเด็กและวัยรุ่น เช่น ซนเกินขนาด อยู่ไม่สุข เด็กกลุ่มนี้ทำอะไรโดยรวดเร็ว ขาดความยั้งคิด รวมถึงไม่มีวินัย

ใครว่า ‘บ้า’ แล้วจะรอด

ทีนี้ก็เห็นแล้วว่า ‘โรคทางจิตเวช’ ไม่ว่าจะป่วยจิตเป็นซึมเศร้า เป็นไบโพลาร์ เป็นโฟเบียกลัวสิ่งต่างๆ ไปจนถึงขั้นเดินรำกลางถนน หรือมองเห็นภาพหลอนกรีดร้องไปทั่ว ล้วนเป็นความผิดปกติทางจิตที่ควรได้รับการรักษาทั้งสิ้น ถ้าคนเหล่านี้ไปทำความผิดจะเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ซึ่งบอกไว้ว่า

“ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

Jack Torrance จากภาพยนตร์ The Shinning – ผู้ป่วยโรคจิตเภทและหลงผิด

หากดูตามมาตรา 65 แล้ว จะมีแค่ผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นโทษ เช่น ผู้ป่วยโรคจิต ปัญญาอ่อน โรคสมองเสื่อม เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถรู้ผิดชอบ และไม่สามารถบังคับตนเองได้ขณะทำความผิด ส่วนผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตในกลุ่มโรคประสาท กลุ่มผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ กลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติทางเพศ และกลุ่มผู้ที่ติดยาเสพติด จะไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นโทษ เว้นแต่ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคจิตปนอยู่ด้วย ซึ่งเหตุผลที่กฎหมายไม่ยกเว้นโทษให้บุคคลเหล่านี้ เพราะว่ายังมีความรู้ผิดชอบ และสามารถบังคับตนเองได้ โดยศาลอาจลดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด

แล้วอย่างนี้ก็อ้างว่าเป็นโรคทางจิตเวชเพื่อให้พ้นผิดได้สิ สำหรับประเด็นนี้ ถ้าดูข้อกฎหมายดีๆ จะเห็นว่าการพ้นผิดตามกฎหมายต้องมาจากอาการป่วยจริงๆ บางคนป่วยแล้วรักษาจนดีขึ้น แต่ดันไปก่อเรื่องเข้า จะเห็นว่าตรงนี้ไม่ได้มาจากอาการป่วย เพราะดีขึ้นจนรู้ผิดชอบได้บ้าง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นโทษ แต่ยังคงถือเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต และอาจได้ลดโทษตามที่มาตรา 65 กำหนดไว้

พี่ยิม จากซีรีส์ Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ – ผู้ป่วยออทิสติก

หากผู้ป่วย ป่วยจนสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว แบบนี้ไม่ต้องรับผิดก็ปล่อยให้ลอยนวลเลยเหรอ ? ตรงนี้ก็มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อศาลเห็นว่าการปล่อยตัวผู้มีจิตผิดปกติออกไป แล้วจะไม่ปลอดภัยแก่ผู้อื่น ศาลสามารถส่งไปคุมไว้ในสถานพยาบาลนานเท่าไรก็ได้จนกว่าจะเพิกถอนคำสั่ง 

ซึ่งเหตุผลที่ต้องเป็นศาลตัดสินเท่านั้น ผู้เสียหายหรือตำรวจก็ไม่มีอำนาจตัดสิน เพราะบางทีก็ยากเหมือนกันที่จะรู้ได้ว่าผู้ป่วยนั้นบ้าจริงหรือแค่หงายการ์ด โดยศาลต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญอย่างนิติจิตเวชหรือจิตแพทย์ เพื่อการตรวจและพิสูจน์ที่แม่นยำ แล้วศาลก็จะเป็นฝ่ายพิพากษา

มธุสร จากละคร ‘ล่า’ – ผู้ป่วยโรคจิตเภทและหลงผิด

อ่านมาถึงตรงนี้ ขอสรุปเลยว่า ความเชื่อ ‘คนบ้าทำอะไรไม่ผิด’ ไม่เป็นความจริง เพียงแต่ศาลจะดูว่าการกระทำความผิดนั้น ผู้กระทำรู้ผิดชอบหรือสามารถบังคับตนเองได้หรือเปล่า อีกอย่างคือการแกล้งป่วย ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเข้าใจในโรคทางจิตเวช ต่อให้แสดงให้เนียนแค่ไหนก็ไม่มีทางตบตาจิตแพทย์ได้

“อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา” ยังคงเป็นประโยคเตือนสติให้เราระมัดระวังตัวเองจากคนวิกลจริตได้เสมอ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะตัดสินพวกเขา จนกีดกันให้ออกจากสังคม เพราะสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก คือเรื่องของการยอมรับผู้ป่วยทางจิต ว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม นั่นจะทำให้ผู้ป่วยกล้ายอมรับตัวเอง กล้าเข้ารับการรักษา และกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนว่า “ฉันก็เป็นผู้ป่วยจิตเวชคนหนึ่ง”


SOURCE
ประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 65
วารสารกรมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
สำนักงานกิจการยุติธรรม
HealthToday Magazine, No.206 June 2018
Thairath

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.