ภาพเฟดดำ ก่อนจะค่อยๆ ปรากฏภาพหญิงสาวผู้สวมแว่นตาที่นั่งอยู่หน้าคอมฯ บนหน้าจอเต็มไปด้วยภาพทำเนียบขาวของประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมคำอธิบายประกอบอย่างละเอียด
เร็วเท่าความคิด, ภาพทำเนียบขาวที่เธอดีไซน์ในหัวปรากฏขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่าข้างตัว…ถ้าเรื่องราวดำเนินในยุคนี้ มีตัวละครหลักเป็นคนนิสัยแบบนี้ ทำเนียบขาวควรจะมีหน้าตาเป็นยังไง…เธอออกแบบตั้งแต่ข้างนอกตึกไปจนถึงพื้นที่ภายใน ชั้นที่ 1 ถึง 5 เจาะลงไปถึงรายละเอียดเล็กๆ กระทั่งสีผนังและกลอนประตู
นี่คือสิ่งที่ ‘แพรรี่-ธัญพิชชา ไตรวุฒิ’ ต้องทำในซีรีส์ใหม่ของ Netflix เรื่อง The Residence ซึ่งว่าด้วยคดีฆาตกรรมในทำเนียบขาว ย้อนกลับไปราวต้นปี 2023 เธอได้มีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในทีมนักออกแบบฉาก (Set Designer) ประจำโปรเจกต์นี้
ความเจ๋งคือเธอเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่เป็นทีมงานเบื้องหลัง และเท่าที่เรารู้ เธอเป็นคนไทยหนึ่งในไม่กี่คนที่มีโอกาสได้ทำงานให้หนังและซีรีส์ฮอลลีวูด
ไม่เคยฝันว่าจะมาถึงตรงนี้ได้เหมือนกัน-เธอสารภาพกับเราในเช้าที่เราวิดีโอคอลคุยกัน ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องราวอดีตเด็กสาวช่างฝันผู้รักศิลปะ ผู้ที่กว่าจะค้นพบว่าตัวเองชอบออกแบบฉากก็ตอนได้ทำละคอนถาปัดในรั้วจามจุรี ก่อนจะตัดสินใจเดินตามฝันในวัยใกล้ 30 จนสำเร็จ
แน่นอนว่าหลังจากฟังเธอเล่าจบ ภาพจำที่เรามีต่อฉากในหนังหรือซีรีส์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ซีนแรก
กรุงเทพฯ, 2011
ภาพเฟดดำ ก่อนจะค่อยๆ ปรากฏภาพเด็กหญิงธัญพิชชาในโรงภาพยนตร์ หน้าจอปรากฏภาพจากหนังในตำนานอย่าง Star Wars และ Jurassic Park เด็กหญิงหัวเราะคิกคัก สนุกสนานไปกับเรื่องราว ไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งตัวเองจะได้ทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกในจอ แต่ที่รู้ (สึก) แน่ๆ คือมันเจ๋งดี
กว่าจะรู้ว่าโลกนี้มีอาชีพแบบนี้ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย เด็กหญิงธัญพิชชาผู้เป็นเด็กศิลปะมาตั้งแต่เด็กได้จับงานออกแบบฉากจริงจังก็ตอนทำ ‘ละคอนถาปัด’ ตอนเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปรียบเสมือนสนามฝึกชั้นดีของนักออกแบบฝึกหัด
“ตอนได้ทำละคอนถาปัดเราเอนจอยมาก รู้สึกว่าอยากสร้างฉากที่ชี้นำโดยสตอรี ชี้นำโดย Motive (แรงจูงใจ) ของตัวละคร ซึ่งสามารถประกอบเข้ากับเรื่องราวของเขาได้โดยไม่ได้อยู่ในคำพูดของเขาเลย เหมือนเป็นอีกมิติที่เพิ่มความเข้มข้นให้กับโลกที่ละครสร้างขึ้นมา เรารู้สึกว่านั่นสนุกดี”
หลังจากเรียนจบ ธัญพิชชาเข้าทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทออกแบบแลนด์สเคปแห่งหนึ่ง อาจเป็นโชคชะตาที่ทำให้งานส่วนใหญ่ของเธอคืองานออกแบบให้รีสอร์ต โรงแรม พิพิธภัณฑ์ ซึ่งล้วนมีคอนเซปต์และเรื่องราวกำกับอยู่ “นั่นช่วยให้เราได้ขัดเกลาความคิดตัวเองว่าเราจะเริ่มดีไซน์จากสตอรีก่อนเสมอ เหมือนได้ฝึกการทำงานโดยเริ่มจากจินตนาการ”
ยิ่งได้ทำก็ยิ่งขับเน้นความชอบเรื่องงานออกแบบที่ตั้งต้นจากเรื่องราวให้เข้มข้น หลังจาก 3 ปีในโลกสถาปนิก ธัญพิชชาเริ่มมองหาการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสตร์การออกแบบทางด้านนี้ จนไปเจอคอร์สปริญญาโทสาขา Production Design & Scenic Design ที่ University of California (UCLA)
รู้ตัวอีกทีเธอก็นั่งประจันหน้าอาจารย์ประจำสาขาเพื่อสอบสัมภาษณ์เข้าเรียน
ซีนสอง
แคลิฟอร์เนีย, 2019
ภาพเฟดดำ ก่อนจะค่อยๆ ปรากฏภาพหญิงสาวผู้ถูกสัมภาษณ์กับอาจารย์ผู้สัมภาษณ์ บทสนทนาของทั้งสองเป็นไปด้วยดี แต่ในปี 2018 ที่ธัญพิชชาสมัครสอบครั้งแรก เธอกลับสอบไม่ติด
“อาจารย์ชอบเรา แต่เขาบอกว่าเขาไม่แน่ใจว่าควรจะรับดีไหม เพราะเขาไม่แน่ใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังและละครเวทีในไทย กลัวเรากลับไทยแล้วไม่มีงานทำ”
ปีถัดมาเธอไม่ยอมแพ้ ยื่นสมัครไปอีกครั้ง “อาจารย์ที่สัมภาษณ์เขาจำได้ เขาก็โอเค อยากมาก็มา” หญิงสาวหัวเราะ
ฟังดูเหมือนง่าย แต่เหตุผลที่ทำให้สอบติดไม่ได้มีอยู่เท่านั้น เพราะธัญพิชชาคือคนไทยคนเดียว และเป็นนักเรียน 1 ใน 3 คนที่เข้าเรียนสาขา Production Design & Scenic Design ในปีนั้น เพราะอาจารย์เห็นว่าเธอมีสกิลของสถาปนิก และสามารถใช้สกิลที่ติดตัวนี้สื่อสารไอเดียในการสร้างฉากออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราคิดว่าการสื่อสารงานภาพ (Visual) ของเรื่องราวสักเรื่อง สิ่งที่คนเป็นดีไซเนอร์ต้องจำเอาไว้คือการมองภาพหลักแล้วมองลึกลงไปเรื่อยๆ” เธอวิเคราะห์ให้ฟัง
“หนังทุกเรื่องมีจักรวาลของมัน มากกว่านั้นคือตัวละครที่อยู่ในเรื่องมีโลกของตัวเอง ก่อนดีไซน์เราต้องหาคำตอบให้ได้ว่าคนคนนี้คือใคร โลกของเขาเป็นยังไง แล้วถึงจะกำหนดสภาพแวดล้อมรอบตัวเขาได้ สมมติหนังเรื่องหนึ่งมีห้าสิบฉาก ฉากทั้งห้าสิบฉากจะต้องเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมเรื่องราวของตัวละครหลักกับตัวละครรองอีกสองถึงสามคนให้ได้ ฉากทุกฉากคือการตีความ (Interpretation) ของตัวละครในโลกนั้น”
เธอยกตัวอย่างหนังเรื่องโปรดให้ฟัง นั่นคือ The Father หนังดราม่าเกี่ยวกับหญิงวัยกลางคนที่ต้องมาดูแลคุณพ่อแก่ชราผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งบ้านที่อาศัยอยู่จะมีหน้าตาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผันแปรไปตามความจำของผู้เป็นพ่อ
“ตั้งแต่ได้เข้ามาในวงการนี้ เราเห็นคุณค่าของฉากที่ดูเหมือนจะธรรมดาแบบนี้มากขึ้น เพราะฉากเหล่านั้นทดสอบการตีความของเรา”
ถึงตรงนี้ ธัญพิชชาสรุปหน้าที่ของนักออกแบบฉากให้เราเห็นภาพได้ชัดว่า นักออกแบบฉากก็คือนักเล่าเรื่องคนหนึ่ง เหมือนกับนักเขียนที่เล่าเรื่องด้วยการใช้คำ ผู้กำกับเล่าเรื่องด้วยการมองภาพรวมของเรื่องแล้วปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน
ส่วนนักออกแบบฉาก พวกเขาเล่าเรื่องด้วยการดีไซน์โดยใช้ภาพ สีสัน และการเปลี่ยนแปลงของฉากซึ่งเปลี่ยนไปตามเนื้อเรื่อง
ซีนสาม
ลอสแอนเจลิส, 2022
ภาพเฟดดำ ก่อนจะค่อยๆ ปรากฏภาพของธัญพิชชาที่กำลังโลดแล่นในโลกของนักออกแบบฉาก หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยนาน 3 ปี หญิงสาวตั้งมั่นว่าจะทำงานต่อในเมืองแห่งโปรดักชันหนังและซีรีส์อย่างลอสแอนเจลิส
ธัญพิชชามีโอกาสจับงานหลายประเภท เริ่มตั้งแต่ทำคอนเซปต์อาร์ตให้กับหนังใหม่ของผู้กำกับหลายคนที่กำลังจะไปพิตช์งานกับสตูดิโอ “ซึ่งสนุกดี เพราะเราได้อยู่กับโปรเจกต์ตั้งแต่ตอนยังไม่มีอะไรเลยนอกจากเค้าโครงเรื่อง บทก็ยังไม่มี แต่เราต้องทำคอนเซปต์อาร์ตเพื่อช่วยถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ เป็นตัวช่วยอธิบายว่าเขาจะถ่ายทอดเรื่องนี้ออกมายังไง เรื่องนี้พิเศษกับเขายังไง”
แต่งานที่นับว่าเป็นงานแรกในฮอลลีวูดจริงๆ คือการได้เป็นผู้ช่วยนักออกแบบงานสร้าง (Production Assistant) ให้กับหนัง Netflix เรื่อง Atlas ที่ Jennifer Lopez แสดงนำ
“ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะเปิดโอกาสให้เราได้รู้จักคนตัวท็อปในวงการหลายคน การได้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ทำให้เราเริ่มเข้าใจความชอบ เข้าใจว่าอะไรยากสำหรับเรา และสิ่งที่เราต้องได้เรียนรู้เพิ่มเติมคืออะไรบ้าง”
นอกจากงานภาพยนตร์ เธอยังกระโดดไปออกแบบฉากให้โปรดักชันโอเปราเรื่องใหม่เอี่ยมอย่าง The Romance of the Rose (Roman de la Rose) ที่เพิ่งเปิดตัวรอบ World Premiere มาหมาดๆ
“การออกแบบให้การแสดงสดสนุกตรงที่มันเปิดโอกาสให้เราหาภาษาภาพที่ Abstract กว่าหนัง ถ้าเป็นหนัง เขาอยากได้บ้านเราก็ต้องสร้างบ้านให้เขา แต่พอเป็นละคร ถ้าอยากได้บ้าน เราวางเสาสักสี่ต้นแล้วบอกว่าเป็นบ้านก็ทำได้ แล้วพอถึงฉากสะพาน เราก็เปลี่ยนเสาเป็นคานแล้วบอกว่าเป็นสะพานก็ได้”
ธัญพิชชาออกปากว่า ไม่ว่าจะงานหนังเล็กที่ได้ตั้งไข่กับผู้กำกับตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์ งานโอเปราโปรดักชันยิ่งใหญ่ หรืองานออกแบบฉากในโปรเจกต์หนังฟอร์มยักษ์ที่ได้ร่วมงานกับ Set Designer หลายคน บางครั้งได้รับช่วงต่องานจากนักออกแบบคนอื่น ทุกงานล้วนสนุกสนานและมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่า
“การได้อยู่กับโปรเจกต์ตั้งแต่แรกทำให้เราได้บริหารความคิดสร้างสรรค์และความสามารถตัวเองอย่างเต็มที่ ทำให้ได้รู้จักศิลปินใหม่ๆ หรือคนที่อยู่ในสถานการณ์ใกล้ๆ กันและพยายามหาเส้นทางของตัวเอง บรรยากาศการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับทุกคนที่ได้ร่วมโปรเจกต์
“ในขณะที่งานใหญ่ๆ ก็ให้ความมั่นคงกว่า เพราะเราได้เซ็นสัญญาอย่างน้อยสี่ถึงห้าเดือน และไม่ใช่ว่าเราเข้าไปทำงานต่อจากใครแล้วจะทำตามคำสั่งอย่างเดียว แต่งานยังเรียกร้องประสบการณ์จากเรา ให้อิสระและโอกาสเราในการใส่ตัวเองลงไปได้ มากกว่านั้น การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรดักชันใหญ่ๆ ทำให้เราได้เห็นว่าเวลาที่โปรดักชันมีเงินมาซัพพอร์ต มันจะไปไกลได้แค่ไหน”
โปรเจกต์ล่าสุดของเธอในเคสหลังคือ The Residence ซีรีส์จากค่าย Shondaland/Netflix ผู้เคยสร้าง Bridgerton ซึ่งเล่าเรื่องราวแนวสืบสวนสอบสวน-ฆาตกรรม (Murder Mystery) ในทำเนียบขาว
“นี่ไม่ใช่ซีรีส์แบบดราม่าการเมือง (Political Drama) แต่เป็นแนวนักสืบการฆาตกรรมในทำเนียบขาว มันสนุกเพราะเป็นอีกแง่มุมที่เกิดขึ้นในทำเนียบขาว ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นตำนาน (Iconic) ของคนอเมริกัน”
ซีนสี่
ฮอลลีวูด, 2023
ภาพเฟดดำ ก่อนจะค่อยๆ ปรากฏภาพธัญพิชชาที่นั่งอยู่หน้าคอมฯ บนหน้าจอเต็มไปด้วยภาพทำเนียบขาวของประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมคำอธิบายประกอบอย่างละเอียด
เร็วเท่าความคิด, ภาพทำเนียบขาวที่เธอดีไซน์ในหัวปรากฏขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่าข้างตัว…ถ้าเรื่องราวดำเนินในยุคนี้ มีตัวละครหลักเป็นคนนิสัยแบบนี้ ทำเนียบขาวควรจะมีหน้าตาเป็นยังไง…เธอออกแบบตั้งแต่ข้างนอกตึกไปจนถึงพื้นที่ภายใน ชั้นที่ 1 ถึง 5 เจาะลงไปถึงรายละเอียดเล็กๆ กระทั่งสีผนังและกลอนประตู
“ความท้าทายในการออกแบบฉากของเรื่องนี้คือ มันเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง และเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เป้าหมายของทีมโปรดักชันคืออยากออกแบบทำเนียบขาวให้เหมือนจริงที่สุดเท่าที่จะได้ ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ เราต้องเข้าใจว่าทำเนียบขาวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง พอเปลี่ยนประธานาธิบดีแต่ละคนแล้วเกิดอะไรขึ้น เพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนประธานาธิบดี สุภาพสตรีหมายเลข 1 เขาจะได้รับงบประมาณก้อนหนึ่งเพื่อรีโนเวตทำเนียบขาวใหม่ ซึ่งจะสะท้อนสไตล์และวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีด้วย
“เราใช้การถอดรหัสตรงนี้ นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีกับสไตล์มาวิเคราะห์ต่อ จากนั้นนำมาเชื่อมโยง (Map) กับตัวละครที่อยู่ในเรื่อง เพราะพวกเขาเป็นตัวละครสมมติ แต่มีวิสัยทัศน์และสไตล์ของตัวเองเช่นกัน เราก็คิดต่อว่าประธานาธิบดีแต่ละคนเคยทำแบบนี้ แล้วถ้าเป็นตัวละครของเราเขาอยู่ห้องแบบไหน”
นักออกแบบสาวอธิบายให้ฟังเพิ่มว่าดีไซน์เหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในบท อันที่จริง บทซีรีส์ไม่ได้ระบุเลยด้วยซ้ำว่าผนังห้องในฉากต้องตกแต่งด้วยวอลล์เปเปอร์ลายไหนหรือใช้หัวสัตว์เป็นตัวอะไร
“นั่นคือเหตุผลที่ฝ่ายศิลป์ต้องรีเสิร์ชผ่านฐานข้อมูลและผู้ให้คำปรึกษาที่มาจากทำเนียบขาวโดยตรงก่อนจะตัดสินใจดีไซน์ลงไป เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เห็นบนจอคือสิ่งที่เราอยากนำเสนอด้วยภาษาของเราเอง”
เธอแง้มให้ฟังอีกนิดว่า สมาชิก Netflix ทั่วโลกอาจจะได้ชม The Residence พร้อมกันทั่วโลกในปีหน้า แต่จะมีกำหนดฉายเมื่อไหร่ต้องรอลุ้นกัน
ซีนห้า (และซีนต่อจากนั้น)
อเมริกา, 2023-
ภาพเฟดดำ ก่อนจะค่อยๆ ปรากฏภาพหญิงสาวหลังเลิกงาน ธัญพิชชายอมรับกับเราว่า ช่วงแรกๆ ที่อยู่ในโปรเจกต์ The Residence เธอกลับมารีเสิร์ชข้อมูลที่บ้านต่อ นั่นเพราะเธออยากออกแบบทำเนียบขาวในเรื่องให้สมจริงที่สุด แม้จะมีอาร์ตไดเรกเตอร์และทีมดีไซเนอร์คนอื่นช่วยกันทำ แต่สำหรับผู้หญิงไทยที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอเมริกันก็ต้องใช้ความพยายามมากกว่า
“คนที่อยู่อเมริกามาตั้งแต่เด็กเขาจะมีความเข้าใจพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เราต้องเริ่มศึกษาใหม่จากศูนย์ พอมาทำงานตรงนี้มันจึงเป็นความท้าทายที่ทำให้เราอยากสู้เขาให้ได้ สองถึงสามวันก่อนจะเริ่มงานเรานั่งดูยูทูบเกี่ยวกับทำเนียบขาวทั้งวัน และตอนทำงานเราก็ไม่ได้มีเวลาว่างวิ่งไปห้องสมุดหรือนั่งอ่านเว็บเป็นชั่วโมง
“กลายเป็นว่าถ้าเราอยากทำงานให้ดีขึ้นกว่านี้ เราต้องกลับบ้านมาแล้วอ่านเอง ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษในฐานะคนที่ไม่ได้คุ้นชินกับเรื่องแบบนี้มาก่อน แต่เราก็ต้องพยายามแหละ เพราะการแข่งขันมันสูง”
ถึงอย่างนั้นเธอก็ออกปากว่า แม้จะเหนื่อยแต่ไม่เคยคิดอยากกลับไทย นั่นก็เพราะงานยังทำให้เธอสนุก ตื่นเต้น คุ้มเหนื่อย ที่สำคัญคือถึงแม้จะเป็นฟรีแลนซ์ แต่ที่อเมริกาก็มีสวัสดิการรองรับอยู่
“ที่นี่คนทำงานในวงการทุกคนเป็นฟรีแลนซ์ ทุกคนมีสัญญาจ้าง ไม่ว่าจะเป็นเราหรือ Christopher Nolan และเขามีสหภาพคอยคุ้มครองสวัสดิการ ประกันสุขภาพ และออกกฎต่างๆ เพื่อปกป้องความปลอดภัยของคนที่ทำงาน เช่น การต้องเบรกทุกหกชั่วโมงเพื่อให้กินข้าว หรือมีการกำหนด Turnaround Time เวลาพักอย่างน้อยสิบสองชั่วโมง เช่น เราทำงานแปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม ที่ทำงานไม่สามารถเรียกเราได้อีกทีจนกว่าสิบสองชั่วโมงจะผ่านไป กฎเหล่านี้มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยของคนที่มาทำงานและโปรดักชันเอง”
มากกว่าการตั้งกฎเพื่อความปลอดภัยทางกาย ในโปรดักชันที่ธัญพิชชาอยู่ยังต้องมีกฎเพื่อคุ้มครองใจ ในที่นี้หมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่โอบรับความหลากหลาย ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าคุณจะมาจากไหน มีผิวสีอะไร
“เรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายจะมีการเทรนทุกครั้งที่เริ่มงานใหม่ เขาให้ความสำคัญกับการเทรนให้ทุกคนเข้าใจว่า Microaggression (การเหยียดโดยไม่รู้ตัว) คืออะไร ในขณะเดียวกัน เราในฐานะคนต่างถิ่น (Immigrant) และคนเอเชียก็ต้องรู้ขอบเขต (Boundary) ของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน ถ้ามีคนมาล้ำเส้นเราจะทำยังไง เราจำเป็นต้องตั้งขอบเขตและเคารพขอบเขตของเราในชีวิตประจำวันด้วย
“เราว่าในแวดวงของเรา คนไทยที่อยู่ที่นี่ก็ยังน้อยอยู่นะ ตอนนี้เราไม่รู้จักคนไทยสักคนเลยในที่ทำงาน” เธอตอบกลั้วหัวเราะเมื่อเราถามว่ามีเพื่อนชาวไทยบ้างไหม
“แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเลย เราว่าสิ่งสำคัญคือการรู้ว่าเส้นทางนี้มันเป็นไปได้ ย้อนกลับไปตั้งแต่เด็กเราไม่รู้ว่าตัวเองจะได้มาทำอาชีพแบบนี้ได้ด้วยซ้ำ จนกระทั่งเราโตขึ้นแล้วถึงรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่ ที่เรามาอยู่ตรงนี้ได้เพราะเรารู้ว่ามันเป็นไปได้”
หากจะมีคำแนะนำอะไรที่พอจะแนะนำคนอื่นๆ ที่อยากมาทำงานในฮอลลีวูดได้ ธัญพิชชาบอกว่าคีย์หลักคือการรู้จักตัวเอง
“เราต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วพยายามโฟกัสกับสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามีชีวิต (Alive) น่ะ” หญิงสาวบอก
“ถ้าเราเจอสิ่งที่มันจุดประกาย (Spark) ความรู้สึกเรา เราก็ยึดถือสิ่งเหล่านั้นไว้ เพราะมันอาจเป็นคำบอกใบ้เส้นทางต่อไปในชีวิตเราก็ได้ และถึงแม้จะเป็นอาชีพที่ไม่เคยเห็นคนอื่นทำมาก่อน บางครั้งเราพยายามไปแล้วไม่มีใครมองเห็น บางครั้งเรารู้สึกเหงาเพราะรู้สึกเหมือนสู้อยู่คนเดียว สิ่งที่เราต้องฝึกคือการตั้งสติ และขอให้มีความมั่นคงในสัญชาตญาณของตัวเอง”