เบื้องหลังโรงงานรีไซเคิลของ ‘พี่โหมว’ มือปราบขยะ - Urban Creature

เคยคิดไหม ? ขวดน้ำที่อยู่ในมือเราตอนนี้เมื่อดื่มหมดแล้ว ขวดพลาสติกเปล่าที่เราเพิ่งทิ้งลงถังขยะจะเดินทางไปไหน ระหว่างบ่อขยะ เตาเผาขยะ หรือโรงงานรีไซเคิล จากรายงานสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า

ปี 2561 ขยะมูลฝอยทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 27.8 ล้านตัน มีขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง 27 % ขยะที่กำจัดถูกต้อง 39 % และขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ 34 %

เราสืบเสาะมาจนถึงปลายทางของบรรดาขวดพลาสติกผู้โชคดี ที่ได้มาอยู่โรงงานรีไซเคิลในจังหวัดปทุมธานี รอการรีไซเคิลนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกครั้ง ‘พี่โหมว-ธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์’ เจ้าของบริษัท ‘ปราบขยะรีไซเคิล จำกัด’ เป็นไกด์พาเราเดินชมทุกซอกทุกมุมของโรงงานรีไซเคิล ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยกขยะ เครื่องจักรที่ทำหน้าที่บดพลาสติก จนกระทั่งย่อยออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนนำไปแปรรูปเป็นถุงขยะ เรียกว่ามาที่นี่ได้เห็นทุกขั้นตอนการรีไซเคิลแบบละเอียดยิบ

| กว่าจะเป็น ‘เม็ดพลาสติก’ ต้องผ่านอะไรบ้าง ?

เหล่าขวดพลาสติกถูกนำมาแยกฉลากออกจากขวด โดยพี่ๆ คนงานที่กำลังนั่งทำงานหลังสู้แดด หลังจากนั้นก็ถูกลำเลียงไปบนสายพาน เข้าเครื่องจักรที่เริ่มจากทำความสะอาดจนเอี่ยมอ่อง เครื่องจักรจะแยกตัวขวดและฝาขวดออกจากกัน เนื่องจากเป็นพลาสติกคนละชนิด แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการบดพลาสติกให้กลายเป็นเกร็ดเล็กจิ๋วระยิบระยับจำนวนมหาศาล มีทั้งเม็ดพลาสติกสีสันสดใสที่บดจากส่วนฝา และเม็ดพลาสติกใสจากส่วนขวดแยกออกมาอีกกอง คนงานอีกกลุ่มจะยืนคัดเศษพลาสติกที่เสียออกจากกองพลาสติกสีใสกิ๊ง เพื่อให้เม็ดพลาสติกได้มาตรฐาน

นอกจากเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบแล้ว ยังมีการนำพลาสติกมาหลอม อัดเป็นเส้น แล้วบดเป็นเกร็ดเล็กๆ เพื่อนำไปเทเข้าเครื่องเป่าถุงซึ่งหลอมด้วยความร้อน 300-500 องศาฟาเรนไฮน์ อัดผ่านแม่แบบแล้วเป่าอากาศเข้าไปให้พลาสติกพองตัวตามขนาดที่ต้องการ ก่อนที่เจ้าถุงดำจะทอดตัวผ่านลูกกลิ้งเพื่อทำให้แบน พับด้านข้าง แล้วจึงตัดและซีลถุงเป็นขั้นตอนสุดท้าย

| มองเห็น ‘คุณค่าจากกองขยะ’ จนกลายเป็นธุรกิจ

ได้ตื่นเต้นกับการเดินชมโรงงานรีไซเคิลสุดเจ๋งกันแล้ว เราก็ขอแอบเข้าไปในห้องทำงานของพี่โหมว เพื่อสืบค้นที่มาที่ไปของการตัดสินใจทำธุรกิจขยะรีไซเคิล พี่โหมวย้อนความกลับไปในวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง

“ตอนเด็กๆ พี่ก็อยากตื่นเที่ยง บ่ายเล่นเกม เย็นปาร์ตี้ เกลียดมากเลยเรื่องงาน หาสิ่งที่ตัวเองชอบไม่เจอ จนวันหนึ่งเห็นยายแก่ๆ มาเก็บขยะ พี่จะเอาเงินไปให้แต่ยายไม่รับ พอถามแม่ก็บอกว่ายายมีเงินเป็นหมื่น พี่เลยมานั่งคิดว่าเก็บขยะก็เป็นอาชีพที่ดีนะ มันได้เงินสด ขยะเป็นวัตถุดิบที่ราคาต่ำที่สุด เพราะมันคือคำว่า ‘ขยะ’ แต่แค่ไปเดินคัดขยะหน้าบ้านขายก็ได้เงินแล้ว อยู่ที่ว่าจะทำหรือเปล่า”

เดือนๆ หนึ่ง กำจัดขยะรีไซเคิลได้เป็นหมื่นตัน มันเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีคนก็หันมาใช้ของรีไซเคิลกันมากขึ้น

“พี่เริ่มจากซื้อมาขายไปเหมือนร้านขายของเก่าเล็กๆ เช่าที่เขาตั้งเป็นเพิงหมาแหงน ใช้ไม้ยูคาลิปตัสทำเสา ทำไปทำมาปีแรกก็ผ่อนบ้านผ่อนรถได้ จากที่ไม่มีเงินผ่านมาถึงตอนนี้ 10 กว่าปีแล้ว เปิดแฟรนไชน์ไป 200 กว่าสาขาทั่วประเทศ แต่พี่ก็ไม่ได้มีตั้งเป้าอะไรไว้มากมาย พี่แค่รู้สึกว่าขยะที่ตรงไปบ่อขยะมันน่าเสียดาย มันถูกนำไปฝังกลบทิ้งเสียหมด แต่ถ้าคนรู้จักคัดแยกขยะมันก็กลายเป็นเงินได้แล้วมันช่วยโลก เพราะทรัพยากรใช้แล้วหมดไป แต่การรีไซเคิลมันใช้ได้ไม่มีวันหมด”

ขยะล้นประเทศ แต่ทำไมเราจึงควร ‘นำเข้าขยะ’

ปริมาณขยะมูลฝอยที่มากถึง 27.8 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากการขยายตัวของชุมชนเมือง ในจำนวนนี้เป็นพลาสติกทั้งสิ้น 2 ล้านตัน นำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ 500,000 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน กลายเป็นกองขยะพลาสติกขนาดมหึมา

“ผมไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศเราไม่ให้นำเข้าขยะรีไซเคิล เพราะเขารู้สึกว่าขยะมันไม่ดีไปซะหมด แต่จริงๆ แล้วขยะดีมันก็มี มันช่วยให้ทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ ในการแปรรูปขยะถ้าเรามีขยะแค่ร้อยโลมันทำไม่ได้หรอก อย่างน้อยๆ ก็ต้อง 10-20 ตัน เพราะถ้าปริมาณไม่เพียงพอมันก็ไม่คุ้มทุน”

ปกติเศรษฐศาสตร์จะสอนว่า ของยิ่งมากราคายิ่งถูก แต่หลักการรีไซเคิลขยะ ของยิ่งมากราคายิ่งแพง

“ถ้าพูดถึงเทอร์โมพลาสติก มันรีไซเคิลได้ 100 % อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเทอร์โมเซ็ตติ้งพลาสติก มันแข็งจนรีไซเคิลไม่ได้ ก็ต้องออกกฏหมายให้ผลิตน้อยลง ส่วนขยะมูลฝอยมันก็มีทั้งรีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ เราควรบริหารจัดการตั้งแต่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเราควบคุมขยะไม่ได้ ก็เลยห้ามนำเข้าขยะไปเลย มันไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่มันคือการตัดปัญหา”

| สาเหตุที่ขยะในบ้านเรา มักมีจุดจบที่ ‘บ่อขยะ’

ปี 2561 มีขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ถูกต้อง 7.15 ล้านตัน โดยเฉพาะการนำไปกองทิ้งที่บ่อขยะ บ้างก็เผากลางแจ้ง หรือลักลอบทิ้งตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ไปจนถึงทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง ขยะน้ำมือมนุษย์จึงไหลไปรวมเป็นแพขยะลอยอยู่กลางทะเล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็น ‘ขยะพลาสติก’

“เพราะคนไม่ได้คัดแยกขยะไง เราขาดสามัญสำนึก คนมีสามัญสำนึกเองยังแยกยากเลย เพราะเราไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดี อย่างเมืองนอกเขาก็จะมีถังขยะ 3-4 ใบให้แยกเลย แต่ของเรามันมีถังขยะอยู่ใบเดียว ใส่ถุงแยกผิดแยกถูก แล้วก็ไม่รู้ว่าแยกแล้วไปไหน พี่อยากให้บ้านเราเพิ่มวิชารีไซเคิล มันคงจะเจ๋งมากเลยนะ”

ถ้าคุณแยกขยะ มันเปลี่ยนเป็นเงินได้สิบบาทร้อยบาท แต่ขยะที่ไม่ถูกบริหารจัดการ สุดท้ายก็ต้องเอาไปฝังกลบ รอวันขุดไปเผาทิ้ง

| ‘พลาสติก’ ไม่ใช่ ‘ผู้ร้าย’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้เราเคยชินกับการใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวัน ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานและย่อยสลายยาก มันจึงถูกนำมาใช้งานหลากหลาย แต่พลาสติกจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อใช้มันอย่างคุ้มค่า ในทางกลับกัน ถ้าไม่รู้จักนำกลับมาใช้ใหม่ให้เป็นทรัพยากรหมุนเวียน พลาสติกก็กลายเป็นโทษได้

“ถุงพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย พอปลาหรือเต่ากินเข้าไปแล้วตาย มันไม่ได้ผิดที่ถุงพลาสติก มันผิดที่พฤติกรรมมนุษย์ต่างหากที่ทิ้งขยะลงทะเล พลาสติกมันดีอยู่แล้วถ้าเรารู้จักใช้ แต่เราไปตัดปัญหาโดยการแบนพลาสติกหรือห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล เราไปแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ถ้าออกกฏหมายว่า ใครทิ้งถุงพลาสติกหรือไม่นำกลับมาใช้ใหม่ต้องมีโทษปรับอย่างนี้ก็ทำได้ แต่การแบนมันทำง่ายแล้วเห็นผลเลย”

| อยากทำ ‘แฟรนไชน์รีไซเคิล’ ต้องเริ่มอย่างไร

ก่อนลากันไปเราให้พี่โหมวได้ฝากแง่คิดและคำแนะนำ สำหรับคนที่สนใจอยากทำแฟรนไชน์รีไซเคิล ซึ่งเป็นช่องทางทำมาหากินที่มีโอกาสเติบโต ทั้งยังช่วยสร้างทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

“ก่อนอื่นจะมีเทรนนิ่งให้ก่อนว่าต้องคัดแยกขยะยังไง ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป้าหมายอยู่ตรงไหน เสร็จก็มีระบบบริหารจัดการเอาไปใช้ก็คำนวณกำไรขาดทุน ดูสต็อกทั้งหมด เห็นกำลังการผลิตว่าวันนี้ผลิตได้เท่าไหร่ ต้นทุนเท่าไหร่ แล้วพี่มีตลาดรองรับสินค้า มีราคากลางรายวันซึ่งพี่กำหนดราคาเอง การจะขายของให้ได้ราคาดีมันต้องขายให้ได้เยอะๆ ใช่ไหม แต่แฟรนไชน์พี่กิโลเดียวก็ขายแพงได้ มันเหมือนกองทัพมด เราใช้จุดแข็งของเราตรงนี้

ธุรกิจนี้ใครก็ทำได้ทั้งนั้น มีเงิน 30,000 กว่าบาทก็มีแฟรนไชน์ได้แล้ว แต่ปัญหาที่ยากคือคนทำ งานขยะไม่สนุกหรอกทั้งร้อนทั้งเหนื่อยสารพัด เมื่อซื้อแฟรนไชน์ไปสิ่งที่จะได้เป็นอย่างแรกก็คือความลำบาก แต่ถ้าผ่านข้อแรกไปได้ก็ซื้อบ้านซื้อรถได้แน่นอน”

อยากทำอะไรทำเลย ถ้าอยากสำเร็จแต่ไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าเสี่ยง อยู่แต่ในคอมฟอร์ทโซน พี่ว่าเกิดมาชาติหนึ่งก็ลองสู้ดูสักตั้ง

“คนยุคนี้อยากเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ใช่ ไปฝืนตัวเอง แต่ละคนมันมีวิถีทางของตัวเอง ไม่ต้องมีทฤษฎีรวย 1 2 3 4 อย่างแรกต้องเลิกฟังคนอื่น แล้วฟังตัวเอง ปัญหาจริงๆ มันมีอยู่แล้วระหว่างทาง แต่ที่เป็นเถ้าแก่ไม่ได้ซะที ทำไม่ได้ก็โทษฟ้าโทษฝน ตัวเองนั่นแหละคือปัญหา”

Photographer : Napat P.
Content Writer : Angkhana N.
Grapher Designer : Sasisha H.

 

 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.