สำรวจสวนเบญจกิติกับเยาวชนใน Power Green Camp 19 - Urban Creature

เพราะป่า เมือง และชีวิตต่างเชื่อมโยงถึงกัน จนขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ การปลูกฝังให้เยาวชนรับรู้ว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่ ‘เจ้าของ’ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

กว่า 19 ปีที่โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Power Green Camp) บ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้สนใจและหวงแหนสิ่งแวดล้อมรอบตัว และในปีนี้เป็นปีที่เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาฝุ่นควัน มลพิษจากการจราจรที่หนาแน่น ประกอบกับอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมปลูกฝังให้เยาวชนเห็นความสำคัญของ ‘พื้นที่สีเขียว’ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เพื่อให้พวกเขาสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างป่า-เมือง-ชีวิต

Urban Creature ขอใช้โอกาสนี้ร่วมใช้เวลาหนึ่งวันไปกับการสำรวจ ‘ป่าในเมือง’ ที่สวนเบญจกิติพร้อมเหล่าเยาวชนตัวน้อย ภายใต้ธีม ‘Urban Rewilding ป่า-เมือง-ชีวิต’ ที่มาพร้อมกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ เน้นการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาดูแลทรัพยากรป่าไม้และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมืองอย่างเป็นระบบ

ไอความร้อนภายในเมืองที่หลายคนลงมติว่าปีนี้ร้อนขึ้นกว่าทุกๆ ปี เป็นสัญญาณว่า ‘ภาวะโลกเดือด’ กำลังทำให้สมดุลของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป

ยิ่งในสังคมเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ของเราที่มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่เพียง 3.54 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน ทำให้ปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวกลายเป็นปัญหาสำคัญที่เราทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

อีกทั้งเทรนด์ในปัจจุบันที่คนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับพื้นที่ธรรมชาติสีเขียวในเมืองมากขึ้น การให้ความสำคัญกับป่าในเมือง อีกหนึ่งพื้นที่สีเขียวของคนเมืองที่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเริ่มต้นให้ความสนใจตั้งแต่วันนี้

ค่าย Power Green Camp ในปีนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีความต้องการสร้างการตระหนักรู้ให้เยาวชนเห็นถึงความสำคัญของการมีป่าในเมือง รวมถึงการดูแลรักษา เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รู้ลึก รู้จริงเรื่องสิ่งแวดล้อม จากประสบการณ์ตรงของคนเบื้องหลัง 

เริ่มต้นวันกันในสวนเบญจกิติ สวนป่าใจกลางกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมชั้นดี

ในกิจกรรมช่วงเช้าที่เยาวชนทั้ง 50 คนผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้เข้าร่วมกว่า 537 คน จาก 277 โรงเรียน 65 จังหวัด ได้มาพบกับผู้ออกแบบสวนเบญจกิติ ‘ชัชนิล ซัง’ ภูมิสถาปนิก จากสถาบันอาศรมศิลป์ ที่มาพูดคุยกันในหัวข้อ ‘Benchakitti Forest Park สวนเบญจกิติ ป่าในเมืองสู่สถาปัตยกรรมระดับโลก’ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การออกแบบสวนป่าเบญจกิติใจกลางเมือง ในพื้นที่กว่า 450 ไร่

ชัชนิลอธิบายว่า สวนเบญจกิติเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่สำหรับสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่รับเอาน้ำที่ระบายไม่ทันและกำลังท่วมขังมากักเก็บ และช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ กลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในกรณีที่มีน้ำมากเกินความจำเป็นและเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะน้ำจากคลองไผ่สิงโตที่อยู่ทางทิศเหนือของสวน

อีกทั้งสวนเบญจกิติยังมีส่วนสำคัญในการฟอกอากาศ ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และความร้อนในเมืองที่เกิดจากปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) รวมถึงมีความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

ซึ่งการทำให้สวนเบญจกิติสามารถอำนวยประโยชน์เหล่านี้ได้อย่างรอบด้าน เรื่องการคัดเลือกต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการบำรุงรักษาให้ต้นไม้แต่ละชนิดได้เติบโตตามสภาพแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญ สถาปนิกผู้ออกแบบพื้นที่จึงต้องส่งไม้ต่อให้อีกหนึ่งอาชีพสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการจัดการต้นไม้ในสวนอย่างเป็นระบบ

ในค่ายนี้เราจึงได้ ‘ภรทิพย์ วงศ์หนายโกฎิ’ นักศัลยกรรมต้นไม้ที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบและพัฒนาป่าในเมือง มาร่วมแชร์หน้าที่ของ ‘รุกขกร’ (Arborist) อาชีพเฉพาะทางที่ค่อนข้างขาดแคลนในประเทศไทย

ซึ่งทุกคนต้องได้รับการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากการฝึกอบรมการดูแลต้นไม้ในด้านต่างๆ ทั้งงานปลูก ตัดแต่ง ค้ำจุน ป้องกัน โค่นต้นไม้ และรักษาโรคแมลง หรือโรคพืชอื่นๆ ที่หากองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้รับการส่งต่อ อาจส่งผลให้ต้นไม้ในเขตเมืองไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี และไม่สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

หลังจากพูดคุย ทำความเข้าใจถึงหลักการออกแบบ และทำความเข้าใจต้นไม้กันมาพอสมควร ก็ถึงเวลาที่เด็กๆ จะได้ลงมือออกแบบเมืองด้วยตนเองในกิจกรรม ‘คบเด็กสร้างเมือง’

ที่แต่ละกลุ่มจะได้ฝึกเรียนรู้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยมีพี่ๆ พนักงานจากบ้านปู มาร่วมสร้างกิจกรรมสนุกๆ ให้น้องๆ ได้ประลองไอเดียออกแบบเมืองยั่งยืนตามโจทย์และพื้นที่ที่แตกต่างกัน ฝึกการทำงานเป็นทีม และประมวลผลองค์ความรู้ที่ได้จากค่ายฯ มาออกแบบให้เป็นเมืองที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ซึ่งน้องๆ แต่ละกลุ่มก็ออกแบบและนำเสนอออกมาได้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

‘รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย’ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายฯ ครั้งที่ 19 บอกกับเราว่า สิ่งที่ค่าย Power Green Camp ในปีนี้ต้องการส่งต่อคือความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของป่า เมือง และชีวิต เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเขาได้

“เราอยากให้พวกเขาเห็นความสำคัญว่าป่า เมือง และชีวิตเป็นของคู่กัน ถ้าป่าดี เมืองดี ชีวิตเขาก็จะดีขึ้นตามลำดับ จบค่ายเขาอาจจะนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ไม่มากก็น้อย เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองและสังคมที่เขาอยู่ดีขึ้น”

ลงมือสำรวจป่าในเมือง เรียนรู้ระบบนิเวศแบบเข้มข้น

Power Green Camp

‘รัฐพล สุคันธี’ ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังการร่วมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ก่อนที่จะมาเรียนรู้กันที่สวนเบญจกิติ ทางค่ายได้พาเด็กๆ ไปสำรวจป่าธรรมชาติที่จังหวัดสระบุรีในฐานะธนาคารทรัพยากรชีวภาพ (Bio Banks) ต้นกำเนิดป่าเมืองมาก่อนแล้ว เพื่อให้พวกเขาเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาพื้นที่ป่าจริงมาสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศในพื้นที่เมืองได้

โดยในบ่ายวันนี้ เด็กๆ จะได้ศึกษาสภาพแวดล้อมและสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพรอบๆ สวนเบญจกิติผ่าน 2 ฐานกิจกรรม ได้แก่

– ฐานที่ 1 : ‘นักตรวจสอบประเมินคุณภาพแหล่งน้ำ’ ที่เด็กๆ จะรับบทเป็นนักทดลองในห้องปฏิบัติการธรรมชาติ เรียนรู้ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำและแสงแดด 

– ฐานที่ 2 : ‘ฉันมันไม่ใช่แค่วายร้าย’ ทำความรู้จักตัวเงินตัวทอง ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

“ในแต่ละปี เราพยายามพัฒนารูปแบบเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาและกิจกรรม รวมถึงสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของค่ายฯ ให้สอดรับกับเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์กับผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งในความเข้มข้นนี้ไม่ได้หมายถึงการอัดแค่วิชาการให้เด็ก แต่คือการให้พวกเขาได้ไปสัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง ให้พวกเขาได้เรียนรู้พื้นฐานเรื่องวิทยาศาสตร์จากค่ายฯ อย่างถูกต้องและเป็นระบบ เพื่อให้เด็กนำเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต” รัฐพลอธิบายถึงความตั้งใจของการทำค่ายในครั้งนี้

ส่วนเหตุผลที่ค่ายเลือกสวนเบญจกิติเป็นแหล่งการเรียนรู้ เพราะบ้านปู และคณะสิ่งแวดล้อมฯ มหิดล มองว่า ที่นี่เป็นมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป มีลักษณะเป็นสวนป่าในเมืองขนาดใหญ่ที่จัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระบบ ได้รับความร่วมมือจากแต่ละภาคส่วนเพื่อร่วมดูแล จนทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าในเมืองที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มฟื้นคืน และมีระบบนิเวศที่ดีขึ้น

รับบทนักประเมินคุณภาพแหล่งน้ำตัวจิ๋ว

ฐานแรกที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วมไปพร้อมกับเด็กๆ คือ ฐานที่ 1 ‘นักตรวจสอบประเมินคุณภาพแหล่งน้ำ’

อย่างที่เราบอกในตอนต้นว่า น้ำในสวนนี้มาจากคลองไผ่สิงโตที่อยู่ทางทิศเหนือของสวน เมื่อน้ำผ่านเข้ามาในสวนจะถูกบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำและแสงแดด ฐานในวันนี้จึงเป็นการให้เด็กๆ ได้ลงมือตรวจวัดคุณภาพแหล่งน้ำผ่านเครื่องมือต่างๆ และนำมาวิเคราะห์ประมวลผลรวมกับสิ่งที่สังเกตเห็นในบริเวณแหล่งน้ำดังกล่าว


‘ดร.ชิษณุพงศ์ ประทุม’ นักวิจัยระดับ 2 ที่ประจำอยู่ที่ฐานนี้เล่าให้เราฟังว่า ถึงแม้การตรวจวัดคุณภาพน้ำจะมีค่ากลางคือ WQI อยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง การจะบอกว่าแหล่งน้ำใดสะอาดหรือไม่สะอาด จะดูจากค่าทางเคมีอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูสามส่วนคือ ค่ากายภาพและค่าชีวภาพ ควบคู่ไปกับค่าเคมีด้วย

“ด้านกายภาพคือ การสำรวจแหล่งน้ำว่าสภาพแหล่งน้ำเป็นอย่างไร พื้นที่รอบข้างมีการทิ้งขยะไหม มีการจัดเรียงพื้นที่ทางกายภาพอย่างไร ส่วนทางชีวภาพคือ การสำรวจสัตว์น้ำในพื้นที่ เช่น ถ้าเจอไรแดงแสดงว่าแหล่งน้ำสกปรก แต่ถ้าเจอกุ้งหอยปูปลาขนาดเล็ก นั่นหมายความว่าแหล่งน้ำนี้พอใช้ได้” ดร.ชิษณุพงศ์อธิบายให้เราฟัง

ส่องสัตว์วายร้าย ที่ไม่ร้ายอย่างที่คิด

ส่วนฐานที่ 2 ‘ฉันมันไม่ใช่แค่วายร้าย’ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกัน เริ่มต้นด้วยการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตและพฤติกรรมของตัวเงินตัวทอง ในฐานะดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ โดย ‘รุจิระ มหาพรหม’ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม-สัตว์ป่าและป่าไม้อิสระ Ba-Thamma-Chart Space ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตัวเงินตัวทอง

เป้าหมายของกิจกรรมนี้คือ ต้องการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าการเจอตัวเงินตัวทองในสวนสาธารณะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะตัวเงินตัวทองถือเป็นนักล่าอันดับบนของห่วงโซ่อาหารและดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ที่มีส่วนช่วยรักษาระบบนิเวศและรักษาความสะอาด เนื่องจากธรรมชาติของพวกมันจะกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว รวมไปถึงกินขยะเศษอาหาร ช่วยลดแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและทำให้แหล่งน้ำสะอาดขึ้น

รุจิระหวังว่า ฐานเล็กๆ ฐานนี้จะมีส่วนช่วยให้เยาวชนเข้าใจบทบาทของตัวเงินตัวทองที่มีต่อระบบนิเวศ และปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสัตว์ชนิดนี้ ก่อนจะลงพื้นที่ไปตามหาตัวเงินตัวทองจริงๆ ในสวน

ต้องบอกว่าน่าเสียดายที่ในครั้งนี้เด็กๆ ไม่ได้พบตัวเงินตัวทอง แต่โชคดีที่ในระหว่างทางกลับเราบังเอิญพบน้องพอดี เลยแอบเก็บภาพมาฝากทุกคนกัน ก่อนจะไปผ่อนคลายในกิจกรรมต่อไป

ผ่อนคลายร่างกาย เยียวยาจิตใจในป่ากลางเมือง

หลังทำกิจกรรมมาอย่างเข้มข้น กอบโกยความรู้กันมาเต็มกระเป๋า ก็ได้เวลาตัดขาดกับโลกภายนอกแล้วมาอยู่กับตัวเองให้มากขึ้นกับกิจกรรม ‘อาบป่า’ (Forest Bathing) ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มกระบวนการอาบป่าจากทางเพจ Trees say something

‘พีชญา กองจำปา’ หนึ่งในไกด์อาบป่าในกิจกรรมนี้บอกกับเราว่า การอาบป่า หรือ Shinrin-yoku เป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น คำว่า Shinrin (森林) แปลว่า ป่า และ Yoku (浴) แปลว่า อาบ เมื่อรวมกันจึงหมายถึงการอาบป่า การเข้าไปอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เอาป่าห่มตัว อาบสารไฟทอนไซด์ (Phytoncide) จากต้นไม้เข้าไปในร่างกาย

โดยปกติแล้วการอาบป่าจะใช้ระยะเวลานาน มีตั้งแต่ 3 ชั่วโมงไปจนถึง 1 เดือน แต่ในค่ายนี้เป็นกระบวนการอาบป่าระยะสั้นเพียง 1 ชั่วโมงสำหรับเยาวชนผู้เข้าร่วม เพื่อให้พวกเขาเข้าใจกระบวนการกิจกรรม และเปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า เชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดในขั้นต้น

“การอาบป่าเราใช้ผัสสะทั้งห้าในการอาบ ลิ้นชิมรส กายสัมผัส หูได้ยิน ตามองเห็น จมูกได้กลิ่น ที่แม้จะทำเหมือนกัน แต่ประสบการณ์ที่ได้รับของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป เพราะคนเราถนัดไม่เหมือนกัน ประสาทสัมผัสเราก็เช่นเดียวกัน” พีชญาบอก

ผ่อนคลายร่างกาย เยียวยาจิตใจกันเสร็จแล้ว ก็เดินทางมาถึงกิจกรรมสุดท้ายที่สวนเบญจกิติแห่งนี้กับดนตรีในสวน ที่ได้พี่ๆ พนักงานจากบ้านปูมารวมตัวกันจัดตั้งวงดนตรีร้องเพลงเพราะๆ ให้พวกเราฟัง และถ่ายรูปรวมกันเล็กน้อยเพื่อเป็นที่ระลึก

ก่อนที่จะเดินทางกลับไปสรุปกิจกรรม และพบปะพี่ๆ ศิษย์เก่าค่ายเพาเวอร์กรีนตั้งแต่รุ่น 1 จนถึงรุ่น 18 ที่มารอร่วมกิจกรรมกับน้องๆ รุ่น 19 อยู่ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

และในเช้าวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นการนำเสนอโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่น้องๆ ทุกกลุ่มจะต้องเก็บความรู้ที่ได้รับจากค่ายฯ มาประยุกต์ใช้ คิด วิเคราะห์ และพัฒนาเป็นโครงงานเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ ก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาของการปิดค่าย Power Green Camp ครั้งที่ 19 และแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาพร้อมแรงบันดาลใจในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง

“บ้านปูให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมศักยภาพและพลัง (Embracing Potential, Energizing People) ให้แก่คน เพราะเชื่อว่าคนมีพลังที่จะส่งต่อผลกระทบในเชิงบวกสู่สังคมได้อย่างไม่จำกัด

“สำหรับ Power Green Camp นี้ เราต้องการให้เยาวชนทั้งห้าสิบคนเกิดแรงบันดาลใจในการทำให้โลกและสิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้น (Earth Betterment) และสานต่อภารกิจในฐานะการเป็นเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยผลักดันการปกป้อง ฟื้นฟู และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป” ‘รัฐพล สุคันธี’ ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บอกกับเราส่งท้าย

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.