‘สีชมพู’ อดีตเฉดแห่งชายชาตรี ก่อนถูกบุลลี่ในปัจจุบัน - Urban Creature

“สีชมพู งดงาม อ่อนช้อย แบบสตรี สีฟ้านี้ กลับเข้มแข็ง แกร่งกล้า ดั่งบุรุษ”

ไม่ว่าชายใดจะหยิบเสื้อสีชมพูมาสวม หรือหญิงสาวจะถูกใจสีฟ้า ก็ไม่ได้ลดทอนความเป็นตัวเองของพวกเขา เพราะทุกเพศสามารถเข้มแข็งและอ่อนโยนได้พร้อมๆ กัน ตรงข้ามกับคนในสังคมที่ยังมีคนใช้ค่านิยม สีชมพู = ผู้หญิง และ สีฟ้า = ผู้ชาย มาเหยียดหยามคนที่อยู่นอกกรอบ โดยเฉพาะผู้ชายที่สวมเสื้อสีชมพู

Urban Tales พาเปิดหน้าประวัติศาสตร์การมาของค่านิยมสีกำหนดเพศ ตั้งแต่ยุคที่สีชมพูเป็นสีของผู้ชาย สีฟ้าเป็นสีของผู้หญิง ไล่มาถึงวันที่ผู้ชายใช้สีชมพูปุ๊บถูกบุลลี่ปั๊บ จนเริ่มมีคนตระหนักว่าไม่ว่าเพศใดจะชอบสีอะไร ก็ไม่ควรมีใครถูกเบียดเบียน ด้วยการออกมาปกป้องเด็กผู้ชายที่ถูกบุลลี่จากการใช้สีชมพู


ชมพู มาดแมน แฮนด์ซั่ม

“เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สวมได้ทั้งเสื้อสีฟ้าและสีชมพู โดยไม่มีการแบ่งเพศ” Valerie Steele ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะในนิวยอร์ก The Museum at FIT กล่าวถึงความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับงานศิลปะ เริ่มจาก ค.ศ. 1779 Thomas Gainsborough จิตรกรชาวอังกฤษวาด ‘The Blue Boy’ ภาพเด็กผู้ชายสวมเครื่องแบบสีฟ้าดูเท่ไม่น้อย 12 ปี ถัดมา เขาวาด ‘The Pink Boy’ เด็กผู้ชายผมยาวในชุดสีชมพูทั้งตัว มีเสน่ห์ไม่แพ้สีฟ้า ปี 1794 Thomas Lawrence จิตรกรอีกท่านตวัดพู่กันวาด ‘Pinkie’ ภาพเด็กผู้หญิงตากลม งดงามในชุดเดรสสีชมพู และคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงสวมเดรสสีขาวเพราะง่ายต่อการซักผ้า สังเกตเห็นอะไรไหม? ไม่ว่าเด็กจะใส่เสื้อสีอะไรก็ไม่มีใครมองว่าแปลกเลย

แต่แล้วใน ค.ศ. 1918 การกำหนดเพศด้วยสีเริ่มเกิดขึ้น อิงจากบทความในนิตยสาร Earnshaw’s Infants’ Department ที่ระบุว่าคนสมัยนั้นยอมรับว่าสีชมพูเหมาะกับผู้ชาย เพราะเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง มีความเป็นผู้นำ ในขณะเดียวกันสีฟ้าเป็นสีที่อ่อนช้อยและสวยงามบนตัวผู้หญิง เช่นเดียวกับที่ Leatrice Eiseman ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีและกรรมการบริหาร Pantone Color Institute องค์กรคาดการณ์เทรนด์สีอันโด่งดัง กล่าวว่า สีชมพูถูกพิจารณาเป็นสีของผู้ชายตามทฤษฎี เพราะเป็น ‘Masculine Color’ มีแม่สีมาจากสีแดง เปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นและคล่องแคล่ว ซึ่งไม่ว่าจะลดเฉดสีจนอ่อนเป็นสีชมพู พื้นเพก็ยังเป็นสีแดงไม่เปลี่ยน


ชมพู หล่อล่ำ จริงหรือ?

หลังจากนั้นเกือบ 10 ปี Time Magazine ก็พริ้นต์ชาร์ตสีที่เหมาะสมกับแต่ละเพศโดยใช้เกณฑ์จากห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Filene ในบอสตัน Best & Co ในนิวยอร์ก Halle ในคลีฟแลนด์ และ Marshall Field ในชิคาโก ที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสีชมพูนี่แหละคือสียอดนิยมที่ผู้ปกครองจะซื้อกลับไปฝากลูกชาย แต่ห้างสรรพสินค้าบางแห่งอย่าง Macy ในแมนฮัตตัน และ Wanamaker ในฟิลาเดลเฟีย กลับแย้งว่าทำไมผู้หญิงจะใส่สีชมพูไม่ได้ ออกจะเหมาะ!

Jo B. Paoletti อาจารย์ประจำ The University of Maryland ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์สิ่งทอ ใช้เวลาอย่างหนักถอดความฉงนของการเดินทางระหว่างสีชมพูและสีฟ้า ลงบนหนังสือ ‘Pink and Blue: Telling the Boys from the Girls in America’ ที่บอกว่า ปี 1940 ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด ‘Rosie the Riveter’ สัญลักษณ์ผู้หญิงชุดน้ำเงิน เบ่งกล้ามแสดงความเข้มแข็ง และมีข้อความ We can do it! ให้โลกประจักษ์ว่าผู้หญิงก็สามารถทำงานได้ไม่แพ้ผู้ชาย มีต้นแบบมาจาก Naomi Parker Fraley ผู้หญิงที่เข้าไปทำงานในโรงงานผลิตอาวุธทหาร ทว่าวันหนึ่งหลังจากคนรักของเธอกลับจากการรบ เธอเปลี่ยนเสื้อสีน้ำเงินที่ยุคนั้นมองว่าแสนจะเฟมินีนให้เป็นผ้ากันเปื้อนสีชมพูลายดอกไม้ขณะทำครัว นั่นทำให้ 7 ปีต่อมาแบรนด์แฟชั่นระดับโลก Christian Dior ออกโฆษณาเสื้อผ้าผู้หญิงหลังสงครามเป็นสีชมพูบ้าง

ค.ศ. 1960 เป็นปีสิ้นสุดค่านิยม สีชมพู = ผู้ชาย และ สีฟ้า = ผู้หญิง เมื่อผู้หญิงไม่ขอถูกกดขี่จากการแต่งตัวอีกต่อไป กลุ่มเฟมินิสต์ยุคนั้นลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้สีแปะป้ายเพศ เพราะผู้หญิงทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกได้ทั้งสีฟ้าหรือสีชมพูแบบผู้ชายที่เป็นเครื่องแบบแมนๆ ลุยๆ คล่องแคล่วต่อการใช้ชีวิตในยุคนั้น จนกลายเป็นวาระที่กรอบเดิมๆ เรื่องสีถูกทลายลง


แม้สีฟ้า ผันเป็นชาย อย่างบันลือ

สีฟ้า = ผู้ชาย และ สีชมพู = ผู้หญิง ค่านิยม (ใหม่) เรื่องสีกลับมาอีกครั้งและสร้างผลกระทบยาวนานมาถึงปัจจุบัน เมื่อบรรดาผู้ผลิตในปี 1980 มองว่าการไม่ใช้สีกำหนดเพศในสินค้า ยากต่อการค้าขาย จึงเริ่มเจาะตลาดเด็กทารก เพราะมีคู่รักหลายคู่ที่มีลูกมากกว่า 1 คน หากไม่มีการแบ่งแยกสีจะยากในการจำแนกเสื้อผ้าระหว่างทารกหญิงและทารกชาย พร้อมปล่อยค่านิยมที่บอกว่าสีจะใช้ระบุตัวตนเด็กเพิ่งคลอดได้ง่ายและออกสินค้าในเนิร์สเซอรีให้เหมาะกับเด็กใกล้คลอด ผ่านโฆษณาในโทรทัศน์และป้ายโฆษณาตามท้องถนน

ในขณะที่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตอกย้ำค่านิยมเรื่องสีกำหนดเพศ เมื่องานวิจัยเรื่อง Pretty in pink: The early development of gender‐stereotyped colour preferences จากองค์กรที่ทำงานเรื่องจิตวิทยา ประเทศอังกฤษ The British Psychological Society ระบุว่าเมื่อพวกเขานำสีชมพูและสีฟ้ามาให้เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง 2 ขวบเลือก เด็กผู้หญิงมีท่าทีชอบสีชมพูมากกว่า ในขณะที่เด็กผู้ชายเพิกเฉยต่อสีชมพู ซึ่งทำให้เกิดค่านิยมที่ผู้ปกครองปลูกฝังลูกมาอย่างยาวนานว่า เป็นเด็กผู้ชายห้ามใส่เสื้อสีชมพู ห้ามเล่นตุ๊กตา ห้ามใส่เดรส ในขณะที่ผู้หญิงก็ห้ามเล่นของเล่นแนวต่อสู้ หรือของเล่นรถถัง เป็นต้น


ชายใดปลื้ม สีชมพู ไม่ผิดเลย

การเหมารวมว่าเด็กผู้ชายทุกคนต้องเกลียดสีชมพู กลายเป็นเครื่องมือในการกดทับผู้ชายจากผู้ชายด้วยกันเองซะส่วนใหญ่ ยิ่งในสถาบันการศึกษาที่เด็กผู้ชายหลายคนทั่วโลกถูกกลั่นแกล้งจากการสวมเสื้อผ้าหรือใช้สิ่งของสีชมพู ทั้งในรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา William Gierke เด็กชายวัย 9 ขวบ ถูกเพื่อนผู้ชายล้อเลียนว่า ‘Sissy’ คำเหยียดที่แปลเป็นไทยประมาณว่า เจ๊ ตุ๊ด หรือ ผู้ชายขี้ขลาด ซึ่งเพื่อนคนนั้นไม่รู้เลยว่าการที่ William สวมเสื้อสีชมพูเพราะอยากสนับสนุนแคมเปญช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยเสื้อยืดของเขาพริ้นต์ประโยค ‘Tough Guys Wear Pink’ ที่มาจากมูลนิธิช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

หรือการที่เด็กผู้ชายหลายรายในโรงเรียนไต้หวันถูกบุลลี่จากการใส่หน้ากากอนามัยสีชมพูในช่วงโควิด จนไม่กล้าใส่หน้ากากอนามัยสีชมพูอีกต่อไป ทำให้ Chen Shih-chung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันออกมาปกป้องเด็กเหล่านั้นด้วยการใส่หน้ากากอนามัยสีชมพูแถลงการณ์ว่า “ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลยที่ผู้ชายจะใส่สีชมพู” พร้อมทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “สีชมพูเป็นสีของทุกคนและไม่มีสีไหนใช้กำหนดเพศได้ เพราะทุกเพศเท่าเทียมกัน”

นอกจากนี้ในแคนาดายังมีโครงการเพื่อสังคม Pink Shirt Day ภายใต้มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก CKNW Kids’ Fund ที่เล็งเห็นปัญหาที่เด็กผู้ชายถูกบุลลี่ในโรงเรียนจากการสวมเสื้อสีชมพู จัดแคมเปญชวนทุกคนสวมเสื้อสีชมพูในปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่มีใครสมควรถูกบุลลี่ และรับบริจาคเงินสมทบทุนและของใช้เพื่อช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงจากการถูกบุลลี่ ซึ่งในปีนี้ทางโครงการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไปแล้วมากกว่า 59,000 ชีวิต

แต่จะดีกว่าไหม ถ้า ‘ทุกคน’ ช่วยกันเคารพตัวตนและความชอบของผู้อื่นให้เป็นเรื่องปกติ เพื่อลบคำว่าบุลลี่ออกจากชีวิตเด็กทุกคนไปพร้อมกับค่านิยมโบราณ


Sources :
CNN | https://cnn.it/31uDC9a
Newsner | https://bit.ly/2Qr1tA0
Pink Shirt Day | https://bit.ly/34zLCHC
Smithsonian | https://bit.ly/3hvC7gf
The Cobwebs | https://bit.ly/2FY75jo
The List | https://bit.ly/3b45nZ9
Women’s Agenda | https://bit.ly/3jarQ9C

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.