ACT FORUM ’20 Design + Built ใครว่าสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องไกลตัว - Urban Creature


เมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรมคนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเราเลยอยากพาไปแบ่งปันความรู้และตามหาแรงบันดาลใจจากงาน ACT FORUM ’20 Design + Built แบบใกล้ ๆ ที่จะทำให้สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้น ภายใต้ Concept งานว่า ‘สถาปนิกปันสุข’

เพราะบทบาทของสถาปนิกไม่ใช่แค่การออกแบบเพื่อความสวยงาม แต่เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและร่วมส่งคืนความสุขให้กับสังคม ผ่านงานออกแบบ ภายในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ซึ่งเราจะพาไปดูนวัตกรรม งานออกแบบ และวัสดุที่น่าสนใจให้เราได้นำไปคิดต่อยอดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่รู้จบ

เดินพลัดหลงในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built


ก่อนเข้าร่วมงานเราเกิดความสงสัยกับธีมงานที่ว่า “สถาปนิกปันสุข” นั่นมีความหมายว่าอย่างไร ?

หลังจากได้เดินดูจนทั่วงานเราพบว่า “ปันสุข” มาจากการแบ่งปันองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม ให้กับประชาชน นำไปประยุกต์ใช้กับสาขาวิชาชีพของตัวเองหรือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจ ทำให้สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้น

พื้นที่ต่าง ๆ ภายในงาน แบ่งเป็นโซนที่น่าสนใจคือ DesignerHub Pavillion พื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ที่รวมเหล่านักออกแบบ และจัดแสดงผลงาน พร้อมทั้งให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ

มีโซนวัสดุและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจสำหรับคนในวงการก่อสร้างและนักออกแบบได้มาเพิ่มเติมความรู้ รวมถึงโซน Interior ที่รวมเอาของตกแต่งภายในให้เราได้เลือกซื้อและเป็นแรงบันดาลใจ

และไฮไลท์ของงานคือโซนเวทีสัมมนาที่จะช่วยเติมเต็มความรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมกับสถาปนิกระดับโลก

เมื่อพื้นที่สีเขียวไม่ได้จำกัดอยู่แค่นอกอาคาร


งานครั้งนี้เต็มไปด้วยนวัตกรรมและวัสดุต่าง ๆ ที่น่าสนใจทั้งในแวดวงก่อสร้าง แวดวงสถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งสินค้าต่าง ๆ ภายในบ้าน

หนึ่งสิ่งที่เราสนใจในงานนี้คือ ไฟสำหรับเลี้ยงต้นไม้ในที่ร่ม อาจจะไม่ได้ดูเป็นเรื่องใหม่อะไร แต่กลับเหมาะอย่างมากเพราะการมาของ COVID-19 ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ New Normal โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่ทำให้เราหันมาใส่ใจพื้นที่สีเขียวภายในบ้านมากขึ้น โดยไฟสำหรับปลูกต้นไม้สามารถใช้ปลูกภายในอาคารโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้แสงจากดวงอาทิตย์ สามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่สเกลเล็ก ๆ อย่างการใช้ปลูกต้นไม้บนโต๊ะทำงานหรือจะเป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้นมาอย่างการปลูกสวนแนวตั้งได้เลยทีเดียว

ไฟปลูกต้นไม้ดังกล่าวชวนให้เราคิดไปถึงความเป็นไปได้ของรูปแบบพื้นที่สีเขียวแบบใหม่ ว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่แค่พื้นที่ภายนอก (Outdoor) แต่สามารถนำมาประยุกต์สร้างพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร โดยใช้ไฟหล่อเลี้ยงต้นไม้แทนแสงอาทิตย์ คงเป็นหนึ่งในแนวทางที่เราจะได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติมากขึ้นในอนาคต

ร่มเงาใต้ต้นไม้สังเคราะห์


Fractal Shade อีกหนึ่งวัสดุที่น่าสนใจก็คือหลังคาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการนั่งใต้ต้นไม้ โดยหลังคาประเภทดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันแสงแดด สร้างความร่มรื่น แต่ลมและอากาศยังคงถ่ายเทได้อย่างสะดวก เหมือนมีต้นไม้ใหญ่มาปกป้องแสงแดดให้กับเรา ซึ่งเป็นการออกแบบโดยคำนึงถึงหลักธรรมชาติมาใช้อย่างสร้างสรรค์

นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมใหม่ของการออกแบบหลังคา ที่มีความโปร่ง โล่ง รับลม พร้อมทั้งไม่เกิดความร้อนสะสมใต้หลังคา

ซึ่งเราสามารถใช้หลังคา Fractal Shade ในการสร้างร่มเงาทดแทนต้นไม้ หรือจะนำไปประยุกต์ใช้เป็น Facade ตกแต่งอาคารภายนอกเพื่อป้องกันความร้อนสะสมจากการถูกแสงแดดกระทบตัวอาคารโดยตรงถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

คุยกับคุณธนกฤต ชัยอภิเจริญ ในเรื่องสถาปัตยกรรมใกล้ตัว


เราได้มีโอกาสพบเจอคุณธนกฤต ชัยอภิเจริญ สถาปนิกจาก GRID ARCHITECT เพื่อถามคำถามสุดเบสิกว่า สถาปัตยกรรมใกล้กับตัวเรามากแค่ไหน ?

คุณธนกฤต ให้คำตอบว่า “จริง ๆ แล้วเราใช้ชีวิตอยู่กับงานออกแบบโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาเราก็พบกับงานออกแบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเดินเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา การเข้าห้องน้ำหรือการใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน การเลือกใช้วัสดุ ระบบการถ่ายเทอากาศที่อยู่ภายใน หรือการจัดแสงสว่าง ล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องสุขภาพอนามัยของคนในบ้าน ทั้งหมดที่พูดมา เกี่ยวข้องกับงานออกแบบและสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น”

คำถามต่อมาเราถามถึงเรื่องแนวโน้มของสถาปัตยกรรมหลังจาก COVID-19

คุณธนกฤตมองว่า สถาปัตยกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ช่วงก่อน COVID-19 คนอยู่เมืองก็เริ่มมีความต้องการกลับไปอยู่ป่า ให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การเข้ามาของ COVID-19 จึงเหมือนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนหวนหาธรรมชาติมากขึ้น ทิศทางแนวโน้มในอนาคตเราอาจจะได้เห็นวัสดุธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

บทสนทนาระหว่างสถาปนิกกับคนขี้สงสัย


เราถามคุณธนกฤตต่อว่า ทำไมสถาปนิกและนักออกแบบถึงต้องมางาน ACT FORUM ’20 Design + Built  ในครั้งนี้ เขาตอบกลับว่า เพราะวัสดุและนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงและเดินไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา การได้มาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวัสดุและนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นเหมือนการขยายขอบเขตการทำงานและความรู้ของสถาปนิกและนักออกแบบ ให้กว้างขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

เรายังคงสงสัยต่อว่า แล้วทำไมคนที่ไม่ได้เรียนทางด้านดีไซน์ หรือสถาปัตยกรรมถึงควรมางานนี้ ? เขาตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงนุ่มลึกว่า

“วัสดุเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัย 4 นั่นก็คือที่อยู่อาศัย ถ้าเราต้องการที่อยู่อาศัย คงหนีไม่พ้นว่าวัสดุปัจจุบันหรืออนาคตอะไรเหมาะสมกับการนำไปใช้ในบ้านของเขาในอนาคต”

คำตอบของคุณธนกฤตทำให้เราเข้าใจคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมและชวนย้อนกลับไปนึกถึง สถานที่ ๆ อบอุ่นที่สุด นั้นก็คือบ้านในฝันของแต่ละคน

เพลิดเพลินไปกับเหล่าสินค้า Lifestyle


ภายในงานไม่ได้มีแค่วัสดุก่อสร้างหรือนวัตกรรมล้ำสมัยเพียงเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเหล่าสินค้า Lifestyle และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านมากมายให้เราได้เลือกช็อปกัน

ยกตัวอย่างชุดไฟตกแต่งที่มีลักษณะเหมือนเปลวไฟกำลังลุกโชนอยู่ตลอดเวลาบนโต๊ะอาหาร แต่จริงๆแล้วเป็นการออกแบบสร้างสรรค์ โดยการนำเอาหลอดไฟมาส่องกระทบผ่านไอน้ำจนเกิดเป็นเปลวไฟจำลองที่กำลังเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ช่วยสร้างบรรยากาศให้ห้องนั่งเล่นอบอุ่นและมีเสน่ห์ได้อย่างโดดเด่น

การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมแบบ Social Enterprise จากบูธ CU D4S


บูธที่น่าสนใจมาก ๆ ภายในงานจนเราต้องหยุดอ่านรายละเอียดอยู่นานแสนนาน ก็คือบูธของศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาฯ (CU D4S) ที่สามารถนำเสนอรูปแบบ วิสาหกิจเพื่อชุมชน (Social Enterprise) โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะเป็น สื่อกลางความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้แนวคิดการใช้ “การออกแบบ” เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ความน่าสนใจของโครงการนี้คือการทำให้เรื่องเพื่อสังคมและเรื่องธุรกิจมาจับมือกันได้อย่างน่าสนใจ

ตัวอย่างโปรเจกต์ที่สำเร็จไปแล้วคือการออกแบบกางเกงสำหรับผู้ที่ต้องนั่งรถเข็น เพื่อแก้ไขปัญหาการถอดกางเกงลำบากของผู้ใช้งาน โดยเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการสวมเสื้อผ้าให้สามารถเปิดได้จากด้านข้างแทนการใส่ในลักษณะขึ้นลง ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกขึ้น

นี่เป็นหนึ่งโปรเจกต์ ที่ตอบคำถามคาใจของเราว่า เราใกล้กับสถาปัตยกรรมและงานออกแบบมากน้อยแค่ไหน และการออกแบบที่ดีช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างไร

นอกจากโปรเจกต์กางเกงสำหรับผู้ที่นั่งรถเข็น ยังมีโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่รอเปิดตัวและทำ Crowd funding ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอยู่ถึง 8 โปรเจกต์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บูธ CU 4DS

DesignerHub Pavilion พื้นที่สร้างสรรค์ไม่รู้จบ


เมื่อเดินชมรอบ ๆ แล้วจะพบว่าบรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความอบอุ่น และเป็นมิตร โดยเฉพาะ “DesignerHub Pavilion” โซนจัดแสดงผลงานการออกแบบสุดสร้างสรรค์ ของนักออกแบบหลากสาขาวิชาชีพทั้งสถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน ผลิตภัณฑ์ รวมถึงงานศิลปะเก๋ ๆ ที่เจ้าของผลงานพร้อมให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าต่าง ๆ จนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนบ้านเดียวกัน

สัมมนา เสวนา เชิงวิชาการทางสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิกระดับโลก


มาถึงไฮไลท์ของงานที่พลาดไม่ได้คือ เวทีสัมมนา เสวนา แห่งการปันสุข ปันความรู้ ที่ประกอบไปด้วย 3 เวทีด้วยกัน ACT Stage , TOA Stage , OneMoreThing Stage โดยมีผู้บรรยายเป็นสถาปนิกระดับโลกทั้งหมด 10 คน และผู้บรรยายคนอื่นตลอดระยะเวลาจัดกิจกรรม ซึ่งมีหัวข้อน่าสนใจมากมายอาทิ

หัวข้อ การชุบชีวิตโครงสร้างทิ้งร้างของเมือง โดย ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล

หัวข้อ The Future of Public Landscapes โดย Kate Orff

หัวข้อ Architecture For The Community โดย Marina Tabassum

หัวข้อ Cities for People โดย Jan Gehl


นอกจากนี้ยังมีหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจมากมายให้ได้เข้าไปรับฟัง หาความรู้ตลอดระยะเวลาจัดกิจกรรม มาร่วมกันส่งมอบความสุขให้กับผู้คน ผ่านความคิดสร้างสรรค์ ความรู้และความเชี่ยวชาญ ภายใต้แนวคิด‘สถาปนิกปันสุข’และนี่เป็นเพียงวันแรกของงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ยังเหลือเวลาอีก 4 วันเท่านั้น ตั้งแต่วันนี้ ถึง 22 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดหัวข้อบรรยายได้ที่ : www.ActForumExpo.com




Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.