Pica Pen ลอกคราบเครื่องเขียนให้อยากพกติดตัว - Urban Creature

ตอนเด็กๆ เคยเป็นไหม ทุกครั้งที่เปิดเทอมเลื่อนชั้นจะรู้สึกตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ ที่จะได้ซื้อดินสอใหม่ ยางลบใหม่ กล่องดินสอสองชั้น หรือปากกาลาย The Dog มาใช้นะจะปังมาก (ถ้าใครรู้จักแสดงว่าไม่ใช่เด็กๆ กันแล้วนะ) แม้การซื้อเครื่องเขียนใหม่จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ยิ่งใหญ่ในหัวจิตหัวใจเด็กคนหนึ่งเหมือนกันนะ

สำหรับเรา ช่วงเวลาที่ได้เปลี่ยนจากการเขียนด้วยดินสอเป็นปากกาเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกตื่นเต้นมาก มันเป็นความรู้สึกที่ว่าฉันนี่แหละโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ (ใช่ แค่ได้เปลี่ยนมาเขียนปากกานั่นแหละ) คอลัมน์ Re-desire จึงออกเดินทางพาย้อนเวลากลับไปสู่ยุคที่เราตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้หยิบจับเครื่องเขียนใหม่กับแบรนด์ Pica Pen โดยมี ‘ก้อง-พิชชากร มีเดช’ เจ้าของแบรนด์ที่รับบทเป็นนักออกแบบด้วย มาเล่าถึงการตกหลุมรักเครื่องเขียนตั้งแต่วันแรกที่ได้เจอ จนสานต่อมาเป็นอาชีพที่สร้างความสุขให้ตัวเองและทุกคนที่ได้ใช้

นักออกแบบกับรักแรกที่ชื่อว่าเครื่องเขียน


เราเดินทางมาถึงที่ตั้งของสตูดิโอ Pica Pen เป็นตึกแถวสามชั้นซุกซ่อนอยู่ในย่านพระนคร ที่ชื่อว่า ‘Gift Makers House’ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปเราก็เจอร้านกาแฟ ที่เต็มไปด้วยเสียงเฮฮาของกลุ่มเพื่อน รู้สึกสดใสขึ้นมาทันทีแม้อากาศข้างนอกจะร้อนจัด อุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียส เพราะก้องบอกเราว่า คนทั้งตึกนี้เป็นเพื่อนๆ กันหมดเลย การใช้ชีวิตในวัยทำงานที่มีเพื่อนล้อมรอบนี่ก็บันเทิงไปอีกแบบ นึกแล้วก็เป็นชีวิตที่เราเองใฝ่ฝันเอาไว้เหมือนกัน

“ใช่ ที่นี่ตั้งแต่ชั้นล่างจนมาถึงเราที่อยู่ชั้นสามก็จะเฮฮากันแบบนี้แหละ (หัวเราะ)” 

หลังจากเดินคุยกันจากชั้นล่างมาถึงชั้นสามที่เป็นส่วนสตูดิโอ Pica Pen นั่งพักพูดคุยทักทายกันพอหอมปากหอมคอ เราเลยไม่รอช้าถามถึงที่มาของแบรนด์แล้วรอคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ

“อืม ถ้าให้พูดถึงจุดเริ่มต้นเหรอ ก็คงตั้งแต่สมัยเรียนแหละ เราเป็นพวกชอบเดินดูโน่นดูนี่อยู่แล้ว วันหนึ่งก็ไปเดินเล่นแถวๆ ดิโอลด์สยามฯ แล้วเจอร้านเครื่องเขียนโบราณ เขาจะขายปากกาคอแร้ง พวกเครื่องเขียนสมัยก่อน ส่วนตัวชอบเครื่องเขียนอยู่แล้วยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ พอเข้าไปในร้านแล้วรู้สึกว้าวมากที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ บางอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นเครื่องเขียน มันเลยเป็นแรงบันดาลใจมาจนถึงทุกวันนี้

“หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยเราเลือกเรียนสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร แล้วที่มหาวิทยาลัยเขาจะมีงานขายของเยอะมาก เราเลยลองทำปากกาคอแร้งทำมือจากพวกเศษไม้ เศษหนัง เหลือๆ ในช็อป จนคิดว่าโอเคแล้วก็ตัดสินใจเอาไปขายที่งาน คนก็เริ่มสนใจเพราะมันแปลก

“ช่วงแรกมันอาจไม่ได้สมบูรณ์เท่าไหร่ มีจุดที่ผิดพลาดบ้าง เราก็เก็บๆ มาพัฒนาต่อจากปากการุ่นแรกที่ใช้วัสดุเป็นไม้กับหนัง เริ่มเปลี่ยนมาใช้ทองเหลือง ทดลองหาเทคนิคอะไรบางอย่างที่เรายังไม่เคยทำ ลองดูวัสดุที่มันหลากหลายขึ้น แบบไหนที่มันจะเสริมให้โปรดักต์เรามีเอกลักษณ์มากที่สุด 

“ด้วยความที่เรียนสายออกแบบมา ทำให้เรารู้จักวัสดุค่อนข้างหลากหลาย เราเลยกล้าหยิบจับวัสดุใหม่ๆ มาเล่น หลังจากลงตัวแล้วเราก็ตัดสินใจเอาไปขายอีกครั้ง คราวนี้คนสนใจเยอะมาก ซึ่งมันเป็นงานแรกที่ทำให้คนรู้จักเราด้วย เหมือนเป็นงานเปิดตัวเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

“หลังจากนั้นประมาณหนึ่งปี การเขียน Calligraphy กลับมานิยมอีกครั้ง พอดีกับช่วงนั้นปากกาเราเป็นที่รู้จักแล้ว มันเลยไปไกลมาก เรียกว่าเกินกว่าที่เราคิดไว้ซะอีก ซึ่งเราเองก็ไม่ได้มองแค่ปากกาอย่างเดียว คิดเอาไว้แล้วว่าแค่ปากกาคงไม่พอที่จะทำให้แบรนด์เราชัด อาจจะต้องมีโปรดักต์อื่นๆ ที่จะทำให้แบรนด์ไปข้างหน้าได้ เราเลยนึกถึงดินสอที่น่าจะเอามาใส่ไอเดียสนุกๆ ได้” 

ดินสอกลายมาเป็นทัพเสริมสำคัญในช่วงเวลาแห่งการเติบโตของแบรนด์ Pica Pen หากลองมองย้อนกลับไปดูเครื่องเขียนในสมัยที่เรายังเด็กจนถึงตอนนี้ ทั้งสีสัน รูปแบบ ขนาดของหัวปากกาทั้งเล็ก ใหญ่ ปลายแหลม ปลายทู่ มีมากมายให้เราเลือกใช้จนลายตา ล้ำลึกไปจนถึงปากกาหรือดินสอบางประเภทเหมาะกับการเขียนแบบไหน เขียนกับกระดาษแบบนี้นะถึงจะเหมาะ ถ้าคุณแอบพยักหน้าตามระหว่างที่อ่านบทความนี้อยู่แล้วล่ะก็ พวกเราคงหลงเสน่ห์เครื่องเขียนเข้าแล้วแหละ

คิดใหม่ใส่ไอเดีย จนกลายเป็นปากกาที่ใครๆ ก็พกติดตัว

แม้เครื่องเขียนอาจได้รับความนิยมน้อยลงจากเมื่อก่อน อาจด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย คนมีตัวเลือกแทนการจดบันทึกลงบนกระดาษมากขึ้น เราเลยแอบสงสัยว่าแล้วทำไมถึงเลือกหยิบเครื่องเขียนมาพัฒนาต่อ

“เราว่าเครื่องเขียนมันมีเสน่ห์เฉพาะตัว ถึงแม้ว่ากาลเวลามันจะเปลี่ยน มันก็ยังมีกลุ่มคนที่ยังชื่นชอบยังสนใจอยู่ ที่เราหยิบปากกากับดินสอมาใส่ไอเดีย เพราะยังรู้สึกว่ามันยังมีอีกหลายมุมให้เราทดลองใส่ความสนุกและตัวตนของเราลงไป”

ก้องพูดกับเราด้วยสีหน้ามุ่งมั่น พลางเดินไปหยิบตัวอย่างของทั้งปากกาและดินสอพร้อมอธิบายให้เราฟังอย่างละเอียดยิบ

“เราแอบสังเกตเห็นจุดที่น่าสนใจของตัวปากกาคอแร้งแบบเดิม คือมันจะเสียบเปลี่ยนหัวได้ตรงๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น วัสดุส่วนใหญ่ก็เป็นไม้หรือแก้ว ซึ่งสองจุดนี้ทำให้เราอยากพัฒนาต่อดูซิว่ามันจะเป็นยังไงถ้าเราออกแบบให้ต่างออกไป มันคงเป็นความตื่นเต้นของผู้ใช้เหมือนกัน (หัวเราะ)

“ปากกาคอแร้งของ Pica Pen จะมีฟังก์ชันการเสียบหัวสองแบบ คือเสียบแบบตรง กับเสียบด้านบน ตอบโจทย์การเขียน Calligraphy โดยเฉพาะเลย เพราะการเขียนรูปแบบนี้องศาความเอียงของปากกากับกระดาษสำคัญมาก ซึ่งปากการูปแบบเก่าที่เสียบแบบตรงๆ การเขียนเราอาจต้องเอียงมากเป็นพิเศษ ยิ่งเขียนนานๆ รับรองว่ามีปวดข้อกันแน่นอน 

“หัวแบบเสียบด้านบนจะช่วยลดองศาการเอียงข้อมือให้เขียนสบายขึ้นในมุมห้าสิบห้าองศา ถือว่าเป็นมุมที่เขียนสวยและสบายมากที่สุด ส่วนตัวแท่งของปากกาเราเปลี่ยนวัสดุมาใช้ทองเหลืองแทน ด้วยน้ำหนักที่มากกว่าวัสดุอื่นๆ จะทำให้การเขียนนิ่งขึ้น และให้สัมผัสที่แตกต่างจากวัสดุอื่น”

ระหว่างอธิบายถึงปากกาคอแร้งให้เราฟัง ก้องก็เริ่มหยิบปากกาคอแร้งขึ้นมาเขียน Calligraphy ให้เราดู จริงๆ ก็เพลินอยู่เหมือนกันนะ 

“ลองดูไหม เราออกแบบไม้บรรทัดที่ใช้เฉพาะเขียน Calligraphy ด้วยนะ เอาไว้ขีดเส้นแบ่งเป็นช่องคล้ายๆ ตอนเรียนเขียนเลย มันช่วยให้มือใหม่หัดเขียน เขียนได้ง่ายขึ้น”

เรารีบส่ายหน้าทันทีแบบไม่ต้องคิด ขอเป็นผู้ชมจะดีกว่า หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ก้องก็หยิบดินสอออกมาแนะนำตัว

“ดินสอก็เป็นอีกชิ้นที่เราสนุกกับมันมากๆ ซึ่งไอเดียเราเอามาจากสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน อย่างไม้หนีบผ้า บางคนอาจจะ เอ๊ะ ไม้หนีบผ้ากับดินสอเหรอจะไปด้วยกันได้ แต่จริงๆ มันเป็นไปได้นะ เราแค่คิดว่าฟังก์ชันแบบไม้หนีบผ้าพอมาอยู่กับดินสอแล้วจะเป็นยังไง 

“อย่างดินสอของเราจะเป็นการนำชิ้นส่วนสองชิ้นมาประกอบกันแล้วสอดไส้ดินสอเข้าไปตรงกลาง ซึ่งชิ้นส่วนทั้งสองชิ้นต้องล็อกให้ไส้อยู่กับที่ได้ และต้องมีพื้นที่เล็กๆ พอให้ยืดหยุ่นและแยกออกจากกันได้นิดหน่อย เมื่อต้องการเปลี่ยนไส้

“เราติดอยู่ที่จุดนี้อยู่นานมาก จนไปเจอยางเส้นเล็กๆ ที่มันมีความยืดหยุ่นในตัวเองอยู่แล้ว แถมมันยังรัดส่วนประกอบให้อยู่ด้วยกันได้ ที่สำคัญ มันก็ทำให้ชิ้นส่วนทั้งสองชิ้นประกบกันและมีจุดหมุนตรงกลาง ทำให้เวลาขยับตัวในการเขียนหรือยืดออกเปลี่ยนไส้ทำได้ง่ายไม่ติดขัดตามที่เราตั้งใจไว้ด้วย สำหรับโจทย์นี้เราว่าหินพอสมควร ลองผิดลองถูกขึ้นโมเดลชิ้นแล้วชิ้นเล่า กว่าจะได้ก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน (หัวเราะ)

“นอกจากทีท่าการออกแบบของดินสอที่เปลี่ยนไป เรายังใช้ทองเหลืองเป็นวัสดุหลักเหมือนเดิม อยากให้ลองใช้ดินสอแท่งนี้เขียนดู แล้วความรู้สึก น้ำหนักที่สัมผัส ลายเส้นที่เห็นจะเปลี่ยนไปเลย”

ก้องยื่นดินสอให้ลองใช้แบบทันทีทันใด หลังจากที่ได้ลองเอามาเขียนแล้วสิ่งที่ต่างออกไปคือน้ำหนักมือของเราเวลาเขียน แม้ดินสอจะมีน้ำหนักพอตัวแต่กลับเขียนได้ไม่ยาก แถมลายเส้นของเรากลับไม่หนักอย่างที่คิด 

“เป็นไง เหมือนชีวิตเปลี่ยนไปเลยใช่ไหม (หัวเราะ) นี่แหละ เราอยากส่งต่อประสบการณ์ความรู้สึกแบบนี้ให้ทุกคน มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครเหมือน เพราะต่างคนต่างสัมผัสด้วยตัวเอง คนอื่นอาจคิดไม่เหมือนเราก็ได้ ไม่ผิดอะไรเลย เพราะเครื่องเขียนของ Pica Pen ทำหน้าที่แบบนั้นอยู่แล้ว จากดินสอแท่งเดิมๆ ที่เราอาจจะคุ้นเคยกัน พอลองใช้อะไรใหม่ๆ บางทีอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้การทำงานของคุณสนุกขึ้นก็ได้ จากดินสอที่เราเคยกด ลองเปลี่ยนมาหนีบมันดูสิว่ามันจะเป็นยังไง มันก็ท้าทายดีเหมือนกัน”


จากที่เราได้ทำความรู้จักกับแบรนด์ Pica Pen กันมาสักพักแล้ว ถ้าใครบอกว่าเวลาพกเครื่องเขียนแล้วเชย ขอบอกว่าต้องคิดใหม่เพราะคุณจะได้แอ็กเซสเซอรีชิ้นใหม่ที่ทำให้ดูคูลขึ้นกว่าเดิม

“จริงๆ นะ ลูกค้าหลายคนบอกกับเราว่า พกติดตัวตลอดเลย เราก็รู้สึกดีที่เขาชอบแล้วพกไปใช้ด้วย มันเป็นความตั้งใจที่เราอยากให้คนใช้พกอยู่แล้ว เพราะนอกจากการออกแบบที่เราใส่ใจเรื่องฟังก์ชันการใช้งานแล้ว สไตล์ลิ่งก็สำคัญ เพราะคนยุคนี้เขาไม่ได้ซื้อของเพื่อใช้งานอย่างเดียว เขาซื้อภาพลักษณ์ด้วย อย่างบนโต๊ะทำงานเราวางปากกา วางดินสอตรงนี้ ขวดหมึกต้องวางตรงนี้นะ เวลาวางบนโต๊ะมันต้องสวย เหมือนมันมีจริตบางอย่างถ่ายทอดออกไปจากสิ่งของที่เราใช้” 

ต้องยอมรับเลยว่าผลงานของนักออกแบบไทยมีดีไม่แพ้ใครเลย เพราะเรารู้สึกได้ถึงความตั้งใจ ไอเดีย และกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วน เพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์ดีๆ ให้กับลูกค้า

Pica Pen พื้นที่พักใจยามเหนื่อยล้า (เหลือเกิน)

มากกว่าความรัก และความชอบในเครื่องเขียน เรารับรู้ได้ถึงแพสชันที่แน่วแน่ แม้แบรนด์ Pica Pen จะผ่านเวลามานานกว่า 6 ปี สิ่งที่ก้องตั้งใจยังคงขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ

“ต้องบอกก่อนว่าเรามีงานอื่นที่ทำควบคู่กับการทำแบรนด์ไปด้วย เพราะเราไม่อยากให้ Pica Pen กลายเป็นงานหลักที่เราต้องเครียด ต้องทำเงินมากๆ ผลิตตัวอื่นออกมาเยอะๆ เราว่ามันกดดันตัวเองเกินไปหน่อย อยากให้ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ที่เราได้พักใจ ใส่ไอเดียกับมันได้แบบไม่ยั้ง และไม่มีกรอบมาหยุดเราไม่ให้ทำ 

“แม้ในสิ่งที่เราคิดมันอาจไม่ถูกต้องเสมอไป แต่มันยังดีที่เราได้ลงมือทำ สังคมเราตอนนี้ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนได้ลองทำผิดพลาดกันสักเท่าไหร่ กดดันเหมือนกันนะ เพราะไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ทุกคนต่างก็ทำผิดได้เหมือนกัน”

การพูดคุยกับก้องผ่านไปอย่างรวดเร็ว เหมือนเรากำลังนั่งคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน ที่พอได้รับรู้หลายๆ ก้าวในชีวิตของเขาแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่าก้าวต่อไปเขาจะคิดเอาไว้บ้างหรือเปล่า

“Pica Pen ในอนาคตมันอาจจะเป็นอะไรได้อีกหลายอย่างเลย อาจจะไม่ได้ละเอียดว่าจะทำอะไร แต่ที่แน่ๆ ช่วงเวลาเกือบหกปีที่ผ่านมา แบรนด์มันโตไปพร้อมกับเราแหละ เห็นได้จากงานที่ออกแบบที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มันอาจจะนานหน่อย แต่เราไม่ได้รีบอะไรค่อยๆ ทำไป เราก็คิดว่ามันไปต่อได้อยู่แล้ว

“ในมุมของนักออกแบบการเติมไอเดียให้กับของแต่ละอย่างมันสำคัญนะเราว่า ยกตัวอย่างถ้าเรามีผลิตภัณฑ์ดีๆ สักตัวหนึ่ง คือมันมีของอยู่แล้วแหละ แต่ถ้าเติมไอเดีย ใส่กิมมิกเข้าไปมันอาจจะพลิกมูลค่าที่มันมีอยู่จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ได้ 

“พอดีกับที่เราได้มีโอกาสทำงานกับชุมชนยิ่งทำให้เรารู้ว่าในประเทศไทยมีวัสดุที่แฝงอยู่กับชุมชนเยอะมาก อย่างพวกไม้ไผ่ ผักตบชวา ก็น่าสนใจ หาได้ไม่ยาก ภาคใต้ก็มีย่านลิเภา ซึ่งเรามองเห็นกิมมิกของวัสดุเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่เขาเอามาใช้ในงานสาน บางทีอาจเป็นฟังก์ชันหนึ่งที่หยิบไปใช้กับเครื่องเขียนก็ได้ อย่างที่บอก ในอนาคตเราอาจจะลองทำอะไรที่ต่างออกไปบ้าง เลยไม่อยากจำกัดความเอาไว้แค่เครื่องเขียน โลกของการออกแบบมันกว้างกว่านั้น”

จากเครื่องเขียนธรรมดาที่เราเห็นกันจนชินตา ถูกเติมแต่งด้วยไอเดียจนกลับมามีชีวิตชีวา ผ่านมุมมองนักออกแบบรุ่นใหม่ เหมือนเป็นการสร้างพื้นที่ให้ของที่คิดว่าผู้คนอาจหลงลืมไปได้ออกมาอวดโฉมอีกครั้ง

ทำให้เราหวนคิดถึงเครื่องเขียนที่เคยใช้ โหยหาสัมผัสระหว่างปากกา ดินสอ กับกระดาษ ที่ถึงแม้ทุกวันนี้เราจะมีสมาร์ตโฟน โน้ตบุ๊ก ที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่าหลายเท่า แต่สำหรับเราก็คงแลกกับประสบการณ์ และความรู้สึกที่เคยมีกับบรรดาเครื่องเขียนในวัยเด็กไม่ได้จริงๆ 

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.