แพร่งภูธร ย่านการค้าท้ากาลเวลาของชาวพระนคร - Urban Creature

เมื่อก่อนช่วงหลังเลิกเรียน เรามักชวนเพื่อนไปเดินเล่นแถวย่านสามแพร่ง ซึ่งเป็นแหล่งพึ่งพิงยามท้องร้อง ด้วยเหตุผลไม่กี่อย่าง ทั้งใกล้มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ และเป็นอีกย่านสตรีทฟู้ดยามแดดร่มลมตก ร้านรวงเปิดแผงเรียงรายริมถนนราวกับเยาวราชในสเกลที่เล็กกว่า ที่สำคัญคือคนไม่พลุกพล่านเท่า

แพร่งภูธรยังเป็นชุมชนที่มีคนดั้งเดิมอาศัยอยู่ ซึ่งปกติตั้งแต่เช้าถึงช่วงเที่ยงๆ บ่ายๆ จะมีร้านอาหารมากมายเปิดโดยคนท้องถิ่นตั้งอยู่ในห้องแถว เพื่อจำหน่ายให้คนในย่านและข้าราชการกระทรวงต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง ส่งผลให้บรรยากาศห้างร้านในเวลานี้จึงต่างออกไปจากยามฟ้ามืด

เราพอรู้ประวัติของแพร่งภูธรคร่าวๆ ว่าคือหนึ่งในชุมชนสามแพร่ง ซึ่งเคยเป็นวังของเจ้านาย ก่อนจะสร้างเป็นตึกแถวล้อมกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมตามแบบตะวันตก อายุอานามถึงตอนนี้ก็ร้อยกว่าปีแล้ว ชุมชนในตึกแถวขนาดกะทัดรัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นย่านการค้ามาแต่อดีต

โดยเฉพาะอาหารที่มีตั้งแต่ขนมหวาน ไปจนถึงอาหารมื้อใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นฟู้ดคอร์ตของพระนครในสมัยหนึ่ง เรื่อยมาจนถึงยุคคลับบาร์ริมถนนราชดำเนินเมื่อ 60 ปีก่อน ที่นี่ก็ยังคึกคักจากการเป็นแหล่งของกินยามดึกของนักท่องราตรีที่เดินออกมาไม่ไกลจากถนนราชดำเนินกลาง จนเวลาหมุนผ่านแม้ร้านเก่าจะล้มหายมีร้านใหม่เข้ามาแทน แต่แพร่งภูธรก็ยังคงทำหน้าที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

อุดมโภชนา : ตำนานร้านข้าวหมูแดงคู่แพร่งภูธร

เราเริ่มต้นกันที่ร้านข้าวหมูแดงชื่อดัง อย่าง ‘อุดมโภชนา’ ตั้งแต่ยังไม่สิบโมง ตามคำกำชับของเจ้าของร้านที่ให้เราชิงมาก่อนที่ลูกค้าตอนกลางวันจะหลั่งไหลจนไม่ว่างพูดคุยกัน เฮียสุวรรณ รุ่งโรจน์สุวรรณ เจ้าของร้านรุ่นปัจจุบัน เล่าให้ฟังว่า จนถึงวันนี้อุดมโภชนามีอายุ 85 ปีแล้ว ขายมาตั้งแต่เฮียยังรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเตี่ยหาบข้าวหมูแดงไปขายที่สนามหลวง จนเลื่อนขั้นมายืนหน้าเขียงเต็มตัว

ร้านนี้เป็นของดีประจำย่าน ถึงขั้นแฟนคลับขาประจำที่เข้ามาซื้อยังเอ่ยปากว่า “มาแถวนี้ ไม่ได้กินหมูแดงร้านเฮียเหมือนมาไม่ถึง” นอกจากข้าวหมูแดงและหมูกรอบที่ขึ้นชื่ออุดมโภชนายังมีสตูเนื้อ ข้าวแกงกะหรี่ และเปาะเปี๊ยะสด ที่เฮียบอกว่าขายเหมือนเดิมมาตลอด รสชาติไม่เคยเปลี่ยน ทุกเมนูของร้านเสิร์ฟมาพร้อมพริกสดหั่นไว้ตัดเลี่ยน ทานแล้วรสชาติเข้ากันดีแบบไม่ค่อยเจอที่ไหน

รสชาติของอาหารเป็นที่ถูกอกถูกใจเหล่ารัฐมนตรี และข้าราชการที่มารับตำแหน่งในกระทรวงละแวกนี้ ที่ต่างแวะเวียนมาฝากท้องมื้อเที่ยงกับร้านเฮียมาทุกสมัย แม้โยกย้ายเก้าอี้ประจำตำแหน่งไปตามวาระ แต่ก็ยังกลับมาทานที่ร้านเสมอ จนเราแอบคิดเล่นๆ ว่า ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานข้าวหมูแดงอุดมโภชนาอยู่ตลอดไป

| ร้านอุดมโภชนา
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่ 07.00 – 15.00 น.
ที่ตั้ง : 78 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

นัฐพร ไอศครีมรสไทย : ไอศกรีมกะทิหวานเย็นชื่นใจ

จบของคาวตามด้วยของหวาน ยิ่งอากาศร้อนแบบบ้านเราแล้ว ‘นัฐพร ไอศครีมรสไทย’ ช่วยดับร้อนได้ชะงัด ร้านนี้มีจุดเด่นคือการคัดสรรวัตถุดิบอย่างตั้งใจ ทั้งรสชาติแบบไทยและเทศกว่า 11 รสชาติ แต่ที่ทำให้เราตกลงปลงใจเป็นลูกค้าประจำ คือตระกูลชาเขียวที่ได้ยินมาว่านำเข้าจากญี่ปุ่น แถมมีให้เลือกหลากหลายตามความชอบ รับรองว่าดีงามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น มัตฉะ เก็นไมฉะ และโฮจิฉะ

ร้านไอศกรีมนี้อยู่คู่แพร่งภูธรมากว่า 70 ปี ส่งต่อกิจการมาแล้วถึงรุ่นที่ 3 แม้เราจะออกปากว่าถูกใจเหล่าชาเขียว แต่รสชาติรุ่นบุกเบิกของร้าน คือรสชาติไทยๆ สุดเบสิกอย่าง ‘กะทิสด’ ที่ต้องเลือกใช้มะพร้าวจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาคั้นเป็นน้ำกะทิ เมื่อปั่นออกมาด้วยวิธีดั้งเดิมแบบโบราณจึงเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ให้เนื้อสัมผัสที่ต่างออกไปจากไอศกรีมสมัยใหม่ ทานคู่กับเครื่องเคียงหลากหลายที่เรียงรายให้เลือกอยู่ในตู้ ทั้งข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่วลิสง หรือจะเป็นลูกชิด เลือกเพิ่มได้ตามใจต้องการ

หากอยากรู้ถึงความใส่ใจและพิถีพิถันของร้านไอศกรีมเล็กๆ นี้อย่างเจาะลึก ตามไปอ่านได้ที่ : https://urbancreature.co/nuttaporn-thai-icecream/

| นัฐพร ไอศครีมรสไทย
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น.
ที่ตั้ง : 94 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

1905 Heritage Corner : โฮสเทลอดีตโรงน้ำชาและโรงงานฟันปลอม

เขยิบจากร้านอุดมโภชนามาไม่กี่ห้องเป็นที่ตั้งของ 1905 Heritage Corner โฮสเทลขนาดเล็กใจกลางแพร่งภูธร แรกเริ่มเดิมทีห้องแถวหัวมุมขนาด 2 คูหาแห่งนี้ตอนสร้างตึกเสร็จใหม่ๆ เคยเป็นโรงน้ำชามาก่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงงานทำฟันปลอม แล้วจึงกลายเป็นที่พักเล็กๆ ซึ่งผ่านการรีโนเวตผสมการอนุรักษ์ โดยพยายามคงสภาพและร่องรอยเรื่องราวของตึกให้มากที่สุด

เราได้โอกาสพูดคุยกับ คุณหน่อง-วรัญญา ทิพยภัณฑ์ เจ้าของคนปัจจุบันผู้หลงใหลย่านเมืองเก่าเป็นทุนเดิม เมื่อเข้ามาดูแลโรงแรม จึงตั้งใจให้ที่นี่เป็นพื้นที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมส่งต่อไปถึงผู้เข้าพัก ทั้งชุดอาหารเช้า ชุดน้ำชาตอนบ่าย ไปจนถึงของที่ระลึกที่มอบให้ก่อนแขกโบกมือลา ล้วนแฝงเสน่ห์ของความเป็นย่านนี้ทั้งหมด

แม้อาคารจะมีไซซ์ที่จำกัด แต่กลับไม่ใช่จุดด้อยของโฮสเทลหัวมุมนี้ เพราะแลกมาด้วยวิวมุมกว้างของแพร่งภูธรจากหน้าต่างห้องนอนด้านบน ส่วนพื้นที่ด้านล่างเกือบทั้งหมดจัดเป็นคาเฟ่เล็กๆ เคล้ากลิ่นอายของบ้านเก่าอายุร้อยกว่าปี ทั้งยังผสมวิถีชีวิตคนในย่านเก่าแสนสงบเป็นจุดขาย 

| 1905 Heritage Corner
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 02-041-0102
ที่ตั้ง : 68 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

อู่วิเชียร : ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นจีนแคะแห่งอู่ซ่อมรถยนต์สุดเก๋า

แม้ไม่ใช่ย่านคนจีนอย่างเยาวราช แต่แพร่งภูธรยังมีกิจการของชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่หลายร้าน ‘อู่วิเชียร’ ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่มาอาศัยย่านนี้และทำอู่รถมาหลายปีตั้งแต่สมัยที่รถยนต์ไม่ใช่สินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่องอย่างปัจจุบัน

ไม่รอช้าเรารีบชวน พี่เอ็ม-บวรเดช อภิวัฒน์เสรี ผู้สืบทอดสายเลือดช่างยนต์รุ่นที่ 3 ที่ตอนนี้ผันตัวเป็นมือลวกก๋วยเตี๋ยว ให้ช่วยเล่าที่มาที่ไปของบ้านให้ฟังสักหน่อย 

ก่อนได้ความว่า 70 ปีที่แล้ว พื้นที่ว่างระหว่างตึกแถวตรงนี้เคยเป็นอู่รถครบวงจร ที่ไม่ได้มีแค่ซ่อม แต่รวมถึงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนรถยนต์ ต่อทะเบียน ไปจนถึงทำใบขับขี่เลยทีเดียว ด้วยทำเลที่เอื้ออำนวยกลางเกาะรัตนโกสินทร์ เหล่าผู้ดีที่มีรถขับต่างก็ต้องเคยมาใช้บริการอู่วิเชียรแห่งแพร่งภูธร หนึ่งในสถานบริการซ่อมรถที่มีไม่กี่แห่งของพระนครในช่วงนั้น

เมื่อ 4 ปีก่อน พี่เอ็มจำเป็นต้องเลิกทำกิจการอู่ที่ดำเนินมานานกว่า 3 รุ่น โชคดีที่นอกจากความสามารถในการซ่อมรถ บ้านนี้ยังมีสูตรลูกชิ้นตามแบบฉบับชาวจีนแคะ ทั้งลูกชิ้นทอดที่กรอบนอกนุ่มใน และหัวไชเท้านึ่งสัมผัสหนึบหนับ ซึ่งพี่เอ็มกระซิบบอกกับเราว่า ใช่จะหาทานได้ง่ายๆ เพราะเมื่อก่อนจะทำขายเฉพาะกิจยามมีเทศกาลในชุมชนและวันไหว้เท่านั้น

จากอู่วิเชียร สู่ร้านเจ๊เพ็ญก๋วยเตี๋ยวแคะที่มีสารพัดเส้นให้เลือกสรร จะเส้นเล็ก เส้นใหญ่ หรือเส้นหมี่ สั่งได้ตามใจชอบ เพราะมีลูกชิ้นทีเด็ดของร้านใส่ให้ทุกชาม แถมขึ้นชื่อว่าเคยเป็นอู่รถ ที่นี่ยังมีรถโบราณเก่าเก็บจอดไว้ในบ้านอีกหลายคัน พร้อมเครื่องมือและอะไหล่แขวนโชว์ไว้ เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์รถขนาดย่อมที่ตั้งเคียงกันกับโต๊ะก๋วยเตี๋ยวได้บรรยากาศอู่รถในวันวานแบบสุดๆ

| อู่วิเชียร และร้านเจ๊เพ็ญ ก๋วยเตี๋ยวจีนแคะ สูตรอาโผ่
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น.
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : @เจ๊เพ็ญ ก๋วยเตี๋ยวจีนแคะ-หมูตุ๋น สูตรอาโผ่
ที่ตั้ง : 55/1 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ร้านลูกชิ้น-มันสมองหมูไทยทำ : ต้นตำรับเมนูหากินยาก 

หากลิ้มรสอาหารจีนแคะยังไม่หนำใจ มีอีกหนึ่งเมนูของชาวฮากกา ซิกเนเจอร์ประจำแพร่งภูธร นั่นคือ ‘มันสมองหมู’ จากร้านลูกชิ้น-มันสมองหมูไทยทำ ร้านที่ได้ ‘เชลล์ชวนชิม’ การันตีความอร่อยเป็นแห่งแรกของไทยตั้งแต่เมื่อ 60 ปีที่แล้ว

เดินย้อนไปทางกระทรวงกลาโหม ร้านอยู่ในตรอกเล็กๆ ไม่ไกลจากอู่วิเชียรนัก มีตัวชูโรงตามชื่อร้านคือ ‘เกาเหลามันสมองหมู’ อาหารที่นับวันจะหาทานยาก อาจเพราะกรรมวิธีที่ยุ่งยากมากขั้นตอน ต้องใช้ความพิถีพิถันในการล้างสมองอย่างเบามือ จนทำให้คนรุ่นเก่าที่ทำอาหารแนวนี้วางมือยอมแพ้กันไปเรื่อยๆ 

ตามไปอ่านเรื่องราวของอาหารสุดแปลกหาทานยากประกอบการตัดสินใจก่อนไปลิ้มลองได้ที่ : https://urbancreature.co/hunt-pigbrainsoup/

| ร้านลูกชิ้น-มันสมองหมูไทยทำ
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 14.00 น.
ที่ตั้ง : 28/1 ถนนแพร่งภูธร แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ชิกัจฉา : สภากาแฟของชาวสามแพร่ง

เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเกาะรัตนโกสินทร์เคยมีโรงคั่วกาแฟซ่อนอยู่ในตึกแถว จนกระทั่งได้มานั่งคุยกับ พี่หมู-อุพีรัจน์ โรจานุวงศ์ แห่งร้านชิกัจฉา

เดิมบ้านหัวมุมต้นซอยนี้เคยเป็นทั้งโรงคั่วกาแฟและร้านกาแฟโบราณเล็กๆ ของอากง ต่อมาเป็นร้านจำหน่ายและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งพี่หมูตัดสินใจกลับมาสานต่ออาชีพเดิมของบ้าน ทำให้ตอนนี้กลายเป็นสภากาแฟสถานที่พบปะของชาวชุมชนสามแพร่งอีกครั้ง

“ชิกัจฉา แปลว่า กินดื่ม เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต” เจ้าของบ้านเฉลยชื่อร้านที่เราไม่คุ้นหู ก่อนจะชวนให้ดูร่องรอยของความเป็นร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าครั้งอดีต ทั้งเครื่องทำน้ำร้อนแบบโบราณ นวัตกรรมใหม่ในสมัยนั้น หรือจะเป็นกาน้ำชาไฟฟ้า ไอเท็มสุดโก้เมื่อหลายสิบปีก่อน ตั้งโชว์เรียงอยู่ในตู้ไม้เก่าของบ้าน ซึ่งมีหลายอย่างที่เราแทบไม่เห็นแล้วในปัจจุบัน

ไม่ทันไรลูกค้าก็มากันแน่นร้าน บาริสต้าหนึ่งเดียวของร้านทักทายคนนู้นที คนนั้นที อยู่ด้านหลังบาร์กาแฟด้วยความคุ้นเคยพร้อมรอยยิ้ม เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาต่างก็เป็นขาประจำที่เห็นหน้ากันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะข้าราชการในกระทรวงใกล้ๆ ที่มีนัดหมายช่วงพักเที่ยงทุกวันธรรมดา

| ร้านชิกัจฉา
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น.
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 08-1559-9608
ที่ตั้ง : 550 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ก.พานิช : ข้าวเหนียวมูนการันตีความอร่อยด้วยมิชลินไกด์

ข้ามฟากจากร้านชิกัจฉา มาที่ร้าน ‘ก.พานิช’ ร้านข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าเด็ด ที่ตั้งอยู่ในตึกแถว 2 คูหาริมถนนตะนาว ร้านเก่าแก่แห่งนี้เริ่มขายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ชื่อเสียงเลื่องลือโด่งดังมาหลายยุคสมัย บวกกับรสชาติติดใจลูกค้าที่แวะมาซื้อไม่เคยขาด จนได้เป็นหนึ่งในร้านแนะนำบิบ กูร์มองด์ ประจำมิชลินไกด์ เมื่อปี 2020

แม้ข้าวเหนียวมูนจะขึ้นชื่อว่าเป็นของหวานที่มักทานในหน้าร้อนพร้อมกับช่วงมะม่วงออกผล แต่ข้าวเหนียวของร้าน ก.พานิช มีจำหน่ายตลอดปี โดยทางร้านคัดสรรวัตถุดิบมาอย่างตั้งใจ เจาะจงใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จากจังหวัดเชียงราย ผ่านกรรมวิธีการมูนด้วยสูตรที่สืบทอดมาจากห้องเครื่องในวังจากรุ่นสู่รุ่น ความพิเศษคือความละมุนกลมกล่อมของข้าวเหนียวมูน ที่จะเลือกทานกับมะม่วงก็ใช้ได้ หรือจะเป็นสังขยา หน้าปลา หน้ากุ้ง ก็เข้ากันเหมาะเจาะ 

| ร้าน ก.พานิช
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่ 07.00 – 18.00 น.
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 02-221-3554 และ @ก.พานิช – Kor Panich 
ที่ตั้ง : 431 – 433 ถนนตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ร้านโภชน์สภาคาร : ลิ้มรสวันวานคาวหวานตำรับไทยโบราณ

หลังจากเดินวนในแพร่งภูธรจนครบรอบ ออกมาแล้วเลี้ยวขวาไม่ไกลจากร้าน ก.พานิช มีร้านเก่าแก่อีกร้านหนึ่ง ชื่อว่า ‘โภชน์สภาคาร’ เป็นร้านอาหารตำรับชาววังยุคต้นๆ ในกรุงเทพฯ ที่ยังเปิดกิจการต่อเนื่องจนวันนี้ สืบทอดสูตรของคุณย่าที่เคยทำงานอยู่ห้องเครื่องในวังในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ที่ส่งต่อความอร่อยมายังทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งยังคงรสชาติต้นตำรับไว้ได้อร่อยไม่เปลี่ยน

ตามไปย้อนบรรยากาศมื้ออาหารในร้านที่ยืนหยัดมาเกือบร้อยปีได้ที่ https://www.facebook.com/1736359789995583/posts/2130405327257692/?d=n

| ร้านโภชน์สภาคาร
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่ 10.00 – 21.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 10.00 – 21.30 น.
ที่ตั้ง : 443 ถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ

อ๋อง อิว กี่ : ศูนย์รวมใบชาชั้นดีของชาวพระนคร

ใกล้ๆ กับร้านโภชน์สภาคาร บริเวณนี้เป็นจุดตัดของถนนรุ่นแรกๆ ในกรุงเทพฯ 3 สาย คือบำรุงเมือง เฟื่องนคร และตะนาว เรียกแยกนี้ว่า ‘สี่กั๊กเสาชิงช้า’ อาคารพาณิชย์รอบๆ ออกแบบโค้งรับกับวงเวียนที่เคยมีในอดีต จุดหมายสุดท้ายของเรา คือตึกแถวด้านหนึ่งของแยก ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน ‘อ๋อง อิว กี่’ ร้านใบชาเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้นำเข้าใบชาดีมีราคาจากประเทศจีนตั้งแต่ร้อยปีก่อน

พี่บี๋-นพพร ภาสะพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้ดูแลกิจการในปัจจุบัน พาเราจิบน้ำชายามบ่ายเคล้าบทสนทนาด้วย ‘ชาจือหลาน’ ใบชามีชื่อเสียงที่ถูกเอ่ยถึงในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 พร้อมกับเล่าความเป็นมาของร้านให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วร้านไม่มีประวัติว่าเปิดตั้งแต่ปีไหน อาศัยการปะติดปะต่อหลักฐานจากโฆษณาร้านในหนังสือสมัยรัชกาลที่ 6 ว่าเปิดมาแล้ว 20 ปีก่อนหน้า ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 พอดี

อ๋อง อิว กี่ จำหน่ายใบชาหลากชนิด มีให้เลือกหลายกลิ่น สำหรับลูกค้าเก่าๆ จะคุ้นกันในชื่อ ‘ร้านใบชาอ๋อง’ ซึ่งความพิเศษของร้านอยู่ที่ ‘ถ้ำชา’ ที่สั่งทำไว้ตั้งแต่ยุคเปิดร้าน “ตู้เก็บชาแบบโบราณจะช่วยรักษากลิ่นและถนอมใบชา” พี่บี๋สำทับถึงคุณประโยชน์ของตู้เซฟใบชาที่กักเก็บทั้งกลิ่นและเรื่องราวของร้านไว้อย่างครบถ้วน เป็นเครื่องการันตีถึงความจริงจังและใส่ใจของธุรกิจใบชาร้านนี้ เพื่อให้ลูกค้าได้รับใบชาที่มีคุณภาพครบถ้วนทั้งกลิ่นและรส 

| ร้านอ๋อง อิว กี่
เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น.
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : 02-222-1748 
ที่ตั้ง : 63 ถนนบำรุงเมือง แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

บรรยากาศของแพร่งภูธรในวันนี้คงไม่ต่างไปจากในอดีตมากนัก ป้ายชื่อร้านเก่าผ่านร้อนหนาวมาหลายชั่วคนยังติดอยู่ที่เก่า ห้างร้านดั้งเดิมถึงแม้เวลาเปลี่ยนผ่านแต่เหล่าผู้สืบทอดรุ่นลูกหลานยังคงสานกิจการของครอบครัวต่อ รวมถึงช่วยกันเก็บรักษาหลายสิ่งหลายอย่างของย่านเก่าอันทรงเสน่ห์นี้ไว้ให้มากที่สุด เสมือนการส่งต่อลมหายใจให้ ‘ย่านการค้า’ ใจกลางพระนครแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ดังเช่นยุคแรกเริ่มต่อไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.