‘B.A.D Beer Contest’ คือโครงการประกวดเบียร์ชิงแชมป์แห่งประเทศไทย จัดโดย บริษัท ส้มจี๊ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย ‘คณะก้าวหน้า’ ร่วมกับ ‘พรรคก้าวไกล’ เพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องการผลิตเบียร์และเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ร่าง ‘พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า’ เพราะการผลักดันเพียงแค่ในสภาอาจไม่เพียงพอ การขับเคลื่อนนอกสภาจึงเป็นอีกวิธีการที่จะช่วยให้เครื่องดื่มสากลโลกในไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลง
สำหรับผู้ชนะเลิศในการประกวดเบียร์ครั้งแรกประเภทเบียร์ IPA เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคือแบรนด์ PERMADEATH ส่งเบียร์สีขุ่นกลิ่นหอมตัวที่ใช้ชื่อว่า ‘HAZE SHOT HAZY IPA 6.3%’ เข้าร่วมประกวด ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานธีสิสของ ‘นนท์-ณัชนนท์ เรียบร้อย’ บัณฑิตป้ายแดงจากศิลปากร วังท่าพระ คณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์
“กรรมการที่ตัดสินบอกว่าเบียร์กลิ่นดี รสชาติเยี่ยม กินง่ายและคลีน เป็นเบียร์ที่บอดี้มีความหนาแน่น แต่อาจจะเพิ่มความเข้มข้นได้อีก ความคิดเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าเบียร์ที่หนักเกินไปมันอร่อยแค่คำสองคำแรก อาจกินไม่หมดแก้วก็เลี่ยนซะก่อน ผมจึงตั้งใจทำเบียร์ที่ไม่ได้บางจ๋อย ให้กลิ่นรสสัมผัสมาเต็ม เพื่อทำให้กินได้จนหมด อยากทำเบียร์ที่คนกินมีความสุขตลอดแก้ว”
เขาเล่าให้ฟังถึงชัยชนะแก้วแรกของ PERMADEATH แบรนด์ที่ตั้งใจทำเพื่อเป็นธีสิสในด่านสุดท้ายก่อนจบการศึกษา และหวังผลต่อยอดเป็นแบรนด์ที่ตัวเองจะได้เป็นเจ้าของวันข้างหน้า
เพื่อการอ่านออกรส ‘Cheers!’
PERMADEATH LOVE STORY
เหตุผลที่ทำแบรนด์เบียร์ของตัวเองเป็นธีสิสนั้นเรียบง่ายเหมือนเวลาเปิดกระป๋องดังป๊อกแล้วยกจิบ
“ทั้งหมดมาจากความชอบส่วนตัวล้วนๆ ชอบวาดรูป ชอบกินดื่มทุกสิ่งอย่างที่อร่อย เบียร์อร่อยๆ พาให้ได้ไปเจอผู้คน ตรงฉลากเบียร์ก็ทำให้ได้วาดรูป ในอนาคตถ้ามีเบียร์และร้านของตัวเองก็น่าจะฟิน”
Drink Art คือคอนเซปต์ไอเดียที่บอกว่าเบียร์ไม่ใช่แค่น้ำเมา เพราะเบียร์ดีๆ ต้องใช้ฝีมือและความเอาใจใส่ พิถีพิถันสรรค์สร้างได้อิสระไม่ต่างจากการทำงานศิลปะ
นนท์เล่าให้ฟังว่าชื่อ PERMADEATH นั้นคือโหมดโหมดหนึ่งในเกมที่ผู้เล่นจะไม่มีโอกาสแก้ตัวใดๆ ตายแล้วตายเลยเริ่มใหม่สถานเดียว เช่นกันกับการต้มเบียร์ที่ถ้าต้มแล้วพลาด ต้มแล้วติดเชื้อ หรือรสชาติแกว่งไม่เป็นดั่งใจก็ยกทั้งหม้อเททิ้งแล้วทำใหม่ได้เลย คอนเซปต์โดยรวมของงานธีสิสครั้งนี้จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องความตาย
ตั้งแต่วัยเด็ก สารตั้งต้นแรงบันดาลใจของนนท์ได้แนวทาง เส้น สี มาจาก ‘หมู-ไตรภัค สุภวัฒนา’ นักเขียนการ์ตูน แถมด้วยอิทธิพลจากการตามเสพผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่นอย่าง ‘ชินทาโร่ คาโกะ’ (Shintaro Kago) เจ้าพ่อนักวาดการ์ตูนสุดพิสดารแนวกุโระมังงะ และ ‘Joan Cornella’ นักวาดภาพประกอบที่ถ่ายทอดเรื่องราวสุดยียวน ไอดอลทั้งสามจึงเป็นส่วนประกอบสร้างหลักๆ ที่ทำให้บรรยากาศงานศิลปะของนนท์เป็นสไตล์ทะลวงไส้แตก เลือดสาด พิลึกพิสดาร และกวนโอ๊ย ผสมรวมอยู่ในผลงานภาพวาดที่นำเสนอออกมาในงานธีสิสครั้งนี้
ด้วยตัวงานซึ่งเห็นเป็นภาพความเกี่ยวโยงกับเรื่องของความตาย ศพ เลือด ความรุนแรง และเซ็กซ์ ยิ่งผู้ผลิตผลงานคือนักศึกษาในรั้วมหา’ลัยด้วยแล้ว งานธีสิสชิ้นนี้ของนนท์ก็เกือบถูกปัดตกจากคณะอาจารย์ผู้รับเรื่อง
นับว่ายังดีที่อาจารย์คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ชื่นชอบดื่มด่ำรสชาติเบียร์ได้ตกปากรับคำเป็นที่ปรึกษา ทำให้งานชิ้นนี้ของนนท์ดำเนินการต่อไปได้ เราจึงได้เห็นโปรดักต์แบรนด์เบียร์ที่มีโทนสีสันจัดจ้าน สนุกสนาน และแปลกประหลาด เป็นลวดลายกวนๆ ปรากฏให้เห็น ทั้งคาแรกเตอร์สัตว์ประหลาด ตำรวจผู้ก่ออาชญากรรม ปนเปด้วยเรื่องศาสนาเงินตรา รวมถึงกระเจี๊ยวที่เห็นแล้วไม่ได้เสียวซ่านอะไรไปมากกว่าความตลก แฝงสัญลักษณ์ไว้ให้ชวนคิดขณะลิ้มรสชาติของเบียร์ในกระป๋อง
“ความรุนแรงแบบที่ใช้กำลังทำร้ายคนอื่น ผมแอนตี้มาก แต่งานที่ผมสร้างมันไม่ได้ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน ผมไม่ได้เอาปากกาไปจิ้มหัวใคร ก็แค่วาดรูป ไม่ได้ไปวาดดูหมิ่นใครด้วย คาแรกเตอร์ก็คิดสร้างมาด้วยตัวเอง เคารพความคิดเห็นคนอื่นไม่ได้ไปพาดพิงใคร
“ที่ทำไปก็มีคนด่าเยอะ เคยลงงานไปใน Facebook สิบรูปก็โดนรีพอร์ตไปแล้วห้ารูป เพราะว่าเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรง เซ็กซ์ อบายมุข ผมก็เข้าใจได้เพราะว่าไม่ได้มีคนมาชอบงานของเราทุกคน บางคนอาจไม่ชอบเห็นกระจู๋ ไม่ชอบเห็นคนตาย ทำมาแล้วโดนด่าก็ไม่เป็นไร ผมแค่กลัวว่าจะไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำด้วยความสุข
“อยากให้งานของผมเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น เหมือนเวลาที่ได้เห็นงานศิลปินที่ชอบ
“ตอนที่แสดงงานธีสิสจะมีโพสต์อิตให้เขียนความรู้สึกต่างๆ ให้คนทำงาน มีคนหนึ่งเขียนว่า ‘งานพี่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูมากเลย’ คือมันอาจไม่ได้สร้างประโยชน์ในวงกว้างขนาดนั้น แต่สิ่งนี้อาจจะช่วยปลุกไฟให้พวกเขามีแรงไปทำหน้าที่ของเขาได้อย่างเต็มที่”
PERMADEATH BREWING
ธีสิสของนนท์คือการสร้างแบรนดิ้ง ทำทุกอย่างเพื่อมาประกอบเป็นแบรนด์แบรนด์นี้ เขาทำโปรดักต์ที่เกี่ยวข้อง เช่น แพ็กเกจจิ้งสำหรับใส่กระป๋อง ทำขวดและกระป๋องใส่เบียร์ ทำวิดีโอโปรโมตสนุกๆ ที่เล่าเรื่องความรักระหว่างคนกับเบียร์ มีเว็บเพจสำหรับการประชาสัมพันธ์ มีไอจีไว้คอยอัปเดตผลิตภัณฑ์ สร้างรูปภาพโปสเตอร์ เลือกสีที่ใช้ ออกแบบฉลากเบียร์ ทำนามบัตรขนาดเอสี่ที่สร้างความประทับใจให้ผู้รับตั้งแต่แรกเจอ ทำการ์ดสะสม ตัวหิ้วกระป๋อง มีสติกเกอร์เซตที่สุ่มแจกไปกับเบียร์แต่ละตัว ทำที่รองแก้ว ทำกล่องใส่บรรจุภัณฑ์ที่ข้างในมี Vomit Bag ถุงอ้วกพกพาที่สามารถดึงจากกล่องออกมาแล้วอ้วกได้เลย มีสูตรเบียร์แจกฟรีที่คิดค้นให้ใช้ได้จริงสำหรับผู้สนใจการต้มเบียร์ และมีซีดีที่บรรจุเพลงประกอบไปกับการจิบเบียร์แต่ละตัว เป็นแนว Noise Ambient
“ผมเชื่อว่าอาหารดีๆ เครื่องดื่มดีๆ คู่ควรกับเพลงดีๆ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินระหว่างการดื่มด่ำรสชาติ”
PERMADEATH แบ่งเป็นซีรีส์เบียร์ 4 ตัว ที่ต่างสไตล์ ต่างรสสัมผัส ไล่ระดับเป็นอ่อน กลาง เข้ม และเพี้ยน มีรายนามดังต่อไปนี้
ซีรีส์แรกรสชาติเบาๆ ชื่อว่า ‘Holiday’ เน้นจิบชิลๆ ในวันพักผ่อน ตามมาด้วยซีรีส์ที่สอง ‘Death by’ เกี่ยวกับความตาย รสชาติกลางๆ กินง่าย แต่มีกลิ่นฮอปส์หอมๆ ลั่นจนหัวระเบิดเหมือนโดนยิง Headshot ตัวที่สามคือซีรีส์ชื่อ ‘Boss Fight’ เป็นเบียร์แอลกอฮอล์สูงที่สุด กินยากเสมือนได้สู้กับตัวบอส อีกตัวสุดท้ายคือ ‘Off Flavor Series’ มีลักษณะเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในเบียร์ ไม่เน้นกินอร่อย ตั้งใจทำให้บูด มีไว้กินเพื่อศึกษาว่ารสชาติของเบียร์ที่เสียจากการผลิตนั้นเป็นเช่นใด
อย่างที่บอกว่านอกเหนือจากเป็นงานธีสิสสำหรับจบการศึกษาแล้ว นนท์ยังตั้งใจเปิดร้านเบียร์เป็นของตัวเอง เขาเริ่มเรียนรู้การต้มเบียร์กับสำนัก ‘Bangkaew Brewing’ เดินทางไปพบปะรุ่นพี่ในวงการเพื่อรับฟังคำแนะนำ รวมถึงศึกษาค้นคว้าเองผ่านข้อมูลไร้พรมแดนในโลกยุคปัจจุบัน จากการลงแรงฝึกต้มเบียร์มาได้ร่วมปีก็ทำให้หนึ่งในซีรีส์เบียร์ของเขาอย่าง ‘Dead By HAZE SHOT HAZY IPA 6.3%’ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวที ‘B.A.D Beer Contest’ มาเป็นของขวัญต้อนรับสู่สังเวียนวงการนักต้มเบียร์
“ผมส่งงานประกวดเพื่อเช็กเรตติง อยากรู้ว่างานมีข้อบกพร่องหรือมีข้อดียังไงบ้าง เพื่อจะได้มีแรงกระตุ้นสิ่งที่อยากทำต่อไป พอได้รางวัลมามันเติมเต็มหัวใจให้อยากทำต่อไป เห็น พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าผ่านขั้นแรกไปแล้ว อาจต้องสู้กันต่อ แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ในอนาคต ถ้า พ.ร.บ.นี้ผ่าน ก็ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องกลัวตำรวจมารวบ ทำธุรกิจผลิตเบียร์ได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนเป็นสิบๆ ล้าน
“ปัญหาคราฟต์เบียร์ก็คงเป็นเรื่องราคา ผมรู้สึกว่าการกินเบียร์ถ้าคุ้มกับราคาที่จ่ายก็โอเค เป็นเรื่องทางความรู้สึก ตอนนี้คิดว่าไม่แพง มันสมเหตุสมผลกับเรื่องฝีมือคนทำ เรื่องวัตถุดิบ เป็นของนำเข้าด้วย ขนส่งเครื่องบินมาก็เข้าใจได้ เพราะวัตถุดิบมันแพง กว่าจะทำ กว่าจะคิดสูตร กว่าจะออกแบบฉลากมาได้ ทุกอย่างมีต้นทุน นำเข้ามาแพง คนซื้อก็จ่ายแพงไปอีก จะหาตังค์มากินก็ยาก กินแต่ละทีต้องวางแผนให้ดี
“ถ้าราคาจะลดลงได้ ก็คงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ. สุราก้าวหน้านี่แหละ แค่มันถูกกฎหมายก็น่าจะทำให้เรื่องภาษีลดลง สามารถนำวัตถุดิบในไทยมาทำได้ ตอนนี้เริ่มมีคนทดลองใช้ข้าวไทย ใช้ผลไม้ไทยมาทำ ก็น่าจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนได้
“ผมจะต้องศึกษาเรื่องการตลาด เรื่องการทำแบรนด์ให้มากขึ้น หางานทำ เก็บเงิน ตอนนี้กำลังจะไปเรียนโทต่อที่ลาดกระบัง อยากวาดรูปไปให้สุด ให้เก่งๆ แล้วมาดีไซน์สิ่งที่อยากทำ ผมรู้สึกว่าฝีมือยังไม่ถึง อยากไปขัดเกลาก่อนจะเปิดร้าน ชาร์จพลังให้ตัวเองเก่งที่สุดแล้วไปปล่อยตูมตอนเปิดร้าน ผมอยากให้ความชอบวาดรูปกับการต้มเบียร์เป็นอาชีพหลักทั้งคู่ ไม่มีแนวคิดอาชีพหลัก อาชีพรอง ชีวิตนี้เลือกมาแล้วว่าจะเอาแค่สองอย่างนี้ คิดว่าจะบริหารให้มันควบคู่ไปด้วยกันให้ได้”
งานธีสิสแบรนด์ PERMADEATH ของนนท์คือความสร้างสรรค์ในฐานะของนักศึกษาวิชาศิลปะที่ทำงานเพื่อตอบสนองเรื่องจิตวิญญาณ และวางแผนต่อยอดไอเดียเป็นธุรกิจเพื่อให้เกิดเป็นอาชีพที่อยากทำและได้เงินมาใช้ชีวิต น่าติดตามต่อว่าหลังจากสภาฯ รับร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าในขั้นแรกแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป
เพราะการจะเป็นผู้ผลิตเบียร์ในประเทศนี้มีคุณสมบัติที่เกินความเป็นจริงไปมาก จะลงทุนทำธุรกิจต้มเบียร์ต้องลงทุนกันเป็นสิบล้าน ทั้งยังต้องผลิตให้ได้ตามเกณฑ์ที่หนึ่งแสนลิตรต่อปี ผู้ค้ารายย่อยที่สร้างความอร่อยแต่ต้นทุนน้อยย่อมไม่มีโอกาสได้แจ้งเกิด อีกทั้งความสนุกสนานของงานออกแบบลวดลายบนขวด บนกระป๋องก็ถูกปิดกั้น ฯลฯ
ยังคงมีกฎหมายมาตรา 32 ที่ห้ามโปรโมตสินค้าของตัวเอง รวมถึงเกษตรกรไทยผู้มีผลผลิตมากมายที่ควรนำมาสร้างรสชาติใหม่ๆ ให้กับเครื่องดื่มต้องปล่อยวัตถุดิบเหล่านั้นหล่นร่วงตายคาต้น กี่ปีมาแล้วที่ราคาไม่เคยขึ้น
วงการคราฟต์เบียร์ในไทยมีผู้เล่นที่กำลังสร้างสรรค์ผลผลิตน่าสนใจอยู่มากมาย แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่คือการผูกขาด ที่ทำให้ความสุนทรีย์จากการดื่มด่ำรสชาติเครื่องดื่มสากลในประเทศไทยนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่เจ้า มีตัวเลือกไม่กี่ทาง
หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ฝันของการมีแบรนด์และร้านเบียร์ของเด็กจบใหม่วัย 22 ปี อาจเป็นได้แค่งานธีสิสของนิสิตคนหนึ่งที่มีไว้เพียงแค่สำหรับสำเร็จการศึกษา
Natchanon Riabroy (Non)
Visual Communication Design, Silpakorn University
IG : non_asfuck
FB : @NONCATPERSON
Email : [email protected]