‘พระพยอม’ กับบทบาทของวัดในวันที่ไวรัสระบาด - Urban Creature

ในวันที่ทุกคนได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่ารวมถึงศาสนสถานของศาสนาพุทธอย่าง ‘วัด’ ก็ไม่ต่างกัน ดังนั้นเราจึงต่อสายโทรศัพท์หา ‘พระพยอม กัลยาโณ’ ท่านเจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ว่าตอนนี้วัดได้รับผลกระทบอะไรบ้าง มีมาตรการป้องกันอย่างไร ไปจนถึงบทบาทของวัดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นที่พึ่งแก่คนตกทุกข์ได้ยากว่าในวันที่ไวรัสระบาดมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

เราต่างทราบว่า ‘พระพยอม’ ท่านเป็นพระราชาคณะ นักเทศน์ และนักสังคมสงเคราะห์ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถืออย่างมาก เพราะนอกจากท่านจะทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ท่านยังจัดตั้ง ‘มูลนิธิสวนแก้ว’ องค์กรสาธารณประโยชน์ที่สนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้กระทำความดีและส่งเสริมให้คนดีมีสัมมาชีพด้วย 

| มาตรการต้านโควิด-19

พระพยอมเล่าให้ฟังว่า วัดสวนแก้วได้รับผลกระทบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่ตัวท่านบวชมาในรอบ 50 ปี คนหายไปเกือบหมด กิจนิมนต์ก็ไม่เหลือแม้แต่งานเดียว รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้ กิจการของทางวัดที่เป็นสถานที่จ้างงานคนยากไร้ก็ต้องปิดตัวลงชั่วคราวด้วยเช่นกัน แต่ในส่วนการออกบิณฑบาตยังพอมีบ้าง

ในส่วนมาตรการต้านโควิดของวัดสวนแก้วก็มีจุดคัดกรองเฝ้าระวังโควิด-19 มีการติดตั้งตู้ฆ่าเชื้อและตรวจอุณหภูมิร่างกายของทุกคนที่เข้ามาในวัด เป็นการสร้างความเชื่อมั่น สิ่งไหนที่วัดทำได้ก็ทำ ทำตามกฎระเบียบต่างๆ ที่ภาครัฐสั่งออกมาไม่ฝ่าฝืน

| ศาสนสถานของผู้ยากไร้

อย่างที่เรารู้ดีว่า พระพยอมท่านจัดตั้งมูลนิธิสวนแก้วขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผ่านกิจกรรมของมูลนิธิสวนแก้วทั้ง 18 โครงการ เช่น โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้ หรือห้างขายสินค้ามือสอง ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเเม้เเต่คอมพิวเตอร์ มาไว้ให้ประชาชนเข้ามาเลือกจับจ่ายในราคาไม่แพง และเมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 คนงานไม่สามารถทำงานที่ซูเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้ ท่านก็โยกย้ายคนงานทั้งเก่าใหม่หลายร้อยคน ให้มาทำงานในสวนผลไม้แทน

“ตอนนี้มีพืชผลทางการเกษตรบนเนื้อที่กว่า 30,000 ไร่ จากโครงการซื้อที่ดินให้คนจนทั่วประเทศของวัดสวนแก้ว ออกดอกออกผลเป็นจำนวนมาก ทั้งมะม่วง ทุเรียน เงาะ ส้มโอ กล้วย หน่อไม้ และอีกมากมาย นอกจากเรานำมาแจกจ่ายให้ญาติโยมแล้ว ทางวัดก็มีเปิดขายทางออนไลน์เพิ่มด้วย”

พระพยอมเล่าว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสทำให้กระทบหน้าที่การงานของหลายๆ คน ทุกวันนี้มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือจากวัดเป็นจำนวนมาก เข้ามาวันละ 5 – 10 คน ส่วนใหญ่เป็นมัคคุเทศก์หรือไกด์มากที่สุด เพราะภาคการท่องเที่ยวช่วงนี้ไม่ค่อยดี ทางวัดก็จ้างงานวันละ 200 – 300 บาท ให้มาเก็บผลไม้ ปลูกต้นไม้ ทำปุ๋ยในแต่ละวัน

| บทบาทของวัดที่มากกว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

นอกจากศาสนกิจ เช่น การทำวัตร สวดมนต์ และการเผยแผ่ศาสนาแล้ว สมเด็จพระสังฆราชท่านก็ขอความร่วมมือว่าถ้าวัดไหนมีกำลังและความพร้อม สามารถจัดตั้งโรงทาน ช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาด สามารถทำได้ก็ทำ

แต่วัดสวนแก้วจะมุ่งเน้นไปที่ ‘ศาสนาสงเคราะห์’ สงเคราะห์คนยากคนจน คนเดือดร้อนให้มีที่กินที่อยู่ ช่วยให้คนมีงานทำมีรายได้มั่นคงถาวร ไม่ใช่ให้อย่างเดียว แต่เขาต้องรู้จักทำประโยชน์คืนด้วย

“เดิมเรามีกองทุนแยกไว้สำหรับจ่ายเป็นค่าจ้างให้เด็กนักเรียนที่มาทำงานช่วงปิดเทอม เป็นจำนวนเงิน 4 ล้านบาท แต่เนื่องจากปีนี้มีเด็กมาไม่มาก อาตมาจึงดึงเงินกองนี้มาสงเคราะห์จ้างคนตกงานให้เขามีรายได้แทน”

| ฝากไว้ให้คิด

“ทุกคนอย่าได้หวาดหวั่นขวัญเสียจนเกินไป แล้วอยู่บ้านก็อย่ากินๆ นอนๆ ออกกำลังกายหรือหากิจกรรมภายในบ้านทำบ้าง ต่อจากนี้ก็อยากให้เตรียมตัวเตรียมใจรับรู้ความเป็นจริงว่าโลกเรามันมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนคนเราไม่ค่อยได้คิด เพราะอยู่กันสุขสบายก็เลยหลงลืมกันไป แต่พอมีการเจ็บไข้มาตักเตือนให้เราฉลาด ว่ามันเกิดขึ้นทีไรนอกจากพลัดพรากคนที่เรารักไป มันยังสร้างความยากจน ในอนาคตไวรัสอาจหายแต่โรคที่ตามมาคือ ‘โรคทรัพย์จาง’ ก็ใช้ชีวิตระวัง รู้จักประหยัดอดออมบ้าง…เจริญพร” พระพยอม กัลยาโณ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.