ทำไมชาวนาจนลง ทั้งที่คนไทยกินข้าวทุกวัน - Urban Creature

เคยสงสัยไหมว่า เมื่อข้าวคืออาหารหลักของคนไทย แต่ทำไมพี่น้องชาวนาจนลงทุกวัน ? จากคำถามที่คล้ายว่าจะมีคำตอบ เรื่อยไปถึงการรวมตัวของพี่น้องชาวไร่ชาวนา #ม็อบเกษตรกร ที่จัดขึ้นทุกเดือนเพื่อยื่นข้อเสนอต่างๆ ให้ทางภาครัฐ มาจนถึงวันที่ชาวนาบางกลุ่มเรียนรู้ที่จะเป็นพ่อค้าเอง ชวนต่อสายโทรศัพท์เพื่อฟังเสียงชาวนากับ E-Rice Thai Farmers กลุ่มชาวนาจากภาคอีสานที่รวมตัวกันขายข้าวเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้ชาวนาไทยไม่ถูกเอาเปรียบ

E-Rice Thai Farmers เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 จากความคิดของชนินทร์ คล้ายคลึง และ ทีมงานหนุ่มนาข้าว ที่ตอนนี้มีเครือข่ายเป็นชาวนาในจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และกาฬสินธุ์ พวกเขาไม่ใช่องค์กร หรือหน่วยงานรัฐ แต่พวกเขาคือ ‘ลูกหลานชาวนา’ ผู้เคยทำงานในเมืองใหญ่ แต่เพราะเห็นปัญหาบนผืนนาที่เป็นดั่งสายเลือดหล่อเลี้ยงครอบครัว จึงตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดเพื่อปกป้องรวงข้าวจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ

“พวกเราคือลูกหลานชาวนาที่ทำงานประจำในกรุงเทพฯ แล้วจะคอยส่งเงินไปให้พ่อแม่ตายายได้ทำนา แต่ละปีผมจะหมดเงินไปกับตรงนี้เยอะมาก แต่ผลที่ได้มากลับไม่คุ้ม อย่างปีหนึ่งส่งกลับ 40,000-50,000 บาท เพื่อเป็นค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธ์ุ ค่ารถไถ ค่าคนเกี่ยวข้าว แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วเอาข้าวไปขาย กลับขายได้แค่ 20,000 บาท/ปี มันไม่คุ้มกัน เลยเกิดความสงสัยว่าต้นเหตุนั้นมาจากอะไร จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แล้วกลับมาทำนาที่บ้านร้อยเอ็ดในปี 54” หนึ่งในทีมงาน E-Rice Thai Farmers เล่าให้เล่าฟังด้วยน้ำเสียงจริงจัง

เขาเล่าต่อว่า เมื่อได้กลับมาทำนา ปลูกข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ ที่เป็นเกรดข้าวส่งออกจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อออกขาย หลักราคารับซื้อที่หน้าร้านติดไว้ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งคิดไว้ว่าเกรดของข้าวทุ่งกุลาร้องไห้จำนวน 2-3 ตันต้องขายได้เงิน 30,000-40,000 บาทซึ่งได้ทุนคืนแน่นอน แต่พอนำไปขายแล้วรับซื้อจริงๆ กลับตกลงมาอยู่ที่ 8 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น 

“ผมรู้สึกว่าเขากำลังหลอกชาวนา เลยถามไปว่าเป็นเพราะอะไร คำตอบที่ได้กลับมาคือ มันมีขั้นตอนการตรวจสอบ”

“การหักค่าความชื้นต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าชาวนาไม่มีความรู้เรื่องนี้ แต่เมื่อถามหาวิธีการ ขอดูผล หรือค่าการวัด เจ้าหน้าที่ตรวจข้าวก็ไม่ยอมให้ดู สุดท้ายเถียงกันไปมาต่อคิวยาว เขาเลยบอกว่า ให้ได้เต็มที่ 8.50 บาท ถ้าคุณเอาก็ขนไปให้พนักงานตักลง แต่ถ้าไม่เอาก็เอารถออกมันเกะกะ พอพูดแบบนี้ผมเลยไม่ขาย ขนข้าว 3 ตันกลับนา เอาไปสีที่โรงสีประจำหมู่บ้าน แบ่งไว้กินบ้าง แล้วประกาศขายข้าวเองผ่านเฟสบุ๊ก 

เมื่อได้ลูกค้ามา ก็แจ้งเขาว่าไม่มีการเก็บมัดจำ ไม่คิดค่าขนส่ง ผมจะใส่รถกระบะตัวเองแล้วขับส่งตามจังหวัดต่างๆ ก็วิ่งรถตระเวนขายใช้เวลาอยู่ 7 วัน ข้าว 1 ตันถึงจะหมด แต่มันก็มาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น” 

นี่คือจุดหักเหครั้งใหญ่ที่ทำให้ E-Rice Thai Farmers มุ่งมั่นดำเนินการกันอย่างเป็นระบบ เข้มแข็ง และจริงจัง เพื่อประคับประคองพี่น้องชาวนาให้ไม่ถูกเอาเปรียบ ด้วยการให้ความรู้ จัดทำระบบแจกจ่าย จัดทำการเปิดพรีออเดอร์ข้าวจากลูกค้าให้กับชาวนาในกลุ่ม เพื่อรับประกันว่าราคาข้าวที่ตั้งไว้จะไม่ถูดกดให้ต่ำลง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีฯ ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด เข้ามาให้ความรู้ด้านการเพิ่มศักยภาพในการทำนา และการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต

#ม็อบเกษตรกร คือการเคลื่อนไหวเพื่อยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดกับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งทางกลุ่ม E-Rice Thai Farmers ก็เล็งเห็นปัญหาเช่นกัน และมองว่าภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวนาไทยนั้นมีดังต่อไปนี้

1.ปัญหาหนี้สินนายทุน
2.ปัญหาของโรงสี กลไกลการนำข้าวไปขายที่โรงสี ซึ่ง E-Rice Thai Farmers เชื่อว่าเป็นกลไกลที่เอื้อให้นายทุนมากกว่าเกษตรกร
3.ปัญหาระดับประเทศที่กลไกลรัฐเอื้อประโยชน์ให้นายทุนใหญ่ ถึงขนาดที่กลุ่มนายทุนบางกลุ่มมีคนเข้าไปนั่งในรัฐสภา หรือเข้าไปช่วยออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องได้ ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักประเทศที่เจริญแล้ว นี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะกลายเป็นการผูกขาดทางการค้า

“มี ส.ส.ท่านหนึ่งพูดในสภาว่า การแก้ปัญหาชองชาวนาในกระดุมเม็ดแรกคือเรื่องที่ดินทำกิน แต่สำหรับพวกเราชาวนาคิดว่า กระดุมเม็ดแรกของพวกเรา คือการแก้กฎหมายที่ออกมาแล้วไม่สอดคล้องกับการทำงานของเกษตรกร ดังนั้นโครงสร้างใหญ่ที่เราอยากฝากไว้คือ เรื่องการออกกฎหมาย มันคือโครงสร้างระดับชาติ บางครั้งพวกเรามองว่า เราเลือก ส.ส.คนหนึ่งเข้าไปสภา เพื่อหวังให้เขาเป็นตัวแทนพวกเราชาวนา แต่มันก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่น การตั้งคณะทำงานหลังรัฐประหาร หรือการเลือก สว. เขากลับมีบทบาทในการออกกฎหมายด้วย”

สำหรับกระดุมเม็ดที่สอง เม็ดที่สาม เขามองว่าคือปัญหารองลงมาจากนั้น อย่างเรื่องโครงสร้างหนี้ ราคาข้าว หรือดอกเบี้ยต่างๆ เพราะหากกฎหมายออกมาแล้วมีความยุติธรรมต่อเกษตรกร ต่อให้เป็นหนี้ เกษตรกรทุกคนก็จะสามารถใช้หนี้ได้ 

“มีคำกล่าวที่เราจะได้ยินกับบ่อยๆ ว่า ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็จะออกอย่างเอื้อต่อชนชั้นนั้น เพราะฉะนั้นหากนายทุนเข้าไปในสภา เขาก็สามารถออกกฎหมายเอื้อพวกเขาได้ และมันมีโอกาสน้อยมากที่เราชาวนา หรือตัวแทนของพวกเราจะมีสิทธิ์มีเสียงอย่างเต็มที่”

ภาพที่ได้เห็นผ่านสื่อถึงวิถีชีวิตชาวนาหลายครั้ง คือภาพแห่งความสุขที่เต็มไปด้วยความยั่งยืน แต่ในความเป็นจริง กลุ่ม E-Rice Thai Farmers ชาวนาผู้เห็นปัญหาอย่างลึกซึ้งบอกกับเราว่า ความสุขของชาวนาที่หลายคนเห็นตามสื่อต่างๆ คือแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิต

“ผมขอยกตัวอย่าง ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง บนยอดเขา 20% ที่อยู่พ้นน้ำแข็งที่ละลาย มันคือภาพจำของความสุข ความยั่งยืน สมถะ เรียบง่าย นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของชีวิตชาวนาที่คนมองเห็น มันคือ propaganda ที่ถูกทำให้เชื่อว่ามีอยู่จริง 

“แต่อีก 80% ที่เหลือคือความจริง นั่นคือชาวนายังต้องกินต้องใช้ ส่งลูกเรียน จ่ายค่าเทอม ส่งค่างวดรถ บางคนต้องทำงานเสริม ทุกคนยังต้องใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งมันทำให้เห็นชัดเจนเลยว่า ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งที่มีแต่ความสุข มันคือความจริงที่ไม่ได้สุข ไม่ได้สบายอย่างที่ใครเขาพูดกัน” 

ก่อนวางสาย เราถามเขาถึงภาพชาวนาที่อยากเห็นในวันข้างหน้า ทีม E-Rice Thai Farmers หัวเราะเล็กน้อยก่อนตอบกลับมาว่า “ถ้าตอบแบบหล่อๆ คงอยากเห็นชาวนากินดี อยู่ดี” หากแต่ในความจริง บึ้งลึกของจิตใจ เขากลับอยากเห็นภาพการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งของพี่น้องชาวนา เพื่อช่วยกันสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ และระบบทุนนิยมที่เข้ามาแทรกแซงชีวิต อย่างการรวมตัวกันเพื่อพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง เพื่อไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือนายทุน เพื่อให้ชาวนาได้รับค่าข้าวที่ลงทุน ลงแรง และลงใจปลูกอย่างที่ควรจะเป็น

“ชาวนาอยากมีรายได้ มีเงินใช้ทุกวัน และไม่ถูกเอาเปรียบครับ ยังไม่ต้องไปถึงจุดของความยั่งยืนหรอก”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.