ถึงคุณที่กำลังเริ่มต้นอ่านบรรทัดแรก รบกวนยกมือขวาสัมผัสที่อกข้างซ้ายสักครู่ ก้อนเนื้อที่ใหญ่กว่ากำปั้นเล็กน้อยเป็นอย่างไรบ้าง มันกำลังบีบและคลายเพื่อบอกว่าคุณสุข เศร้า เหงา ทุกข์ หรือมันกำลังร้องบอกว่า ‘อยากปรึกษากับใครสักคน’
แต่เพราะการปรึกษาใจ หรือใช้คำศัพท์เชิงการแพทย์ว่า บำบัดจิต มีภาพจำในแง่ลบมากกว่าภาพบวก บ้างมองว่าเป็นบ้า บ้างด่วนสรุปไปแล้วว่าผิดปกติ ทว่าความจริงไม่ใช่อย่างนั้น และ โดม ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักจิตวิทยา ควบด้วยสถานะนักศึกษาปริญญาโทด้าน Art Psychotherapy ที่ Goldsmiths, University of London ประเทศอังกฤษ อยากทลายความคิดนี้ให้หมดสิ้นจากสังคม พร้อมพาเรื่องสุขภาพจิตมาใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของทุกคนด้วยการให้ความรู้ และคำปรึกษาออนไลน์ผ่านเพจ he, art, psychotherapy
ยามที่สังคมยังมีความคิดว่า การเข้ารับบำบัด = บ้า เรานัดสนทนากับโดมที่ H.O.N. House of Nowhere โฮมคาเฟ่ในซอยปรีดีพนมยงค์ที่มีแกลเลอรีด้านข้าง และจัดสตูดิโอถ่ายภาพไว้ด้านบน สิบเอ็ดนาฬิกาถึงเวลานัดหมาย เขามาถึงร้านพร้อมกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟ Dirty ก่อนเลื่อนเก้าอี้ฝั่งตรงข้าม แล้วหย่อนตัวนั่งอย่างสบายๆ
สองบทบาทใน He คนเดียว
สารภาพว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจอกัน และเชื่อว่าบางคนที่ได้เห็นภาพโดมก็คิดเช่นนั้น เพราะก่อนนี้เขาคือมือกลองมาดเซอร์ประจำ Summer Stop วงดนตรีป็อปจากค่าย Smallroom และขอสารภาพอีกว่านี่คือครั้งแรกที่ได้เจอเขาในฐานะ นักจิตวิทยา แต่สองบทบาทที่โดมเป็นต่างกันคนละขั้ว นักดนตรีเขาคว้ามาด้วยแพสชัน แต่หนทางแห่งจิตวิทยาโดมบอกว่า ได้มาเพราะความบังเอิญ
ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือจุดเปลี่ยนแห่งความบังเอิญ พ่อบอกโดมในวัยนั้นว่าลองมองหาอะไรที่แหวกจากกรอบดนตรีที่หลงใหลบ้าง เขาจึงคิดถึง Bodyslam วงร็อกขวัญใจว่าก็ไม่มีใครจบดนตรีโดยตรงสักคน แต่ก็ยังเป็นสุดยอดนักดนตรีระดับประเทศได้ การกรอก 4 อันดับสอบเข้ามหาวิทยาลัยจึงไล่ตั้งแต่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสองอันดับท้ายอย่าง คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย และสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เขาสอบติด ซึ่งโดมบอกพลางหัวเราะเสียงดังว่า “ตอนเลือกดูแค่ชื่อคณะเอง ไม่ได้ดูรายละเอียดวิชาเลย
“ตอนแรกคิดว่าจิตวิทยาเรียนเกี่ยวกับคน มีทฤษฎีให้อ่าน ทำความเข้าใจ คิดแค่นี้เลย (หัวเราะ) ซึ่งโชคดีมากที่พอได้เรียนแล้วชอบ เพราะปกติไม่ได้เป็นคนชอบการอ่าน ไม่อ่านหนังสือเลย แต่ผมอ่านหนังสือเรียนวิชาจิตวิทยาได้เรื่อยๆ ซึ่งตอนปีหนึ่งยังเป็นตัวพื้นฐานอยู่ พอตอนปีสองก็เริ่มรู้สึกชอบการให้คำปรึกษา หรือจิตบำบัด ก็เลยเจาะลึกด้วยการเลือกเรียนสายคลินิก ที่ได้เรียนจิตบำบัดด้วย”
โดมจิบน้ำหนึ่งอีกแล้วเล่าต่อว่า สาขาจิตวิทยาคลินิกที่เลือก คือการเรียนเกี่ยวกับคนที่ผิดปกติ ผู้ป่วย ไปจนถึงโรคต่างๆ ซึ่งต้องเรียนเกี่ยวกับการทำบำบัด การทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อประเมินและหาแนวทางการรักษา ซึ่งนักจิตวิทยาคลินิกใช้สองสิ่งนี้เป็นหลักในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยไม่ต้องพึ่งยา
ระหว่างคุยกันเราชำเลืองไปเห็นเปียโนหลังเก่าที่ตั้งอยู่ภายในคาเฟ่ จึงนึกถึง ดนตรีบำบัด อีกศาสตร์แห่งจิตวิทยาสำหรับรักษาใจคน เลยถามโดมออกไปว่าอยากพัฒนาสู่การเป็นนักดนตรีบำบัดบ้างหรือเปล่า
เขาตอบทันทีด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “เคย” ซึ่งสมัยเรียนปี 3 มีครูพิเศษมาสอนเรื่องดนตรีบำบัด เลยเข้าไปคุยเพื่อขอคำแนะนำการเรียนต่อด้านนี้เฉพาะที่ต่างประเทศ แต่เมื่อศึกษาก็ค้นพบข้อจำกัด เพราะการเรียนต่อด้านดนตรีบำบัดต้องเล่นดนตรีได้ในระดับสูง และมีความรู้ในทฤษฎีดนตรี
“การสมัครเรียนโทด้านดนตรีบำบัดต้องการสกิลสูงมาก ต้องร้อง เล่น อิมโพรไวซ์ ไปจนถึงไล่สเกลบางอย่างได้ ซึ่งวิธีการสอบส่วนใหญ่จะให้อัดคลิปเครื่องดนตรี เครื่องเมโลดี้พื้นฐาน และเครื่องคอร์ด ให้เป็นเพลงตามที่เขากำหนด ซึ่งผมตีกลอง จะให้ไปอิมโพรไวซ์ก็คงยาก แล้วถ้าจะไปฝึกกีตาร์หรือเปียโนเพิ่มให้ถึงขั้นนั้นมันน่าจะกินเวลาเยอะมาก และผมก็รู้สึกว่าผมชอบบำบัด แต่จะใช้วิธีไหนก็ได้ เลยมองหาทางเลือกอื่น
“ประกอบกับตอนนั้นทางภาควิชาเชิญวิทยากรพิเศษมานำเวิร์กช็อป มีทั้งการเคลื่อนไหวบำบัด ละครบำบัด และศิลปะบำบัด ซึ่งพอได้เจอผมรู้สึกว่าศิลปะมันน่าจะเวิร์ก เพราะมีความคุ้นเคย และเข้าถึงคนง่ายกว่าศาสตร์อื่นๆ เลยหันมาเรียนต่อด้านศิลปะบำบัด”
นักศึกษา ป.โท Art บำบัด
ชีวิตโดมเบนเข็มสู่ ศิลปะบำบัด ซึ่งหลักสูตรด้านนี้ยังไม่ค่อยมีในประเทศไทย เขาจึงตัดสินใจบินข้ามทวีปไปเรียนปริญญาโทสาขา Art Psychotherapy ที่ Goldsmiths, University of London ประเทศอังกฤษ
ก่อนลงลึกวิธีเรียนอะไร เขาเช็กความเข้าใจกับเราด้วยการอธิบายว่า ศิลปะบำบัด คือ Visual Art ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวาด เพนต์ คอลลาจ การจัดวาง การปั้น ไปจนถึงศาสตร์อื่นๆ ที่สามารถมองเห็นและโต้ตอบกับผู้บำบัดได้ โดยทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรศิลปะบำบัด จะมีโครงสร้างหลักสูตรใกล้เคียงกันด้วยการกำหนดจากส่วนกลาง
“วิธีการเรียนจะเป็นการเรียนทั้งกระบวนการ ซึ่งกระบวนการที่ว่าจะสะท้อนผ่านเครื่องมือไหนก็ได้ ซึ่งจะมีการจับกลุ่มทดลอง ควบคู่ไปกับชั่วโมงเลกเชอร์ครับ อย่างเปิดเทอมมาวันแรกผมได้ทำ Experiential Group อาจารย์นั่งเป็นทีมเหมือน Avengers (หัวเราะ) แล้วเขาก็แนะนำตัวกัน บอกว่าจะเรียนอะไรบ้าง แล้วก็ให้ผู้เรียนแนะนำตัวผ่านงานศิลปะ ให้เวลาแยกย้ายกันไปตามมุมส่วนตัว พอเสร็จปุ๊บก็เอาผลงานทุกคนมากองรวมตรงกลาง แล้วยืนล้อมเป็นวงกลม เพื่อดูงานไปเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ ถ้าใครอยากจะถามอะไร ชิ้นไหน ก็สามารถถามได้ แล้วก็ให้เจ้าของผลงานตอบ
“ตอนนั้นผมใช้สีน้ำเงินโทนพาสเทลวาดทะเลกับท้องฟ้า มันเป็นแลนด์สเคปที่แบ่งเป็นทะเลเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ท้องฟ้าสามสิบเปอร์เซ็นต์ ในแนวระนาบ ซึ่งที่ใช้สีพาสเทลเพราะรู้สึกว่ามันปลอดภัย และภาพทะเลกับท้องฟ้าก็ช่วยให้จิตใจผมสงบจากความตื่นเต้นในคลาสแรกได้ครับ”
การเรียนศิลปะบำบัดท้าทายโดมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ การบำบัดตัวเอง ที่เป็นข้อบังคับในหลักสูตร เพื่อเรียนรู้กระบวนการบำบัดในฐานะผู้ถูกบำบัด และเพื่อทำความรู้จักตัวเองว่ายังมีประเด็นอะไรบ้างที่ยังก้าวข้ามผ่านไม่ได้ เพราะการจะบำบัดใครสักคนต้องเข้าใจตัวเองให้ได้ก่อน
เราย้อนถามว่าตอนนั้นบำบัดตัวเองอย่างไร โดมเงียบไปสักครู่แล้วตอบกลับมาด้วยแววตาวูบไหวเล็กน้อย
“ผมมีเรื่องวัยเด็กเกี่ยวกับเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่เข้าใจว่ามันเป็นแบบนี้เพราะอะไร และยังส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้ ตอนบำบัดก็เริ่มจากมาพูดคุยกันเล็กน้อย สักพักเขาให้สร้างงานศิลปะ นักบำบัดบอกผมว่ารู้สึกยังไงก็ให้ทำออกมา ใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ที่อยู่ในห้องนั้น พอทำเสร็จก็มานั่งดูงานศิลปะแล้วก็คุยกัน
“ตอนนั้นผมวาดอะไรที่ค่อนข้าง Abstract ไม่เป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไหร่ ใช้สีน้ำ พวกสีแดง สีน้ำเงินขีดๆ ไปตามความรู้สึก สุดท้ายมันออกมาลักษณะคล้ายกับเป็นตาราง หรือลูกกรง”
นักศึกษาธิติภัทรใช้เวลาเรียนจนถึงขั้นตอนการฝึกงานเป็นนักศิลปะบำบัดกับ New Woodlands School โรงเรียนพิเศษซึ่งเน้นเรื่องการเข้าสังคม อารมณ์ และสภาวะจิตใจสำหรับเด็กอายุ 5 – 16 ปี ตอนนั้นเขาได้รับมอบหมายให้ดูแลเด็กประถมฯ ที่มีปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรมในห้องเรียน การเข้ากับเพื่อน ไปจนถึงการควบคุมตัวเอง
“ช่วงแรกที่เข้าไปเริ่มจากการสร้างสัมพันธภาพให้เด็กเชื่อใจเรา สร้างพื้นที่ สร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่าในพื้นที่นี้เขาสามารถทำอะไรก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ แต่ว่ามีข้อตกลงคือห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามทำร้ายคนอื่น ห้ามทำลายข้าวของ ถ้าอยู่ในสามเงื่อนไขนี้อยากทำอะไรก็ได้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า กับอุปกรณ์ที่ผมจะแจ้งให้โรงเรียนเตรียมไว้ให้ เช่น สีไม้ ปากกา ดินสอ สีอะคริลิก ลวด กระดาษ หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน แป้งปั้น กาว กลิตเตอร์ ให้มันหลากหลายที่สุดสำหรับเด็ก
“ซึ่งบางครั้งหากเด็กรู้สึกอยากหักสีก็จะพิจารณาว่าถ้าไม่ได้มากเกินไปก็อนุญาตให้ทำได้ เพื่อสะท้อนความรู้สึกในบึ้งลึกของใจ จากนั้นก็จะนำผลงานทั้งหมดมานั่งพูดคุยกัน”
สามเดือนผ่านไปสิ้นสุดการฝึกงาน โดมพักเรียนแล้วเดินทางจากลอนดอนกลับไทยเพราะมีปัญหาสุขภาพและการระบาดของโควิด-19 จึงสานต่ออีกความตั้งใจที่เกิดขึ้นขณะเรียนปริญญาโท
Psychotherapy บำบัดใจออนไลน์
เพจ he, art, psychotherapy คือความตั้งใจก้อนใหญ่ที่โดมหอบข้ามน้ำข้ามทะเลติดใจกลับมาด้วย เขาอยากเล่าเกี่ยวกับวิธีการเรียน การสร้างนักศิลปะบำบัดคนหนึ่งในแนวทางของประเทศอังกฤษ เพื่อให้คนทั่วไปรู้สึกเข้าถึง และมองว่าการบำบัดจิตเป็นเรื่องปกติที่ใครก็สามารถเข้ารับการบำบัดได้
เมื่อถามว่าทำไมตั้งชื่อนี้ โดมหัวเราะจนตาหยีก่อนตอบว่า He คือตัวตนเขา Art คือคำกลางๆ ที่เล่าถึงแนวทางบำบัด ไปจนถึงเรื่องไลฟ์สไตล์ส่วนอื่น และ Psychotherapy หมายถึงบำบัด ซึ่งเขาเพิ่มสัญลักษณ์ คอมม่าเข้าไปสำหรับใช้แยกคำเหล่านี้เพื่อไม่ให้เจาะจงว่าเป็นศิลปะบำบัดเสียทีเดียว
ช่วงแรกเขาเขียนคอนเทนต์ให้ความรู้ หรือเล่าเรื่องการบำบัดจิตใจ แต่พอกลับมาถึงแล้วเจอช่วงล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 ที่ทำให้คนมีปัญหาทางอารมณ์ และเจอภาวะเครียด จึงเปิดบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ผ่านวิดีโอคอลทาง LINE, SKYPE และ TEAMS
ซึ่งโดมยึด 3 แนวทางสำหรับบำบัด หนึ่งคือ Person Center ที่นักบำบัดต้องไม่มองผู้เข้ารับบำบัดเป็นผู้ป่วย แต่ให้มองเป็นคนคนหนึ่งที่มีปัญหาบางอย่างเท่านั้น สองคือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) การสำรวจความคิด พฤติกรรม และความรู้สึก เพื่อก้าวข้ามปัญหา และสาม Mindfulness คือการกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เพื่อให้ทุกข์กับอดีต และอนาคตน้อยลง
“เมื่อเริ่มบำบัด ผมจะฟังอย่างจริงจัง ฟังอย่างไม่ตัดสิน เปิดใจยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข และใช้ความเข้าใจ คือต้องพยายามเอาตัวผมไปยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขาให้ได้ ลองมองโลกในจุดเดียวกับเขา เพราะถ้ามองเรื่องของเขาโดยมุมมองตัวเอง ก็จะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เขาเผชิญได้ ซึ่งพอมีสามสิ่งนี้ คนที่มารับบริการก็จะเริ่มเปิด เขาจะรู้สึกว่า เขาไม่ตัดสินเรา เราเป็นอะไรก็ได้
“อย่างมีเคสหนึ่ง เขาฝันเรื่องเดิมซ้ำๆ เกือบทุกวัน แล้วมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในชีวิตช่วงนั้นพอดี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับความฝันเลย แต่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว แล้วเขาไม่ได้ตระหนักว่าความฝันกับปัญหานี้มันเชื่อมโยงกันยังไง พอมาปรึกษากับเรา ก็คุยไปเรื่อยๆ เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับความฝันเลย มันก็ค่อยๆ คลาย จนสุดท้ายเขาสามารถก้าวข้ามปัญหาที่นำมาปรึกษาได้ โดยที่ไม่ได้ไปแตะเรื่องความฝัน และเขาไม่ฝันแล้ว”
ไม่ฝันแล้ว หายแล้ว คือผลลัพธ์ที่โดมได้ฟังแล้วดีใจและยินดีร่วมไปกับผู้เข้ารับบำบัดอย่างใจจริง เพราะเคสทุกคนต้องอยู่กับปัญหาตลอด รวมถึงคนในครอบครัว และคนใกล้ชิดต้องพร้อมรองรับ ซึ่งเมื่อหายโดมมักจะชื่นชมผู้เข้ารับการรักษาและคนรอบข้างเสมอว่า “สุดยอดจริงๆ”
บำบัด ≠ บ้า
บำบัดจิตเท่ากับเป็นบ้า บำบัดจิตเท่ากับเป็นโรคจิต บำบัดจิตเท่ากับไปนอนให้คนสะกดจิต และอีกหลายมายาคติที่ตีกรอบความคิดคนไทย โดมบอกว่าสิ่งนี้คืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เขาเปิดเพจ he, art, psychotherapy และรับบำบัดออนไลน์ เพื่ออยากล้างระบบเชื่อนี้ให้ค่อยๆ จาง จนละลายหายไปจากสังคม และยกระดับสุขภาพจิตคนไทยให้ดีขึ้น
“รู้ไหมว่าบำบัด ไม่ได้แปลว่า บ้า แต่จริงๆ แล้ว บำบัด มันคือการทำให้ตัวเองมีความสุขมากกว่าเดิมต่างหาก ซึ่งผมอยากสื่อสารเมสเซจนี้ออกไป ผมคิดง่ายๆ ว่า ถ้าอยากให้คนเข้าใจ เราก็ต้องสร้างความเข้าใจ ให้ข้อมูลไปเรื่อยๆ พูดไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้วงกลมที่ชื่อว่า สุขภาพจิต เข้าไปทับซ้อนกับวงกลมที่ชื่อว่า ชีวิตประจำวัน ให้ได้มากที่สุด ให้มันเข้าถึงง่าย จับต้องง่าย อย่างการเอาเรื่องความเจ็บป่วย หรือวิธีการจัดการต่างๆ มานำเสนอลงเพจ เพื่อหวังว่าให้มันเป็นหนทางที่จะดึงวงกลมสองวงให้เข้าใกล้กันมากขึ้น จะได้ล้มล้างความเชื่อนี้ทิ้ง
“พอผมอยากขจัดทัศนคตินี้ มันเลยสืบเนื่องให้ผมอยากยกระดับสุขภาพจิตของคนไทยให้มีคุณภาพมากขึ้น เพราะเมื่อมีการตีตราว่าคนที่เข้าหาบริการสุขภาพจิตคือคนที่เป็นหนักแล้ว มันทำให้คนไม่กล้าเข้าหาตัวช่วยที่ดีที่สุดอย่างการมาหาจิตแพทย์ หรือการมารับบำบัดกับนักจิตบำบัด เพราะฉะนั้นเขาจะต้องทนทุกข์กับสภาวะที่เผชิญอยู่โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง มันก็ไม่น่าจะใช่สภาวะของสุขภาพจิตที่ดี”
เรานึกสงสัยว่าจิตบำบัดใกล้ตัวกว่าที่คิดที่โดมว่านั้นใกล้แค่ไหน เขายิ้มแล้วตอบกลับมาว่า ใกล้ถึงขนาดที่แค่เครียดจากการทำงาน เครียดจากเรื่องเล็กน้อยในชีวิต เลิกกับแฟนมาเมื่อวานแล้ววันรุ่งขึ้นอยากหาย ไปจนถึงรู้สึกว่าไม่อยากเครียดกับบางเรื่องแล้ว ก็มาพูดคุย มาปรึกษากับจิตแพทย์ได้เลย ไม่ต้องรอให้ป่วยหนัก
“ถ้าทุกคนมองว่าการบำบัดจิตใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้มองว่าเป็นคนบ้า เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และมันจะเป็นประโยชน์กับทุกคนมากๆ เลยครับ”
ตามคาดการณ์ กันยายนปีนี้โดมจะกลับไปเรียนต่อ เขาบอกกับเราอย่างมุ่งมั่นว่า หลังเรียนจบจะเปิดสตูดิโอศิลปะบำบัด โดยใช้ศิลปะเป็นตัวกลางในการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสุขภาพจิต สร้างพื้นที่เยียวยา และพักใจให้กับใครก็ตามที่เครียด เหนื่อย หรือท้อกับบางเรื่องจนรับไม่ไหว ซึ่งเขาตั้งใจไว้ว่าต้องทำให้ได้
ถ้าสมมติว่าการพูดคุยครั้งนี้คือชั่วโมงบำบัด เข็มนาฬิกาได้เดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย เลยอยากทิ้งท้ายกับโดมด้วยภาพศิลปะบำบัดที่สะท้อนถึงตัวเขาเองในช่วงนี้
เรายื่นกระดาษเปล่าและปากกาให้หนึ่งด้าม โดมจับปากกาแล้วนิ่งไปพักใหญ่ เขาเงียบจนเสียงเพลงในร้านดังฟังชัด ก่อนค่อยๆ ลากปลายปากกาไปมาตามความปรารถนาในหัวใจ
ผ่านไปราว 10 นาที เขาเงยหน้าขึ้น วางปากกาลง และวางหน้ากระดาษ ลายเส้นสี่เหลี่ยม ผสมเส้นโค้ง และมีเส้นขีดด้านในคล้าย Doodle ปรากฏให้เห็น เขาสบตาเรา แล้วเริ่มเล่าความรู้สึกเบื้องหลังที่ซ่อนลึก
“ผมว่าผมรู้สึก…ไม่มั่นใจ (หัวเราะ) เพราะว่าภาพลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจ ซึ่งผมวาดมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว มันเริ่มจากตอนประถมฯ ที่ชอบวาดเล่นกับเพื่อน สร้างแล้วก็ให้อีกคนหาทางออกให้ได้ มันเลยติด ซึ่งโตมาจนทุกวันนี้ ผมก็จะวาดทุกครั้งที่รู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน”
หลังสนทนาจบลง และแยกย้ายกับโดมเรียบร้อย เราปล่อยให้เรื่องทั้งหมดที่ได้คุยทำงานกับความรู้สึก แปลกแต่จริง เราเริ่มคิดถึงการเข้ารับบำบัดจิตใจเพียงเพราะตอนนี้รู้สึกเครียดกับเรื่องความสัมพันธ์ เราอยากแนะนำคนรอบตัวที่เหนื่อยกับบางเรื่องให้ลองโทรปรึกษา และเราอยากให้คุณที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ลองเปิดใจให้ การบำบัดจิต เพื่อช่วยกันส่งเสริมความคิดที่ว่า ‘บำบัดใจ = เพิ่มความสุข’
ขอบคุณสถานที่ H.O.N. House of Nowhere