นักออกแบบที่ใช้การพิมพ์โบราณแบบฉบับ ‘เปิ๊ดสะการ์ด’ - Urban Creature

เมื่อความหลงใหลนำพามาซึ่งการเดินทางของคุณนิรุติ กรุสวนสมบัติ
นักออกแบบและจัดพิมพ์ด้วยระบบเลตเตอร์เพรสส์ หนึ่งในระบบที่กำลังจะสูญหายไปจากประเทศไทย
โดยผสมผสานเข้ากับการออกแบบที่ทันสมัย เรียกว่าสุดแสนจะเปิ๊ดสะการ์ดเลยล่ะ


ความจริงระบบเลตเตอร์เพรสส์เป็นระบบที่อยู่กับเรามานานมากแล้ว โดยเป็นการพิมพ์พื้นนูนที่ใช้แม่พิมพ์ทำจากโลหะผสมหรือพอลิเมอร์อย่างหนา กัดผิวจนเหลือส่วนที่เป็นภาพนูนสำหรับรับหมึกพิมพ์ แล้วถ่ายทอดลงบนวัสดุที่ใช้พิมพ์โดยใช้วิธีกดทับจนเกิดเป็นงานพิมพ์ขึ้นมา

และรู้หรือไม่ เลตเตอร์เพรสส์เป็นระบบการพิมพ์ใช้เชิงธุรกิจระบบแรกของโลกที่นับว่าเก่าแก่ที่สุด ซึ่งใช้กันมานานกว่า 600 ปีแล้ว จากความคิดของ ‘โยฮัน กูเตนเบิร์ก’ บิดาแห่งการพิมพ์ โดยผลงานการพิมพ์ชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้เขาจนถึงปัจจุบันนี้คือหนังสือไบเบิลของกูเตนเบิร์กนั่นเอง มาร่วมเดินทางตามรอยกลิ่นหมึก สัมผัสถึงพื้นผิวของเนื้อกระดาษ และซึมซับเรื่องราวไปพร้อมๆ กัน

| ก้าวแรกของ Press a Card

มันเริ่มจากที่บ้านมีโรงพิมพ์เก่าของคุณป้าอยู่ อายุประมาณ 30 – 40 ปีได้ มันก็จะมีเครื่องพิมพ์พวกนี้อยู่เต็มไปหมด แล้วเผอิญเราก็เป็นนักออกแบบอยู่ด้วย ก็เลยมีความคิดว่ามันน่าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับการออกแบบได้นะ ซึ่งช่วงที่เริ่มทำจริงจังก็เมื่อสักประมาณ 10 กว่าปีก่อน ที่ลองเอาเทคนิคการพิมพ์แบบระบบเลตเตอร์เพรสส์มาผสมกับงานออกแบบเพื่อทำการ์ดแต่งงานของเราเอง แล้วตั้งแต่นั้นก็ทำมาเรื่อยๆ จนเพื่อนเห็น คนนี้ คนนั้นเห็น แล้วบอกต่อปากต่อปากไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น Press a Card ในปัจจุบันนี่แหละ


 เปิ๊ดสะการ์ด | First Class | Press a Card

จริงๆ ทั้ง 3 คำมันเกี่ยวข้องกันนะ ก็คือ Press a Card – เปิ๊ดสะการ์ด – First Class ซึ่งเป็น 3 คำที่เชื่อมโยงกันด้วยความหมาย อย่างคำว่า ‘เปิ๊ดสะการ์ด’ มันก็เป็นคำที่ใช้กันในสมัยก่อนที่คนไทยพูดไม่ค่อยชัด ความหมายก็เหมือนเวลาเราเจอคนแต่งตัวดีๆ เราก็จะแบบ โอ้โห ทำไมมันเปิ๊ดสะก๊าดจังเลย มันเปรี้ยว มันเท่จังอะไรแบบนี้

ซึ่งมันเพี้ยนมาจาก ‘First Class’ แล้วเราก็คิดว่าการ์ดของเราเป็นการ์ดที่ทำด้วยความตั้งใจแบบระดับ First Class นะ ซึ่งความหมายมันก็ใช่มากๆ แล้วในขณะเดียวกัน มันก็พ้องกับคำว่า ‘Press a Card’ ด้วย โดย Press มันก็คือการกด ซึ่งการกดมันก็คือระบบการพิมพ์ที่เราใช้เป็นหลักด้วย รวมๆ แล้วก็คือเลตเตอร์เพรสส์

| อะไรที่ทำให้ Press a Card ต่างจากที่อื่น

ที่ต่างจากที่อื่นคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของระบบการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสส์นะ คือในยุคปัจจุบัน ระบบนี้มันเป็นระบบที่กำลังจะหายไป ซึ่งตอนนี้มันใช้คำว่าค่อนข้างไม่ได้แล้ว เพราะว่าพอเวลาผ่านไปมันก็ยิ่งน้อยลงๆ เข้าไปทุกที และเราก็ข้ามจากความเป็นธุรกิจการพิมพ์เพียงอย่างเดียว แล้วนำเอางานศิลปะเข้ามาผสมผสานกลายเป็นงานอาร์ตด้วย

| เสน่ห์ของการพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสส์

เสน่ห์ของ Press a Card มันคือการจับต้อง ซึ่งงานพิมพ์ทุกอย่างมันให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป ทั้งจากความยุบ ความนูนของกระดาษ หรือในขั้นตอนของการผสมหมึกที่ต้องนั่งกวนหมึก ต้องนั่งไล่หมึก ถ้าหมึกไม่มีก็ต้องเอาแม่สีมาผสมๆ ทดลองจากสีเข้มไปยันสีอ่อน แม้กระทั่งการทำบล็อก ตั้งบล็อก ซึ่งทั้งหมดมันต้องใช้ความชำนาญ

คือคนก็ต้องเก่งด้วยไม่ใช่แค่เครื่อง เพราะเครื่องเองก็ทำอะไรได้ไม่มาก ต้องใช้ทั้งสมอง ความคิด สายตา หูก็ต้องฟังเครื่องว่า เอ๊ะ มันโอเคหรือผิดปกติอย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องของการออกแบบที่เข้ามาเพิ่มเสน่ห์ในงานด้วย ซึ่งมันไม่เหมือนระบบปัจจุบันแค่พิมพ์ กดแกร๊กๆ สั่งพรินต์มันก็ออกมาแล้ว

| มุมมองที่มีต่อวงการการ์ด

ถ้าจะพูดถึงวงการการ์ดในมุมของต่างประเทศมันก็ยังเหมือนเดิมนะ อย่างในอังกฤษ อเมริกา หรือสิงคโปร์ มันก็ยังมีพวกร้านกระดาษขายกันอย่างจริงจัง ร้านเล็กร้านน้อยเปิดกันเต็มไปหมด มีการทำการ์ด ทำสมุด แล้วก็ปั๊มชื่ออะไรพวกนี้ คือวัฒนธรรมการเขียนของเขายังมีอยู่ เขายังเขียนการ์ดส่งหากันอยู่ในชีวิตประจำวัน

แต่ของไทยเราอะไรมาใหม่ฉันก็ไปเอาของใหม่ แล้วก็คิดว่าคนทั้งโลกเขาไม่ใช้กันแล้ว พอไม่เอาก็ทิ้งเลย เหมือนระบบการพิมพ์ต่างๆ ก็ทิ้ง พวกตะกั่วก็เอาไปหลอมทุกอย่างมันก็จบ จริงๆ คิดว่ามันอยู่ที่วัฒนธรรมของเราที่มันต่างกันมากกว่า


| สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนชีวิต

ขอใช้คำว่าโรคจิตแล้วกัน คือมันเป็นความโรคจิตที่เรายุ่งวุ่นวาย สนุกสนาน กับการพิมพ์งาน หมกมุ่นอยู่กับตัวตะกั่วว่ามันทำยังไง เสิร์ชหาข้อมูลเว็บโน้นเว็บนี้ ดูฝรั่งว่าเขาทำอะไรกัน จริงๆ ในอนาคตเราอยากเห็นเรื่องของงานอนุรักษ์การทำงานเลตเตอร์เพรสในประเทศไทยมากขึ้นกว่านี้

เราอยากให้มันเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับงานพิมพ์ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ระบบการพิมพ์นะ ถ้าเรามองให้ลึกจริงๆ มันก็คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งเลย ทั้งประวัติศาสตร์ในเรื่องของการออกแบบ ประวัติศาสตร์ของไทโปกราฟีด้วย คือมันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งแล้วให้คนเดินมาดูอย่างเดียว มันควรจะมีการทำงานจริงๆ ให้เห็นอยู่ แล้วก็เปิดให้คนเข้ามาศึกษาแล้วได้ความรู้ออกไป มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นจิตอาสามานั่งกัน เหมือนแบบของฝรั่งเขามีพิพิธภัณฑ์กันแบบจริงจังเลย

“เลตเตอร์เพรสส์นี่แหละเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเรามาจนถึงทุกวันนี้”

| คนย่านบางกะปิ

โห ยากนะ บางกะปิเมื่อก่อนมันคือนอกเมืองเลย ชอบไปพวกตลาดบางกะปิ สวนสนุกแฮปปี้แลนด์ เดอะมอลล์บางกะปินี่เรียกได้ว่าบ้านหลังที่สอง ไม่มีอะไรทำก็ไป อีกที่หนึ่งก็ไอศกรีมศาลาโฟโมสต์ ซึ่งเมื่อก่อนโฟโมสต์เขาทำไอศกรีมมาก่อนนะ วัยรุ่นยุคก่อนนี่ต้องไปเลย

แต่สมัยนี้ความเจริญมันกระจายไปทั่วแล้ว จนตอนนี้มันมีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด กำลังจะมีรถไฟฟ้าตั้ง 3 – 4 สายอยู่ตรงนั้น ถ้าจะให้จำกัดความมันคือเมืองที่สองนะ ซึ่งในช่วงที่เราเกิดมามันคือย่านที่ไม่มีอะไรเลย เมื่อก่อนนี่ชิลมาก รถก็ยังไม่ติดขนาดนี้ แยกลำสาลีนี่เมื่อก่อนจากบ้านมาแค่ 5 นาทีเอง สมัยนี้ชั่วโมงหนึ่งยังไม่ถึงเลยทั้งที่บ้านห่างจากตรงนั้นไม่ถึง 3 กิโล คือจริงๆ มันก็แอบเป็นความเจริญที่น่ากลัวอยู่เหมือนกันนะ

| ความสัมพันธ์ที่มีกับกรุงเทพฯ

เราก็เกิดในกรุงเทพฯ นะ เกิดที่นี่ โตที่นี่ เราผ่านเราเห็นอะไรมาหมดนะ จากเมื่อก่อนมอง 2 ข้างทางเป็นทุ่งนา จนตอนนี้มีแต่ตึกเต็มไปหมด เมื่อก่อนมองไปบนถนนมีรถแค่ไม่กี่คัน นานๆ ทีจะผ่านมาด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้ไม่มีที่ให้รถไปอะไรแบบนี้ เออมันพูดยากนะ มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อนนิดหนึ่ง (หัวเราะ) คือมันก็เหมือนกับข้าวที่เราไม่ชอบอะ แต่เราต้องกินเพราะถ้าเราไม่กินก็ไม่มีอะไรให้กิน คล้ายกันแม้ว่าเราจะเกลียดกรุงเทพฯ แต่เราก็ขาดไม่ได้จริงมะ

| ถ้าเขียนบันทึกถึงตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเขียนว่าอะไร

10 ปีข้างเหรอ อืม ถ้ายังมีชีวิตอยู่นะ (หัวเราะ) ก็คงเป็นลุงแก่ๆ นั่งพิมพ์งานอยู่ ถ้าจะให้ดีหน่อยก็อยากเห็นโครงการพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งใจจะทำมันสำเร็จ มีเด็กๆ สนใจเยอะขึ้น คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น เกิดเป็นเวิร์กช็อป เกิดเป็นอะไรก็ตามที่มันพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

 “คือจริงๆ เรากำลังรอคอยทายาทอสูรที่โรคจิตเหมือนกันกับเรา
รักการพิมพ์เหมือนเรา มาต่อยอดงานพิมพ์เลตเตอร์เพรสส์ต่อไป
ซึ่งเราคิดว่างานพิมพ์แบบนี้มันเป็นงานที่จับต้องง่าย
และจับต้องได้มากกว่างานพิมพ์ที่มันไฮเทคโนโลยีขึ้น
ก็หวังว่าระบบการพิมพ์นี้มันยังอยู่นะ
ก็เลยอยากบันทึกเอาไว้เผื่อมันจะเกิดขึ้นจริงๆ”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.