กม. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เริ่มใช้ 1 มิ.ย. 65 - Urban Creature

30 พฤษภาคม 2565 รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กยืนยันว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) จะบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ. 2562) หรือ Personal Data Protection Act B.E. 2562 (PDPA) ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ หลังจากเลื่อนการประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี

กฎหมายฉบับนี้มีหลักสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ จะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิด โดยกำหนดให้ทุกองค์กรหรือบุคคลที่เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใดก็ตาม ต้องขอความยินยอมจากลูกค้าในการเข้าถึงและใช้ข้อมูล ต้องบอกวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลไปใช้ และใช้ข้อมูลให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุ

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังให้สิทธิแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สามารถขอเปลี่ยนแปลง แก้ไข ขอสำเนา และขอให้ลบข้อมูลดังกล่าวได้ หากไม่ขัดกับหลักกฎหมายใดๆ และองค์กรที่ได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาจะต้องมีมาตรการและมาตรฐานในการบริหารจัดการดูแลข้อมูลเหล่านี้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

ข้อมูลส่วนบุคคลที่กฎหมาย PDPA คุ้มครองคือข้อมูลใดก็ตามที่สามารถช่วยให้ระบุตัวตนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ชื่อ-สกุล, เลขประจำตัวประชาชน, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, ข้อมูลทางการเงิน, เชื้อชาติ, ศาสนาหรือปรัชญา, พฤติกรรมทางเพศ, ประวัติอาชญากรรม, ข้อมูลสุขภาพ, ประวัติการเข้าชมเว็บไซต์ (Cookie ID), IP Address, และสิ่งที่ระบุอัตลักษณ์ทางกายภาพ เป็นต้น

ดังนั้น บุคคล องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวเหล่านี้ต่อสาธารณะโดยไม่ได้รับความยินยอม จะถือว่าผิดกฎหมายทันที

ประชาชนส่วนมากแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ เพราะมันอาจกระทบการโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียของคนยุคปัจจุบัน โดยผู้ใช้งาน TikTok ชื่อว่า Lawriwa ได้สรุปข้อมูล 4 สิ่งที่ ‘ห้ามทำ’ และ ‘ผิดกฎหมาย’ หากมีการเริ่มบังคับกฎหมาย PDPA ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ให้เข้าใจง่ายๆ ได้แก่

1) ห้ามถ่ายรูปหรือวิดีโอที่ติดหน้าบุคคลอื่นในระดับที่ชัดพอที่จะระบุตัวตนของคนคนนั้น โดยไม่ได้รับการยินยอม

2) การโพสต์หรือการไลฟ์ที่ติดหน้าบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับการยินยอม

3) การติดกล้องวงจรปิดนอกบริเวณบ้าน โดยไม่มีการแจ้งเตือนว่าบริเวณนั้นๆ มีกล้องวงจรปิดติดอยู่

4) การเก็บหรือการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับการยินยอม เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และเลขประจำตัวประชาชน

ส่วนบทลงโทษภายใต้กฎหมาย PDPA ประกอบไปด้วย โทษทางปกครอง ปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนโทษทางอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ กฎหมาย PDPA ก็มี ‘ข้อยกเว้น’ ไม่ใช้กับ 6 เรื่องดังต่อไปนี้

1) ข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ส่วนตัว เช่น ถ่ายรูปสมาชิกในครอบครัวและโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

2) การดำเนินการของรัฐเพื่อรักษาความมั่นคง เช่น รัฐจำเป็นต้องเอาข้อมูลของคนร้ายมาเปิดเผย เพื่อใช้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมไปถึงป้องกันและปราบปรามขบวนการหรือธุรกิจผิดกฎหมาย 

3) การใช้ในสภาผู้แทนราษฎรสำหรับเก็บ รวบรวม และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจของสภา แต่ไม่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้นอกสภาฯ ได้

4) การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล

5) การดำเนินการข้อมูลของบริษัทบัตรเครดิตและสมาชิก

6) การเก็บและรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือเพื่อประโยชน์ทางสาธารณะ

Sources :
Bangkok Biz News | t.ly/SR2w
Bright Today | t.ly/cS4u, t.ly/KXd5
Facebook : รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล | t.ly/Rzwl
Pracharchat | t.ly/2A5eo
Thairath | t.ly/HtWS, t.ly/FFwU
Thai PBS | t.ly/Xnna
TikTok : Lawriwa | t.ly/bfDu
YouTube : Spring | t.ly/M2kj

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.