องค์ประกอบยิบย่อยในเมืองที่ปะติปะต่อกันเป็นงานดิจิทัลคอลลาจ ดึงดูดให้ฉันหยุดพิจารณาและไล่สายตาดูตึกรามบ้านช่อง ป้ายร้านรวง รถราบนท้องถนน และรถเข็นขายผลไม้ ภาพแทนของกรุงเทพฯ เมืองที่เปรียบเป็นงานศิลปะคอลลาจในตัวเอง ผลงานชื่อ ‘The Big Street’ พาเราสำรวจเมืองทั้งเมืองโดยไม่ต้องออกเดิน สะกิดฉันให้ไปเจอเจ้าของผลงานอย่าง ‘Pariwat Studio’
ฉันไม่ได้มาคุยกับเขาถึงงานคอลลาจที่ประทับใจเท่านั้น แต่เลยเถิดไปถึงความสนใจหลากหลายแขนงของ ‘คุณบิ๊ก – ปริวัฒน์ อนันตชินะ’ ผู้หลงใหลทั้งด้านการออกแบบ กราฟิก สิ่งพิมพ์ สถาปัตย์ ศิลปะ ไปจนถึงการถ่ายภาพสตรีท ที่ค่อยๆ สั่งสมทีละเล็กละน้อยมาตั้งแต่วัยเด็ก จนความชอบทุกอย่างนำพาให้เขาเป็นเขาอย่างทุกวันนี้
หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อของคุณบิ๊กในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ‘The Uni_Form Design Studio’ สตูดิโอออกแบบของสองกราฟิกดีไซเนอร์ที่เพิ่งคว้ารางวัล DEmark 2020 มาถึง 3 ตัว แต่เขายังสวมอีกหมวกในฐานะศิลปิน ภายใต้ชื่อ ‘Pariwat Studio’ ที่เขาใช้ทำโปรเจกต์ส่วนตัวด้านศิลปะเพื่อสนองแพชชันเป็นงานรอง
ภายในสตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้ เขาเชื้อเชิญฉันนั่งลงบนโซฟาที่คลาสสิกพอๆ กับตึกเก่าในย่านอโศก ซึ่งถูกใช้เป็นห้องทำงานหลัก ก่อนจะเริ่มบทสนทนาที่ชวนทำความรู้จักตัวตนและเปิดลิ้นชักความสนใจมายมายที่ถูกสะสมไว้
THE DREAMER | ความฝันวัยเด็ก
คงคล้ายกับศิลปินหลายคนที่เริ่มต้นจากการจับดินสอวาดการ์ตูน คุณบิ๊กค้นพบว่าตัวเองทำมันได้ดีและหมกมุ่นอยู่กับศิลปะมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งอยู่ ม.ต้น ที่เขามีวงดนตรีกับเพื่อนก็ยังอาสาออกแบบปกเทป ในตอนนั้นเขายังตอบตัวเองไม่ได้หรอกว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่เชื่อว่าทุกคนคงต้องเคยเจอคำถามนี้
“ตอนเด็กๆ เวลาผู้ใหญ่ถามก็มีหลายคำตอบ หนึ่งในคำตอบนั้นคือ ‘สถาปนิก’ เราชอบศิลปะแหละ แต่ผู้ใหญ่ก็จะตั้งคำถามว่ามันโอเคมั้ยถ้าจะทำงานศิลปะอย่างเดียว เราเลยมองว่าสถาปนิกมันดูเป็นรูปธรรมมากที่สุด ในเรื่องของ ‘ศิลปะ’ กับ ‘ความกินอยู่ได้’ ”
ฉันฟังก็เข้าใจได้ทันทีแต่สิ่งที่อยากรู้ต่อมาคือ ความคิดที่อยากจะเป็นสถาปนิกนั้นมาจากไหน
“น่าจะมาจากพิธีกร ดารา ยุคนั้นที่เราดูแล้วชอบก็อยากรู้ว่าเขาจบอะไรมา กลายเป็นว่า ‘กลุ่มซูโม่’ หรือ ‘พี่ดู๋-สัญญา คุณากร’ เขาจบสถาปัตย์กันหมดเลย เราก็เฮ้ย จบสถาปัตย์ทำอย่างนี้ได้ด้วยหรอเจ๋งดี เขามีบุคลิกที่น่าสนใจ มีความตลก มั่นใจ เป็นตัวของตัวเองสูง เราเลยไปศึกษาดูว่าสถาปนิกเขาทำอะไร”
LIFE IS AN EXPERIMENT | วัยค้นหาตัวตน
ปัญหาหนึ่งที่สำคัญของเด็กไทยคือไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เพราะระบบการศึกษาไทยไม่เปิดโอกาสให้เราได้ลองเรียนรู้โลกกว้าง แต่สำหรับคุณบิ๊กผ่านชีวิตวัยเรียนมาด้วยการลองผิดลองถูก สมัย ม.ปลาย โรงเรียนทั่วไปจะมีให้เลือกแค่ ‘สายวิทย์-คณิต’ หรือ ‘ศิลป์-ภาษา’ แต่โรงเรียนสวนกุหลาบที่คุณบิ๊กเรียนมีสายเฉพาะทางให้เลือกค่อนข้างเยอะ และแน่นอนว่าเขาเลือกเรียนสาย ‘วิทย์-สถาปัตย์’
“พอไปเรียนพื้นฐานแล้วก็รู้ว่าจริงๆ เราไม่ได้ชอบสถาปนิกแบบ 100 % มันมีทั้งกราฟิก ไฟน์อาร์ต ที่เราก็ชอบ ตอนนั้นเราเห็น ‘พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก’ หรือ ‘วงพาราด็อก’ เราก็คิดว่าครุศิลป์ก็น่าสนใจ เลยรู้สึกว่าชอบทางด้านศิลปะไปหมดเลย ตอน ม.ปลาย ก็เลยไม่ได้จำกัดตัวเอง ลองไปติวทั้งนิเทศศิลป์ ครุศิลป์ ประยุกต์ศิลป์”
FINAL SCORE | อดีตเด็กซิ่ว
วัยรุ่นส่วนใหญ่มองการเอนทรานซ์เป็นแมตช์ตัดสินชะตาชีวิต แต่เขามองมันเป็นเกม
“ตอนนั้นก็ดูคะแนนเป็นหลักว่าเราเลือกอันไหนแล้วพอมีลุ้น มองเป็นเกมเกมหนึ่ง คิดว่าถ้าเรียนไปสักปีเราน่าจะรู้ตัวเองคือไม่มายด์ว่าจะต้องซิ่ว ก็เลือกไปก่อนอันที่เรามีสิทธิ์จะเอนฯ ติด ตอนนั้นก็เลยเลือกไว้ 4 อันดับ มีครุศิลป์ นิเทศศิลป์ นฤมิตรศิลป์ และสถาปัตย์”
เขาเอนฯ ติดนิเทศศิลป์ แต่ตัดสินใจไปสอบตรงติดคณะสถาปัตย์ฯ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม หลังจากเรียนมาได้หนึ่งปีก็ค้นพบว่าวิชาที่เรียนได้ดีส่วนใหญ่เกี่ยวกับกราฟิก คราวนี้เขาตัดสินใจเอนฯ ใหม่โดยเลือกด้านกราฟิกทั้ง 4 อันดับ ปรากฏว่าเอนฯ ไม่ติด สุดท้ายเขาก็เลือกเรียนการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพฯ ที่ซึ่งเขาได้เจอรุ่นพี่อย่าง ‘คุณซิท-วุฒิภัทร สมจิตต์’ และกลายมาเป็นคู่หูร่วมกันก่อตั้ง ‘The Uni_Form Design Studio’
CITY COLLAGE | จิ๊กซอว์ต่อตึก
ถึงแม้ความฝันในการเป็นสถาปนิกต้องพับเก็บไป แต่ความชอบด้านสถาปัตย์ก็ยังคงเก็บไว้ในใจลึกๆ คุณบิ๊กเล่าว่าเวลาเข้าห้องสมุดที่มหาวิทยาลัย เขามักจะสิงอยู่ที่หมวดหนังสือสถาปัตย์ และหยิบเอาฟอร์มของตึกมาออกแบบตัวอักษร หรือเอากริดมาออกแบบโครงสร้างหนังสือ
ความสนใจด้านสถาปัตย์สะสมมาเรื่อยๆ จนก่อร่างเป็นโปรเจกต์ ‘The Big Street’ ที่ผุดขึ้นมาตอนทำทีสิสเรื่อง ‘Traffic Grid’ ตัวทีสิสเป็นหนังสือเชิงทดลอง เล่าถึงการฝ่าฝืนกฏจราจรของคนในเมืองผ่านกริด ซึ่งเขาต้องออกไปถ่ายภาพตึก คนบนท้องถนน ตำรวจฝ่าไฟแดง ไปจนถึงรถเข็นขายอาหารที่ระเกะระกะ เพื่อเก็บข้อมูลและใช้เป็นภาพประกอบ แต่ด้วยคุณภาพรูปไม่ได้และจำนวนรูปที่เยอะจนคัดไม่ถูก เขาจึงดึงภาพหลายร้อยไฟล์มาไดคัทเป็นงานดิจิทัลคอลลาจหนึ่งชิ้น
“มันเกิดจากสิ่งที่เราไม่ถนัด สกิลที่เราไม่ถึง แล้วปรับมาเป็นงานคอลลาจ เป็นจุดตั้งต้นที่มาโดยความบังเอิญหรือเป็นวิธีแก้ปัญหาของเรา พอทำไปเรื่อยๆ มันสนุก มันสนุกตอนเราถ่ายด้วย ในจังหวะที่เราถ่ายแล้วเห็นมุมบางอย่างที่เราชอบ หรือเรามีภาพในหัวแล้วว่าถ้าเราถ่ายมุมนี้ เดี๋ยวเราจะไปประกอบยังไง”
INSPIRED BY THE CITY | กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง
หากมองกรุงเทพฯ ตามความเป็นจริง คำว่า ‘เทพสร้าง’ อาจฟังดูเกินจริงไปนิด แต่ถ้าบอกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผู้คนครีเอท ‘ขั้นเทพ’ ก็อาจใช่
“เราชอบของไทยๆ บ้านๆ ที่คนทั่วไปไม่ได้เรียนด้านศิลปะเขาสร้างสรรค์ขึ้นมาผ่านสิ่งของต่างๆ เช่น กระดานคิวของพี่วินมอเตอร์ไซค์ ร้านค้ารถเข็นหรือซาเล้งที่เอาของเหลือใช้มาอแดปต์แล้วมันน่าสนใจ”
นอกจากจะมีกรุงเทพฯ เป็นแรงบันดาลใจ โปรเจกต์นี้ยังลามไปถึงเมืองอื่นๆ ซึ่งมีสเน่ห์แตกต่างกันไป เรียกว่าเป็นงานอดิเรกที่เมื่อไหร่เสร็จจากงานประจำก็มักจะเปิดขึ้นมาทำเล่นตอนดึก
“มันนำพาไปต่อยอดในหลายๆ ประเทศ อย่างโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เรามองว่ามอเตอร์ไซค์ที่ขับกันขวักไขว่มันคือไฮไลท์ที่สุด งานคอลลาจของโฮจิมินห์ก็จะมีแต่มอเตอร์ไซค์เต็มไปหมดเลย หรือฮ่องกงเราชอบป้ายร้านค้าที่มันเยอะมาก มันคลาสสิกและใหญ่โตมโฬาร ดีเทลทุกอย่างละเอียดเรารู้สึกชอบมาก ตัวฮ่องกงก็เลยเน้นงานป้ายออกมา”
STREET PHOTOGRAPHY | ศิลปะข้างถนน
เมื่องานคอลลาจประกอบร่างจากองค์ประกอบของเมือง การออกไปสแนปมุมต่างๆ ในเมืองจึงกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ทุกวันนี้คุณบิ๊กยังพกกล้องตัวเล็กๆ ติดตัวไว้ประจำเวลาเดินทาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาลองศึกษาสตรีทโฟโต้
“ที่ผ่านมาเราเข้าใจสตรีทโฟโต้ผิดมาตลอด แต่พอเข้าไปในกลุ่ม ไปลองศึกษา ไปดูงานของช่างภาพท่านอื่น จริงๆ มันมีความครีเอทีฟมากเลยนะ มันไม่ต้องวัดแสงให้เป๊ะมากก็ได้ พอเราไปเจอโฟโต้บุ๊กที่เป็นซีรีส์ภาพถ่ายก็ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่ เพราะมีเรื่องหนังสือเข้ามาผสมด้วย”
จากความชอบนำพาไปสู่โปรเจกต์ ‘The Big Sculpture, mini architecture’ ซีรีส์ภาพถ่ายป้อมยามที่เริ่มต้นจากการชักชวนของนิตยสาร art4d (เข้าไปส่องผลงานได้ที่ : https://www.instagram.com/pom_yam/) คุณบิ๊กเล่าว่าได้ไอเดียจากการไล่ย้อนดูภาพถ่ายในสต็อก แล้วพบว่าถ่ายภาพป้อมยามไว้เยอะมาก
“มันคือความคิดสร้างสรรค์ของพี่ยามว่าเขาจะอยู่ยังไงในพื้นที่แคบๆ เป็นเวลานานๆ การเอาวัสดุมาบังแดด หรือเอาของเหลือใช้จากตึกใหญ่มาปะติดปะต่อเป็นโครงสร้างใหม่ เอามาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นเก้าอี้ เป็นโต๊ะ มันน่ารักแล้วมันเป็นสากลด้วยความเป็นไทย คือความเป็นไทยที่คนต่างชาติเก็ทกับเราด้วย ไม่ใช่เป็นมุกที่คนไทยเข้าใจอย่างเดียว”
DIGITAL VS MANNUAL | ลง มือ
หลังจากนั่งคุยกันมาสักพัก เขาลุกขึ้นไปหยิบจับผลงานศิลปะหลายชิ้นที่วางแผ่อยู่บนโต๊ะ นอกจากงานดิจิทัลคอลลาจยังมีงานคอลลาจมือที่ชื่อว่า ‘Empty Trash’ โดยรีไซเคิลเอาเศษกระดาษจากการทำงานหลัก มาจัดวางใหม่เพื่อไม่ให้มีเศษเหลือทิ้งในถังขยะ จากนั้นนำไปสกรีนด้วยมือลงกระดาษหรือเทคนิคซิลค์สกรีน โดยสตูดิโอภาพพิมพ์ The Archievist เพื่อทำออกมาเป็นอาร์ตบุ๊ก
เมื่อถามว่าระหว่างงาน ‘ดิจิทัลคอลลาจ’ กับงาน ‘คอลลาจมือ’ ชอบอย่างไหนมากกว่ากัน คุณบิ๊กให้คำตอบว่า
“ชอบงานมือมากกว่าเยอะเลย เพลินมากอยู่กับมันได้ทั้งคืน ใช้กรรไกร คัตเตอร์ มันเพลินกว่าใช้เครื่องมือในโฟโต้ชอปมาก เพราะมันได้สัมผัสเนื้อจริงๆ ไม่ใช่คลิกเมาส์ แต่ดิจิตอลคอลลาจมันไปตอบโจทย์งานที่ถ่ายด้วยดิจิตอล แล้วมันก็สามารถย่อ-ขยายรูปได้”
VINTAGE COLLECTOR | นักสะสมเรื่องราว
ข้างๆ กันยังมีผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่ชื่อ ‘The L_st album’ โฟโต้บุ๊กภาพถ่ายของบุคคลที่ไม่รู้จักซึ่งได้มาจากตลาดมืดด้วยนิสัยชอบสะสมของเก่าของคุณบิ๊ก คอนเซปต์ของงานชิ้นนี้บอกเล่าถึงภาพถ่ายที่สูญหายจากครอบครัวหนึ่ง แล้วตกทอดมาอยู่กับคุณบิ๊กที่เขาเองก็บอกว่าแอบขนลุก
ไม่ใช่แค่ภาพถ่าย โปสการ์ด หรือสิ่งพิมพ์เก่าๆ ที่คุณบิ๊กสะสม เก้าอี้หรือโคมไฟแทบทุกชิ้นในสตูดิโอก็เป็นของสะสมส่วนตัวของเขา หลายชิ้นได้จากตลาดวินเทจ หลายชิ้นได้จากตลาดนัดมือสองในทุกเมืองที่เขาไป ฉันสงสัยว่าอะไรที่ทำให้เขาหลงใหลนัก
“บอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่พอเราได้ใช้ของจากอีกยุคหนึ่งมันมีคุณค่ากับเรา สมมติเก้าอี้ตัวนี้จากปี 1920 เราย้อนกลับไปในยุคนั้นไม่ได้ แต่เราใช้ของจากยุคนั้นได้ มันว้าว เหมือนเป็นไทม์แมชชีน”
ART X DESIGN | ศิลปะในการออกแบบ
หลังจากรื้อดูโปรเจกต์ศิลปะส่วนตัวจนเป็นที่พอใจ เราก็เขถิบมาดูผลงานออกแบบที่ได้รางวัล DEmark 2020 ภายใต้ ‘The Uni_Form Design Studio’ เริ่มด้วยชิ้นแรกที่มีชื่อว่า ‘Go For The Goal’ แคตตาล็อกกระดาษ Brisk ที่สื่อถึงความกระฉับกระเฉงและตีความออกมาในธีมโอลิมปิก
Triumph / Sports Series / The Stadium / Echo คือ 4 เล่ม 4 เทกซ์เจอร์ ที่ร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราวของมหกรรมกีฬา ถูกออกแบบลูกเล่น โครงสร้างหนังสือ และเทคนิคการพิมพ์ ให้โชว์ฟังก์ชันของกระดาษได้มากที่สุด เช่น การพิมพ์สีพิเศษ การปั๊มฟอยล์ปั๊มนูน หรือภาพที่มีรายละเอียดยุบยับ
อีกเล่มเป็นโฟโต้บุ๊กของ ‘คุณซัน – อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล’ ช่างภาพสายสตรีท ที่คุณบิ๊กได้ออกแบบโครงสร้างหนังสือในคอนเซปต์ ‘Beautiful Contrast’ ที่เล่าเรื่องราวที่เกิดในวัดพระแก้ว ซึ่งมองจากข้างนอกเป็นสิ่งที่ต้องสักการะบูชา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง แต่พอเข้าไปแล้วเจอนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนจีน ฝรั่ง ถ่ายรูปกันยั้วเยี้ยผิดกับรูปที่เห็น
นอกจากโครงสร้างหนังสือที่จัดวางรูปอย่างสะเปะสะปะ การวางตัวอักษรที่กระโดดไปกระโดดมา บ้างตกขอบ บ้างเดี๋ยวใหญ่เดี๋ยวเล็ก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก Google Translate และนิสัยคนไทยที่ชอบหาเลขเด็ดก็กวนใช่ย่อย เป็นหนังสือที่ดูแล้วสนุกสนาน
PRINT IS (NOT) DEAD | สิ่งพิมพ์ (ต้อง) ไม่ตาย
ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรืองานออกแบบมักมีสิ่งพิมพ์เข้ามาเกี่ยวเสมอ เพราะคุณบิ๊กโตมาในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังต่อจากโทรศัพท์ดังติ๊ดๆ เขาค้นหาข้อมูลทางด้านศิลปะจากห้องสมุดมหาวิทยาลัย เขาจำได้ว่าเลิกเรียนคาบสุดท้ายต้องรีบวิ่งไปห้องสมุดเพื่อไปจองแมกกาซีนหรือหนังสือเล่มใหม่ๆ นอกจากนี้แรงบันดาลใจที่มีอิทธิพลกับคุณบิ๊ก ยังมาจากปกซีดี ปกเทปยุคเบเกอรี่ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่างโมเดิร์นด็อก โจอี้บอย บอยโกสิยพงษ์ ซึ่งมี ‘คุณทอม – วรุฒม์ ปันยารชุน’ เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์
“เราคุ้นเคยกับการจับกระดาษ ดมกลิ่นหมึก ลูบผิวสัมผัส โตมาจากการอ่านแมกกาซีน พ็อกเก็ตบุ๊ค เราคิดว่ามันมีคุณค่าในตัวของมัน เราไม่ได้มองเป็นแค่หนังสือแต่มองเป็นชิ้นงานศิลปะไปแล้ว อีกอย่างคือเราสร้างลำดับได้ตอบโจทย์มากที่สุด วิธีการเปิด วิธีการบังคับให้คนอ่านพลิกไปทีละหน้า หรือการเลือกผิวกระดาษให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง ทุกอย่างมีรายละเอียดหมดเลย มันได้โชว์ทุกสกิล การจัดวางเลย์เอาท์ การใช้ตัวอักษร การทำภาพประกอบ มันครอบคลุมทุกอย่างในการทำกราฟิก เลยชอบงานหนังสือมาก”
สามารถติดตามผลงานทั้งหมดได้ที่ http://pariwatstudio.com/ หรือทางอินสตาแกรม @big_pariwat