Oui J’aime แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ขนมเปี๊ยะ - Urban Creature

อุ้ย คือชื่อทายาทร้านขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั้ว
อุ้ย ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ใช่
แถมอุ้ยยังถูกหยิบมาใช้ในชื่อโรงแรมว่า อุ้ยแจม
และสิ่งที่อยู่ข้างหน้าผม ก็ขอบอกว่า ใช่เลย!

ผมเดินทางชั่วโมงกว่าๆ (ไวกว่าเดินทางในกรุงเทพฯ ซะอีก) มายังโรงแรม Oui J’aime แห่งเมืองแปดริ้ว ของ อุ้ย-ปิยะพร ตันคงคารัตน์ ทายาทร้านขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั้วที่บอกกับผมว่า โรงแรมแห่งนี้มาพร้อมพื้นที่จำกัด ซึ่งพื้นที่ส่วนที่แคบที่สุดนั้นอยู่ที่ 3 เมตรกว่าๆ เท่านั้น แต่อุ้ยบอกว่านักออกแบบสามารถทำลายข้อจำกัดเหล่านั้นจนออกมาเป็นโรงแรมรีโนเวตที่ทำให้คนได้สัมผัสหลากหลายบรรยากาศในพื้นที่เดียว

ชักอยากรู้แล้วสิว่าข้างในจะเป็นอย่างไร…

และหากใครยังไม่รู้จักแบรนด์ขนมเปี๊ยะแห่งจังหวัดฉะเชิงเทรา ผมอยากให้ลองอ่านเรื่องราวของร้านขนมเปี๊ยะอายุเกือบร้อยปี ของดีของอร่อยแห่งฉะเชิงเทราเสียก่อน แล้วคุณจะรู้จักกับทายาทรุ่นสามแห่งตั้งเซ่งจั้วแบบพอหอมปากหอมคอ

ที่พักกะทัดรัดของทายาทขนมเปี๊ยะ

พาร์ตของการดูแลร้านขนมเปี๊ยะอุ้ยอาจต้องสวมบทบาทนักธุรกิจ แต่ความที่เขาเป็นอดีตนักเรียนสถาปัตย์ฯ ด้านการออกแบบภายใน ทำให้เขามีโปรเจกต์มากมายวนเวียนในหัวอยู่ตลอดเวลา วันดีคืนดีเขาเห็นอาคารพาณิชย์เก่าถูกปล่อยทิ้งไว้ นั่นทำให้ไฟของเขาลุกโชนขึ้นมา 

“มีตึกเก่าอยู่ในโลเคชันที่ดีมากๆ คือบริเวณสถานีขนส่งฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ตรงข้ามห้างใจกลางเมืองเลย เป็นที่ที่มีต้นไม้เยอะเพียงแต่เป็นที่ดินแปลงเล็ก ขนาดเนื้อที่ห้าสิบเจ็ดตารางวา เรียกว่าเล็กกว่าบ้านเดี่ยวบางหลังซะอีก ส่วนหน้ากว้างของตึกด้วยขนาดหน้ากว้างอยู่ที่สามสิบเมตร และพื้นที่แคบสุดคือสามเมตร คนเลยคิดว่ามันน่าจะทำอะไรไม่ได้ พอเราได้ข่าวว่าเจ้าของเขาจะขาย คนในครอบครัวก็ไม่รู้ว่าจะทำเป็นอะไรดี แต่พี่อยากจะทำอะไรสักอย่างกับตึกนี้” 

อุ้ยเล่าต่อว่า ชื่นชอบสถาปนิกอยู่หลายคน หนึ่งในนั้นคือ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์ผู้มีผลงานน่าจดจำคือ กุฏิที่วัดเขาพุทธโคดม จังหวัดชลบุรี เขาทาบทามสุริยะให้ลองมาสาดไอเดียความสนุกกับการออกแบบพื้นที่แสนจำกัดแห่งนี้ และความตั้งใจให้มีผลงานศิลปะดีๆ ใจกลางเมืองแปดริ้ว

อุ้ยและสุริยะคิดกันอยู่พักใหญ่ว่าจะเนรมิตตึกนี้เป็นอะไร สถาปนิกคนเก่งจุดประกายว่า “ไอ้ตึกนี้มันต้องตั้งชื่อให้ก่อน แล้วอย่างอื่นจะตามมาเอง” แล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญที่สุริยะมีนักศึกษาฝึกงานชาวฝรั่งเศสพอดี และเห็นคำว่า ‘อุ้ย’ ไปตรงกับคำว่า Oui ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า Yes สุดท้ายมาจบที่ Oui J’aime ซึ่งมีความหมายว่า ใช่! ฉันชอบ

เดิมทีอุ้ยคิดไปต่างๆ นานาว่าจะเปลี่ยนตึกนี้เป็นพื้นที่ให้เช่า แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ก็ทำให้ไอเดียเหล่านี้ต้องพับเก็บไป สุริยะเห็นว่าถ้าโครงการนี้มีที่พักมันจะดีมาก อุ้ยก็เปิดโอกาสให้เขาได้วาดลวดลายกับตึกหลังนี้ได้เต็มที่ จนตึกที่ไม่มีใครคิดจะทำอะไรค่อยๆ กลายเป็นโรงแรมสี่ชั้นขนาดกำลังดีที่มีเพียง 9 ห้อง

ในเมื่อชั้นบนถูกทำให้เป็นที่พัก ชั้นล่างของอุ้ยแจมจึงถูกออกแบบให้เป็นทั้งล็อบบี้ ที่นั่งทานอาหารเช้า และโซนคาเฟ่ให้คนจากทั่วทุกสารทิศได้มานั่งเพลินใจ ผมเห็นการตกแต่งด้วยโคมไฟสีแดงภายในตัวอาคารก็นึกถึงโคมเต็งลั้งทันที และไม่ต้องเดาให้ยาก แรงบันดาลใจนี้มาจากตัวตนของอุ้ยผู้มีเชื้อสายเป็นทายาทร้านขนมเปี๊ยะ ซึ่งเป็นอันรู้กันดีว่านี่คือขนมในตำนานกว่าพันปีจากแดนมังกร

ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำให้สถาปนิกเลือกใช้ ‘เหล็ก’ เป็นวัสดุหลัก เพราะใส่ลูกเล่นเข้าไปได้เยอะ อยากทำให้โดดออกมาจากตัวตึกก็ได้ หรืออยากให้กลมกลืนก็ได้เช่นกัน 

อย่างฟาซาด (Facade) หรือส่วนที่อยู่ด้านหน้าตึก นักออกแบบเจาะช่องเล็กๆ เพื่อให้แสงลอดผ่านเข้ามากระทบที่ตัวตึกด้านในจนเกิดมิติ และยังชวนให้คนที่ผ่านไปผ่านมาเกิดความสงสัยว่า นี่คือตึกอะไร ทำไมปกคลุมด้วยเหล็กสนิมเต็มไปหมด

สถาปนิกใส่รายละเอียดต่างๆ อย่างกราฟิกที่หยิบเอารูปทรงเรขาคณิตมาเป็นลูกเล่นบนแผ่นเหล็ก และนำมาจัดวางในแต่ละจุดบนตัวอาคาร แม้แต่ป้ายบอกทางก็ยังเป็นเหล็ก (อีกแล้ว) ซึ่งเวลาที่เหล็กเกิดสนิมก็ทำให้เกิดผิวสัมผัสที่เปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา ยิ่งตัดกับสีเขียวและแดงที่นักออกแบบเลือกใช้เป็นคู่สีในการตกแต่งก็ยิ่งดูลงตัว

ห้องพักที่มาพร้อมข้อจำกัด

“ตอนที่พี่สุริยะเขามาดูสถานที่ เราก็คุยสัพเพเหระกันไป เช่น ไปเที่ยวญี่ปุ่นมานะ ที่พักที่นู่นก็เล็กแต่มันมีเสน่ห์มาก ก็คิดว่าน่าจะมีอะไรแบบนั้นที่นี่ได้เหมือนกัน อุ้ยแจมมันแคบ ไม่มีหน้าต่าง ห้องมันเล็กมากแค่ยี่สิบตารางเมตร แต่การออกแบบนี่แหละที่จะเปลี่ยนข้อจำกัดต่างๆ ได้

“พี่สุริยะเขาเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกเก่งมาก คิดดูว่าห้องพักไม่มีหน้าต่าง เพราะติดเรื่องกฎหมายระยะย่น (กฎหมายที่ว่าด้วยการสร้างอาคารเพื่อให้มีสัดส่วนพอดีกับแปลงที่ดิน) ถ้าเกิดทำก็จะไม่เหลือพื้นที่ใช้งาน แต่พี่สุริยะก็ทำให้ห้องไม่ดูอึดอัด ปกติเวลาเราเปิดประตูห้องไปก็จะเจอเตียง เจอโซฟาใช่ไหม แต่ที่นี่เปิดออกไปแล้วเห็นวิวต้นไม้เขียวชอุ่มด้านนอกก่อนใครเลย” อุ้ยเล่าถึงสถาปนิกคนเก่งผู้ทำให้อุ้ยแจมเป็นโรงแรมที่เล่นกับประสบการณ์ของคน

เมื่อเปิดประตูเข้ามา ทางซ้ายมือจะเป็นห้องนอน ส่วนทางขวามือเป็นห้องน้ำ ผมชอบที่ด้านในตกแต่งด้วยไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ไม่อึดอัด เป็นการเบรกอารมณ์ดิบๆ จากด้านนอกมาพักใจบนเตียงนุ่มๆ ได้เป็นอย่างดี ผมวางกระเป๋าเดินทาง ก่อนจะออกไปสำรวจด้านนอกต่อ

ระหว่างทางเดิน ผมเห็นบ่อน้ำที่ตกแต่งอยู่บริเวณด้านนอกอาคารผ่านกระจกใสบางๆ ซึ่งอุ้ยบอกกับผมว่าน้ำมาจากท่อน้ำทิ้งแอร์ไหลรวมกันจนเป็นบ่อน้ำขนาดพอเหมาะ ยิ่งมีโขดหินวางแทรกอยู่บนแท่นเหล็ก ยิ่งทำให้ดูกลมกลืนไปกับตัวอาคารอุ้ยแจม ผมอดนึกชื่นชมสถาปนิกไม่ได้ที่เก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มาเติมเต็มพื้นที่ริมระเบียงให้มีชั้นเชิงมากขึ้น

พอมองจากด้านบนก็ยิ่งเห็นพื้นที่สีเขียวได้ชัดเจนขึ้น ต้นไม้น้อยใหญ่ตัดสลับกับแผ่นเหล็กสีดำบ้าง และสีน้ำตาลจากสนิมบ้าง กระทบกับแสงแดดอ่อนๆ ออกมาเป็นภาพที่สวยงามก็ชุ่มชูใจผมไม่น้อย

อุ้ยแจมเติมชีวิตให้เมืองแปดริ้ว

“เวลาพี่ถามเพื่อนว่าอยากมาเที่ยวแปดริ้วไหม เขาก็จะบอกว่ากูไม่ใช่สายไหว้พระว่ะ ไม่รู้ว่าจะมาทำไม เราก็เห็นด้วย (หัวเราะ) ก็ถูกของมัน เพราะปกติคนมาฉะเชิงเทราก็จะมาไหว้หลวงพ่อ (วัดโสธรวรารามวรวิหาร) แล้วยิ่งนอนค้างนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย

“แต่ก่อนคิดว่าฉะเชิงเทราไม่ใช่ตลาดของนักท่องเที่ยว เพราะเราจะเข้าใจว่าถ้าไม่มีธุระ หรือไม่มีงานสำคัญก็คงไม่มีคนมา แต่พอพี่ได้ทำอุ้ยแจม รู้เลยว่าตลาดคนที่อยากมานอนพัก มาค้างคืน หรือมาพักผ่อนท่องเที่ยวมันมีมากกว่าที่คิด 

“อุ้ยแจมทำให้คนที่ไม่คิดจะมานอนที่แปดริ้วอยากมานอนสักคืน แล้วออกไปสำรวจเมืองแปดริ้วให้มากขึ้น ตั้งแต่มีที่นี่ คนก็อยากมาดูว่ามันสร้างประสบการณ์อะไรให้เรา โดยเฉพาะคนที่ชอบงานสถาปัตย์หรือศิลปะ มีนักเรียนสถาปัตย์ฯ จากลาดกระบังและขอนแก่นมาดูงานด้วยนะ ก็คงเป็นความรู้สึกของใครหลายคนที่แค่ได้มาเห็นผลงานของพี่สุริยะก็คุ้มค่าแล้ว” อุ้ยทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

ในฐานะคนชอบเปลี่ยนที่นอนอย่างผม ปกติเวลาเห็นห้องพักที่แคบๆ ก็จะเซย์โนไว้ก่อน แต่อุ้ยแจมลบความคิดนั้นของผมเป็นปลิดทิ้ง ห้องนอนไม่มีหน้าต่าง แต่สร้างประสบการณ์ระหว่างคนกับเหล็กอย่างลงตัว เหมือนกับอาหารที่ดูเหมือนจะไม่อร่อยหรือเลิศหรู แต่พอกินแล้วโคตรคุ้มค่า 

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของทายาทร้านขนมเปี๊ยะที่อยากให้มีผลงานของสถาปนิกชื่อดังอยู่ในจังหวัด ใครจะคิดล่ะว่าจะเกิดคุณค่าตามมามากมาย กลายเป็นจุดขายหนึ่งในจังหวัด และทำให้จังหวัดเล็กๆ ใกล้กรุงเทพฯ อย่างฉะเชิงเทรามีคนรู้จักและตกหลุมรักมากขึ้น

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.