.ONCE แบรนด์เสื้อผ้าที่คนตาบอดสนุกกับการแต่งตัว - Urban Creature

หากเช้าวันหนึ่งคุณตื่นมาแล้วพบว่า โลกใบนี้ถูกย้อมไปด้วยสีดำสนิท คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร ลองจินตนาการต่อว่า คุณกำลังเปิดตู้เสื้อผ้าท่ามกลางความมืดมิด เพื่อที่จะแต่งตัวออกไปข้างนอกคุณคิดว่า Outfit วันนี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร จะหยิบสีถูกกาลเทศะหรือไม่ก็ไม่อาจจะทราบได้ มันคงลำบากขึ้นกว่าเดิมไม่น้อยเลยสินะ นี่แหละคือโลกที่คนตาบอดเจอในทุกวัน

สีของเสื้อผ้า เรื่องเล็กๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนตาบอด กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้าคนตาบอด .ONCE และ จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย ชายตาดีผู้นำเอาบทเรียนพิเศษจากคนตาบอดปักอักษรเบรลล์ ลงไปบนธุรกิจผ้าของครอบครัว คิดค้นเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนสามารถเติมเฉดสีเข้าไปในโลกมืดมิด และยังคิดค้นเพิ่มความสนุกลงไปบนเสื้อผ้า ด้วยเทคนิคพิเศษดีกรีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ให้คนตาบอดได้รู้สึกสนุกไปกับการแต่งตัวได้มากขึ้นในแต่ละวัน

เหตุการณ์ ‘ขำขื่น’ เหตุเกิดแบรนด์

จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย หรือ จุ้ย เติบโตในครอบครัวที่คุณป้าตาบอดสนิท ส่วนคุณลุงตาบอดเลือนราง เขาเห็นการใช้ชีวิตประจำวันของทั้งสองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการกิน การเดินทาง การทำงาน การสื่อสาร ทำให้จุ้ยเห็นว่าโลกมืดสนิทไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันขนาดนั้น

“หลายคนมักมองว่าชีวิตคนตาบอดนั้นน่าสงสาร แต่จริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป แค่มีวิธีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป เหมือนกับโลกของเขาเป็นโลกอีกใบ ที่เป็นโลกแห่งความมืด และวิ่งควบคู่ไปกับโลกของคนทั่วไป เป็นโลกคู่ขนานกัน”

ทั้งสองยังเป็นคนที่มอบรอยยิ้มและความอบอุ่นให้คนรอบข้างอยู่เสมอ แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้จุ้ยฉุกคิดถึงปัญหาการมองไม่เห็น นั่นคือ ‘การแต่งตัว’ 

“มีวันหนึ่งครอบครัวเรากำลังจะไปงานศพกัน แต่คุณลุงกับคุณป้าออกมาจากห้องพร้อมชุดสีแดง” 

ฟังดูแล้วอาจเหมือนกับตลกร้ายในภาพยนตร์ที่ ‘ขำขื่น’ แต่ในชีวิตจริง กลับสร้างความตกใจให้คนในครอบครัว ปัญหาเรื่องการแต่งตัวในชีวิตประจำวันจึงกลายมาเป็นสิ่งที่จุ้ยเริ่มตั้งคำถามกับมัน ความสุขเล็กๆ ในแต่ละวันอาจจะเริ่มจากการเลือกชุด หรือสีที่ตัวเองมั่นใจ แต่ถ้าเราไม่เห็นชุดที่เราใส่จะเป็นอย่างไร การที่เราไม่รู้ว่าเสื้อที่เราใส่สีอะไรนั้นเป็นหนึ่งปัญหาในการใช้ชีวิต เพราะสังคมไทยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘กาลเทศะ’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม

“บางคนอาจจะมองว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แต่สำหรับคนตาบอดกลับเป็นเรื่องใหญ่ เวลาไปซื้อเสื้อผ้า การเลือกสีเป็นเรื่องสำคัญ และคงเป็นเรื่องยากที่คนตาบอดจะใส่สีให้ถูกตามกาลเทศะ ลองนึกภาพตามดูว่าถ้าเขาไม่มีคนอื่นอยู่ด้วยตอนเลือกซื้อเสื้อหรือตอนแต่งตัวจะทำยังไง

“คนตาบอดมีจินตนาการในการแต่งตัวเหมือนกับเรา เขาก็มีอารมณ์ความรู้สึกว่าในบางครั้งอยากใส่เสื้อสีแดงเพราะมันดูร้อนแรง และเปรี้ยว หรือบางวันก็อยากอ่อนหวาน ฉันก็อยากใส่เสื้อสีชมพู”

คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวว่า จะทำยังไงให้คนตาบอดไม่ต้องมาถามคนอื่นว่าเสื้อตัวนี้สีอะไร และจะทำยังไงให้คนตาบอดได้สนุกไปกับการแต่งตัว เพื่อสร้างโอกาสในการใช้ชีวิตที่เท่าเทียมทั้งในเรื่องของการเข้าสังคม และความเท่าเทียมในการแต่งตัว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตัวอักษรเบรลล์บนเสื้อผ้าของ .ONCE

บทเรียนจากคนตาบอด ต่อยอดธุรกิจผ้าของที่บ้าน


ย้อนกลับไปที่เสื้อตัวแรกของ .ONCE เกิดจากการที่จุ้ย คลุกคลีอยู่กับการเห็นคุณลุงคุณป้าที่มักอ่านหนังสือภาษาเบรลล์ และเขียนอักษรเบรลล์ลงไปบนกระดาษด้วยอุปกรณ์พิเศษที่มีชื่อว่า สเลต (Slate) และสไตลัส (Stylus) อุปกรณ์หน้าตาประหลาดสำหรับจุ้ยในวัยเด็ก ทำให้เขาเกิดความอยากรู้อยากเห็น และเข้าไปเรียนรู้อักษรเบรลล์จากคุณลุงคุณป้าอยู่เสมอตั้งแต่เล็ก ผนวกกับพื้นเพธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวทำโรงงานเย็บผ้ามาก่อน จึงมีองค์ความรู้เรื่องการเย็บ การปัก การทำเสื้อเป็นทุนเดิมจึงทำให้จุ้ยเห็นทั้งสองเรื่องอยู่รอบตัวมาโดยตลอด ทั้งผ้าและอักษรเบรลล์

และเมื่อบทเรียนจากคนตาบอดถูกผสมเข้ากับความรู้จากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ทำให้จุ้ยเริ่มหยิบเสื้อของโรงงาน และหยิบเอาความรู้จากคนตาบอดมาปักลงไปบนผืนผ้าให้คุณลุงกับคุณป้าได้ลองใส่ พลิกแพลงด้วยการปักด้ายและลูกปัดลงไปบนเสื้อผ้าแต่ละตัว เพื่อบอกถึงสีและขนาดให้ลุงกับป้าได้ใส่เป็นสองคนแรกของโลก โดยมีคุณลุงคุณป้าเป็นคนคอยให้คำแนะนำ

“คุณลุงกับป้าดีใจมากตอนที่เราเอาเสื้อที่เราปักไปให้เขาได้ใส่ เข้ามากอดและบอกว่า อยากให้เราแบ่งปันเสื้อแบบนี้กับคนตาบอดคนอื่นบ้าง”

คำขอบคุณเล็กๆ ที่แสนจะอบอุ่นแต่สะเทือนไปถึงระดับจิตใจ ว่าสิ่งเล็กๆ ที่เขาทำ สามารถช่วยให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นได้ และจากเสื้อที่ลองทำเล่นๆ ให้คุณลุงคุณป้าใส่ ก็ได้กลายเป็นไอเดียที่จุ้ยนำไปต่อยอดส่งเข้าประกวดชิงทุน จนได้รับเงินรางวัลจาก

Blindnovation นวัตกรรมเพื่อคนตาบอด

เทคนิคบนผืนผ้าของ .ONCE ผ่านการลองผิดลองถูกมามากกว่าร้อยเทคนิคตั้งแต่การใช้ลูกปัด พลาสติก จนมาลงตัวที่การปักอักษรเบรลล์ลงไปบนตัวผ้าเพราะเหมาะกับการผลิตปริมาณมาก เพื่อบอกลักษณะของสีและขนาดให้กับคนตาบอดได้สัมผัสก่อนใส่ นอกจากอักษรบนเสื้อผ้ายังใช้บอกรายละเอียดกับคนตาบอดแล้ว ลายปักดังกล่าวยังสามารถบอกอะไรกับคนตาดีที่พบเห็นได้เช่นกัน

“เราอยากแชร์ให้คนตาดีได้รู้จักอักษรเบรลล์ด้วย ไม่ได้ทำให้คนตาบอดใส่อย่างเดียว แต่ทำให้คนตาดีได้เรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อจะได้รู้ว่าคนตาบอดใช้ชีวิตอย่างไร ตัวหนังสือบนโลกของเขาเป็นอย่างไร อันนี้ทำขึ้นมาเพื่อทำให้เราทั้งสองโลกเข้าใจซึ่งกันและกันด้วย”

คอลเลกชันที่จุ้ยอยากนำเสนอความเท่าเทียมผ่านแฟชั่นให้กับคนตาบอดคือคอลเลกชัน ‘= เท่ากับ’ โดยจุ้ยบอกกับเราว่า .ONCE ดำเนินธุรกิจบนแนวคิด Fashion for Sharing เสื้อผ้าทุกตัว จะให้ความรู้สึกถึงการแบ่งปัน ทั้งการแบ่งยอดขายเพื่อส่งคืนให้กับสังคม หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้คนตาบอดและคนตาดีได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สอดคล้องไปกับชื่อแบรนด์ .ONCE เสมือนการเล่านิทานที่มักจะมาพร้อมกับข้อคิดดีๆ เสมอ

“โลโก้ตั้งต้นของเราเป็นรูปเครื่องหมายเท่ากับ (=) ที่มีทั้งสีขาวและสีดำ เราตั้งใจทำมันขึ้นมาเพื่อบอกว่าทุกคนมีสิ่งที่บกพร่อง หากร่วมกันเติมเต็มในสิ่งที่ขาด ช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็สร้างความเท่าเทียมเสมือนเครื่องหมายเท่ากับ”



ไม่เพียงแต่การใช้อักษรเบรลล์ในการปักเท่านั้นเพราะล่าสุด .ONCE ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ สาขาการออกแบบเพื่อสุขภาพ จาก Dice ด้วยคือเทคนิค 3D Prints ที่จะทำให้ลายสกรีนบนเสื้อผ้านูนขึ้นมามากกว่าเสื้อผ้าปักทั่วไป ในลักษณะ 3 มิติ ซึ่งทำให้คนตาบอดสามารถที่จะลูบคลำลงไปบนตัวเสื้อ สร้างสุนทรีย์ทางการมองเห็นและจินตนาการเสื้อผ้าที่เขาใส่ได้ในแต่ละวัน 

ลายที่เลือกใช้เองก็ได้รับแรงบันดาลใจ ผ่านการพูดคุยกับคนตาบอดว่า ถ้าจะบอกอะไรสักอย่างกับคนตาดีว่าชีวิตเราไม่ได้น่าสงสารอย่างที่พวกเขาคิด จะบอกผ่านอะไรดี 

“‘ไม้เท้าขาวไง’ มันทำให้เราสามารถใช้ชีวิต เดินไปไหนมาไหน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคนมาคอยช่วยเหลือจูง”

นอกจากเทคนิคการปักแล้ว .ONCE เองก็ยังมีการทำเพลตเหล็กบอกสี ที่สามารถนำไปติดกับของชิ้นไหนก็ได้ ตั้งแต่กระเป๋า เสื้อ เสื้อคลุม ฯลฯ ตามแต่ผู้ใช้ต้องการ

.ONCE กาลครั้งหนึ่งที่อยากคืนให้สังคมตลอดไป

อีกหนึ่งบทบาทการส่งคืนให้กับสังคมของ .ONCE คือการสร้างอาชีพให้กับคนตาบอด ผ่านการร่วมมือกับแบรนด์ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันอย่าง ปักจิตปักใจ สร้างโอกาสให้คนตาบอดได้ทำงานหัตถกรรมเป็นอาชีพ ในรูปแบบเสื้อผ้าแฟชั่นที่ใครๆ ก็อยากใส่ 

“จุ้ยมองว่าการที่เราแบ่งปันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินอย่างเดียว แต่สามารถแบ่งปันความรู้หรือทักษะของเราได้ ต่อยอดซึ่งกันและกันแล้วทำให้กลายเป็นรายได้จริงๆ เพื่อบอกกับสังคมว่าคนตาบอดเขาสามารถทำงานอื่นๆ ได้เหมือนคนปกติ เขาสามารถพัฒนาตัวเองให้ทำหัตถกรรมและงานฝีมือได้ และนี่คือการบอกถึงศักยภาพความสามารถที่เขาจะเป็นได้มากกว่าที่หลายคนชอบติดภาพจำที่ไม่ดี”

หนึ่งในโครงการที่ .ONCE ตอบแทนให้กับสังคมคือ ‘ให้ ด้วย กัน’ เป็นโครงการที่ทางแบรนด์จะชวนลูกค้าทุกคน มาส่งคืนให้กับสังคมโดยรูปแบบการเปิดเสื้อรอบพิเศษ ที่ยอดซื้อเสื้อทุกตัวผู้ซื้อจะได้เสื้อ 1 ตัว และแถมอีก 1 เพื่อนำไปมอบให้กับคนตาบอดที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ทำให้ผู้ซื้อได้กลายมาเป็นผู้ให้และได้เข้าใจ คนตาบอดมากขึ้น 

ความท้าทายของการทำธุรกิจเพื่อสังคม คือการสร้างสมดุลระหว่างภาคธุรกิจ และภาคสังคมที่ลงตัว เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน .ONCE คือหนึ่งในโมเดลธุรกิจที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการประคับประคองธุรกิจของตัวเองไปข้างหน้า แต่ยังคงมีเจตจำนงที่เด่นชัดในการมอบคืนให้กับสังคม ผ่านการสร้างอาชีพ และสร้างความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องคนตาบอดให้กับสังคมไปในเวลาเดียวกัน

“ตอนเริ่มต้นธุรกิจเราลังเลว่าเราจะดำเนินธุรกิจในโมเดลแบบไหนดี ด้วยความที่เราอยากทำธุรกิจเพื่อแบ่งปันให้คนอื่น แต่การอยู่รอดก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเดียว เราอาจจะทำได้เพียงไม่กี่ครั้ง 

“แต่เราอยากทำธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรและช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน พยายามสร้างสมดุลให้ธุรกิจ Social Enterprise มากขึ้นโดยเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นส่วนของธุรกิจ อีกสามสิบเปอร์เซ็นต์คืนให้กับสังคมซึ่งเรามองว่ารูปแบบธุรกิจแบบนี้เราจะสามารถส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้ยั่งยืนกว่า”

เรื่องราวนิทานกาลครั้งหนึ่งของแบรนด์ .ONCE สอนให้รู้ว่าแม้ท่ามกลางความมืดมิด ยังคงมีแสงสว่างที่พร้อมจุดประกายความหวัง และส่งต่อแสงนี้ไปให้กับผู้ที่ต้องการความอบอุ่น เหมือนกับวันที่จุ้ยได้รับอ้อมกอดคุณลุงกับป้าในวันนั้น ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการให้กับคนอื่นในวันนี้ และต่อๆ ไป

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.