OITA เมืองต้นแบบ หนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ - Urban Creature

เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘โอทอป (OTOP)’ ผลิตภัณฑ์อันโด่งดังของคนไทย วันนี้ Urban Creature จึงพาบินลัดฟ้าไปทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ไปดูพื้นที่ต้นแบบของโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย ที่อยู่ใน โออิตะ (Oita) จังหวัดที่ได้รับฉายาว่าเป็น “เกียวโตน้อยแห่งคิวซู” เมืองเล็กๆ ที่ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่า แต่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์มากมาย ทั้งจากธรรมชาติ อาหารการกิน ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่แสนเรียบง่ายของผู้คน รวมไปถึงวิธีการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองจนเกิดความยั่งยืน ผ่านครงการ One Village, One Product (OVOP) หรือหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ จนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับหลายประเทศทั่วโลก

| หมู่บ้านโอยามา ณ ที่แห่งนี้ คือต้นกําเนิด OVOP

เพราะความยากจนแร้นแค้นของผู้คน จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ 2504 ชาวบ้านกว่า 1000 หลังคาเรือนในหมู่บ้านโอยามา จังหวัดโออิตะจึงได้รวมตัวกันลุกขึ้นมา คิดริเริ่ม สร้างสรรค์โครงการ “บ๊วย และเกาลัดแบบใหม่” (New Plum and Chestnut: NPC) ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมการเพาะปลูกบ๊วยและเกาลัดโดยใช้รูปการเกษตรแบบผสมผสานเข้ามาแทนการปลูกข้าวที่เป็นพืชหลักเดิม เพราะบ๊วยและเกาลัดนั่นเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของหมู่บ้าน ที่สำคัญยังใช้แรงงานน้อย และได้อัตราสูงกว่าข้าว ถึงร้อยละ 40

โดยมีขึ้นตอนการพัฒนาอยู่ 3 ระยะ ได้แก่ ช่วงระยะ 3 ปี แรก จะเป็นขั้นตอนส่งเสริมการปลูกบ๊วยและเกาลัด ทั้งการให้ความรู้ เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจ ระยะที่สองช่วงปี พ.ศ.  2508 – 2511 เป็นช่วงพัฒนาคน โดยมีการจัดกิจกรรมให้คนหนุ่มสาวมีโอกาสเดินทางไปดูงานที่ประเทศต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์และสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้าน และระยะที่สาม ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา เป็นการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นการปรับสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า ปลายทางของการทำ OVOP ของหมู่บ้านโอยามา เน้นไปที่การรวมตัวกันของคนชุมชนเป็นหลัก ในการสร้างสินค้าของชุมชนโดยใช้ผลิตผลทางเกษตรในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบหลักในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด

| OITA ดินแดนฝั่งตะวันออกของเกาะคิวชู

โออิตะ (Oita) เป็นจังหวัดเล็กๆ บนเกาะคิวชู (Kyushu) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น สมัยก่อนได้ชื่อว่า เป็นเขตล้าหลังและมีประชาชนยากจนอย่างมาก เนื่องจากมีพื้นที่ทำการเกษตรอย่างจำกัด และมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้ประสบปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน ปล่อยให้คุณตาคุณยายวันหลังเกษียณอยู่กับบ้านแทน ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้คิดแนวทางแก้ปัญหาโดยพัฒนาสินค้าในชุมชนขึ้นมา โดยมีหลักแนวคิดพื้นฐาน หรือหลักปรัชญา OVOP 3 ประการ ได้แก่ 1.ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล (Local Yet Global) คือการผลิตหรือสร้างสินค้าให้ได้มาตรฐานในระดับสากล แต่ยังคงสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น สี เอาไว้ 2.ลดการพึ่งพาจากภาครัฐ (Self-reliance and Creativity ) คนในชุมชนจะต้องพึ่งพาตนเองได้ ไม่ผูกติดกับนโยบายของภาครัฐ มีอิสระในการคิด สร้างสรรค์ และตัดสินใจด้วยตนเอง 3.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ให้มีความกล้าท้าทายและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลสามารถเป็นผู้นำของชุมชนได้

| ความสำเร็จของ OVOP จากเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่มุมมองระดับสากล

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่โครงการหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ไม่เพียงแค่พลิกชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่น แต่รวมไปถึงผู้คนนับล้านจากหลายประเทศที่ได้นำแนวคิดพื้นฐาน หรือหลักปรัชญา OVOP ไปปรับใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา, จีน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ลาว, กัมพูชา รวมถึงโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า โอทอป (OTOP) ของประเทศไทยนั่นเอง

ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ในโออิตะมีรายได้ต่อหัวต่ำสุดในเกาะคิวชู แต่หลังจากมีการพัฒนา OVOP จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าแล้ว ผู้คนจากที่เคยเดินทางออกไปทำงานนอกพื้นที่ ก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง

| OVOP ผลผลิตจากความภูมิใจของชาวโออิตะ

ปัจจุบันในโออิตะมีผลิตภัณฑ์ OVOP มากกว่า 300 รายการ ที่เป็นทั้งผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ เช่น ผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูปต่างๆ และผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ อย่าง สถานที่ และกิจกรรมต่างๆ

ถ้าพูดถึงสินค้าอันเรื่องชื่อของโออิตะ นอกจากผลผลิตทางการเกษตร อย่าง ผัก ผลไม้ ก็ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงสุดยอดเนื้อ อย่าง โออิตะ บุงโกะ (Oita Bungo Beef  Bungo) ที่แสนอร่อยอีกด้วย ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้เป็นผลมาจากความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพสินค้า OVOP อยู่ตลอดเวลา นอกจากผลิตภัณฑ์ในร้านค้าต่างๆ แล้ว โออิตะยังเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำพุร้อนธรรมชาติผุดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์  ไม่ว่าจะ ศาลเจ้า วัดวาอาราม ซากปราสาท และสถานที่เรียนรู้อีกมากมายที่คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนเข้ามาเยี่ยมชมตลอดปี

| พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือที่สุดของ OVOP

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ถือเป้าหมายสูงสุดของ OVOP นายโมริฮิโกะ ฮิรามัตสึ เชื่อว่า การสร้างผู้นำที่ดี ให้มีกำลังแรงกายและแรงใจ เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เกิดพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง โดยเริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกอบรมในระดับภูมิภาคหลายแห่ง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้นำที่มีศักยภาพกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

หลายปีของการดำเนินโครงการ ทำให้โออิตะเริ่มได้รับการยอมรับ ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่น แต่รวมถึงจากหลายประเทศทั่วโลก นักท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคนหลั่งไหลกันมาเที่ยว นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจำนวนมากเดินทางมาทัศนศึกษาในโออิตะบ่อยครั้ง

ผลสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หรือทำได้เพียงข้ามวัน แต่สิ่งสำคัญคือ ‘พลังของคนในท้องถิ่น’ ที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น รวมถึงความร่วมมือจากภาคส่วนก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานจนได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

________________________________________________________________________

Source :

https://bit.ly/2OuRbNG
https://bit.ly/2YhptIy
https://bit.ly/2Tuu8U1
https://bit.ly/2TZ95hw

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.