“เวลาเป็นสิ่งเดียวที่ย้อนกลับมาไม่ได้
เมื่อเวลาเปลี่ยน ทุกสิ่งรอบตัวเราก็เปลี่ยนตามเช่นกัน”
ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือจำนวนประชากรทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไปจนถึงความแออัดของผู้คน ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวจนทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก ต่างพากันรวมพลังสมองผุดแนวคิดเพื่อช่วยรับมือกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแนวคิดเมืองลอยน้ำ หรือ Oceanix City แห่งนิวยอร์ก ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ‘UN-Habitat’ ผู้ทำงานด้านการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน ‘บริษัทเอกชน Oceanix’ ‘สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์’ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) และ ‘สมาคมวิชาชีพที่สนับสนุนการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก’ (The Explorers Club) ผนึกกำลังผลักดันการสร้าง ‘เมืองลอยน้ำ’ ให้เกิดขึ้นจริง
“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเราจะต้องอยู่บนเมืองลอยน้ำด้วยนะ
หรือพื้นดินบนโลกใบนี้มันไม่พอให้พวกเราอยู่แล้ว”
| โลกเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน
และความจริงอันน่ากลัวนี้กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว เพราะจากผลวิจัยระบุว่า ภายในช่วงเวลานับจากนี้จนถึง พ.ศ. 2573 ประชากรประมาณร้อยละ 60 ของโลก จะต้องเผชิญกับความกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างร้ายแรง ด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ภัยพิบัติสร้างผลกระทบโดยตรงกับมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 90 ของเมืองใหญ่ทั่วโลกที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 10 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมถึงกรุงเทพมหานครของเราด้วย เพราะลักษณะภูมิประเทศบ้านเรานั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่ม ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น โดยความพิเศษของเจ้า Oceanix City ยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญของปัญหาประชากรไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย อันมีสาเหตุมาจากการอพยพ การพลัดถิ่นฐาน การเกิดสงคราม หรือในอีกหลากหลายสาเหตุ ทั้งยังถูกออกแบบให้ทนต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วม สึนามิ หรือพายุเฮอริเคนที่สามารถรับมือได้ถึงระดับ 5 เลยทีเดียว
| เมืองทดแทนแห่งโลกอนาคต
ซึ่งแนวคิดเรื่องโครงสร้างของ Oceanix City แห่งนี้ไม่ได้เกิดจากการถมดิน ทราย หรือวัสดุต่างๆ ลงไปในทะเลเพื่อให้เกิดพื้นที่ใหม่ แต่เป็นการนำไม้ซุง ไม้ไผ่ และวัสดุที่มีความยืดหยุ่นมาเป็นโครงสร้างหลัก โดยออกแบบให้เป็นรูปทรงหกเหลี่ยม สามารถแยกส่วนและถอดประกอบจากบนบกได้ เมื่อถึงเวลาติดตั้งจะต้องทำการยึดเกาะหกเหลี่ยมนี้ไว้กับสมอใต้ท้องทะเล
ซึ่งความสูงเฉลี่ยของเกาะนั้นอยู่ที่ 7 ชั้น เพื่อให้เกิดสมดุลของจุดศูนย์ถ่วงที่มั่นคงต่อการต้านลมและสภาวะรอบข้างที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน พื้นที่บนหลังคายังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแผงโซลาร์เซลล์สำหรับรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์ เพื่อนำพลังงานความร้อนกลับมาใช้ภายในเมือง โดยแท่นหกเหลี่ยมแต่ละแท่นนั้นสามารถรองรับประชากรได้ราว 300 คน ต่อมาจะพัฒนาให้กลายเป็นชุมชนที่มีผู้พักอาศัยได้ถึง 10,000 คน ซึ่งทุกเกาะจะมีพื้นที่กลางแจ้งสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่สำหรับการเกษตรราว 3,000 ตารางเมตร เพื่อตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกๆ ด้าน ไม่ต่างกับการใช้ชีวิตบนพื้นดินเลยล่ะ
| ความหวังของประชากรโลก
แนวคิดการสร้างชุมชนลอยน้ำ Oceanix City กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว โดยเป้าหมายนอกเหนือจากใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ในอนาคตจะถูกพัฒนาเพื่อสร้างโรงพยาบาลลอยน้ำที่สามารถลากไปในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางน้ำได้อย่างรวดเร็ว แต่ก้าวสำคัญก้าวนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องเงินทุน ซึ่งการตั้งถิ่นฐานลอยน้ำขนาดใหญ่อาจดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่กับประชาชน ทั้งยังท้าทายต่อทีมงานผู้สร้างด้วย และการที่จะทำให้ประชาชนและเหล่านักลงทุนเชื่อมั่นได้นั้น อาจต้องเริ่มด้วยการสร้างส่วนต่อขยายขนาดเล็กเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับเมืองที่มีอยู่แล้วในตอนนี้ โดยเลือกจากเมืองใหญ่ๆ อย่าง ฮ่องกง นิวยอร์ก หรือบอสตัน เพราะเป็นพื้นที่ทดสอบที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้มากที่สุด
แต่ความหวังครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเลือนรางจนมองไม่เห็น เพราะในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ อเมริกา เดนมาร์ก และจีน ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรานั้น มีการสร้างพื้นที่ลอยน้ำขึ้นจริงและสามารถใช้งานได้จริง จึงทำให้แนวคิดเมืองลอยน้ำ Oceanix City ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
Sources :
BBC | shorturl.asia/OmDXB
Designboom | shorturl.asia/srvlR
Dezeen | shorturl.asia/bhYR5
The Architect’s Newspaper | shorturl.asia/yTmbi