มองไกลๆ ‘หอพักพยาบาล’ หลังใหม่ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ประกอบด้วยอาคารสูงฉาบปูนสีขาวสบายตา 26 ชั้น เรียงรายไปด้วยห้องพัก 523 ห้อง ดีไซน์ระเบียงสลับเป็นแพตเทิร์นฟันปลายึกยัก (นึกถึงศิลปะกระดาษแบบ Pop-up Craft เหมือนกัน) กลางตึกคว้านเป็นรูปทรงบวก หรือสัญลักษณ์อุณาโลมแดง โลโก้สภากาชาดไทยในอดีต
มากกว่าดีไซน์ด้านนอกที่ไม่ค้านสายตาว่าสวย เก๋ ปัง เขยิบไปมองใกล้ๆ อีกนิด จะพบฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงมากมาย ทั้งอาคารหอพักถูกแยกออกเป็นสองซีก เว้นตรงกลางและด้านข้างไว้รับลมธรรมชาติ พร้อมเปลี่ยนลานจอดรถเก่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือ Public Space ที่พยาบาลสามารถออกมานั่งหย่อนใจ คลายเครียดระหว่างพัก เช่นเดียวกับบริเวณตราอุณาโลมแดงที่ตั้งใจไว้เป็นส่วนกลาง ให้นำต้นไม้มาปลูกได้
แค่นั้นยังไม่พอ มุมอินไซด์ใกล้ชิดคนอยู่อาศัยสุดๆ ที่ Plan Architect บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม เจ้าของผลงานลงไปนั่งล้อมคุยกับพยาบาลว่า “หอพักแบบไหนโดนใจทุกคน” ก็ว้าวตั้งแต่ดีไซน์ระเบียงห้องให้มีองศาเฉียงหลบตาตึกตรงข้ามเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว แยกฝั่งห้องนอนและสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นสองฝั่ง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะสนิทกับรูมเมต (โคตรเรียล) และคำนึงถึงการลดค่าแอร์สูงลิ่วจากสภาพอากาศบ้านเราด้วยเทคนิคระบายความร้อนรอบอาคารยันห้องนอน
01 หอพักพยาบาลที่เป็นมากกว่าห้องติดๆ กัน
วรา จิตรประทักษ์ และ เมฆ-นภสร เกียรติวิญญู สองสถาปนิกจาก Plan Architect ผู้เปลี่ยนอาคารซอมซ่อ 4 ชั้น ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้เป็นหอพักพยาบาลจุฬาฯ 26 ชั้น ในพื้นที่ 32,000 ตารางเมตร ที่ไม่ว่าคุณจะขยับไปทางไหน จะพบแนวคิดการออกแบบอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัยจริงๆ
“พวกผมรับงานนี้เพราะอยากแสดงตัวตนในฐานะเด็กสถาปัตย์คนหนึ่ง ที่ตอนสมัยเรียนเราโดนดูถูกว่า หอพักก็ทำได้แค่อาคารซ้ำๆ ปั๊มๆ ขึ้นมา ดูไม่มีสาระอะไร และบางคนอยากทำหอพักเป็นธีสิสก็โดนอาจารย์ติว่ามันง่ายไปไหม ไม่ได้โชว์ของเลย พอเราได้โจทย์นี้จากทางจุฬาฯ เลยอยากเปลี่ยนฐานคิดของคนว่า เป็นได้มากกว่าห้องเรียงๆ ก๊อบวางนะ มันคือการสร้างทรัพยากรให้คนเข้าไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและแฝงแนวคิดการใช้งานต่างหาก” วรากล่าว
“สิ่งที่เราอยากทำจึงเป็นการสื่อสารตัวตนว่าอาคารนี้มีภาพลักษณ์อย่างไร องค์กรอะไร มองแวบแรกรู้เลยว่า อ๋อ พยาบาลอยู่แหงๆ แต่คนต้องคิดแล้วว่า พยาบาลที่นี่คุณภาพชีวิตดีว่ะ ซึ่งเราก็ไม่ได้ตั้งธงว่า เฮ้ย ต้องแตกต่างจากหอพักพยาบาลอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ได้แช่แข็งดีไซน์เก่าๆ ไว้เหมือนกัน พวกเราแค่ลงลึกกับโจทย์ว่า คนอยู่อยากแก้ปัญหาอะไร หอพักแบบไหนที่เขาอยากอยู่ ทำให้มันดูใหม่จากการวิเคราะห์ปัญหา” เมฆเสริม
บรีฟจากโรงพยาบาลจุฬาฯ คือต้องการขยับขยายอาคารเก่าเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของแผนกและจำนวนพยาบาล โดยมีลิสต์คร่าวๆ ว่า พยาบาลไม่ค่อยเปิดแอร์เพราะอยากประหยัดค่าไฟ ถ้าอยู่ได้โดยมีลมผ่านเข้ามาในห้องหรืออาคารจะเลิศมาก! นอนห้องละ 2 คน จากการสุ่มรูมเมต อาคารมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ และต้องเป็นส่วนตัว
ลม ความเป็นส่วนตัว รูมเมต ระเบียง ต้นไม้ เป็นคีย์เวิร์ดหลักของหอพักพยาบาลแห่งนี้ ซึ่งทั้งคู่นำกลับไปตกตะกอน และตัดสินใจได้ว่า งั้นลงไปถามคนที่ต้องอยู่จริงๆ เลยดีไหมล่ะ จะได้ถูกใจมากที่สุด!
02 แทนค่าตราพยาบาลเป็น ‘สวน’ กลาง
Nurses’ Need : “ชอบปลูกต้นไม้ อยากมีพื้นที่ส่วนกลาง”
ต้นไม้ + ส่วนกลาง = สวนกลาง เป็นสมการที่เกิดขึ้นบนรูปทรงตราอุณาโลมแดงกลางตึกที่ Plan Architect ย่อยระหว่างความชอบปลูกต้นไม้ของพยาบาลที่นี่ และการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางเพื่อให้ชีวิตของพยาบาล ไม่ได้มีแต่งาน งาน งาน พอมีที่พักผ่อนระหว่างวันได้
“การดึงตราอุณาโลมแดงมาทำเป็นส่วนกลาง เราเริ่มจากคำถามว่า อาคารตรงนี้มันจะดูเป็นหอพักของสภากาชาดยังไงดี อยากใส่ความเป็นตัวตนลงไป แต่ Simplify มันให้ง่ายๆ (ไม่ได้เอาเลขบวกสีแดงมาแปะ) เลยพยายามดีไซน์มันด้วยการคว้านตรงกลางโดยมีโครงสร้างเป็นไม้สังเคราะห์ เพื่อให้คนอยู่อินกับมัน ได้ทั้งความเป็นแบรนด์ ความเป็นองค์กร ความเป็นอาชีพ ในเวอร์ชันไม่โบราณ”
ปกติการคว้านรูปทรงกลางอาคารแบบนี้ สถาปนิกมักเคลียร์ไม่ให้เห็นเสา แต่วรากับเมฆเลือกเก็บเสาอาคารไว้ทั้งหมด เพื่อให้เห็นโครงสร้างที่ดูง่ายๆ ไม่จริงจังมาก โดยเลือกไม้สังเคราะห์สีซอฟต์ ปลวกไม่ขึ้น ไม่เหนียว ไม่ยืด ไม่หด เหมาะกับผู้ใช้งานที่ไม่สามารถดูแลตลอดเวลา
ดีเทลของรูปทรงอาคารบริเวณนี้ วราอธิบายต่อว่า อยากทำเป็นลักษณะขั้นบันได ที่เชื่อมโยง 3 – 4 ชั้น เข้าด้วยกัน ซึ่งพยาบาลสามารถออกมาใช้พื้นที่นี้ได้สะดวก โดยแบ่งพื้นที่ด้านข้างเตรียมไว้สำหรับที่นั่งพัก เม้ามอยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ และเผื่อพื้นที่ไว้ปลูกต้นไม้ตามขั้นบันไดที่ได้รับทั้งลม ทั้งแดด ดูท่าเมื่อไหร่คนเริ่มใช้งานส่วนนี้เรื่อยๆ จนเห็นเป็นสีเขียวเต็มตราอณุโลมแดง คนนอกมองเข้าไปคงมีเสน่ห์และร่มรื่นไม่ใช่น้อย
03 ห้องนอนที่ส่วนตั๊ว ส่วนตัว
Nurses’ Need : “ไม่ได้สนิทกับรูมเมตขนาดนั้น”
แทบจะเป็น 24/7 เลยก็ว่าได้ที่เหล่าพยาบาลต้องใช้ชีวิต ทำงาน และดูแลคนไข้ ดังนั้น ‘ห้องนอน’ จึงควรเป็นพื้นที่สบายใจ เดินไปหย่อนตัวลงเตียงเมื่อไหร่ก็ไม่อึดอัด
“พยาบาลต้องแชร์ห้องกับรูมเมตที่จับสลากเข้ามา ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้ซี้กัน และไม่ได้อยากนอนฝั่งเดียวกัน หรือแชร์ของกันเลย” พยาบาลบอกความต้องการให้วราและเมฆฟัง
“สิ่งที่เราทำคือ แบ่งพื้นที่ห้องเป็นโซนซ้ายขวา เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวและไม่ทะเลาะกัน สุงสิงกันน้อยที่สุด เตียงหันคนละฝั่งแบบปลายเตียงชนกัน ทีวีคนละเครื่อง ตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า แบ่งคนละฝั่งชัดเจน โต๊ะทำงาน โต๊ะเครื่องแป้ง ก็แยก ส่วนกลางมีแค่โซนตู้เก็บอาหาร ห้องน้ำ และทางเดินกลางที่สามารถเดินตรงไปทางระเบียงที่ใช้ร่วมกัน แน่นอนว่าระเบียงก็ต้องมีราวตากผ้าคู่ให้ (หัวเราะ) ซึ่งตอนแรกถึงขั้นจะมีม่านกันโซนแบ่งพื้นที่กันชัดเจนเลยนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ เพราะต้องหาจุดตรงกลาง” วราว่า
เมฆเสริมต่อว่า พออยู่กันสองคนในห้องเดียวทำให้ผู้ใช้กังวลเรื่องการใช้เสียง ก่อนถึงโซนที่นอน เขาจึงทำประตูสไลด์ 2 ชั้นกั้นไว้ ประกอบด้วยบานทึบและมุ้งลวด เพื่อไม่ให้เสียงเล็ดลอดเข้ามา ซึ่งความพิเศษตรงนี้คือ เมื่อไหร่ที่อยากได้ความเป็นส่วนตัวก็ปิดบานทึบ แต่หากอยากรับลม ก็เปิดบานทึบให้เหลือแต่ประตูมุ้งลวด พร้อมๆ กับเปิดประตูระเบียงให้เกิดการถ่ายเทอากาศ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในห้องนอน
04 ระเบียงฟันปลาพรางตาคนนอกห้อง
Nurses’ Need : “ไม่อยากให้ใครมองตอนตากผ้า”
Façade หรือ เปลือกอาคารด้านนอก แทบเป็นจุดเด่นที่สุดของหอพักพยาบาลจุฬาฯ แห่งนี้ ด้วยอะลูมิเนียมสีขาวและรูปทรงฟันปลาหักไปหักมาอันเป็นเอกลักษณ์ แฝงฟังก์ชันหลักคือ ‘ไม่อึดอัดตอนตากผ้า’
“พอมันเป็นอาคารสูง มันก็มีโอกาสปะทะกันกับอาคารตรงข้าม ต่อให้มีระแนงหรือแผงกั้นก็ยังเป็นเป้าสายตาของคนอีกตึกได้ ซึ่งพยาบาลที่นี่รู้สึกไม่สะดวกใจจนไม่อยากออกมาใช้ระเบียงเลยด้วยซ้ำ พวกเราเลยตั้งใจทำระเบียงเป็นฟอร์มหักไปหักมาแบบฟันปลา เวลาที่ยืนเกาะระเบียงแต่ละห้องจะมองเฉียงออกไป ทำให้ไม่ปะทะหน้ากับอาคารตรงข้ามร้อยเปอร์เซ็นต์ คล้ายๆ กำหนดพฤติกรรมผู้อยู่อาศัยแบบเนียนๆ”
Nurses’ Need : “ปลูกต้นไม้ริมระเบียง”
Housekeeper’s Need : “ป้าขอทำความสะอาดง่ายๆ นะลูก”
วราอธิบายเพิ่มว่า อีกโจทย์หนึ่งที่เขาได้รับคือพยาบาลที่นี่อยากปลูกต้นไม้ริมระเบียงห้องนอน เขาจึงมานั่งคิดว่าจะใช้วิธีไหนให้แดดส่องลงมาตรงระเบียงได้ง่ายที่สุด การทำระเบียงยึกยักแบบที่กล่าวไป จึงเพิ่มกิมมิกให้แต่ละชั้นเหลื่อมกันนิดหนึ่ง พอเหลื่อมปั๊บ จะทำให้เกิดพื้นที่ด้านบนหลังคาที่ทำให้แสงส่องเข้ามาตามแนวเฉียงได้มากขึ้น เหมาะแก่การปลูกต้นไม้ และตากผ้ามากที่สุด โดยพื้นที่ตรงระเบียงจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมคางหมู ไว้สำหรับแบ่งพื้นที่กันสองคน
เมฆตื่นเต้นจนแทรกขึ้นมาว่า เขาดีใจมากที่ครั้งนี้ได้มีโอกาสลงไปพูดคุยกับหัวหน้าแม่บ้านถึงความสะดวกในการทำความสะอาด ครั้งแรกเขาทำ Façade เป็นซี่หมด หัวหน้าแม่บ้านก็ช่วยคอมเมนต์ว่าเช็ดไม่ได้ เช็ดทีละซี่ลำบาก ครั้งที่สองเขาทำแบบเจาะรู ก็พบว่าลมผ่านน้อย ไม่ตอบโจทย์เรื่องการระบายอากาศ ตรงกลางของคำตอบจึงเป็น ทำแบบรูครึ่งหนึ่ง ซี่ครึ่งหนึ่ง เช็ดได้ด้วย ลมผ่านด้วย!
04 ร้อนๆ แบบนี้ รับลมหน่อยไหม
Nurses’ Need : “ตอนเที่ยงอากาศร้อน (มาก) อาคารควรระบายอากาศ”
Cross Ventilation หรือการระบายอากาศในอาคาร เป็นพระเอกชูโรงที่วราและเมฆคิดไว้ตั้งแต่แรกว่ายังไง๊ ยังไง ก็ต้องทำ เพื่อให้อาคารนี้ร้อนน้อยที่สุด
อย่างที่บอกไปว่าหอพักพยาบาลจุฬาฯ ถูกแยกเป็นสองซีก เพื่อให้เหลือพื้นที่ตรงกลางไว้เป็นลิฟต์ และบันได ซึ่งระยะระหว่างทางเดินของอาคารสองฝั่งเนี่ยแหละเป็นจุดที่ง่ายต่อการรับลมเข้ามา
“ตรงกลางเราทำเป็นช่องลมระหว่างชั้นล่างและตัวกลางอาคาร ซึ่งเป็นจุดที่ลมส่วนใหญ่จะพาตัวเองเข้ามา และพอมันผ่านโถงตรงนี้ จะกระจายตามห้องต่างๆ ที่เปิดประตูมุ้งลวดทิ้งไว้
“เทคนิคที่ใช้คือข้างบนสุดของอาคารเราทำเป็น Sky Light เหมือนปล่องที่รับแสงเข้ามา อุณหภูมิตรงนี้จะค่อนข้างสูง พอกลางวันอากาศร้อนๆ จะช่วยดูดอากาศให้ลอยตัวสูงขึ้นไปด้านบน ซึ่งเราติดเกล็ดระบายอากาศด้านข้างไว้ ทำให้เป็นฟันเฟืองที่ดึงความร้อนออกไป โดยช่องลมระบายอากาศด้านล่าง ด้านข้าง และตรงกลาง จะช่วยดึงลมเย็นเข้ามาแทรกแทนที่”
ทั้งคู่บอกว่ากว่าจะสำเร็จ ต้องต่อสู้กับหลายอย่างมาก เพราะการจะเอาลมธรรมชาติเข้ามาในอาคารสูงต้องคำนึงถึงระบบป้องกันไฟและควัน นั่นทำให้เขาต้องพูดคุยกับหัวหน้าช่าง ถึงการวางอุปกรณ์ การซ่อมบำรุง รวมไปถึงวิศวกรระบบต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างเวิร์กและปลอดภัยที่สุด
05 หอพักพยาบาลที่คนอยู่ร่วมกันสร้าง
จากวันแรกจนถึงวันนี้ที่ผู้ใช้ได้เข้าไปใช้ชีวิตในหอพักพยาบาลจุฬาฯ นับเป็นความภาคภูมิใจของ Plan Architect ที่เริ่มด้วยเป้าหมายมากกว่าแค่สวยและจบลงด้วยคนอยู่ใช้งานได้เกิดประโยชน์สูงสุด
ที่สำคัญพวกเขายังเนรมิตพื้นที่สีเขียวด้วยการทำงานร่วมกับทีม Landscape สร้างสรรค์ต้นไม้และสวนสบายตาตั้งแต่หน้าอาคาร ไหลเข้าไปทะลุอาคาร และไปจบที่สวนส่วนกลางแสนสงบที่โอบล้อมอาคารหอพักซึ่งสร้างบนพื้นที่จอดรถเก่า
“ตรงนี้เป็นที่จอดรถก่อนจะถึงส่วนตรวจรักษาของ รพ. ซึ่งมันค่อนข้างแน่น มองลงไปเต็มไปด้วยตึก พยาบาลมองไม่เห็นอะไรเลย อย่างน้อยๆ พยาบาลที่อยู่เวรตลอดก็อยากมีพื้นที่นอกอาคารบ้าง เพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อจนเกินไป พื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นสวนสงบที่คนสามารถเข้ามาพักผ่อนได้
“ผมว่าหอพักนี้ดีตรงที่เราเริ่มมาจากคนใช้งานจริง เราไม่ได้ถามแค่พยาบาล แต่เราเรียกทีมช่างแต่ละแผนก แม่บ้าน ผู้บริหาร รปภ. มานั่งล้อมวงวิจารณ์งานของเรา ว่าตรงไหนดี ตรงไหนไม่ดี” ทั้งคู่ว่า
วราและเมฆเป็นตัวแทนจาก Plan Architect ก็จริง แต่พวกเขาอยากส่งสารในฐานะสถาปนิกคนหนึ่งที่เชื่อว่าคุณค่าของสถาปัตยกรรมมีมากกว่าความงาม เพราะแต่ละอาคารนั้นแฝงไปด้วยมิติ แนวคิด และประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน
ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่ใช่แค่เปลือกนอกที่ดีอย่างเดียว สำคัญที่เปลือกในต้องดีด้วยต่างหาก
ภาพ : PanoramicStudio