Nuaynard เครื่องหอมอีสานที่ดังไกลถึงต่างประเทศ - Urban Creature

‘Nuaynard’ เห็นชื่อครั้งแรกนึกว่าเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ที่ไม่เคยรู้จัก แต่พอลองสะกดตามทีละคำ มันคือคำภาษาไทยที่อ่านว่า ‘นวยนาด’ ศัพท์ไทยสมัยก่อนที่สื่อถึงการเดินเยื้องกราย หรือการกระทำที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

ตรงกับไลฟ์สไตล์ของ ‘คุณปุ้ม-นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์’ กับ ‘คุณว่าน-ปกาสิต เนตรนคร’ เจ้าของแบรนด์นวยนาด ที่เริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบอย่างการทำสบู่ แล้วค่อยๆ พัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สกินแคร์และเครื่องหอมภายในบ้าน จนกลายเป็นแบรนด์ที่เดินทางมานานกว่า 6 ปี โดยหยิบของดีในท้องถิ่นจากจังหวัดโคราชอย่างวัตถุดิบจากธรรมชาติ ทักษะฝีมือของชาวบ้าน รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ของคุณปุ้มและคุณว่าน ออกมาเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์และสร้างมูลค่าส่งออกไกลถึงต่างประเทศ 

(Photo : THINKK Studio)
| เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวเป็นตัวนำทาง

จุดเริ่มต้นของแบรนด์นวยนาดเริ่มมาจากคุณปุ้มชอบทำสบู่เป็นงานอดิเรก ในขณะนั้นทั้งคู่ทำงานฟรีแลนซ์อยู่ที่กรุงเทพฯ จึงทำสบู่ไว้ใช้เองหรือให้คนใกล้ตัวใช้อยู่ตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาคิดกันเล่นๆ ว่าลองทำขายกันดีไหม

จากประโยคพูดเล่นก็เริ่มกลายเป็นเรื่องไม่ใช่เล่นๆ ไปแล้ว เมื่อได้ลงมือทำร้านขายสบู่กันอย่างจริงจัง บวกกับขณะนั้นต้องเดินทางไปโคราชอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นบ้านพักของคุณว่านที่หมู่บ้านซับศรีจันทร์ ในอำเภอสีคิ้ว ทำให้พวกเขากลับมาคิดว่า สภาพแวดล้อมของโคราชมีวัตถุดิบที่น่าสนใจอยู่หลากหลาย และสามารถนำมาต่อยอดทำโปรดักต์ของนวยนาดได้ จึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะปักหลักถิ่นฐานที่โคราช โดยหยิบสิ่งของใกล้ตัวในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

“หมู่บ้านที่นี่จะใช้น้ำฝนกับน้ำซับ หรือน้ำที่ผุดขึ้นมาจากดิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำธรรมชาติที่สะอาด ส่วนใหญ่ชาวบ้านเอามาใช้อุปโภคบริโภค เราเห็นว่าการทำสบู่ต้องมีพื้นฐานมาจากน้ำ เพราะเคยไปอ่านต้นกำเนิดของการทำสบู่มันก็ทำมาจากน้ำฝนและไขมันของขี้เถ้าเหมือนกัน แล้วความด่างของน้ำฝนและน้ำซับก็เหมาะแก่การทำสบู่ด้วย”

วิถีชีวิตของคนภาคอีสานมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร คุณปุ้มและคุณว่านจึงได้แรงบันดาลใจนำมาทำเป็นคอลเลกชันจากธรรมชาติอย่างสบู่ใบย่านาง ซึ่งเป็นผักท้องถิ่นในภาคอีสานที่ให้ความอร่อยแล้วยังช่วยชะลอการเกิดริ้วรอย สบู่ครามอินทรีย์สะท้อนมาจากวิถีชีวิตของคนอีสานโบราณ หลังกลับจากทำสวน ชาวบ้านก็จะนำผ้าย้อมครามมานึ่ง ทำให้เกิดไอน้ำแล้วนำมาประคบผิว ช่วยบรรเทาการอักเสบจากแสงแดด และสบู่ไวน์หมากเม่า ผลไม้ป่าของอีสานที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่อุดมไปด้วยวิตามินซีมากมาย

| หินทราย ตัวเชื่อมการทำงานกับชาวบ้าน

เมื่อคุณปุ้มและคุณว่านตั้งใจจะใช้ชีวิตอยู่ที่โคราชเต็มตัว เขาก็เริ่มมองหาสิ่งของใกล้ตัวในพื้นที่มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์นวยนาด “มันเริ่มจากที่เราขับรถผ่านถนนมิตรภาพ เส้นที่ไปกลับกรุงเทพฯ-โคราช เราก็เห็นว่าตลอดสองข้างทางมีองค์พระหินทรายเต็มไปหมด นั่นทำให้เรารู้จัก ‘หินทราย’ ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้ว และที่นี่มีช่างฝีมือดีๆ เยอะมาก เราก็คุยกับว่านว่า เราสามารถทำอะไรกับหินทรายได้บ้างไหม เราก็เลยลองเอาพวกเศษหินทรายกลับมาล้างและแช่น้ำดู ก็ค้นพบว่ามันมีฟองอากาศลอยออกมา มีลักษณะรูพรุนและเนื้อไม่แน่น สามารถทำเป็น Diffuser ได้นะ

“เราทำเทียนหอมอะโรมา ในส่วน Diffuser ก็ต้องมาดีไซน์และทำงานร่วมกับช่างอำเภอสีคิ้ว ซึ่งก็ต้องหาคนที่สามารถทำของชิ้นเล็กๆ ให้กับเราได้ เพราะปกติช่างหินทรายจะแกะสลักงานชิ้นใหญ่อย่างองค์พระ ซึ่งมันต้องใช้เวลานานพอสมควรในการแลกเปลี่ยนความรู้ของเรากับช่างให้เข้าใจตรงกันว่า เราเอาวัสดุนี้ไปทำอะไร เพื่ออะไร มันเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งเขาและเราว่าสิ่งที่ทำอยู่มันสามารถทำได้มากกว่านั้น

“ส่วนตัวถ้วยบรรจุเทียนหอม เป็นถ้วยดินเผาของบ้านด่านเกวียน เราทำกับช่างเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งชุมชนในโคราชขึ้นชื่อเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผามาก เราก็จะใช้ดินจากโคราชมาเผาด้วยความร้อนสูง เพื่อให้ปะทุจนเกิดเป็นลวดลายจากแร่ธาตุในดิน ทำให้ถ้วยแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน

“ส่วนเรื่องกลิ่นของตัวเทียนก็จะเป็นหน้าที่ของเรากลับมาทำที่บ้าน การดีไซน์กลิ่นในแบบฉบับของนวยนาด แต่ก่อนเริ่มต้นจากการทำสบู่ที่ยังไม่ค่อยมีกลิ่นมากนัก เราก็เลยอยากนำเสนอกลิ่นให้มีความเป็นไทยโดยไม่ต้องใส่ชุดไทยมานั่งอธิบาย จึงได้แรงบันดาลใจจากน้ำอบมาเล่าใหม่เป็นสองชนิด

“คือ กลิ่นชื่นใจ ที่ได้แรงบันดาลใจจากน้ำอบไทยที่รวมกลิ่นดอกไม้มงคลของไทย เช่น ดอกกุหลาบมอญ ดอกกระดังงา ดอกพิกุล และดอกปีบ และกลิ่นชื่นจิต มาจากธรรมชาติของเปลือกไม้ในป่าที่ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในสปา ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานร่วมกันสามคนในโปรดักต์หนึ่งชิ้น”

ระหว่างที่คุณปุ้มเล่าถึงการทำเทียนหอมอะโรมา ยังพูดถึงความประทับใจในการทำงานร่วมกับช่างด้วยว่า “ตอนแรกเลยที่เราเอาแบบร่างตัวฝาเทียนไปให้ช่างดู เขาก็บอกว่าทำไม่ได้หรอก เพราะไม่เคยทำงานขนาดเล็กมากๆ มาก่อน พอลองทำออกมาฝาก็ยังหนาอยู่ 1 – 2 เซนติเมตร เราก็ถามว่าบางกว่านี้อีกได้ไหม ผ่านไปสองถึงสามครั้งก็ยังทำไม่ได้ จนสุดท้ายเขาก็ทำฝาเทียนได้บางมาก 0.4 – 0.5 เซนติเมตร

“แววตาเขาเปล่งประกายมากตอนที่ทำสำเร็จ
มันคือภาพประทับใจเรามาก
ซึ่งเขาไม่คาดคิดว่าจะสร้างงานได้เหนือกว่าสิ่งที่เขาคิด

“เราก็บอกกับช่างว่า ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะทำได้บางขนาดนี้ ตัวช่างเองก็ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าเขาจะทำได้ เพราะการทำหินทรายให้บางเป็นเรื่องที่ยากมาก โอกาสแตกสูงมาก ช่างส่วนใหญ่จะเลี่ยงทำงานเล็กๆ แต่โปรดักต์ของเราช่วยเปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ลองใช้ศักยภาพที่เขามีให้ทำได้มากกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ แล้วช่างเองเขาก็สนุกที่ได้หาเทคนิคใหม่ๆ มาพัฒนาโปรดักต์ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ใช้เวลาเป็นปีอยู่เหมือนกัน เพราะตัวช่างเองก็ต้องฝึกฝน เราเองก็ต้องปรับตัวไปกับช่างด้วย” 

| นวยนาดสอนให้อยู่กันแบบพึ่งพาอาศัย

การทำแบรนด์นวยนาดได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับชีวิตและชุมชน คุณปุ้มเล่าว่าจริงๆ ไม่ได้คิดว่าการทำแบรนด์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนได้ แต่การทำแบรนด์มันทำให้คุณปุ้มและคุณว่านเติบโตและเรียนรู้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

“เรื่องชุมชนเราไม่ได้เปลี่ยนหรอก และเราก็ไม่กล้าเปลี่ยนอะไรเขาด้วย นี่พูดตรงๆ เลย (หัวเราะ) เขาก็อยู่ของเขาได้ พวกเราใช้ชีวิตกันแบบพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า หลายๆ ครั้งเราก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนในหมู่บ้านด้วยซ้ำ อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ที่บ้านเรา มันเป็นไฟป่าที่เข้ามาทางหลังบ้าน แล้วตอนนั้นเราไม่อยู่บ้าน ก็มีชาวบ้านและน้องที่เคยมาช่วยงานเป็นคนช่วยดับไฟ และช่วยตามชาวบ้านมาดับไฟด้วย พอมาถึงที่ทุกอย่างก็เคลียร์หมดแล้ว ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่เราซึ้งใจมาก ถ้าไม่ได้เพื่อนบ้านที่ดีแบบนี้ บ้านเราก็อาจโดนไฟไหม้ไปแล้ว

“หรืออย่างบางทีเขาได้ปลามา ได้ผักมา เขาก็เอามาแบ่งปัน บางทีเราอยากได้อะไรแล้วที่ตลาดอาจจะไม่มีขาย เช่น อยากได้หัวปลีมาทำกับข้าว ก็ไปถามเขาว่ามีไหม มีอะไรก็แบ่งปันกัน คือไม่ได้เอาเงินไปแลกมา แลกกันด้วยเรื่องอาหารการกินและประสบการณ์มากกว่า”

| นวยนาด จากโคราชดังไกลไปต่างประเทศ

รู้สึกอย่างไรที่ทุกวันนี้แบรนด์นวยนาดเป็นที่รู้จักในต่างประเทศแล้ว “ตอนนั้นแบรนด์นวยนาดได้รับรางวัลดีไซน์จาก DEmark (Design Excellence Award) จากตัวเทียนหอม และร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เขาก็คัดเลือกโปรดักต์เราไป มันก็ทำให้เราสามารถเอาสิ่งที่ทำกับชุมชน ทำกับดิน ทำกับช่างจากฝีมือ ช่างหินทราย ออกสู่นอกประเทศให้คนอื่นได้เห็นว่าเมืองไทยมีอะไรแบบนี้ด้วยนะ เพื่อให้คนได้เห็นฝีมือของคนโคราชในรูปแบบใหม่ นอกจากแค่ดินด่านเกวียนที่มักจะใช้ปั้นเป็นตุ๊กตาดิน กระถางต้นไม้สีน้ำตาล หินทรายที่เอาไว้แค่แกะสลักองค์พระ หรือนำหินไปทำเป็นกระเบื้องประดับตกแต่งบ้าน ซึ่งจริงๆ มันสามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้นะ ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“เราให้โอกาสโปรดักต์ได้เดินทางเพื่อโชว์ให้เห็นว่า
ฝีมือคนโคราชก็มีดีนะ

“มันก็เลยได้รับความสนใจจากต่างชาติเป็นพิเศษ เพราะเขาชอบงานคราฟต์กัน อย่างอิตาลีเรื่องหินเขาก็ดังอยู่แล้ว เราก็เลยลองเอาหินทรายของเราไปที่มิลานดู ไปให้คนอิตาลีเขาเห็นว่าหินบ้านเราก็มีดีนะ มีหินที่มีสีสวยเป็นธรรมชาติเหมือนกัน และทำเป็นฟังก์ชันอื่นได้อีกด้วย”


สามารถเข้าไปสัมผัสความชื่นจิตชื่นใจของแบรนด์นวยนาดได้ที่ :
– Website : www.nuaynardhandcraft.com
– Facebook : n u a y n a r d

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.