คำอธิบายที่เข้าใจง่ายของนวัตกรรมคือการคิดค้นสิ่งใหม่ จึงไม่แปลกที่คนทำงานด้านนี้จะไม่ยอมอ่อนข้อต่ออดีต สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ระบุไว้ว่าตัวเองเป็นองค์กรหัวก้าวหน้า และเมื่อได้พูดคุยกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA ก็พบว่าพวกเขากำลังพยายามล้างภาพจำหน่วยงานรัฐที่เคยติดตา และมีกลไกสำคัญคือ พนักงานถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของที่นี่เป็นคนรุ่นใหม่ และ First Jobber ซึ่งพนักงานเหล่านี้ก็ไม่ได้มีหน้าที่ทำตามนายสั่ง เพราะมีวัฒนธรรมองค์กรที่บอกว่าทุกคนเสนอโครงการได้เท่าที่อยากทำ แต่มีข้อแม้ว่าต้องเรียนรู้ทุกกระบวนการของงานชิ้นนั้นตั้งแต่เริ่มต้น
วัฒนธรรมและวิธีการทำงานหลายอย่างที่ราวกับลบภาพจำหน่วยงานราชการที่คุ้นเคยกันไปโดยสิ้นเชิง NIA มีการสนับสนุนให้คนทำงานอ่านติดตามทุกข่าวสารทั้งแบบภาพรวมและเจาะลึกไปในแต่ละอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องก้าวให้ทันคนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัปที่ผุดขึ้นทุกวัน หรือองค์กรเอกชนที่ไม่เคยหยุดพัฒนา และตัวผู้บริหารสูงสุดยังไม่ปิดกั้นหากเก่งจากที่นี่แล้วจะไปโตที่อื่น เปิดโอกาสให้ค้นหาตัวเองได้เต็มที่ ภายใต้ความเป็นมืออาชีพ เพราะอยากให้ที่นี่เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
NIA คืออะไร
หน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ทำงานกับภาคเอกชนและภาคสังคมเป็นหลัก แต่ก็มีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน คนรุ่นใหม่ รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่อยากนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาแปลงเป็นนวัตกรรมและสามารถใช้งานได้จริง
เป้าหมายของเราคือทำให้ประเทศมีระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็ง ตอบโจทย์อนาคตในระยะสั้น กลาง ยาว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยระบบที่แข็งแกร่ง คนรุ่นใหม่ที่พึ่งเข้ามาอยู่ในระบบ หรือผู้ที่อยู่มานานแล้วก็ต้องมีการพัฒนาความสามารถให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหัวใจสำคัญของการพัฒนาคือคน ถัดมาคือการมีแพลตฟอร์มแล้วก็โครงสร้างที่เอื้อให้พวกเขาเหล่านั้นได้แสดงฝีมือ
NIA ทำงานร่วมกับ ‘คนรุ่นใหม่’ เหล่านั้นอย่างไรบ้าง
เป้าหมายหลักของ NIA แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ภาคธุรกิจ กับนักเรียนนักศึกษา น้อง ๆ ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงานร่วมกับเราได้ตั้งแต่วันแรกที่อยากจะเป็นนวัตกรหรือเจ้าของกิจการ ไม่ต้องรอให้เรียนจบเพราะเรามีโครงสร้างและเครื่องมือที่จะสนับสนุนให้เข้าใจว่าการจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ ต้องทำอย่างไร จะฟอร์มทีมได้อย่างไร ไปจนถึงการเข้าหาแหล่งทุน ประสานงานกับภาครัฐ จนถึงการเติบโตไปสู่ตลาดหุ้น มีทั้งการสนับสนุนทางการเงิน และการสนับสนุนทางความสามารถรายบุคคล
สำหรับองค์กรหรือภาคธุรกิจเน้นไปที่การทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะแสวงหานวัตกรรมซึ่งนำไปสู่การลงทุน บทบาทจะเป็นพาร์ตเนอร์กัน ไม่ใช่ NIA เป็นผู้รับบริการ
อะไรคือความหมายของนวัตกรรม
สิ่งที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แยกได้ 2 ประเภท ส่วนแรกคือการหารายได้ เป็นนวัตกรรมในรูปแบบสินค้าที่ผู้คนยอมจ่าย มีทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ แต่บ่อยครั้งนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องแสวงหารายได้เพียงอย่างเดียว เช่นนวัตกรรมบริการภาครัฐที่ทำให้ระบบราชการบริการประชาชนได้ดีขึ้น หรือนวัตกรรมสังคมที่ไม่ได้วางรายได้เป็นตัวตั้ง แต่ให้ประโยชน์ของสังคมเป็นกำไรแทน ในอดีตที่ผ่านมาคนมักจะเข้าใจว่านวัตกรรมคือสินค้าไฮเทค ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป
นวัตกรรมจะเข้าไปช่วยพลิกชีวิตหรือพลิกธุรกิจให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
มีอยู่แค่ 2 มุม คือคุณเป็นผู้สร้างนวัตกรรม กับเป็นผู้ใช้งาน ถ้าเป็นผู้สร้างก็แน่นอนว่าทำเพื่อกำไรแต่ความเสี่ยงก็ตกอยู่ที่ตัวเองเยอะ เพราะสิ่งที่สร้างขึ้นมาอาจไม่ได้เกิดการยอมรับเสมอไป สถานะของคุณจึงตั้งอยู่บนความเสี่ยง ในขณะที่คนใช้เป็นผู้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับ ในสิ่งที่คุณเองก็ไม่แน่ใจนักว่ามันคือนวัตกรรมหรือเปล่า จะทราบก็ต่อเมื่อคุณมีประสบการณ์ตรงในการใช้งานสิ่งนั้น และมีผลให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น และคนอื่นก็เริ่มจะใช้ตาม นี่แหละคือสิ่งที่นิยามว่าเป็นนวัตกรรม
เวลาจะคิดนวัตกรรมอะไรสักอย่างมาแก้ปัญหาให้ผู้คน เราควรตั้งโจทย์จากอะไรบ้าง
การตั้งโจทย์จากปัญหาเป็นการมองนวัตกรรมมุมแคบ เป็นการมองว่าจะแสวงหาประโยชน์จากปัญหานั้นได้อย่างไร เป็นการคิดจากความต้องการของผู้บริโภคที่โจทย์ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น รถติด น้ำเสีย กระบวนการผลิตแพงจะลดต้นทุนอย่างไรก็ไปแสวงหาองค์ความรู้มาใช้ นำมาประยุกต์ลองผิดลองถูกถ้าดีก็ใช้ต่อ ไม่ดีก็เปลี่ยน
แต่นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการหรือจากปัญหาเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นวันแรกที่เรามีรถยนต์ วันแรกที่เรานั่งเครื่องบิน วันแรกที่เรามีโทรศัพท์ จนในที่สุดสิ่งเหล่านี้กลายเป็นของสามัญและไม่ใช่นวัตกรรมอีกต่อไปแล้ว โจทย์มาจาก Supply ทั้งนั้นไม่ใช่การคิดตาม Demand คนที่มีองค์ความรู้วาดภาพว่าถ้าคนใช้สินค้าที่ยังไม่มีในตลาดชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร
เพราะฉะนั้นมันมีสองฝั่งเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน คุณจะทำนวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำจากโจทย์ก็ต้องยอมรับว่าการแข่งขันสูง เพราะทุกคนก็เห็นโอกาสนี้เหมือนกัน ใครก็อยากเข้ามาแก้ปัญหานี้ ในขณะที่อีกโจทย์หนึ่งเป็นการสร้างพฤติกรรมใหม่ของมนุษย์ ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นสักที
5G หรือ AI ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลก ถือเป็นนวัตกรรมหรือเปล่า
5G คือเทคโนโลยีเจเนอเรชันที่ 5 ของเครือข่ายโทรคมนาคม ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าไม่ใช่สิ่งใหม่ วันนี้มี 5G อีกหน่อยก็คงมี 6G เป็นการซ้อนทับของสิ่งที่มีอยู่แล้วและทำให้เร็วขึ้น ดีขึ้น AI ก็เป็นสิ่งที่เข้ามาทำให้ 5G ฉลาดขึ้น สิ่งเหล่านี้คือตัวที่ทำให้จินตนาการหรือความฝันของคนที่มีจินตนาการเอาไปตั้งโจทย์ต่อว่าคนจะใช้ชีวิตอย่างไร
การที่เราสามารถ Work from Home พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ไม่ได้มาจากเทคโนโลยีเลย เรามีการดีเบตกันมาตลอดเวลาว่าทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ในที่สุดวัฒนธรรมองค์กรก็ไม่ยอมให้หลายหน่วยงานทำแบบนั้น จนถูกบังคับเพราะว่ามีโรคระบาด วัฒนธรรมองค์กรจึงถูกบังคับให้เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้คือ Soft Side ของนวัตกรรม
คำถามที่ตามมาคือ เราต้องกลัวนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีหรือเปล่า
ผมว่ามนุษย์ไม่ได้กลัวนวัตกรรมหรอก กลัวการเปลี่ยนแปลงมากกว่า นวัตกรรมทำหน้าที่เหมือนตัวกลางที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยตรง ถ้ามองในระดับปัจเจก ถ้านวัตกรรมช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้ก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องปฏิเสธ แต่ถ้าเป็นลักษณะครอบครัวไปจนถึงองค์กรบางครั้งก็จะมีแรงต้าน เพราะมีสิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตไม่ต้องการที่จะเปลี่ยน บ่อยครั้งที่นวัตกรรมไม่แพร่หลายเพราะผู้คนไม่ยอมรับ ต้องการใช้รูปแบบการทำงานที่เหมือนเดิม
ในหลายกรณีถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งน้อยราย นวัตกรรมจะไม่เกิดเหมือนกัน เพราะว่าตลาดเป็นของผู้สร้างไม่ได้เป็นของผู้ซื้อ ตลาดที่มีการแข่งขันสูงนวัตกรรมจะเปลี่ยนไว เพราะมีจำนวนผู้เล่นเยอะ จนแม้แต่ผู้ใช้ยังตามไม่ทันเช่นอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือจากแต่เดิมเปลี่ยนรายปี ทุกวันนี้แทบจะเปลี่ยนทุกสามเดือนอยู่แล้ว
นวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคนและประเทศยังไง
ผมมองที่การพัฒนาคนอย่างเดียวเลย เปรียบเทียบให้ฟังว่าประเทศที่เราอยากย้ายไปอยู่กันในทีมย้ายประเทศ ถ้าขุดลงไปลึกขึ้นสิ่งที่เขาดูดไปคือคนไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติ ดูดคนที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงไปสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาถึงมีกรีนการ์ด ถึงมีสิ่งที่เป็นความฝันของคนในชาติหรือ American Dream อิสราเอลคือ Jewish Dream ความฝันของคนยิวทั่วโลกที่อยากจะกลับไปในดินแดนพันธสัญญา
ทีนี้สถานะของผู้คนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ Global Citizen เป็นประชากรโลกซึ่งอยู่ในแพลตฟอร์มของประเทศที่เอื้อให้เกิดบริษัท อำนวยความสะดวกให้คนที่อยากนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ มีความกล้าที่จะริเริ่ม และมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการทดลองเหล่านั้น จะเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือคน
ประเทศเราควรจะมี Thailand Dream กับเขาบ้างหรือเปล่า
เราก็มี Thailand Dream มาโดยตลอด เคยฝันว่าจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ภาพเหล่านี้เป็นความฝันเล็กๆ ของเรา เพียงแต่ว่าฝันแล้วต้องไปให้ถึง ลืมไม่ได้นะครับ ต้องทำฝันนี้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือต้องเป็นฝันร่วมกันด้วย
ย้อนกลับไปเรื่องคน เราควรมีกลไกอะไรในการเตรียมพร้อมทรัพยากรมนุษย์ของไทย
ทำให้เขามีความรู้ และมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงระดับโลก เข้าใจภาพอนาคตในระยะไกลว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น เราเป็นประชากรโลก เพราะฉะนั้นนวัตกรรมคงไม่ได้ทำในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นรัฐปิดที่ไม่ทำการค้าหรือเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศอื่น เพราะฉะนั้นโลกทัศน์สำคัญมาก ที่สำคัญคือต้องลงมือทำได้จริงด้วย สิ่งที่เราทำอยู่คือการเปลี่ยนแปลงความคิดไปสู่ความเป็นทีม และพร้อมลงสนามจริง ถึงจะกลายเป็นคำตอบของประเทศ
การเป็นพลเมืองโลกมีความสำคัญมากแค่ไหน
สำคัญมากครับ ตอนนี้ทุกคนกลายเป็นประชากรของโลก ไม่มีพรมแดนอีกต่อไป ประชากรของประเทศไทยเองมีแค่หกสิบกว่าล้านคน ตลาดเราเล็กมากถ้าจะไปเทียบกับตลาดที่มีระดับร้อยล้านหรือพันล้าน จริงอยู่ที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจอันดับใหญ่อยู่ลำดับที่ประมาณ 25 ของโลก เศรษฐกิจเราไม่ได้เล็กนะครับถึงจะไม่ได้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นการเป็นพลเมืองของโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตอนนี้มียักษ์ใหญ่ยืนทะมึนอยู่หลายประเทศ ที่กำลังแข่งกันเรื่องสนามการค้า และสนามเทคโนโลยี เราก็เป็นเหมือนกับหมากตัวเล็กๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบได้มากที่สุด
Global Citizen คือการรู้เขารู้เราและพร้อมที่จะเป็นมิตรกับทุกคน จุดแข็งของประเทศไทยคือเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ สมัยก่อนผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไปทำงานต่างประเทศ คนที่มีศักยภาพก็ไปเถอะ ถ้าออกไปหาประสบการณ์แล้วพบว่าศักยภาพของคุณสามารถช่วยประเทศ หรือช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้ อยู่ที่ไหนก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ในที่สุดแล้วประเทศไทยก็ต้องทำหน้าที่เหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามา ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคนไทยที่เก่งเอาไว้ด้วย
แต่ความเป็นจริงก็คือเรื่องของนวัตกรรมเราทำคนเดียวลำบาก จำเป็นจะต้องมีเพื่อนมีการทำงานร่วมกันระดับโลก ผมเชื่อว่าการย้ายหรือไม่ย้ายประเทศเป็นเรื่องของวาทกรรม แต่ถ้าคุณมีโอกาสไปเรียนรู้ ไปอยู่มหาวิทยาลัย Ivy League ได้ทำงานในสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยที่ดี ทำงานในบริษัทระดับโลก ถ้ามีโอกาสแล้วพร้อมก็ควรไป คนไทยเก่งระดับนั้นเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้
ถ้าจะแข่งกันจริงๆ เราแข่งกันที่บริษัทขนาดใหญ่ ถ้าเราไม่มีบริษัททางด้านเทคโนโลยีระดับโลกเลย คนเก่งก็ไม่รู้จะกลับมาทำอะไร เมืองไทยตอนนี้ก็เริ่มมีแล้วพยายามบาลานซ์กันให้ได้มากที่สุด
บนเว็บไซต์ระบุไว้ว่า NIA เป็นองค์กรหัวก้าวหน้า ช่วยอธิบายความก้าวหน้าที่ว่าได้หรือเปล่า
มีอยู่ 3 มิติ เราเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ทำงานแบบหน่วยงานรัฐ เป็นองค์กรที่จะสะท้อนให้เห็นว่าความคิดก้าวหน้าเป็นสิ่งสำคัญต่อภาครัฐอย่างไร
ข้อแรกคือ การเป็นหน่วยงานรัฐที่ลบล้างภาพพจน์ของการเป็นหน่วยราชการแบบดั้งเดิมที่ยังมีข้อสงสัยเยอะ
ข้อที่สองคือ เราทำงานกับคนรุ่นใหม่ ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงคนอายุน้อยเพียงอย่างเดียว แต่เราทำงานกับคนที่มองเห็นและพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เพราะฉะนั้นเราพร้อมที่จะเปลี่ยนข้อสุดท้าย คือเป็นองค์กรที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันกับกระแสโลกตลอดเวลา ถ้าเราทำงานไปเรื่อยๆ และบอกว่าตัวเองเป็นองค์กรนวัตกรรม แต่สิ่งที่ทำไม่ตอบโจทย์กระแสโลกเลยคงเป็นไปไม่ได้ งานหลายตัวที่เราทำก็มีไว้เพื่อตอบอนาคตทั้งนั้น แต่ละโครงการก็พูดถึงอนาคตล้วนๆ
ใช้วิธีอะไรในการปรับองค์กรให้มีความก้าวหน้า
อาจจะเป็นลักษณะเด่นของ NIA เพราะพนักงานส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ขององค์กรเป็นคนรุ่นใหม่ และ First Jobber ต้องบอกว่ามีความเสี่ยง เพราะประสบการณ์ทำงานไม่ได้เยอะมาก แต่มีข้อดีตรงที่พร้อมเรียนรู้ องค์กรเราเติบโตจาก 30 คน ขึ้นไปเป็น 100 คน และมีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ มีความเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มีความเป็นมืออาชีพได้เร็วที่สุด
ในการสร้างองค์กรนวัตกรรมมีการวัดผลตลอดทุกปีว่า มิติไหนที่สำนักงานต้องปรับ เพื่อที่จะตอบคำถามผู้รับบริการได้ว่าในขณะที่ NIA ไปบอกให้องค์กรอื่นๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นองค์กรนวัตกรรม ตัวท่านเองได้ทำหรือเปล่า เมื่อก่อนเราตอบได้ไม่เต็มปาก แต่ทุกวันนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในระดับบุคคลด้วยว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร งานที่เราทำส่วนใหญ่ก็จะเป็นการพัฒนาภายในองค์กร เขาบอกให้ทำดิจิทัลเราบอกว่าไม่พอ ต้องทำระดับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ทำตั้งแต่ตอนที่ทุกคนยังพูดเรื่องการแปลงเอกสารในกระดาษมาเป็นดิจิทัล
หน่วยงานรัฐอื่นๆ จะปรับตัวอย่างไร
เป็นโจทย์เรื่องนวัตกรรมในการบริการจัดการภาครัฐ ผมเชื่อว่า กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) กำลังผลักดันเรื่องนี้อยู่ มีแม้แต่ KPI ที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการอย่างองค์การมหาชน หรือหน่วยงานอิสระ ว่าได้ทำนวัตกรรมอะไรบ้าง
รัฐทำมาเยอะนะครับ แต่วัฒนธรรมของคนแต่ละช่วงวัย เป็นตัวที่บอกถึงวิธีการแล้วก็มโนคติในการที่เขาจะแปลความหมายของนวัตกรรมแตกต่างกัน กระบวนการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะต้องรอให้น้ำใหม่เข้ามา ผมคิดว่าคงใช้เวลาพอสมควร เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้ในชั่วข้ามคืน
วัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่ NIA อยากให้เกิดขึ้น
อยากให้น้องๆ คิดโครงการคิดไอเดียมานำเสนอด้วยตัวเอง อันนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงระดับหนึ่งเพราะพนักงานอาจจะไม่ชอบ (ยิ้ม) หลายคนอาจจะคิดว่า พี่ก็บอกมาสิว่าจะทำอะไร หรือเสนอไปแล้วนายไม่เอา ต้องเกิดการยอมรับว่าถ้าไม่ผ่านก็ต้องแก้ เพราะฉะนั้นเป็นการเรียนรู้เป็นการฝึกฝน เหมือนกับในภาพยนตร์ทั้งฝรั่งหรือจีนที่เราเคยดูว่า กว่าจะได้เพชรเม็ดงามก็ต้องผ่านทั้งรอยเลือดและคราบน้ำตา
เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับโลกทัศน์ตรงนี้ เพื่อให้คนที่มองว่าเด็กรุ่นใหม่ถูกสปอยล์เข้าใจ แต่ผมก็จะบอกว่าไม่แปลกเพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในรุ่นผมก็พูดประโยคเดียวกัน “เด็กรุ่นนี้ไม่ได้เรื่อง เด็กรุ่นนี้มันถูกสปอยล์” ตอนเราเป็นเด็กก็โดนแบบนี้มาเหมือนกัน เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขามีศักยภาพ ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเราตลอดไป ถ้าเก่งจริงก็ไปต่อได้
นอกจากทักษะทางวิชาการแล้ว องค์กรต้องการทักษะอะไรอีก
สิ่งที่สำคัญคือต้องอ่าน Article ระดับโลก ก่อนที่เราจะไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่อยู่ในธุรกิจนี้ ต้องมีความรู้เท่ากัน การเสริมแกร่งองค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ พนักงานต้องเรียนรู้ ต้องอ่าน และต้องวิเคราะห์เป็น มองประเด็นเชิงองค์กร เชิงบุคคลให้ออก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ระหว่างการทำงานล้วนๆ เลย สุดท้ายคือเรื่องของภาษา นวัตกรรมเป็นเรื่องนานาชาติ เราก็เลยต้องให้ความสำคัญเรื่องภาษาอังกฤษกับคนในองค์กรเยอะมาก
คุณต้องมีความอดทนมีความรู้สึกว่าลองผิดลองถูกได้ เป็นเรื่องของการเสริมทักษะเรื่อง Leadership และทำ Team Building ได้ด้วย ในองค์กรของเราน้องที่เป็นพนักงานรุ่นใหม่เป็น Project Manager ได้เลย ต้องมีการเรียนรู้ทุกกระบวนการ Checklist หรือ Report เราเปิดโอกาสให้เขาเป็นผู้นำ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้กระบวนการทุกอย่าง ดังนั้นเหรียญมี 2 ด้าน แน่นอนว่า EQ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ต้องมาพร้อมกับ Responsibility หรือความรับผิดชอบ และทักษะ จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน
ตั้งความหวังอะไรไว้กับคนรุ่นใหม่บ้าง
คนรุ่นใหม่ก็ถือเป็นหนึ่งในสอง Target สำคัญของเราร่วมกับผู้บริหารระดับสูง เรามีหลายโครงการที่ทำร่วมกับน้องๆ เช่นแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า STEAM4INNOVATOR นำความรู้ด้านธุรกิจมาบูรณาการกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปศาสตร์ และคณิตศาสตร์ พยายามบาลานซ์ระหว่างโลกของสมองซีกซ้ายและซีกขวาไม่ให้แยกออกจากกัน
NIA ทำงานกับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ประถมฯ จนถึงมหาวิทยาลัย โดยมีหลักการว่าพวกเขาจะต้องมี Art Appreciation ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่อง Science Technology ด้วย และแปลงความคิดเหล่านั้นออกมาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง ที่สำคัญและย้ำมาตลอดคือการทำงานเป็นทีม เพราะนวัตกรรมทำคนเดียวไม่ได้
หวังอยากให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงด้านภาวะผู้นำด้านนวัตกรรม และกำลังพูดถึง Change Maker ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้นำ เป็นผู้ตามได้ เป็นผู้ที่สนับสนุน เราดูที่ Mindset วิธีคิด และกระบวนการเปลี่ยนแปลง ที่บางรายอาจจะเทิร์นตัวเองเป็นผู้ประกอบการได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
อยากให้พูดถึง NIA Creative Contest 2021 งานประกวดหนังสั้น ที่เป็นเหมือนงานประจำปีของเด็กสายภาพยนตร์
โครงการนี้เรามองเรื่องของอนาคตว่า คนที่เป็นคนรุ่นใหม่ควรจะเป็นผู้ที่วาดและกำหนดอนาคตด้วยตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นเก่าไม่มีสิทธิ์ แต่อยากได้ยินเสียงของเด็กรุ่นใหม่ที่จะเปล่งออกมาเกี่ยวกับภาพใหญ่ของอนาคต ถ้าเรามีแพลตฟอร์มแบบนี้ก็จะมีสะพานที่เชื่อมให้กับน้องๆ ได้ เพราะเขามีชุดความคิดที่แตกต่างจากคนอีกรุ่นหนึ่ง วิธีการมองโลกอีกแบบหนึ่ง เป็นการช่วยเสริมให้เห็นภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น อนาคตมันต้องวาดไปด้วยกัน โครงการนี้คือการเปิดโอกาสให้ลองมาคิดนอกเหนือไปจากสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และสะท้อนเสียงนั้นไปสู่ผู้ใหญ่ในสังคม
ในฐานะที่จัดประกวดหนังสั้น อยากเห็นอะไรจากวงการภาพยนตร์ไทย
เราทำอีกโครงการหนึ่งชื่อว่าการพัฒนาสาขา MAR Tech ก็คือ Music Art and Recreation Technology พยายามจะพัฒนา Supply Chain ให้อุตสาหกรรมดนตรี ภาพยนตร์ แอนิเมชัน หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง สามารถสร้างตัวอย่างนวัตกรรมให้กับประชาชนทั่วไป หรือเติบโตในต่างประเทศได้
ต้องบอกว่าอุตสาหกรรมบันเทิงไทยยังมีศักยภาพในระดับสากล ว่าทำอย่างไรให้ภาษาไทยให้ภาพลักษณ์ของไทยดูเท่ หรือน่าสนใจเหมือนเรามองที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลี ใช้วิธีเดียวกับเขานั่นแหละ ไม่ต่างกันหรอก เป็นเรื่องเดียวกัน แต่สิ่งที่เหนื่อยกว่าคือไทยไม่มีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่เก่งระดับโลก ที่สองชาตินี้ทำได้เพราะเขาเป็นเจ้าพ่อด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรศัพท์มือถือหรือโทรทัศน์ก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ในหลักการทางด้านวิชาการเราเรียกว่า Complementary Asset พอมีฮาร์ดแวร์ ก็ใส่ซอฟต์แวร์เข้าไป ของเรามันลำบากตรงที่ไม่มีฮาร์ดแวร์ไปขาย ก็ต้องผสมกลยุทธ์ในการขายซอฟต์แวร์เข้าไปด้วย
อะไรคือเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้
โครงการนี้ผมคิดว่าตัวเอกที่สำคัญคือน้องๆ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ขอให้ใส่จินตนาการที่ไร้ขีดจำกัดลงไปในผลงานของตัวเอง ทำให้ผู้ใหญ่หรือคนหลายคนที่มีประสบการณ์ ได้หันกลับมาคิดว่าโลกอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นนักอนาคตศาสตร์ ส่งเสียงสะท้อนมุมมองใหม่ๆ ไปยังนักนโยบายและนักพัฒนา สร้างอนาคตไปพร้อมกัน และนำไปสู่การทำงานจริงในอนาคตอันใกล้
#NIACreativeContest2021