นิวเวิลด์’ ห้างร้างย่านบางลำพู - Urban Creature

คุณมีความทรงจำกับบางลำพูอย่างไร แล้วห้างนิวเวิลด์ล่ะ เคยไปเดินเที่ยวกันไหม

ยอมรับว่าเราเกิดไม่ทันเห็นความครึกครื้นของ ‘นิวเวิลด์’ พอรู้ตัวอีกทีห้างนี้ก็กลายเป็นตึกร้างที่มีฝูงปลาคาร์ปแหวกว่ายจนกลายเป็นอันซีนกลางกรุงเทพฯ ไปซะแล้ว ซึ่งตึกร้างที่ดูเหมือนจะไร้ความหมาย กลับกลายเป็นเครื่องบอกเล่าเหตุการณ์ และความเป็นมาของย่านได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

วันนี้ห้างนิวเวิลด์กลับมาเปิดอีกครั้ง ไม่ใช่ในฐานะห้างสรรพสินค้าสุดทันสมัย แต่คือนิทรรศการ ‘NEW เวิลด์ โอล TOWN’ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ร่วมมือกับชาวบางลำพูเพื่อคืนชีวิตให้ห้างร้างผ่านแสงสีที่ชวนคิดถึงวันเก่า ปัจจุบัน และวันข้างหน้าของบางลำพู ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก บางลำพู everyday

ก่อนจะก้าวเท้าเข้าไปเหยียบในห้างเคยฮิตแห่งนี้ เราทำการบ้านมาว่า ‘นิวเวิลด์’ คือห้างสรรพสินค้าสุดหรูในอดีต ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วม 40 ปี ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2527 โดยใช้สโลแกนเรียกแขกว่า “สู่ชีวิตใหม่…ในนิวเวิลด์”

ความโก้ของห้างนี้คือมี ‘ลิฟต์แก้ว’ เป็นที่แรกในย่าน ซึ่งคนทุกวัยมักมาเดินเล่นอวดโฉมกันในย่านแฟชั่นและย่านชอปปิงสุดฮอตอย่างบางลำพู จนเมื่อปี 2547 ชั้นบนของห้างเกิดถล่มลงมาเนื่องจากมีการรื้อถอนโครงสร้างที่ต่อเติม เลยปิดตำนานห้างขวัญใจวัยรุ่นในย่านเก่าไปโดยปริยาย

ตำนานบทใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2554 เพราะพื้นที่ในห้างเกิดเป็นบ่อขนาดใหญ่จากการรื้อถอน ซึ่งนานวันเข้าลูกน้ำยุงลายก็เริ่มเยอะ ชาวบ้านเลยเอาปลาไปปล่อยจนกลายเป็น ‘วังมัจฉา’ จนเจ้าหน้าที่ต้องมาขนย้ายปลาออกไป และปิดตึกเพื่อความปลอดภัยอีกครั้ง

ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

วันดีคืนดี ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรือ อาจารย์หน่อง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บังเอิญเห็นรูปตึกนิวเวิลด์ผ่านไทม์ไลน์ ซึ่งดลใจให้เธอทักเพื่อนสมัยมัธยมฯ ผู้เป็นทายาทห้างร้างแห่งนี้ไปเพื่อพูดคุยว่า “อยากจะทำอะไรสักอย่างกับตึกนี้ดูไหม เพราะมันน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้คนในย่านและเด็กสถาปัตย์”

จากการพูดคุยของอาจารย์และเพื่อนครั้งนั้น จึงเกิดเป็นนิทรรศการนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นการร่วมมือกับคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะอาจารย์หน่องและทีมสถาปัตย์ศิลปากร ได้ชวนประชาคมบางลำพูและชมรมเกสรลำพู มาก่อร่างสร้างฝันให้โปรเจกต์นี้เป็นจริง

เรื่องความปลอดภัยก็สำคัญ อาคารนิวเวิลด์ได้รับการตรวจสอบจากวิศวรกรแล้วว่า โครงสร้างความแข็งแรงของอาคารนั้นปลอดภัยต่อการใช้งาน ขณะเดียวกันก็จัดนิทรรศการในรูปแบบปิด โดยต้องลงทะเบียนเข้างานล่วงหน้าเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อเราเข้าไปในห้างร้างที่เนรมิตเป็นนิทรรศการสุดอาร์ต ก็พบกับโซนแสดงผลงานสเกตช์ดีไซน์ของเหล่าเด็กสถาปัตย์ ซึ่งอาจารย์หน่องบอกกับเราว่า ตอนแรกก็จะให้นิวเวิลด์เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานของนักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่จะมีแค่นั้นคงจะเฉาแย่ เลยเพิ่มความครีเอทต่างๆ เข้าไปเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับชุมชนให้มากยิ่งขึ้น

เราเดินถัดมาไม่ไกลกัน คือโซนที่ชื่อว่า ‘20×20’ ซึ่งเล่าเรื่องราวของบางลำพูในสายตาคนนอกผ่านสิ่งของ 20 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นรถเข็นคู่กายของเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ถุงสังฆทานหลากไซซ์ ขนมหวานรสชาติดี อุปกรณ์ถักไหมพรม ชุดนักเรียน ธงชาติ เป็นต้น

แพม–ศศินันท์ จันทร์เจริญสิน

สิ่งที่เจ๋งคือ คนที่บอกเล่าเรื่องราวของสิ่งของต่างๆ กลับไม่ใช่ผู้จัดงาน แต่เป็นคนในย่านบางลำพู นี่คือสิ่งที่ แพม–ศศินันท์ จันทร์เจริญสิน หนึ่งในทีมคอนเทนต์ของนิทรรศการบอกกับเรา

“มีคุณป้าท่านหนึ่งชื่อคุณป้าบุญเรือน อายุ 80 กว่าแล้ว เดินขึ้นบันไดมาที่ชั้นสองของนิวเวิลด์ ซึ่งมันเดินยากมาก ต้องให้คนพยุงขึ้นมา เขาบอกว่าเขาดีใจที่ได้เข้ามาที่นี่อีกครั้ง รวมถึงได้กลับไปสู่บรรยากาศเดิม สถานที่เดิม และได้เจอผู้คนหน้าเดิมๆ ที่ไม่ได้เจอกันมานาน ซึ่งในฐานะคนจัดงานรู้สึกดีใจที่มีคนรู้สึกดีกับงานนี้”

อีกโซนที่น่าสนใจคือ ‘40 คนสำคัญแห่งย่านบางลำพู’ โดยทีมชมรมเกสรลำพู หรือกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันเพื่อพัฒนาย่านบางลำพูผ่านกิจกรรมต่างๆ นำโดย พี่ต้า–ปานทิพย์ ลิกขะไชย ที่เล่าเรื่องราวของผู้คนในบางลำพู เพื่อให้เห็นความเป็นบางลำพูทั้งจากคนในและคนนอกชุมชน

ต้า–ปานทิพย์ ลิกขะไชย

จากการทำงานเพื่อชุมชนของพี่ต้า ทำให้เธอและชมรมเกสรลำพูได้เป็นหนึ่งในทีมงานของนิทรรศการนี้ พี่ต้าย้อนความทรงจำวัยนิวเวิลด์ของเธอให้เราฟังจนเราอดยิ้มไม่ได้

“พอพี่ได้เข้ามาที่นิวเวิลด์ตอนนี้ พี่มองเป็นภาพความทรงจำ พี่ชอบมาชั้น 9 มากเพราะเป็นสวนสนุก มาอ่านการ์ตูนโดเรมอน จำได้เลยว่าเคยมาเจาะหูร้านข้างล่าง กินโดนัท มีผ้าขายเป็นกอง แล้วก็ขึ้นลิฟต์แก้วกับยาย ยายก็กลัวลิฟต์แก้ว”

ไฮไลท์ที่พาเรามางานนี้ คือแสงสีที่ฉายบนตึกร้างเป็นรูปปลาคาร์ปแหวกว่าย เพราะภาพจำของห้างคือ ‘วังมัจฉา’ นั่นเอง ไอเดียสุดครีเอทจากทีม Atelier 58 ศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

บอส–ชยางกูร เกตุพยัคฆ์

พี่บอส–ชยางกูร เกตุพยัคฆ์ หนึ่งในทีม Atelier 58 ผู้เนรมิตฝูงปลาให้แหวกว่ายบนตัวตึกร้างบอกกับเราว่า “นี่คือการดึงความรู้สึกและประสบการณ์ของคนให้เก็ทกับงานมากขึ้น ภาพจำของคนรุ่นเราคือวังมัจฉา พี่มองว่ามันคือสะพานที่จะเชื่อมคนนอกชุมชนกับห้างนิวเวิลด์ได้ ซึ่งการที่พี่ได้มาทำโปรเจกต์นี้ ก็ทำให้รู้จักความเป็นย่านบางลำพูมากขึ้น จากที่รู้จักแค่วัดบวรฯ หรือถนนข้าวสาร”

บันไดนิวเวิลด์ถูกจำลองด้วยแสงสีนีออน แถมด้วยน้องแมวตัวน้อยเกาะอยู่ ไอเดียสุดน่ารักๆ ของทีม Wire Knot Studios ศิษย์เก่าจากสถาปัตย์ ศิลปากร
ชั้นที่เราขึ้นมาเหยียบ คนเก่าแก่ของบางลำพูบอกกับเราว่า ชั้นนี้คือโซนขายชุดชั้นใน ซึ่งรวมแบรนด์ดังไว้หลายแบรนด์

ความประทับใจสำหรับงานนี้ นอกจากไฟนีออนและแสงสีที่สาดบนตัวอาคาร คือการได้พูดคุยกับทีมงานและคนในชุมชน ซึ่งทำให้คนนอกชุมชนอย่างเรา ได้รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบางลำพู และอยากจะแวะเวียนมาเติมสีสันให้ชีวิต ณ ย่านเก่าแห่งนี้บ่อยๆ

แม้ ‘NEW เวิลด์ โอล TOWN’ จะเป็นนิทรรศการแบบปิดที่ต้องลงทะเบียนเข้าล่วงหน้า ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ทุกคนสามารถติดตามภาพในความทรงจำให้หายคิดถึง และดื่มด่ำความเป็นบางลำพูได้ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก บางลำพู everyday

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.