งานออกแบบในแวดวง ‘วิทยาศาสตร์’ หน้าตาเป็นอย่างไร ?
ทุกสายวิชาชีพย่อมมีผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของตัวเอง ในวงการวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้วทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘GMOs’ (Genetically Modified Organisms) หรือการตัดแต่งพันธุกรรม โดยคัดเลือกยีนที่ต้องการของสิ่งมีชีวิตหนึ่งนำมาใส่ในอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เช่น การตัดต่อสายพันธุ์ข้าวให้ทนแล้งได้ดี หรือการตัดต่อยีนในสัตว์เพื่อเร่งการเจริญเติบโต
จนมาถึงปัจจุบันเกิดนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า ‘Synbiotic’ หรือ ชีวสังเคราะห์ ซึ่งมีหลักการคล้ายกับ GMOs แต่แตกต่างตรงที่สามารถดีไซน์โครงสร้างใหม่ได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องยึดติดกับระบบของสิ่งมีชีวิตเดิม ด้วยเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยคิดค้นผลลัพธ์ให้มีความแม่นยำมากขึ้น ซึ่ง Synbiotic ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายวงการ ทั้งด้านอุตสาหกรรมอาหารอย่างเนื้อสังเคราะห์จากโปรตีนพืชเพื่อทดแทนการทำปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอที่นำยีนจากใยแมงมุมมาเพาะเลี้ยงเป็นใยสังเคราะห์ทอเสื้อผ้าที่มีความทนทานที่สุดในโลก
แต่วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึง ‘Synbiotic’ ที่นำมาใช้ในวงการแพทย์ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังของการรักษา ผู้ป่วยให้หายขาดจากโรคภัยต่างๆ ในอนาคต โดยเฉพาะ ‘มะเร็ง’ โรคร้ายอันดับหนึ่งที่พรากชีวิตคนไปมากมาย
แล้ว Synbiotic จะสามารถช่วยเหลือคนได้อย่างไร ? เราชวนมาค้นหาคำตอบกับ ‘อาจารย์ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ’ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) เกี่ยวกับการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย Synbiotic เพื่อต่อลมหายใจของผู้ป่วย
“ประเทศไทยต้องสร้างยาได้เอง”
ก่อนจะไปทำความรู้จัก Synbiotic เราจะพาไปดูจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในวงการแพทย์ ของประเทศไทยกันเสียก่อน ย้อนไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว พ.ศ. 2559 เกิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือ ‘ECCD’ ย่อมาจาก ‘Excellent Center for Drug Discovery’ ด้วยความร่วมมือของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาวิจัยการเกิดโรค และคิดค้นตัวยาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางยาระดับอาเซียน
เบื้องหลังการสร้างศูนย์ ECDD คือความมุ่งมั่นที่อยากให้ประเทศไทยมียาที่ดีเป็นของตัวเอง สามารถคิดค้น ผลิต และปรับปรุงตัวยานำมารักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบ้านเรามีทรัพยากรที่สามารถนำมาผลิตยาหลากหลาย ติด 1 ใน 8 ของโลก สมควรที่จะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะสมุนไพรไทยพื้นถิ่นที่สามารถทำเป็นสารสกัดช่วยรักษาโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดัน และการชะลอวัย อย่างยาจากขิงที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้ของผู้ป่วยมะเร็งในการรักษาคีโม
‘Synbiotic’ การคิดค้นตัวยาแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
‘Synbiotic’ เริ่มต้นจากการรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งในอดีตทำได้แค่เพียงงดอาหารเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2464 คุณหมอ ‘Frederick Banting’ และ ‘Charles Best’ ค้นพบ ‘อินซูลิน’ ในตับอ่อนของสุนัขซึ่งสามารถรักษาน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้ ต่อจากนั้นจึงเกิดการพัฒนาสารอินซูลินจากวัวและหมูมาใช้กับคน แต่ปรากฎว่ามีผลข้างเคียงเพราะเป็นโปรตีนจากสัตว์ จึงต้องหาทางออกโดยการตัดต่อยีนของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) หรือทุกคนอาจจะเคยคุ้นหูกันบ้างกับคำว่า GMOs ซึ่งเป็นผลจากการตัดแต่งพันธุกรรมเช่นเดียวกัน
พันธุวิศวกรรมคือการออกแบบตัดต่อยีนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันถูกพัฒนาเป็น ‘Synthetic biology’ หรือ ‘Synbiotic’ เครื่องมือที่สามารถออกแบบตัดแต่งเซลล์ได้อย่างอิสระ หรือสามารถสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในแบคทีเรีย ยีสต์ พืช และเซลล์ของคน โดยอาศัยเทคโนโลยี AI เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่มาประมวลผล เพื่อหาวิธีการทดลองที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายได้มาก แถมยังรักษาได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นอีกด้วย
“อยากให้มะเร็งเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดา”
อาจารย์ศุภฤกษ์เล่าถึงที่มาของการนำ ‘Synbiotic’ มาปราบมะเร็งเม็ดเลือดขาวว่า
“จุดเริ่มต้นของการรักษาทั้งนักวิทยาศาสตร์และคุณหมอเอง มันมาจากความหวังก่อนว่าสิ่งนี้จะมาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ เราเห็นความเจ็บป่วยและความทรมาน ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้างและสังคม เพราะปกติวิธีการรักษามะเร็งจะมีการผ่าตัด ทำคีโม และฉายแสง สิ่งเหล่านั้นเพียงแค่ช่วยบรรเทาทุกข์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้หายขาด แถมยังมีโอกาสกลับมาเกิดขึ้นซ้ำอีกด้วย”
‘Synbiotic’ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยรักษาได้ตรงจุดมากกว่าเคย จากเดิมที่ส่งตัวยาให้วิ่งกระจายไปทั่วร่างกาย ก็สามารถทำตัวยาเป็นนาโนแคปซูล ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับจรวดที่สามารถสั่งให้ล็อกเป้าหมาย แล้วพุ่งเข้าทำลายได้ตรงจุด โดยอาจารย์ได้นำมาทดลองพัฒนากับ ‘มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิด ALL’ โรคที่ติด 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในไทย มีความรุนแรงสูงและสามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ อย่างในปัจจุบันเองมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 5,000 คน/ปี แถมยังมีแนวโน้มมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ
‘เซลล์ภูมิคุ้มกัน’ ฮีโร่ปราบมะเร็งจากตัวเอง
หลักการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับเวลาตำรวจวางแผนจับผู้ร้ายตัวฉกาจ โดยอย่างแรกต้องรู้จักวงจรชีวิตของมันเสียก่อน เพื่อหาแนวทางจับให้ถูกวิธี ซึ่งผู้ร้ายในที่นี้คือ ‘มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL’ นั่นเอง ซึ่งเกิดมาจากเม็ดเลือดขาวที่แบ่งตัวมากผิดปกติ ซึ่งเดิมจะต้องแบ่งตัวเป็นระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงเติบโตกลายเป็นตัวเต็มวัย และพร้อมทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แต่ในเมื่อมีบางส่วนทำงานผิดปกติ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งหมดจนกระทั่งเซลล์กลายร่างเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในที่สุด
แน่นอนว่าผู้ร้ายย่อมมีอาวุธติดตัวตามไปด้วย ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า CD 19 ที่ติดมากับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตรงนี้คือเบาะแสสำคัญที่ตำรวจจะตามตัวจับกุมได้ง่ายขึ้น เมื่อรู้แล้วว่าจะจับตัวผู้ร้ายได้อย่างไร ‘เซลล์ภูมิคุ้มกัน’ จะทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย โดยมีกองกำลังอยู่ที่ต่อมน้ำเหลือง เป็นแหล่งฝึกเพื่อที่จะเตรียมตัวสู่สนามจริง โดยทุกครั้งจะมีตำรวจลาดตระเวนคอยสำรวจร่างกายอยู่เสมอ เมื่อใดที่เจอผู้ร้ายปุ๊บก็จะรีบกลับไปที่รัง แล้วส่งสัญญาณบอกกองกำลังให้เรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกไปจับตายผู้ร้ายทันที ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือกลไลสำคัญ ที่จะนำมาใช้ฆ่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวให้หมดไป
วิธีการจับผู้ร้ายให้อยู่หมัด คือการนำเซลล์ภูมิคุ้มกันมาสังเคราะห์ใหม่ โดยใช้เครื่องมือ ‘Synbiotic’ นำข้อมูลเบาะแสของคนร้ายที่กล่าวมาทั้งหมดมาดีไซน์ให้เซลล์มีสกิล สามารถกำจัดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL ได้ โดยเป้าหมายคือตามไปจับผู้ร้ายที่พบ CD 19 อาวุธติดตัวของเซลล์มะเร็งแล้วให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายจนสิ้นสุด ซึ่งในปัจจุบันได้นำมาใช้ทดสอบโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาชนิดอื่นได้แล้ว ผลปรากฎว่าสามารถต่อชีวิตผู้ป่วยได้ถึง 5 เดือน
อาจารย์ศุภฤกษ์บอกให้เราฟังอีกว่า ต่อไปจะพัฒนา Synbiotic นี้ให้เป็นยาที่สามารถใช้ในการรักษาจริง และเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งมีความตั้งใจให้คนไทยได้ใช้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ให้ได้
สิ่งรอบตัวล้วนมีผลต่อการเกิด ‘มะเร็ง’
สมัยก่อนมะเร็งมักจะพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันเรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับคนอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคมะเร็งร้ายแรงได้ไม่แพ้คนอายุมากอยู่บ่อยๆ เราจึงหยิบประเด็นนี้มาถามกับอาจารย์ศุภฤกษ์ว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้คนสมัยนี้เป็นโรคมะเร็งเร็วขึ้น ?
คำตอบคือ สภาพแวดล้อมรอบตัวล้วนมีผลต่อการกระตุ้นมะเร็งทั้งหมด หรืออาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้รับผลกระทบเข้าไปเรียบร้อยแล้ว อย่างมลพิษในท้องถนน และสภาพจิตใจของคนเมืองที่เต็มไปด้วยความเครียด ทุกสิ่งสามารถสะสมในร่างกายได้ในระยะยาว แถมยังเข้าไปทำลายภูมิคุ้มกันให้น้อยลงได้เหมือนกัน
อย่างผู้ป่วยในเด็กเล็กๆ ถ้าไม่รวมสาเหตุจากพันธุกรรมก็มีผลมาจากสิ่งแวดล้อมที่คุณพ่อคุณแม่อาศัยอยู่ด้วย ทุกอย่างล้วนมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ไข่ของผู้หญิงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เสียอีก เพราะมันมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา อย่างการกินอาหาร การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งการสูดมลพิษในอากาศทุกๆ วัน จากพฤติกรรมเหล่านี้จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในตัวอ่อน และเป็นสาเหตุให้เด็กในท้องไม่ปกติ เพราะฉะนั้นการมีสภาพแวดล้อมที่ดีจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่แข็งแรง รวมทั้งส่งเสริมให้อายุยืนยาวด้วย
Synbiotic เทคโนโลยีที่ทำให้เห็นว่า ‘ชีวิตนั้นแสนมีค่า’
หากมองอีกมุมหนึ่งของ Synbiotic ที่ช่วยรักษาคนให้อายุยืนแล้ว เมื่อคนมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ประชากรก็อาจหนาแน่นจนล้นโลก นั่นจะทำให้ความสมดุลของสิ่งมีชีวิต และทรัพยากรโลกสูญเสียหรือเปล่า ? คำตอบของอาจารย์ศุภฤกษ์กล่าวว่า ต้องเข้าใจกันก่อนว่า Synbiotic สามารถนำไปใช้ได้หลายแขนง มันจะกลายเป็น ‘Social Economics’ ต่อไปข้างหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ ด้านอุตสาหกรรม และด้านเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นการมีชีวิตที่อายุยืนเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกฝ่ายต้องมานั่งคุยกันว่าจะมีกฏเกณฑ์อย่างไร
“การมีชีวิตยืนยาวนั้นมีประโยชน์มาก”
“แต่ในมุมมองด้านการแพทย์ก็ต้องพัฒนาให้ถึงที่สุด ต้องใช้ศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ให้เต็มที่ และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม มันอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเหลือโลกของเราได้ เช่น ถ้าเราอายุมากก็จะมีประสบการณ์และความรู้มาก เราอาจจะนำสิ่งนี้มาพัฒนาสังคมเราต่อได้ อย่างคนหนึ่งมีอายุยืนขึ้น เขาอาจจะสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือคนเกษียณที่นำความสามารถ นำประสบการณ์ไปสอนคนอื่น มันคือการมีชีวิตเพื่อเรียนรู้ และสามารถนำมาต่อยอดให้กับอีกหลายคน ซึ่งเราอาจจะยืดชีวิตคนที่มีศักยภาพส่งต่อให้คนรุ่นอื่นต่อไปได้”
Content Writer : Jarujan L.
Photographer : Napat P.
Graphic Designer : Phannita J.