ในประเทศไทยมี ‘พิพิธภัณฑ์’ อยู่มากมาย แต่กลับไม่ได้รับการดูแลที่ดี คนส่วนใหญ่เลยหันหลังให้พิพิธภัณฑ์ เพราะมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อและไกลตัว แต่รู้ไหมว่ายังมีกลุ่มคนที่ตั้งใจผลักดันวงการพิพิธภัณฑ์ไทยให้ดีขึ้น ผ่านการเรียนการสอนหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นมาสวนกระแสเหล่านี้
วันนี้เรามาคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พี่ฝน-ปฐมาภรณ์ วิโรจน์พันธุ์ นิสิตปริญญาโท หลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นการเรียนหลักสูตรพิพิธภัณฑ์ และมุมมองต่อวงการพิพิธภัณฑ์ไทย
บทที่ 1
เข้าใจพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
อาจารย์ศุภกรณ์ : ในประเทศไทยมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ และการจัดการด้านวัฒนธรรมอยู่หลายแห่ง ซึ่งของจุฬาฯ เราใช้ชื่อ หลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม เป็นหลักสูตรปริญญาโท มี 3 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การจัดการพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ และการบริหารจัดการการแสดง นิสิตไม่ได้เรียนแค่พิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเลือกเรียนแขนงอื่นได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะเน้นการบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรม และต่อยอดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดมูลค่าทั้งทางจิตใจและเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นงานพิพิธภัณฑ์ การแสดง หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ล้วนใช้รากฐานจากทรัพยากรวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดต้องถูกบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ มันเลยสะท้อนให้เห็นว่าในหลักสูตร คุณต้องเรียนวิชาบัญชี กฎหมาย การสื่อสารการตลาด ฯลฯ ร่วมกับการไปดูงานศิลปวัฒนธรรมตามพิพิธภัณฑ์ของต่างประเทศ อย่างล่าสุดเราไปพิพิธภัณฑ์เอาชวิทซ์ ที่ประเทศโปแลนด์มา เราให้นิสิตนำความรู้ที่ได้จากการดูงานมาจัดสัมมนา ซึ่งเราก็จะมีงบให้นิสิตไปก้อนหนึ่ง พวกเขาต้องจัดการงบประมาณเพื่อจัดอีเวนต์ให้ได้ สุดท้ายแล้ว นิสิตสามารถนำทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานของตนเอง
พี่ฝน : พี่ทำบริษัทเกี่ยวกับการสื่อสาร ซึ่งพักหลังมาก็เริ่มมีงานที่อยู่ดี ๆ ก็ได้ทำ คืองานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ เลยรู้สึกว่าตลาดมันเริ่มมีคนสนใจพิพิธภัณฑ์เยอะขึ้น แต่พี่จบจากสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ไม่มีความรู้ด้านการจัดการมิวเซียม พี่เลยสนใจที่จะมาเรียนเพื่อให้เข้าใจมันมากขึ้น ซึ่งจุฬาฯ ตอบโจทย์ในเรื่องการทำงานและเรียนควบคู่ไปด้วย เพราะในหลักสูตรนี้เป็นระบบการเรียนทางไกล
มิวเซียมมันเป็นเทรนด์ อย่างที่รู้กันว่าสักประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา คนเริ่มสนใจพิพิธภัณฑ์มากขึ้น แต่บุคลากรที่เรียนรู้หรือเข้าใจเรื่องนี้ในไทยมีน้อย ถ้าเกิดการทำพิพิธภัณฑ์ยังต้องนำเข้าคนจากที่อื่น เราก็จะมีแต่พิพิธภัณฑ์ที่ไม่เวิร์กสักที การเรียนในหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรมเลยเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้
บทที่ 2
ไม่ว่าใครก็เรียนได้
พี่ฝน : มีเพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันเป็นอาจารย์สอนด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม เขามองว่า การจัดการพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ มันไปเชื่อมโยงกับการสอนของเขา ทำให้เขาสามารถสอนเด็กให้ดียิ่งขึ้นได้ ส่วนอีกคนทำงานด้าน Production Manager คือจัดเทศกาลดนตรี ทำอีเวนต์ใหญ่ ๆ เขาก็มาเรียนเพราะต้องการองค์ความรู้อื่น ๆ เช่น ท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ เพื่อไปต่อยอดงานที่เขาทำ
บางคนที่มาเรียนก็ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว คือเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยภาครัฐ ซึ่งเขาก็ทำงานแบบเก่า ๆ คือเน้นงานอนุรักษ์ เขาเลยมาเรียนเพราะต้องการความรู้ด้านอื่นไปเสริม เพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการแบบเดิมๆ ให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น
จะเห็นเลยว่า ยุคนี้ไม่ได้มีใครจบมาแล้วเป็นสายวิชาชีพนั้นตรงๆ เราต้องมีสกิลแห่งศตวรรษที่ 21 คือการที่นำสกิลที่คุณมีบูรณาการกับความรู้ที่ได้ไป แล้ววันหนึ่ง ถ้ามีงานที่เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เข้ามา เขามีคนที่จัดการเกี่ยวกับการก่อสร้าง พื้นที่ และทุกอย่างหมดแล้ว แต่ขาดคนเล่าเรื่องเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ตัวเราเองจะสามารถไปยืนเป็น Cultural Manager ตรงนั้นได้เอง
บทที่ 3
หัวใจงานมิวเซียม
อาจารย์ศุภกรณ์ : ในงานพิพิธภัณฑ์ นอกเหนือจากงานแอดมินที่มีส่วนสนับสนุนในการสร้าง อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญ คือ ภัณฑารักษ์ (curator) ซึ่งบ้านเราขาด นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เราไม่มีภัณฑารักษ์แบบที่สากลโลกเขาเป็นกัน ส่วนใหญ่คนจะคิดว่า ใครก็ตามที่เป็นภัณฑารักษ์ต้องจบโบราณคดี หรือศิลปะเท่านั้น แต่ในยุคศิลปะร่วมสมัยแบบนี้ แค่ใจรักที่อยากจะนำเสนอเรื่องราวก็สามารถเป็นภัณฑารักษ์ได้
พี่ฝน : ภัณฑารักษ์ต้องรักการเรียนรู้ ไม่รังเกียจที่จะต้องรีเสิร์ช ถ้าเกิดเราเริ่มต้นแบบผิด ๆ มันก็จำกัดการรับรู้ต่าง ๆ เพราะสุดท้ายแล้วคุณต้องสะสมองค์ความรู้ทุกอย่าง แล้วนำมาตีความเพื่อเล่าเรื่องให้ได้ เพราะฉะนั้น ภัณฑารักษ์ต้องมีความสามารถในการรวบรวมข้อมูล และนำเสนอให้ผู้ชมเห็น
“บางคนชอบศิลปะ แต่เกลียดวิทยาศาสตร์ บางคนชอบวิทยาศาสตร์ แต่เกลียดศิลปะ พี่ว่าภัณฑารักษ์เป็นแบบนั้นไม่ได้ เขาต้องมองว่าทุกอย่างมันสัมพันธ์กัน”
บางคนเรียนจบด้านการสื่อสารมา พอต้องมาทำงานพิพิธภัณฑ์จริงๆ เราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนในวิชาชีพอื่นด้วย เช่น ด้านก่อสร้าง กราฟิกดีไซน์ ในเมื่อเราทำแบบเขาไม่ได้ เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเขาให้ได้ ต้องรู้ว่าเลือกผนังแบบนี้จะดีไหม จัดไฟแบบนี้ต้องทำอย่างไร เพื่อที่จะสื่อสารให้ได้ออกมาเป็นนิทรรศการต่าง ๆ นี่คือบทบาทของภัณฑารักษ์ในการจัดการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่
บทที่ 4
มองพิพิธภัณฑ์ในมุมเดียวกัน
พี่ฝน : ถ้ามองในมุมของคนที่จะเรียน หรืออยากทำงานด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ เราอาจจะต้องจำกัดความคำว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ ให้ชัดขึ้น ถ้าไปเปิดพจนานุกรม คำว่าพิพิธภัณฑ์มันกว้างมาก เคยไปที่สระบุรี เขาเอาตอไม้อันหนึ่งมาทำเป็นหลังคา ซึ่งนั่นก็เป็นพิพิธภัณฑ์ มันเป็นปัญหาว่าเราจำกัดความคำว่าพิพิธภัณฑ์มาคนละอย่างตั้งแต่ต้น
พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ สื่อสารคุยกับผู้ชม แล้วให้คนได้ประสบการณ์กลับไป แต่ที่บ้านเราไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะเราไม่ค่อยเอาผู้ชมเป็นตัวตั้ง เราสร้างพิพิธภัณฑ์ตามเจ้าของเงิน อย่างบางหน่วยงานที่เขาอยากทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา เขาคิดว่าเขาอยากเล่าอะไร แต่ลืมคิดไปว่าคนดูอยากดูอะไร มันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของคนที่อยากทำพิพิธภัณฑ์ หรือคนที่เรียนด้านนี้จะเริ่มต้นได้ คือมองให้ชัดก่อนว่าจะพูดกับใคร เพื่อที่จะรู้ว่าเราจะเล่าอะไรให้เขาฟัง หลังจากนั้นถึงค่อยเติมสิ่งที่น่าสนใจเข้าไป ทำให้คนรู้สึกไม่ยี้พิพิธภัณฑ์
บทที่ 5
พิพิธภัณฑ์กับเมือง
อาจารย์ศุภกรณ์ : อย่างแรกเลย คือ พิพิธภัณฑ์สร้างชาติ พอคนในชาติรู้ถึงความเป็นมาเป็นไปก็จะทำให้เกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างที่สอง คือ พิพิธภัณฑ์ทำให้เกิดการหมุนเวียน แลกเปลี่ยนวัฒนธรม และสาม คือ พิพิธภัณฑ์ช่วยในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างน้อยที่สุดเรามีพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ หรือในชุมชน มันทำให้เห็นถึงการหล่อหลอมของคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แสดงให้เห็นว่าบ้านเราเปิดรับคนจากต่างชาติมาตั้งแต่อดีต ซึ่งคิวเรเตอร์สามารถใช้เรื่องราวเหล่านี้เล่าเพื่อให้เกิดมูลค่าได้
พี่ฝน : พอเราพูดว่ารักชาติ คนจะตีความเป็นเรื่องอดีต ประวัติศาสตร์ บางระจันฟันกระจาย แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ค่อยได้มองความรักชาติในเชิงปัจจุบันว่า เรามีสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน แล้วมาพัฒนากันให้ดีขึ้น เรามีวัฒนธรรมที่หลากหลายแตกต่างกัน ซึ่งความต่างทำให้เราไม่เหมือนใคร ความต่างในประเทศทำให้เราเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรม
ตัวอย่างที่ใกล้บ้านเรามากที่สุด คือ สิงคโปร์ ทำไมประเทศที่เล็กมากขนาดนั้น ถึงทำให้คนอยากกลับไปซ้ำได้ไม่รู้จบ ถ้าเกิดเราไปดูในเว็บไซต์ แต่ละเดือนเขามีอีเวนต์ในมิวเซียมเยอะมาก ทั้งที่เขาเป็นชาติได้แค่ 50 กว่าปี ต้นทุนทางวัฒนธรรมเค้ามีน้อยกว่าเรามาก ซึ่งที่ National Museum สิงคโปร์ เขาสามารถลากเอาทั้งอาเซียนมาเล่าเป็นเรื่องของเขาได้ ทำให้เวลาใครไปมิวเซียมบ้านที่นั่น จะรู้สึกผูกพันแล้วอยากกลับไปอีก
ก่อนจบบทสนา อาจารย์ศุภกรณ์ยังฝากอีกว่า ผู้ที่ทำงานพิพิธภัณฑ์อย่ามองพิพิธภัณฑ์แค่ในเชิงอนุรักษ์ ให้มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศ ด้วยทรัพยากรวัฒนธรรมที่เรามี ทำอย่างไรให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ที่มีคุณค่าและมูลค่า แล้วก็สร้างคนเข้าชมใหม่ ๆ ให้เขากลับมาอยู่เสมอ
ส่วนพี่ฝนในฐานะนิสิตและคนเบื้องหลังวงการพิพิธภัณฑ์ไทย เธออยากให้คนไทยมองว่า พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน คนไทยชอบมองว่า คนที่ชอบเข้าพิพิธภัณฑ์จะต้องเนิร์ด แต่จริง ๆ แล้ว เที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็ชิลล์หมือนไปห้างฯ ได้เหมือนกัน มันก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนไป