ไกด์ 60 ยังแจ๋ว พาชมพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลิน - Urban Creature

ทุกครั้งที่ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เรามักได้ยินเสียงบอกเล่าเรื่องราวของงานที่จัดแสดงอยู่เสมอ นั่นคือเสียงที่เปล่งออกมาจาก ‘คนนำชมพิพิธภัณฑ์’ หรือเรียกว่า ‘มัคคุเทศก์’ ที่ตั้งใจ เต็มใจ และใส่ใจลงไปในทุกถ้อยคำที่กล่าวออกมา ซึ่งปกติมักจะเห็นคนนำชมตั้งแต่วัยเด็กประถม ไล่ระดับมาเรื่อยๆ จนถึงวัยทำงาน แต่ครั้งนี้ นับว่าเป็นโชคดีของเราไม่น้อย ที่ได้เดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมกับ ไกด์วัยหกสิบกว่ายังแจ๋ว อย่าง ‘คุณพี่ซ้วงสุมิตรา ชาคริยานุโยค’ (พี่ซ้วงบอกว่าขอให้เรียกว่าพี่แล้วกัน จะได้ดูน่ารักขึ้นมาหน่อย) ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ห้างขายยาเบอร์ลินที่พูดได้มากถึง 4 ภาษา

หลายคนอาจเริ่มเห็นผู้สูงวัยหลังเกษียณกลับมาทำงานอีกครั้ง นั่นเพราะตอนนี้ทั่วโลกล้วนสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงวัย ผ่านการออกกฎหมายให้บริษัทจ้างผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน และให้หน่วยงานเอกชนสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100% ของเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างสูงวัย ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ร่วมเปิดใจรับ ‘พนักงานสูงวัยที่ใจยังคงเก๋า’ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม และรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2546

โดยมีคุณลุงคุณป้าอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 6.6 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่า พ.ศ. 2564 บ้านเราจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ เหล่าผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 ใน พ.ศ. 2574 บริษัทหลายที่จึงประกาศรับคนทำงานวัยเกษียณ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘อาชีพมัคคุเทศก์นำชมพิพิธภัณฑ์’ ที่พี่ซ้วงกำลังทำอยู่ด้วยความรัก

“สวักลีค่ะ จะเริ่มนำชมพิพิธภัณฑ์แล้วนะคะ”

สำเนียงไทยติดกลิ่นอายจีนของพี่ซ้วงดังขึ้นให้ได้ยิน เราเดินตามเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ทั่วทุกมุมห้อง คลอด้วยน้ำเสียงฉะฉานที่คอยอธิบายเนื้อหาต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งก่อนที่พี่ซ้วงจะเข้าสู่วงการสูงวัยใจรักพิพิธภัณฑ์อย่างเข้มข้นนั้น เคยทำอาชีพไกด์มาก่อนประมาณ 30-40 ปี เพราะเรียนจบด้านภาษาญี่ปุ่น พร้อมด้วยความสามารถสุดเจ๋ง สปีคได้ถึง 4 ภาษา เริ่มตั้งแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ผสมกับใจรักในการท่องเที่ยว อาชีพไกด์จึงเป็นอาชีพแรกที่นึกถึงทันทีเมื่อเรียนจบ

หลังปลดเกษียณจากไกด์นำทัวร์ ก็มีเพื่อนชวนให้มาช่วยดูแลพิพิธภัณฑ์ห้างยาเบอร์ลิน พี่ซ้วงเลยตกปากรับคำ บอกเพื่อนไปว่า “เอ้า ลองมาดูแล้วกัน (หัวเราะ)” เพื่อมานำชมพิพิธภัณฑ์ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีมุมไหนที่น่าสนใจบ้าง

.

เข้าอกเข้าใจพิพิธภัณฑ์

การเป็นไกด์นำชมที่ดี พี่ซ้วงบอกเราว่า สิ่งแรกที่ต้องมี คือความเข้าใจพิพิธภัณฑ์ที่ต้องนำชม เพราะต้องนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ให้คนที่มาเข้าใจ เช่น พี่ซ้วงทำงานที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน ก็ต้องสามารถเล่าประวัติของคุณหมอ และตัวคลินิกให้เข้าใจง่าย บอกว่าทำไมท่านถึงได้รับเกียรตินำประวัติมาจัดทำพิพิธภัณฑ์ หรือสร้างคุณงามความดีอะไรมาก่อน และต้องถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงน่าฟัง มีวิธีพูดให้เกิดความสนุกสนาน ทำให้คนมาชมมีความรู้

เราถามพี่ซ้วงต่อไปว่า คนสมัยนี้ส่วนใหญ่อยากหาความรู้ หรืออยากดูอะไรก็เสิร์ชในอินเทอร์เน็ต ทั้งที่บางครั้ง สามารถหาข้อมูลได้จากพิพิธภัณฑ์ด้วยซ้ำ ความรู้สึกที่ได้รับมันจะต่างกันไหม ?

ต่างมากนะคะ คือคำแรกที่พี่ซ้วงตอบ เพราะการมาพิพิธภัณฑ์ จะช่วยให้ได้เห็นของจริง อย่างของบางอย่างที่อยู่ในสมัยเก่าก่อน แล้วหาดูยากแล้ว อาจจะถูกเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ไว้ให้เด็กรุ่นหลังดูก็ได้ แต่ถ้าเลือกดูตามอินเทอร์เน็ต ก็จะไม่ได้สัมผัสกับสิ่งที่เป็นของจริง ไม่ได้มาเรียนรู้ อีกอย่างคือ หากดูจากอินเทอร์เน็ตจะได้เสพแค่ตัวหนังสือ แต่ถ้าเกิดได้มาชมในพิพิธภัณฑ์ จะเจอกับคนนำชมอย่างพี่ซ้วง

“มันเกิดอรรถรสนะว่ากันง่ายๆ ตามจริงเราอ่านเองก็อ่านได้ แต่ถ้ามีคนนำชม ได้พูดคุยสนทนา ฟังแล้วมันเกิดอรรถรสมากกว่า ความสนุกมันจะต่างกัน จริงไหม ? (หัวเราะ)”

พี่ซ้วงย้อนกลับมาถามเรา เด็กรุ่นลูกอย่างเราฟังต้องรีบพยักหน้า เพราะทั้งหมดที่พี่ซ้วงพูดมา มันจริงทั้งนั้นเลย

.

แค่มีใจก็เป็นมัคคุเทศก์ได้

ถามถึงเทคนิคของการทำงานมัคคุเทศก์ นอกจากจะต้องรู้วิธีพูดจาน่าฟังแล้ว ก็ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า ‘ใจล้วนๆ’ พี่ซ้วงบอกเราว่า การทำงานตรงนี้ ต้องทำด้วยใจ ใจมันต้องรักในหน้าที่ รักที่จะเล่า และรักที่จะพาชม เพราะถ้าได้ทำงานด้วยความชอบที่เกิดจากตัวเราเอง งานนั้นก็จะมีความสนุก ไม่กดดัน พูดง่ายๆ ว่า ต้องทำสิ่งที่เราชอบ แล้วผลงานมันจะออกมาดี

.

สัมผัสสิ่งใหม่รำลึกสิ่งเก่า

เสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์ในมุมมองของไกด์วัยหกสิบกว่ายังแจ๋วอย่างพี่ซ้วง คือการเป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า นั่นเพราะการเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ จะทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเราได้ความรู้ เข้าใจถึงแก่นที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ที่ก่อนหน้านี้อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนคนรุ่นราวคราวเดียวกับพี่ซ้วงเข้ามาในพิพิธภัณฑ์แล้วได้รำลึกถึงความหลัง ผ่านภาพเก่า บรรยากาศเก่า หรือเรื่องราวสมัยวัยเยาว์ที่สร้างความสุขให้วัยเกษียณยิ้มได้อีกครั้ง 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่ซ้วงก็สังเกตว่า คนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าพิพิธภัณฑ์กันเท่าไร อาจเพราะมีสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างความน่าตื่นเต้นได้มากกว่า แต่ในความเห็นของมัคคุเทศก์วัยเก๋ายังมีอีกมุมที่มองว่า 

“พิพิธภัณฑ์ก็ต้องสร้างสิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้คนเข้าเช่นกัน อย่างเรื่องประวัติ อุปกรณ์ ของโบราณต่างๆ มันก็หลากหลาย ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนที่เข้ามาชอบแบบไหน เพราะฉะนั้นพิพิธภัณฑ์มีหน้าที่สร้างจุดน่าสนใจ สร้างแรงดึงดูดให้พิพิธภัณฑ์แต่ละที่” 

พี่ซ้วงปิดท้ายบทสทนาครั้งนี้ ด้วยการพาเราไปจนสุดทางออกของพิพิธภัณฑ์ แล้วให้เขียนสมุดเยี่ยมฝากความรู้สึกไว้สักหน่อย และสิ่งที่เราเขียนไปประโยคแรกเลยคือคำว่า “น่ารัก” เพราะการได้เดินชมพิพิธภัณฑ์ไปกับคุณมัคคุเทศก์รุ่นใหญ่ ที่เล่าเรื่องราวได้อย่างน่ารัก น่าฟังในวัยหกสิบยังแจ๋ว คือสิ่งที่สร้างความประทับใจให้เรามากที่สุดในการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.