‘มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ล้อมวงฟังคนเขียนเพลง - Urban Creature

06/07/2566

กรุงเทพมหานคร

‘ก็บางครั้งเราคงยังสับสนอยู่ ไม่รู้ว่าจะไปไหน ไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นเช่นใด ต้องการอะไรหนา ได้แต่คิดแล้วก็ลองผิดลองถูก จะผิดไปอีกนานไหม’

‘โอ้ชีวิต ไม่ง่ายดายเลยสักนิด แต่ชีวิตไม่ยากเย็นอย่างที่คิด ก็ชีวิตคือชีวิต คงต้องคิดกันให้ดี…’

บทเพลงชื่อ ‘ชีวิต’ ของวงดนตรี ‘Moderndog’ ดังขึ้นในความทรงจำของเรา เมื่อนั่งอยู่บนรถเมล์จากบางกะปิเพื่อมุ่งไปขึ้นรถทัวร์ที่สถานีฯ หมอชิต แสงแดดยามเย็นรำไรลอดไปตามซอกตึกสะท้อนลงบนถนน ผู้คนกำลังเลิกงาน แม้บีทีเอสสายสีเหลืองจะเปิดให้บริการแล้ว แต่ด้านล่างรถยังติดเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ใช้เวลาร่วมสองชั่วโมงกว่าจะถึงที่หมาย พระอาทิตย์ลาลับ แสงสีจากร้านค้า ร้านอาหาร และบรรยากาศที่หมอชิตคล้ายฉากในภาพยนตร์ยุคเก่า แม้ปีนี้เป็นปีที่จะมีนายกฯ คนที่สามสิบแล้วก็ตาม

ระยะเดินทาง 714 กิโลเมตร ใช้เวลา 9 ชั่วโมง 40 นาที จำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เพื่อความปลอดภัยและลดการใช้พลังงาน เสียงเจ้าหน้าที่ประจำรถบอกเล่า ราวสามทุ่มรถออก

สถานีต่อไป ‘เชียงใหม่’

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

07/07/2566

เชียงใหม่

เช้าตรู่วันศุกร์ที่สถานีฯ อาเขต รถแดงแล่นไปมา บางคันบรรทุกผู้โดยสารชาวต่างชาติเต็มคัน บางคันโล่งว่าง เราเลือกใช้บริการมอเตอร์ไซค์วินสีเขียว เดินทางไปยังปั๊มน้ำมันที่นัดหมายเพื่อขึ้น ‘รถเหลือง’ รถประจำทางสาย เชียงใหม่-วัดจันทร์ ไปยังดินแดนป่าสนบนดอยมูเส่คี ที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา มุ่งหน้าสู่ทริป ‘มุขปาฐะ’ ครั้งแรกที่ ‘Thepoe’ (เด๊อะโพ)

มุขปาฐะ คือกิจกรรมสอนเขียนเพลง โดยเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจด้วยการร่วมตอบแบบสอบถาม คัดเลือกสมาชิกเข้าร่วมทริปทั้งหมด 15 คน เพื่อเดินทางไปใช้เวลาร่วมกัน แชร์ประสบการณ์ชีวิต และพูดคุยเรื่องราวแนวทางดนตรีกับ ‘พี่ป๊อด’ แห่งวง Moderndog/Balloon Boy, ‘ก้อง’ จากวง H 3 F, ‘เฟนเดอร์’ จาก Solitude Is Bliss/View From The Bus Tour และ ‘คลีโพ’ KLEE BHO เจ้าของบ้านผู้เปิดพื้นที่บ้านเล็กในป่าใหญ่ต้อนรับเพื่อนนักเดินทางเป็นเวลาสามวันสองคืน

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

จากตัวเมืองเชียงใหม่ รถเหลืองโดยสารผู้ร่วมทริปแล่นไปตามถนนหมายเลข 1265 รถค่อยๆ เคลื่อนตัวออกห่างจากเมือง สองฝากฝั่งกลายเป็นสันเขาสุดลูกหูลูกตา มีต้นไม้สูงเขียวชอุ่มเรียงตามทางคดโค้ง การเดินทางบนถนนเส้นนี้ทำให้เราได้สัมผัสอากาศสามฤดู เพราะเจอทั้งร้อน ฝน หนาว

นั่งรับลมกันไปเกือบสี่ชั่วโมงในที่สุดก็ถึงจุดหมายปลายทาง บรรยากาศป่าสนทำให้ลมหายใจสดชื่นและผิวหนังรู้สึกฉ่ำเย็น หลังฝนผ่านพ้น เมฆขาวลอยเป็นนุ่นเบียดกันอยู่บนฟ้าสีสดใส แสงแดดแหวกม่านหมอกมาต้อนรับพวกเราแล้ว

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

14.00 น.

Thepoe – บ้านเล็กในป่าใหญ่

Thepoe ‘เด๊อะโพ’ เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเจ้าของบ้านคือศิลปินชาวปกาเกอะญอ ‘คลีโพ-ณัฐวุฒิ ธุระวร’ ผู้สร้างสรรค์ดนตรี World Music ด้วยการประยุกต์เครื่องดนตรีประจำถิ่นอย่าง เตหน่ากู ให้บรรเลงกับเครื่องดนตรีสากลอื่นๆ ได้ และขับขานบทเพลงที่ผสมผสานทั้งไทย สากล และภาษาถิ่นของเขา เพื่อสื่อสารให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักกับอีกหนึ่งความหลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องราวของชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตอยู่คู่กับป่ามานานแสนนาน

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี
‘มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

คลีโพเล่าว่า ก่อนจะมาเป็นเด๊อะโพนั้น เขาเคยใช้ ‘บ้านพาตี่’ ซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวไว้เป็นสถานที่ต้อนรับนักเดินทาง ทว่าเมื่อสิ่งที่คลีโพทำกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง และเพื่อไม่ให้รบกวนความเป็นอยู่ของที่บ้าน เขาจึงตัดสินใจสร้างบ้านเล็กอีกหลังขึ้นมาเพื่อใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทำหน้าที่เป็นสถานที่ที่จะพาผู้มาเยือนไปทำความรู้จักกับวิถีชีวิตของผู้คนชาวปกาเกอะญอ ผ่านกิจกรรมที่เจ้าบ้านออกแบบมาด้วย ‘ความธรรมดา’ คือ การพบปะ ทำความรู้จัก ล้อมวงพูดคุย กินอาหารท้องถิ่น ใช้เวลาร่วมกันอยู่กับธรรมชาติและเสียงเพลง

“เราจะได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนที่มันหายไป” เจ้าของบ้านพูดถึงความตั้งใจ

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

16.30 น.

ตลาดชุมชนมือเจะคี

เมื่อทุกคนถึงที่หมายพร้อมกันแล้ว เจ้าบ้านกล่าวต้อนรับด้วยรอยยิ้มและท่าทีเป็นกันเอง เสียงพูดคุย เสียงหัวเราะดังก้องทั่วป่าสน ทุกคนแยกย้ายไปพักผ่อนตามอัธยาศัย และเมื่อแดดร่มลมตก ปิ๊กอัปสองคันก็พาทุกคนไปยัง ‘ตลาดชุมชนมือเจะคี’

ตลาดแห่งนี้เปิดมาได้ 1 ปี เป็นตลาดขนาดอบอุ่นของชุมชนที่จะมีสีสันเป็นพิเศษทุกวันศุกร์ ภายในมีสินค้าตั้งแผงวางขายกันหลายรายการ ทั้งงานทำมือ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ อาหารชนเผ่า ผักสดใหม่และของป่าที่ชาวบ้านนำมาจำหน่าย ฯลฯ

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี
มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

นอกจากสินค้าบนแผงแล้ว ตลาดแห่งนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นให้ชมกันด้วย ทั้งร้อง เล่น เต้น ประสานเสียง บอกเลยว่าผู้มาเยือนอย่างเรารู้สึกเจริญหู เจริญตาสุดๆ ปิดท้ายด้วยการบรรเลงเพลงอะคูสติกโดยศิลปินจากทริปมุขปาฐะ เพื่อมอบความสุนทรีย์ยามเย็นให้กับทุกคนในตลาด

ย่ำค่ำพระอาทิตย์ตกลงเขา กลับถึงเด๊อะโพ ทุกคนแยกย้ายอาบน้ำ นั่งกินข้าว และเริ่มต้นกิจกรรมต่อไปบนระเบียงกลางแจ้งที่มองเห็นแสงดาวระยิบระยับบนฟ้า พวกเรานั่งล้อมวงฟัง ‘พาตี่ทองดี’ เกษตรกร นักปราชญ์ และศิลปินชาวปกาเกอะญอ ผู้เป็นพ่อของคลีโพ บรรเลงเตหน่าต้อนรับผู้มาเยือน ขับกล่อมด้วยบทเพลงและเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของคนกับป่าที่ต่อสู้เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน ให้คนรุ่นหลังได้มีอากาศแสนสบายและธรรมชาติให้ได้โอบกอด

‘ขุนแจ่มแห่งแดนป่าสน ฉันได้เยือนมาครั้งหนึ่ง ติดตรึงหัวใจคนึง ห้วยหุบเขาน้ำลำธารใสสะอาด ต้นตึงต้นสนตระหง่าน สลับกันแทรกซ้อน โอ้ ภุมรินเจ้าเอย ดอมดมพฤกษา ตามพนาป่าเขาลำธาร’ – เนื้อเพลง ‘เสน่ห์มูเส่คี’ ของพาตี่ทองดีบรรยายบรรยากาศสถานที่ที่เราอยู่ได้เป็นอย่างดี

‘โอ้ลูกรัก เจ้าจะรู้ไหม ลูกคือดวงใจ คือแรงแห่งกาย คือแรงแห่งใจ หวังยังอีกไกล เจ้าจงอุตส่าห์ สู้และฝ่าฟัน ให้ถึงจุดหมาย ปลายทางแห่งฝัน’ – ส่วนหนึ่งของเพลง ‘โพ’ ที่มาจากชื่อลูก และเป็นเพลงที่เล่าถึงเมล็ดพันธุ์แห่งปกาเกอะญอ ผู้สืบสานต่อเจตจำนงของคนชาติพันธุ์

ภาษาที่แตกต่าง ส่งต่อเป็นภาษาเพลงที่สื่อเข้าถึงใจผู้ฟัง แหงนมองไปบนฟ้าช้างเผือกทอดตัวยาวประดับด้วยดวงดาวพราวประกาย เรารู้สึกได้ถึงดวงตาหลายคู่ที่เอ่อล้นด้วยความปีติ

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

กองไฟสว่าง กลิ่นควันไม้สนอบอวลในอากาศ เสียงจิ้งหรีดร้องระงม เจ้าบ้านพาทุกคนเล่นเกมแนะนำตัว เราถึงได้รู้ว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมทริปล้วนมีอาชีพที่แตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักพิสูจน์อักษร วิศวกร นักดนตรี นักร้อง นักแสดง ช่างตัดผม ครู พนักงานออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ รวมถึงคนว่างงาน ฯลฯ และทุกคนต่างมาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยคนจากกรุงเทพมหานครถือเป็นจำนวนเยอะที่สุด

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

08/07/2566

เลอเปลอ บ้านไม้ 50 ปี พื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน

แดดยามสายฉายแสงปลุกผู้คนให้ตื่นจากผ้าห่มผืนหนา นกหลายชนิดประสานเสียงออกหากิน ทีมงานของบ้านเด๊อะโพพาทุกคนที่ตื่นไหวไปเดินเล่นยืดเส้นยืดสายที่ป่ารอบๆ บ้าน เพื่อสอนการเก็บเห็ดและดูของป่าที่นำไปประกอบอาหารได้ เมื่อได้เห็นวิถีชีวิตของคนบนดอย เราจึงไม่แปลกใจที่ทรัพยากรในป่าจะมีราคาแพงเมื่อนำลงไปขายที่ตลาดในเมือง

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี
มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

เวลาต่อมา คณะมุขปาฐะพาทุกคนไปที่ ‘เลอเปลอ’ บ้านไม้สองชั้นอายุกว่า 50 ปี ปัจจุบันถูกใช้ประโยชน์เป็นคาเฟ่ ขายเครื่องดื่ม ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์ของชุมชน และมีสเปซโชว์งานศิลปะ-แสดงดนตรี เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ขนาดเล็กที่สร้างแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ให้กับลูกหลานในชุมชนที่สนใจศิลปะและดนตรี

ด้วยความตั้งใจของคลีโพที่อยากสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ที่สนใจการเล่นดนตรี ทุกครั้งที่เด๊อะโพจัดกิจกรรม เขาจะพาศิลปินในทริปมาร่วมเวิร์กช็อป แชร์ไอเดีย แนวคิด และวิธีการสร้างสรรค์ดนตรีให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านได้ฟัง เพื่อจุดไฟทางดนตรีให้ลุกโชนมากขึ้น

รอบนี้เป็นคิวเวิร์กช็อปจากทางคณะมุขปาฐะ ก้องนำบทเพลงที่เขียนกับวง H 3 F ของเขามาบรรเลงให้ทุกคนได้ฟัง และเปิด Session ให้น้องๆ ถามคำถามเกี่ยวกับการแต่งเพลงและการเล่นดนตรีของเขา

นี่คือบางบทสนทนาที่ฟรอนต์แมนแห่งวง H 3 F ทบทวนและสะท้อนให้ทุกคนฟัง

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

“การแต่งเพลงสำหรับเรามันไม่ใช่ความใหม่หรือเป็นอะไรที่ไม่มีใครเคยฟัง เพราะบางเพลงมันง่ายๆ ก็เพราะแล้ว ถ้าคิดจะเริ่มแต่งเพลง แค่แต่งได้ท่อนหนึ่งก็ดีแล้ว 

“แค่ต้องชอบและทำมันต่อไปเรื่อยๆ อย่าไปอาย อย่าไปรู้สึกว่าเพลงที่แต่งมาแย่ หรือไม่กล้าเล่นให้คนอื่นฟัง ไม่เป็นไร เพราะเราคงไม่ได้คิดจะแต่งเพลงเดียวอยู่แล้วใช่มั้ยล่ะ

“อยากให้จริงใจกับตัวเอง อยากแต่งเพลงแบบไหน อยากได้ยินอะไร ถ้ามันยากเกินไปก็ไม่ต้องทำอะไรที่เกินตัว เพราะบางทีการทำอะไรที่ยากก็ไม่ได้หมายความว่ามันดีเสมอไป แค่ลองทำอะไรที่ไม่ถนัดดู และอย่าไปกลัวว่ามันจะผิด ถ้าจะผิดก็ให้มันผิดไป ไม่เป็นไร

“ตอนนี้พวกเรามีอินเทอร์เน็ต มีมือถือพร้อมเปิดยูทูบได้ตลอดเวลา อยากรู้อะไรก็หาได้เลย อย่างเดียวที่ทำให้เราทำไม่ได้มันเป็นแค่วิธีคิดของเราเท่านั้นเอง ถ้าเราชอบและสนุก เดี๋ยวใจก็จะหาทางให้เล่นได้เอง

“อยากเล่นดนตรีก็เล่นให้มีความสุข ทำด้วยใจรัก ทำเพื่อตัวเอง มันจะได้สะท้อนความเป็นมนุษย์ในใจเรา ได้เติบโตจากสิ่งที่ตัวเองรัก พยายามจริงใจกับมันเยอะๆ อย่าไปคาดหวังกับอะไรที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา พยายามพัฒนาตัวเอง มีวินัยกับตัวเอง โลกมันเล็กลงมากแล้ว เราจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ขอแค่เป็นตัวเอง”

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

13.00 น.

ระเบียงคนขี้เกียจ ‘บ้านพาตี่’

จากบ้านไม้อายุ 50 ปี ทีมมุขปาฐะเคลื่อนที่มายัง ‘บ้านพาตี่’ บ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ที่สร้างจากต้นไม้ที่ผู้อยู่อาศัยลงแรงปลูกไว้ตั้งแต่นานมา ลมเบาๆ พัดความร่มเย็นกระทบผิว ทุกคนนั่งนอนเล่นเอกเขนกอยู่บนระเบียงคนขี้เกียจ (มีปัญหา) เพื่อรอล้อมวงกินข้าวกลางวัน

หลังมื้ออาหาร เสียงกีตาร์ดังเคล้าบรรยากาศเมฆครึ้ม เสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะสลับกันจอแจ พาตี่ทองดีเจ้าของบ้านหิ้วไวน์บ๊วยที่กำลังหมักได้ที่มาให้ทุกคนลองชิม พร้อมตั้งวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวสุราของคนบนดอย

มุขปาฐะดำเนินกิจกรรมต่อ รอบนี้คือคิวของพี่ป๊อดที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ชีวิต วิธีการเขียนเพลง รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานเพลงแบบฉบับของนักร้องนักแต่งเพลงขวัญใจเด็กแนว

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

พี่ป๊อดเล่าว่า ‘ชีวิต’ คือเพลงแรกที่แต่งขึ้นในวันเกิดปีที่ 21 ของตัวเอง เพื่อตั้งคำถามกับชีวิตที่มีอยู่ จนถึงปัจจุบันวงดนตรีหมาทันสมัยที่มีเพลงทั้งหมด 6 อัลบั้ม เพลงเหล่านั้นก็ล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อตอบคำถามในเพลงแรกของพี่ป๊อดนั่นเอง

“อายุยี่สิบเอ็ดทำอัลบั้มแรก ตอนอายุยี่สิบสองออกอัลบั้ม อายุยี่สิบสามเพลงดังได้เกิด ชุดสองเครียดสุด เพราะชุดแรกมันท็อป ชุดที่สามก็เลยแกล้งตัวเองโดยการทำให้ตัวเองเฟล ทำเพลงเป็น Abstract จะได้ไม่แบกความคาดหวังใดๆ แล้วเราก็เพิ่งมารู้ตอนหลังว่าสิ่งที่ทำวันนั้นมันคือสิ่งที่เรียกว่า Downside Expectation หรือการลดขนาดความคาดหวังของตัวเองลง และได้พบว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตคือความรัก 

“มาชุดสี่เกิดเพลง แดดส่อง ตาสว่าง ทำให้ชีวิตได้เข้าใจ พออัลบั้มที่ห้าเป็นทิงนองนอย คืออะไรก็ได้แล้ว ชุดหกก็เลยใช้ชื่ออัลบั้มเป็นชื่อสมาชิกไปเลย” พี่ป๊อดเล่าถึงการเติบโตของวงดนตรีโมเดิร์นด็อกด้วยความยิ้มแย้ม

พ้นไปจากอัลบั้มทั้งหมด พี่ป๊อดก็พูดถึง ‘Balloon Boy’ โปรเจกต์เดี่ยวที่เขาสร้างอวตารขึ้นมา เพื่อทลายการมีตัวตนและชื่อเสียงของตัวเอง รอบนี้เขาอยากทำเพลงที่พูดเรื่องอะไรก็ได้โดยใช้โปรแกรมทำเพลงที่สร้างมันได้ด้วยตัวคนเดียว

Balloon Boy ใช้วิธีการเขียนเพลงด้วยการวิ่งจ็อกกิ้ง และเปิดลูปที่สร้างไว้ให้วิ่งวนอยู่ในหู จากนั้นก็สังเกตดูว่าในช่วงที่วิ่งอยู่ ในจิตนั้นมีอะไรโผล่มาบ้าง บวกกับการไขว่คว้าคำในอากาศที่แวบมาแล้วหยิบมาทำให้เป็นเพลง

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

“เราเริ่มรู้สึกว่าอยากทำเพลงน่ารัก เพราะจริงๆ ชีวิตมันเป็นอะไรที่น่ารักได้ เราอาจจะผ่านช่วงเวลาของการตรากตรำ เฟ้นหาความหมายของชีวิตมาตลอด และพอถึงจุดหนึ่งเราก็พอเข้าใจมันบ้างแล้ว

“เพลงที่เราเขียนในบอลลูนบอยอาจไม่ได้ให้แง่คิดกับคน แต่ให้ความรู้สึกของความเป็นมิตร ให้ความเชื่อมโยง สบายใจ เหมือนเราสร้าง Vibe เพราะเคยทำเพลงที่ Deep มา จนถึงวันหนึ่งเราอยากพูดกับเพื่อน หรือพูดกับคนฟังเพลงด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่อยากบอกว่า มันโอเคนะ” พี่ป๊อดเล่า

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนก็จะผ่าน State การเขียนเพลงของตัวเองที่ต้องจริงใจกับช่วงเวลาหรือสภาวะในวันเหล่านั้น เช่น วันที่ติดขัด วันที่หาคำตอบของชีวิต วันที่เจอคำตอบของชีวิต หรือวันที่กลับมาสงสัยกับชีวิตอีกครั้ง ฯลฯ เพลงจึงเหมือนไดอารีหนึ่งในการบันทึกเรื่องราวของชีวิต

“เพราะการเขียนเพลงของเราคือการเห็นสภาวะของตัวเอง ณ เวลานั้น ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาไหน สุดท้ายแล้วเพลงนั้นจะต้องเป็นเพลงที่รู้สึกใช่ ภูมิใจ และเราอยากฟัง”

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

17.00 น.

ป่าสนวัดจันทร์

จบจากกิจกรรมบนระเบียงคนขี้เกียจที่บ้านพาตี่ คณะมุขปาฐะเคลื่อนที่ต่อไปยัง ‘ป่าสนวัดจันทร์’ พาไปล้อมวงรอบกองไฟกันบริเวณริมอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอกัลยาฯ คราวนี้เป็นคิวของ ‘เฟนเดอร์’ ศิลปินอิสระที่จะมาบอกเล่ากระบวนการทำเพลงด้วยตัวเอง

เฟนเดอร์แนะนำตัวว่า เขาทำงานเพลงอยู่สองโปรเจกต์ หนึ่งคือ Solitude Is Bliss วงดนตรีมีชื่อจากเชียงใหม่ โดยเป็นการทำงานร่วมกันกับเพื่อนห้าคน และสองคือ View From The Bus Tour ซึ่งเป็นโปรเจกต์ลุยเดี่ยวตั้งแต่เขียนเพลงยันวางขายอัลบั้ม

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

“ก่อนหน้านี้เราเป็นนักดนตรีเล่นประจำในเชียงใหม่ เมื่อก่อนเล่นทั้งอาทิตย์ แต่ค่าแรงต่ำมาก ต้องเก็บตังค์สองเดือนกว่าจะได้สายแจ็กดีๆ สักเส้น คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่เป็นนักดนตรีเล่นประจำตามร้าน พูดกับตัวเองเอาไว้ตั้งแต่ก่อนโควิดว่าอยากหยุดเล่นประจำ เพราะรู้สึกว่ามันทำให้ความรักในดนตรีต่ำลงเรื่อยๆ มันเอียนเกินไป

“พอเกิดช่วงล็อกดาวน์เราก็จิตตก เพราะว่าไม่ได้ทำงานเลย พยายามหางานเล็กๆ น้อยๆ และใช้เงินเก็บไปพลางๆ มีรายได้แค่พาชีวิตรอดไปได้วันต่อวัน พอเริ่มปรับตัวได้ หลังจากไม่ได้ทำงานเลย แล้วมาจับกีตาร์อีกครั้งก็ร้องไห้ออกมา ตอนนั้นก็งงว่าร้องทำไม แต่พอมาทบทวนก็พบว่าเราดีใจที่จำได้แล้วว่าเราอยากจับกีตาร์ อยากเล่นดนตรีเพราะอะไร

“พอไม่ต้องไปเล่นดนตรีประจำแล้วเราก็มีเวลาเขียนเพลงมากขึ้น ใช้เวลาในชีวิตประจำวันไปกับการคาดหวังให้เขียนเพลงทุกวัน มันก็น่าจะทำให้เรามีผลงานมากขึ้น และส่งต่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว”

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

ควันไฟลอยในอากาศ ป่าสนส่งกลิ่นดิน เฟนเดอร์เล่าต่อว่า เขาเริ่มเซตอัปห้องนอนของตัวเองให้เป็น Bedroom Studio สามารถอัดเพลงได้โดยไม่เกิดเสียงรบกวนชาวบ้าน และมีคุณภาพเสียงที่เทียบเท่ากับการไปอัดในสตูดิโอ

นอกจากนี้ เขายังสั่งซื้อเครื่องดนตรีบางชิ้นจากต่างประเทศมาใช้กับเพลงเพลงเดียว เพื่อให้ได้เสียงที่เป็นไปตามความตั้งใจที่สุด ศึกษาขั้นตอนบันทึกเสียงและมิกซ์เพลงด้วยตัวเอง รวมถึงการทำซีดี ติดต่อสั่งทำเทปกับบริษัทที่ประเทศแคนาดา และทำแผ่นเสียงที่ผลิตจากฮ่องกง ใส่ใจพิถีพิถันทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้สิ่งที่อยากสัมผัสที่สุด

“เราพบว่าการเลือกที่จะโฟกัสทำอะไรอย่างเต็มที่มันก่อให้เกิดผลลัพธ์ เกิดดอกออกผลได้จริงๆ” เฟนเดอร์สรุปเส้นทางที่เลือก

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

20.00 น.

กองไฟสัมพันธ์

คืนที่สองทุกคนล้วนสนิทสนม ท่าทีเขินอายหายไป มื้อเย็นวันนี้อิ่มท้องและการพูดคุยก็เอร็ดอร่อยมากขึ้น กองไฟยังสว่าง เสียงกบ เขียด แมลงกลางคืน ส่งเสียงร้องดัง สร้างบรรยากาศของฤดูฝน

หัวข้อสนทนาถึงการแต่งเพลงยังคงดำเนินต่อไป พี่ป๊อดแสดงความเห็นว่า “Song Writing เหมือนร่างกาย เพลงหรือสไตล์เปรียบเหมือนเสื้อผ้า หมายความว่าสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ การทำร่างกายให้สวยงาม เป็นทรงที่เราชอบ ทีนี้เราอยากแต่งตัวแบบมินิมอลหรือแต่งแบบลิเก จะแต่งแบบไหนก็ได้ไม่มีผิดถูก จะเอาแบบไหนอันนี้ก็อยู่ที่เราแล้ว”

รอบกองไฟนี้เองที่เราได้รับฟังสิ่งที่คาดหวังจากการมาร่วมกิจกรรมของเพื่อนผู้ร่วมทริปคนอื่นๆ

ตั้งแต่คนที่เรียนมหาวิทยาลัยดนตรีและทำวงกับเพื่อน ตัดสินใจเข้าร่วมทริปนี้เพราะอยากฟังหลายๆ คนเล่าเรื่องดนตรีของตัวเอง เพื่อเก็บเป็นประสบการณ์ไปใช้ทำเพลง คนที่มาสร้างความมั่นใจ มาเติมไฟ รับพลังงานให้ตัวเองสามารถทำเพลงต่อไป คนที่อยากสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคอื่นๆ และแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ เพราะรู้ว่าในวัยของเขายังมีเวลาให้ได้ทำสิ่งที่อยากทำอยู่ จึงอยากใช้ชีวิตให้มีความสุข

บางคนอยากแต่งเพลง อยากรู้ว่าศิลปินมืออาชีพนั้นมีแนวคิดหรือการใช้ชีวิตยังไงบ้าง ซึ่งการเดินทางมาที่นี่ทำให้เขาได้เกิดการแลกเปลี่ยน เจอสังคมใหม่ๆ ได้ทำอะไรใหม่ๆ บางคำตอบบอกว่าดนตรีคือวิถีชีวิต ดนตรีเหมือนเป็นงานอดิเรก เป็นสิ่งที่ชอบ แต่นึกภาพไม่ออกว่าคนที่มีดนตรีอยู่ในวิถีชีวิตเขาทำยังไงกัน พอได้ฟังการแจกแจงวิธีการต่างๆ จากศิลปิน ก็ได้รับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ผู้ร่วมทริปคนหนึ่งให้ความเห็นว่า เขาแชตไปหาคนที่อยากคุยด้วยได้ แต่ตัวอักษรนั้นไม่มีอารมณ์ ไม่มีน้ำเสียง จึงตัดสินใจออกจากบ้านมาใช้เวลาร่วมกับคนอื่นๆ

และก็มีคนที่ห่างไกลจากวงการดนตรี ไม่ได้ทำเพลง แต่มีความรู้สึกชื่นชมว่าบทเพลงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ใช้คำไม่กี่คำ ใช้เวลาไม่กี่นาที แต่สามารถสร้างความหมาย เปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้กับคนฟังได้ในเวลาสั้น ก็เลยอยากพาตัวเองเข้ามาอยู่ในวงโคจรของคนที่แต่งเพลง เล่นดนตรี เพราะอยากรู้ว่ามันเป็นยังไง

09/07/2566

อาบป่าอาบใจ ก่อนกลับไปใช้ชีวิต

หลังจากแสงแดดโผล่พ้นภูเขา ทุกคนตื่นนอนด้วยความงัวเงีย เจ้าบ้านขานเรียกพากันเดินเข้าไปตรงลานกว้างในป่า ร่วมกันทำกิจกรรมที่ชวนให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใสมากขึ้นก่อนบอกลากัน

กิจกรรมที่ว่าคือ Shinrin-Yoku หรือการบำบัดด้วยการอาบป่าแบบญี่ปุ่น ชวนปลดปล่อยสัมภาระของตัวเอง และเปิดสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยไม่มีเครื่องมือสื่อสารมารบกวนในการทำกิจกรรม

“ผมแบ่งความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติเป็นสองแบบคือ ภายนอกและภายใน ภายนอกก็เรื่องธรรมชาติ ส่วนภายในก็เป็นเรื่องสัญชาตญาณที่เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันหายไปจากการมีเทคโนโลยีหรือความเป็นเมือง 

“ผมจะพูดเรื่องการได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติตลอดในบทเพลงของตัวเอง มีเพลงหนึ่งชื่อว่า ‘เดินทาง’ ท่อนหนึ่งร้องว่า มีดิน มีน้ำ ป่าเป็นตำรา มีเธอและฉันพึ่งพากันไป คนปกาเกอะญอจะมีสิ่งหมุนเวียนคือ คน ป่า น้ำ ดิน พึ่งพากันไป และพึ่งพากันแบบคนกับคน คนกับป่า คนกับน้ำ คนกับดิน” คลีโพอธิบาย

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

เมื่อบอกเล่าความหมายของการทำกิจกรรมเสร็จแล้ว เจ้าของบ้านก็ปล่อยให้ทุกคนกระจายตัวออกไปตามจุดต่างๆ ที่เลือก เพื่อใช้เวลาเชื่อมโยงกับธรรมชาติรอบตัว ผ่านการเดิน การนั่ง การนอนหรือทำสิ่งต่างๆ ที่แต่ละคนต้องการ

“เราอยู่ที่นี่อยู่แล้ว เลยคิดว่าจะทำอะไรที่ไม่เป็นปกติดี ก็เลยถอดรองเท้าเดินเพื่อรื้อฟื้นสัญชาตญาณบางอย่าง เช่น เมื่อเจออะไรแหลมๆ ทิ่ม เราจะรู้ว่าต้องลงน้ำหนักเท้ายังไง เพราะตอนที่มีรองเท้าเราจะไม่สนอะไร แต่พอเดินแบบไม่มีรองเท้า เราจะใช้สัญชาตญาณที่มีมากขึ้น มันทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับมาอยู่กับตัวเองในช่วงวัยเด็ก ในวันที่เราไม่ได้สวมใส่อะไรมากเท่าวันนี้ คิดถึงคุณตาคุณยายที่เขาไม่สวมรองเท้าแต่ก็เดินไปไหนได้ทุกที่ อีกอย่างเราพบว่ามันเป็นการนวดฝ่าเท้าที่ดีมาก” คลีโพแชร์ประสบการณ์

“เมื่อก่อนตอนเด็กวิ่งได้โดยไม่ต้องใส่รองเท้า ปีนต้นไม้ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเจอกับตัวอะไร ก็ปีนได้อย่างสบายใจ แต่ตอนนี้มีความกลัว เขินอาย และกลับมาคิดว่าเราหลงลืมเรื่องง่ายๆ อย่างธรรมชาติไป” ผู้เข้าร่วมทริปอีกคนแสดงความรู้สึก

“เรารู้สึกถึงความเคลื่อนไหวรอบตัวอยู่ตลอดเวลา รับรู้ถึงความมีชีวิตชีวาของลมที่พัด ได้ยินโทนเสียงปีกของแมลงต่างๆ ได้กลิ่นดินที่ชื้นน้ำ มีความทรงจำวัยเยาว์กลับมาให้ได้คิดถึงช่วงที่คลุกคลีกับธรรมชาติ” ผู้ร่วมทริปอีกคนเสริม

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

“ถึงแม้มันจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เป็นช่วงเวลาที่เราออกจากมือถือแล้วมานั่งอยู่กับธรรมชาติตรงนี้ ถ้าเรามาคนเดียวมันอาจจะเคว้งและลุกไปที่อื่นแล้ว แต่พอมีเพื่อนก็รู้สึกว่าได้ทำอะไรร่วมกัน

“ผมรู้สึกว่าการได้ทำอะไรร่วมกันเพื่อแบ่งปันบางสิ่งให้กันและกัน มันเหมือนได้เพิ่มพลังงานที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และคิดว่าวันข้างหน้าคนอื่นๆ ก็จะเจอทางของตัวเอง อาจอยู่ในสวนของตัวเอง หรืออาจเป็นบนเตียงนอนที่ตื่นขึ้นมาแล้วคอนเนกต์กับตัวเอง โมเมนต์การได้อยู่ร่วมกันกับคนอื่นมันมีคุณค่า ขอบคุณกิจกรรมที่นำพามาให้ได้เจอสภาวะนี้” พี่ป๊อดทิ้งท้ายด้วยการบอกเล่าความรู้สึก

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

จบกิจกรรมมุขปาฐะครั้งแรกที่เด๊อะโพเป็นอันเรียบร้อย ทุกคนแบกกระเป๋าและสัมภาระของตัวเองเตรียมตัวออกเดินทางกันอีกครั้ง รถเหลืองที่เคยมาส่งยังจุดหมายสตาร์ทเครื่องรอเพื่อพาทุกคนไปยังจุดหมายต่อไป

ขอบคุณจากหัวใจ ขอบคุณในความหวังดี ขอบคุณในน้ำใจ ขอบคุณในความรักที่มี

ระหว่างทางกลับเข้าเมือง เรานึกถึงค่ำคืนสุดท้ายของมุขปาฐะครั้งแรก ที่ปิดท้ายกิจกรรมด้วยบทเพลง ‘ขอบคุณ’ ซึ่งพี่ป๊อดเป็นคนร้องนำและทุกคนที่นั่งล้อมรอบกองไฟร้องตามไปด้วยกัน 

การได้พบปะ พูดคุยทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่านการใช้เวลาร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เรารื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคนที่หายไปได้จริงๆ

ตะบลือ (ขอบคุณ)

มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี
มุขปาฐะ’ ครั้งแรก ‘รื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนกับคน’ ล้อมวงฟังคนเขียนเพลงกลางป่าสนบนดอยมูเส่คี

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.