พระปรางค์วัดอรุณฯ ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพจำกรุงเทพฯ ที่ไม่ว่าคนชาติไหนก็ต้องตั้งใจเดินทางมาให้เห็นกับตาสักครั้ง ยิ่งถ้าใครเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาเป็นประจำ ทุกครั้งที่นั่งเรือผ่านจะต้องหันไปชื่นชมความงามจนเรือแล่นลับสายตา แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือคนส่วนใหญ่มักตื่นตะลึงกับความยิ่งใหญ่อลังการ จนมองข้ามรายละเอียดสุดประณีตโดยฝีมือช่างไทยโบราณที่บรรจงรังสรรค์ผลงานศิลปะอันยากจะเลียนแบบ
หลังการบูรณะซ่อมแซมองค์พระปรางค์ ฉันเพิ่งมีโอกาสมาเยือนวัดอรุณฯ เพื่อพินิจความงดงามอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้ฉันได้พบองค์ประกอบชิ้นใหม่ที่สร้างสีสันให้วัดอรุณฯ ได้อย่างกลมกลืนไม่ขัดเขิน นั่นคือกระถางต้นไม้เซรามิกผลงานของ ‘คุณโม จิรชัยสกุล’ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่บอกกับเราว่าชาตินี้ได้มีผลงานตัวเองอยู่ในวัดอรุณฯ ก็นอนตายตาหลับแล้ว
ถ้วยโถโอชาม
ก่อนเข้าเรื่องคุณโมชี้ชวนให้ฉันดูศิลปะชิ้นมาสเตอร์พีซ ที่หากมองไกลๆ หลายคนอาจไม่ทันสังเกต นั่นคือดอกไม้หลากสีสันที่ปะติดอยู่กับองค์พระปรางค์ บ้างมีกลีบเป็นกระเบื้องเคลือบลายไม่ซ้ำกัน บ้างเป็นหอยเบี้ยขนาดเท่าอุ้งมือคน คุณโมจึงเล่าถึงที่มาที่ไปฟังดูน่าตื่นเต้น
“สมัยก่อนเวลาถ้วยชามแตกชาวบ้านจะเอามาบริจาควัด เวลาสร้างเจดีย์ใหม่ทางวัดจึงนำเศษจานชามที่ได้มาทุบเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปแปะเป็นลวดลาย ผมมองว่านั่นเป็นการร่วมมือของชุมชนในการสร้างสิ่งสิ่งหนึ่งขึ้นมา ไม่ได้เกิดจากศิลปินหรือใครคนใดคนหนึ่ง ส่วนผู้รับเหมาในสมัยนั้นก็ต้องมีศิลปะในการจัดวางและเลือกสีกระเบื้องให้เข้ากัน ถ้านึกย้อนไปผมว่าช่างเหล่านี้ทำงานด้วยจิตใจที่เสรีมากทีเดียว”
นักเรียนอังกฤษสาขาเซรามิก
หลังจากคุณโมอาสาเป็นไกด์พาชมรอบวัด ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเขาดูสนใจกระเบื้องเคลือบที่ตกแต่งบนพระปรางค์และพระอุโบสถเป็นพิเศษ คำตอบก็คือคุณโมค้นพบว่าชอบทำงานเซรามิกตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ลงมือในวิชาย่อยสมัยเรียน ป.ตรี ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ผมเป็นเด็กเก่งอันดับต้นๆ ของห้องมาตลอด เอ็นติดที่หนึ่งของภาคแต่เป็นคนไม่ตั้งใจเรียน ผยองว่าตัวเองเก่งเหลือเกิน ปรากฏว่าจับเซรามิกวันแรกเจ๊ง จับวันที่สองเจ๊ง จับไปสองเดือนก็ยังเจ๊งอยู่ มันเป็นโมเมนต์แรกในชีวิตที่ท้าทายและกลายเป็นความสนุก สิ่งที่ชอบในการทำเซรามิกคือการทดลอง เพราะมีโอกาสเจ๊งสูงมาก ชาวเซรามิกจะรู้กันว่าคุณทำได้แค่ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์คือดวง เข้าเตาเปิดออกมาบางทีก็เจ๊งบางทีก็สำเร็จ”
แม้จะเรียนจบ แต่ความอยากรู้ยังไม่จบ คุณโมยื่นพอร์ตไปที่ Royal College of Art ประเทศอังกฤษ เพื่อเรียนต่อ ป.โท ด้านเซรามิก ที่ที่ทำให้เขาเลิกเกลียดโรงเรียนเป็นครั้งแรก เพราะที่นั่นให้อิสระกับนักเรียนทุกคน ไม่มีการบังคับเข้าเรียน ไม่มีการเก็บหน่วยกิต มีแค่ผ่านกับตก ที่สำคัญคือไม่มีคำว่าผิดหรือตีกรอบให้เด็กคิดเหมือนๆ กัน
จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ – พ.ศ. ๒๕๖๓
ข้อสงสัยถัดไปของฉันคือ ทำไมนักเรียนนอกถึงได้สนใจออกแบบกระถางต้นไม้ในวัด คุณโมสรุปคร่าวๆ ว่าได้รับคำชักชวนจากคนรู้จักซึ่งเป็นผู้รับเหมาที่บูรณะวัดอรุณฯ อยู่ขณะนั้น จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าอาวาส
“เวลาคนมาเที่ยววัดอรุณฯ ถ่ายรูปพระปรางค์ปุ๊บก็กลับ ทั้งที่ภายในวัดมีของดีอยู่เยอะมาก มีมณฑปพระพุทธบาท มีอุโบสถ มีตุ๊กตาอับเฉา ท่านจึงอยากให้คนได้เห็นรอบๆ วัด ถ้าวัดมีภูมิทัศน์สวยงามคนจะอยากเดิน”
ก่อนนี้กระถางต้นไม้ในวัดอรุณฯ ส่วนใหญ่ได้รับบริจาคมาจากหลายที่ จึงมีลวดลายไม่เหมือนกันดูสะเปะสะปะ บางกระถางก็มีอักษรไทยตัวใหญ่โตเขียนไว้ข้างๆ ว่าใครเป็นผู้บริจาค เห็นแล้วไม่น่าจรรโลงใจ เจ้าอาวาสจึงมีวิสัยทัศน์ว่าจะเปลี่ยนภูมิทัศน์วัดอรุณฯ ใหม่ในวาระที่วัดครบรอบ 200 ปี
พระอุโบสถหลังงามที่ถูกเก็บงำ
โอกาสที่จะได้สร้างสรรค์ผลงานเคียงคู่วัดอรุณฯ ซึ่งเป็นมรดกของชาติ ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่ไม่ได้มีมาบ่อยๆ คุณโมจึงตกปากรับคำทันที
ไอเดียตั้งต้นของคุณโมไม่ได้มาจากไหนไกล กลับเป็นลวดลายดอกไม้บนผนังพระอุโบสถที่เจ้าอาวาสอยากให้คนทั่วไปได้มาเห็นความสวยงามนั่นเอง
“ตอนดีไซน์กระถางผมก็มาเดินวนรอบวัดเป็นชั่วโมง ผมไปตงิดตรงที่กระเบื้องที่แต่งพระอุโบสถ เป็นลายดอกไม้ แต่ทุกดอกทิ่มหัวลงหมดเลยก็แปลกใจ เลยถ่ายรูปเก็บไว้แล้วกลับไปรีเสิร์ช ซึ่งมีข้อมูลอยู่ในกูเกิลด้วยนะ เขาบอกว่าตามความเชื่อทางพุทธศาสนา หากเกิดเรื่องดีๆ เทวดาจะโปรยดอกไม้ลงมาจากสวรรค์ ดอกไม้ทั้งหมดก็เลยกลับหัวลงเหมือนดอกไม้กำลังร่วง มันเท่มากเลยนะ”
ดอกไม้ทุกดอกอัดด้วยมือ
หากมองกระถางแล้วใส่จินตนาการลงไปเล็กน้อย จะเห็นดอกไม้ที่โปรยปรายลงมาค่อยๆ กองสูงขึ้น คุณโมเล่าเบื้องหลังกว่าจะได้ดอกไม้นับพันดอกบนกระถางชุดแรกทั้งหมด 45 กระถางนั้น ต้องอาศัยความถึกโดยใช้เทคนิคอัดดินลายนูนต่ำ พิมพ์ลงบนตัวกระถางด้วยมือทุกดอก ซึ่งคุณโมได้ว่าจ้างเด็กเพาะช่างที่เชี่ยวชาญเรื่องลายไทยให้ปั้นลายดอกไม้ให้ แล้วถอดบล็อกออกมาเป็นแม่พิมพ์
เมื่อได้แม่พิมพ์มาแล้วก็ถึงขั้นตอนการผลิต คุณโมถ่ายทอดวิธีอัดดินให้คนงาน เขาเพียงกำหนดตำแหน่งของดอกไม้ ขยับนิดขยับหน่อย สูงบ้างต่ำบ้าง บางทีก็มีสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างกระรอกโผล่หน้ามาทักทาย
ย่อมุมลงมาอยู่บนกระถาง
หลังจากผลงานชุดแรกก็ตามมาด้วยกระถางชุดต่อมา โดยหยิบเอาการย่อมุมของพระปรางค์มาเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเมื่อวางกระถางคู่กับฐานพระปรางค์แล้วดูสวยงามกลมกลืน แนวคิดสำคัญในการออกแบบผลงานชิ้นนี้คือต้องไม่แย่งซีน และต้องไม่สร้างความรู้สึกอึดอัดให้ผู้พบเห็น
“ผมว่างานดีไซน์ต้องถ่อมตน ต้องฟังเสียงคนรอบข้าง เพราะสุดท้ายงานของเราต้องไปอยู่ในบริบทนั้น”
เทคนิคของกระถางชุดนี้ไม่ธรรมดาอีกเช่นเคย ด้วยความที่เป็นสตูดิโอเล็กๆ มีคนงานไม่มาก และไม่มีประสบการณ์ขึ้นงานเซรามิกชิ้นใหญ่ด้วยมือมาก่อน คุณโมจึงคิดค้นเครื่องมือสำหรับขึ้นรูป โดยด้านในเป็นโครงที่ทำจากเชือก ซึ่งจะทิ้งลวดลายของมันไว้ด้านในตัวกระถาง พร้อมกับมีใบมีดที่พอหมุนกระถางมันจะปาดดินให้ได้เหลี่ยมมุมที่สมมาตร
คุณโมยังจับเอาลวดลายกระเบื้องเคลือบและหอยเบี้ยที่เรียงกันเป็นรูปดอกไม้มาใส่ในผลงาน โดยอีกหนึ่งเทคนิคที่คุณโมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ คือการเผาเซรามิกในอุณหภูมิสูงเพื่อความคงทนและสีที่สวยสดขึ้น ต่างจากสมัยก่อนที่ยังเผาด้วยไฟต่ำทำให้สีหลุดลอกง่าย จึงเป็นไปได้ว่าสีสันบนกระถางเหล่านี้อาจคงอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี
เบญจรงค์สู่ ‘เอกรงค์’
ก่อนมาทำโปรเจกต์กระถางวัดอรุณฯ คุณโมมีอีกหนึ่งผลงานที่เขาทดลองนำศิลปะไทยอย่างเครื่องเบญจรงค์ มารีดีไซน์ใหม่ให้โมเดิร์นขึ้นในผลงานที่มีชื่อว่า ‘Monochrome’ คุณโมเริ่มต้นความสนใจด้านเบญจรงค์หลังจากอาจารย์ที่อังกฤษโยนโจทย์ให้ไปลองศึกษางานเซรามิกไทย คุณโมจึงบินกลับมาเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ที่หมู่บ้านเบญจรงค์ ดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร
เบญจรงค์ประกอบด้วย 5 สี ได้แก่ เหลือง น้ำเงิน ดำ เขียว แดง ในสมัยก่อนแต่ละสีต้องใช้อุณหภูมิในการเผาไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องเผาหลายรอบทำให้เบญจรงค์เป็นของมีราคา แรกเริ่มเดิมทีลวดลายเบญจรงค์วาดโดยใช้เส้นสีดำ ก่อนจะพัฒนามาใช้น้ำทองในสมัย ร.6 สร้างความสวยงามแวววาวเป็นที่นิยมไปแพร่หลาย จนปัจจุบันได้มีการคิดค้นสีที่สามารถเผาด้วยอุณหภูมิเท่ากันทุกสีในคราวเดียว
สิ่งที่คุณโมตั้งข้อสังเกตคือ เครื่องเบญจรงค์ในปัจจุบันแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากอดีต จึงเป็นความท้าทายที่คุณโมอยากเปลี่ยนหน้าตาของเบญจรงค์ใหม่ ให้เข้าถึงง่ายขึ้นและคนกล้านำไปใช้งานมากกว่าที่จะตั้งโชว์
หลังจากที่ได้ไปทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง คุณโมพบว่าเอกลักษณ์เครื่องเบญจรงค์ของดอนไก่ดีคือความละเอียดและความชำนาญในการวาดลวดลายน้ำทอง ที่พัฒนาเทคนิคโดยใช้เข็มฉีดยาแทนพู่กันเพื่อเส้นที่คมขึ้น รวมถึงใช้สีที่มีคุณภาพ ทำให้เครื่องเบญจรงค์ที่นี่มีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย ซึ่งองค์ประกอบที่คุณโมนำมาเป็นจุดเด่นในผลงาน Monochrome คือลวดลายน้ำทองที่วาดโดยช่างฝีมือดอนไก่ดีนั่นเอง
แนวคิดในการนำภูมิปัญญาไทยมารีดีไซน์แทนที่จะกูเกิลแล้วดึงแค่รูปมาเป็นต้นแบบ คุณโมเลือกที่จะทดลองทำเองกับมือเพื่อเรียนรู้คุณค่าของภูมิปัญญานั้น แล้วจึงนำส่วนที่ดีมาพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่
นอกจากจะได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาแล้ว ความภูมิใจอีกอย่าง คือการได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับคนในชุมชนดอนไก่ดี ได้เห็นช่างเขียนรุ่นใหม่ๆ นำไอเดียของคุณโมไปทดลองใช้กับงานเบญจรงค์ดั้งเดิม โดยการวาดลวดลายแบบไม่เต็มใบต่อยอดเป็นผลงานรูปแบบใหม่ๆ
“เวลาทำงานกับชุมชน ผมเห็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่จะชอบคิดว่าตัวเองเป็นนายจ้าง เป็นคนที่มีเทสต์กว่า แล้วเอาความรู้ไปหยิบยื่นให้ ผมไม่อยากให้คิดแบบนั้น ถ้ามันเป็นบทสนทนาระหว่างกัน เขาสอนเรา เราสอนเขา ตัวงานมันจะมีจิตวิญญาณมากกว่า และบางคนจะชอบหวงดีไซน์ตัวเอง พอเห็นชาวบ้านก๊อบงานก็ไปโกรธชาวบ้าน แต่ถ้ามองภาพรวมมันเป็นการพัฒนาวงการไปด้วยกัน”
งานศิลป์ไทยต้องไม่ถูกแช่แข็ง
สิ่งที่ฉันอยากทิ้งท้ายในการพูดคุยกับคุณโมครั้งนี้ คือการได้เห็นศิลปะและภูมิปัญญาไทยพัฒนาไปไกลกว่าที่เป็น คุณโมให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ศิลปะไทยถูกผูกไว้กับสิ่งที่สูงส่งแตะต้องไม่ได้ แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นศิลปะไทยแบบชาวบ้านๆ ได้รับการยกย่องมากขึ้น
“ไม่นานมานี้ มีกระแสหิมพานต์มาร์ชเมลโลว์ที่แชร์กันบนโลกโซเชียล เป็นงานที่เด็กรุ่นใหม่ทำกันเอง แชร์กันเอง โดยไม่ต้องมีรัฐมาสนับสนุนด้วยซ้ำ ซึ่งรัฐไม่เคยมองเห็นความสำคัญ นี่จึงกลายเป็นเรื่องที่นักออกแบบรุ่นใหม่รู้สึกว่ามันสนุกและเป็นอะไรที่ท้าทายรัฐ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเซนส์ของคนยุคนี้เลย ซึ่งทำให้ผมเข้าใจเลยว่า ทำไมก่อนหน้านี้คนไม่ค่อยสนใจศิลปะไทย เพราะมันน่าเบื่อ มันถูกผูกอยู่กับความงามแบบเดียว”
ก่อนจากกันคุณโมฝากไว้ในย่อหน้าสุดท้ายนี้ว่า
“ผมรู้สึกว่ากระทรวงวัฒนธรรมทำตัวเป็นตำรวจวัฒนธรรมเกินไป ซึ่งผิดคอนเซปต์จากคำว่า ‘คัลเจอร์’ ที่หากมีสิ่งไหนเกิดขึ้นมาก็แปลว่ามีคนชอบ หน้าที่ของรัฐที่ดีควรโอบรับทุกๆ รสนิยมมากกว่าที่จะผลักไส”