MILK ! แพลตฟอร์มสำหรับศิลปินอิสระที่เปิดให้เรียนรู้วงการเพลงโดยไม่ต้องมีสังกัด - Urban Creature

แพสชั่น คำที่ผลักดันให้คนทำงานดนตรียังคงก้าวเดินในเส้นทางแห่งตัวโน้ตอย่างไม่ย่อท้อ แต่หากจะดีถ้ามีแพสชั่นพร้อมกับ โอกาส ที่เปิดลู่ทางให้พวกเขาได้เติบโต

“MILK ! เกิดขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงแพสชั่นของคนที่หลงใหลในเสียงเพลงไม่ว่าจะแนวเพลงแบบไหนก็ตาม

มอยสามขวัญ ตันสมพงษ์, บอลต่อพงศ์ จันทบุบผา จากวง Scrubb และออนชิชญาสุ์ กรรณสูต สามผู้บริหารค่ายเพลง What The Duck จึงขอเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่หยิบยื่นให้ ‘คนทำเพลงรุ่นใหม่’ ได้มีพื้นที่โชว์ของภายใต้ ‘ความอิสระ’ ผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า MILK ! ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อศิลปินเท่านั้นแต่ยังขยายออกไปยังคนฟังที่จะได้สัมผัสแนวดนตรีแปลกใหม่ ได้เห็นความสร้างสรรค์และพัฒนาคอมมูนิตี้วงการดนตรีไทยให้ดียิ่งขึ้น

วันนี้เรามีโอกาสได้นั่งคุยกับ ‘พี่มอย’ และ ‘พี่บอล’ เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์ม MILK ! ที่พยายามเข้าใจ และเข้าถึงศิลปินรุ่นใหม่ให้มากที่สุด โดยไม่วางตัวเองว่าเป็น ‘ค่าย’ เพื่อนำเสนอผลงาน พัฒนา สนับสนุนศิลปินให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง ภายใต้ความอิสระที่ยังคงเอกลักษณ์และตัวตนของตัวเองให้ได้มากที่สุด

| MILK ! ที่ไม่ใช่นม แต่คือความอิสระเพื่อศิลปินรุ่นใหม่

มีศิลปินอิสระรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีสังกัดค่ายเพลงจำนวนมากอยู่บนโลกโซเชียลแล้วจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้คอมมูนิตี้ของวงการดนตรีดีขึ้น

พี่มอย : MILK ! คือโปรเจกต์ที่ถูกคิดและพัฒนามาเกือบปีครับ ด้วยแนวคิดที่ว่า ปัจจุบันมีศิลปินอิสระเกิดขึ้นมากมาย และไม่มีค่ายกันเยอะ ทั้งที่เพลงเขาดีมากนะครับ ถ้าอย่างนั้นจะดีกว่าไหมหากมีคนเข้าไปสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งในแง่ของการให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์บางอย่างที่ศิลปินอาจจะยังไม่รู้ ซึ่งศิลปินบางคนอาจไม่ต้องการมีข้อตกลงหรือสัญญาเป็นศิลปินยาวๆ เพราะฉะนั้นเราเลยพัฒนา MILK ! เพื่อเป็นโมเดล Artist Service Platform ที่ให้ศิลปินได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ ทดลองครับ

| ทำไมต้อง ‘MILK !’


พี่มอย : เพราะการจะเป็นศิลปินที่ดีได้ ไม่ใช่แค่การทำเพลงที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมี ทัศนคติที่ดีด้วย ซึ่ง MILK ! จะเข้าไปช่วยสร้างมุมมอง หรือแชร์ประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องอย่างใกล้ชิด ทำให้ศิลปินที่อยู่ในบ้านหลังนี้ของ MILK ! กลายเป็นศิลปินคุณภาพให้ได้ โดยคำว่า MILK ! แยกมาจาก 4 แนวคิดครับ

M – Music (ดนตรี
I  – Independent (ความอิสระ
L – Learning (การเรียนรู้
K – Knowledge (ความรู้)


ซึ่ง 4 แนวคิดหลักของ ‘MILK !’ ซึ่งเป็น Artist Service Platform แห่งแรกในประเทศไทยนั้นนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ท้าทายและแตกต่างจากรูปแบบของ What The Duck พอสมควร ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกันทำให้มีความยากอยู่บ้างในช่วงแรก แต่จุดประสงค์หลักของเราที่สร้าง MILK ! ขึ้นมา ก็เพื่อดูแลและสนับสนุน ‘ศิลปินอิสระ’ โดยเฉพาะครับ

| ใส่ใจ ดูแล สนับสนุน

นอกจาก MILK ! จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับศิลปินอิสระอย่างอิสระแล้ว พี่บอลยังเล่าให้ฟังว่า การทำงานครั้งนี้ยังใส่ใจตั้งแต่การคัดเลือก ไปจนถึงการดูแล และสนับสนุนศิลปิน

พี่บอล : สำหรับหลักการคัดเลือกศิลปินเราใช้โมเดลคล้ายๆ กับของ What The Duck ครับ คือคัดเลือกจากความชอบก่อน และเราก็มองเห็นช่องว่างของคนทำดนตรี ที่ในอนาคตบุคคลเหล่านี้จะกลายมาเป็นคนขับเคลื่อนวงการนี้ต่อไป ซึ่งในการคัดเลือกสิ่งแรกก็คือ ศิลปินจะต้องสร้างผลงานเอง แต่งเพลงเอง เล่นเพลงเอง มีวิธีนำเสนอหรือการสร้างตัวตนเป็นของตัวเองมาก่อน

วง loserpop

ส่วนการหยิบบุคคลเหล่านี้เข้ามา นอกจากจะได้คนคุณภาพแล้ว ยังได้คอมมูนิตี้ที่แตกต่างกันเพิ่มเข้ามาอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้มันคือมูลค่าบางอย่าง ที่บางทีค่ายเพลงเองก็อาจจะสร้างไม่ได้ หรือถ้าสร้างก็คงต้องลงทุนมหาศาล แล้วไม่รู้ว่าใช่คอมมูนิตี้จริงๆ หรือเปล่า สุดท้ายแล้วหากศิลปินเหล่านี้ได้ใช้บริการที่ MILK ! สร้างขึ้นมาให้ ตัวศิลปินเองก็จะได้เรียนรู้การทำงานได้ไวขึ้นด้วยครับ

พี่มอย : ในด้านการสนับสนุนศิลปิน MILK !  มีการวางแผนเอาไว้ด้วยกันถึง 3 ส่วน ได้แก่

1. Artist and Repertoire เพื่อคอยดูแลศิลปิน ให้คำปรึกษา เหมือนเป็นครูแนะแนวครับ
2. Marketing and Communication Consultancy ที่ดูแลทั้ง Online และ Offline ไม่ว่าจะเป็น Social Media Platform, Content Relationship Strategy และ Media and PR Strategy
3. Funding ข้อนี้สำคัญมากๆ ครับ คือการมีเงินทุนให้กับศิลปิน เท่ากับเรากำลังจะบอกกับศิลปินว่า ‘เราเชื่อมั่นในตัวเขา’ เพราะถ้าเราเชื่อมั่นในศิลปินแล้ว เราต้องออกทุนให้ หรือให้เงินสนับสนุนไปเลย ขอแค่น้องๆ เข้ามาพูดคุยปรึกษากัน ไม่ว่าจะต้นทุนในการทำ Music Video ที่ดี การออกไปทัวร์คอนเสิร์ตต่างจังหวัด หรือการทำ Music Master ให้ดีขึ้น ทาง MILK ! ก็พร้อมสนับสนุนในตรงนี้

ทุนที่เรามอบให้ไม่จำเป็นต้องนำมาคืนเพราะเราเชื่อว่าสักวันสิ่งที่เราให้ไปจะหวนกลับคืนมาไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งเอง

| เหตุผลของการเลือกศิลปินต้นแบบ 3 กลุ่ม

พี่บอล : ตอนนี้เรามี Loserpop, Quicksand bed และ Varis ที่อยู่กับเรา ซึ่งต้องบอกตามตรงเลยว่า “เราเลือกศิลปินจากความชอบเลย” และทีมงานทุกคนของเราทุกคนเป็น Music Lover ชอบฟังเพลง ชอบไปอีเวนต์ ชอบไปคอนเสิร์ตอยู่แล้วครับ จะสนุกกับไลฟ์สไตล์ที่มีเสียงเพลงเป็นส่วนประกอบ เพราะฉะนั้นมันต้องเริ่มจากการที่เราชอบเขาก่อน และเริ่มจากการเลือกสิ่งที่เราชอบไปแชร์กับคนอื่นๆ ว่าชอบวงนั้นวงนี้ไหม นั่นแปลว่าทีมงานทุกคนของ What The Duck จะมีส่วนในการร่วมทำความรู้จัก ได้เรียนรู้จากตัวเพลงก่อน หลังจากนั้นคือความเห็นชอบต้องกันว่านี่คือน้องใหม่ที่เราจะมาทำงานร่วมกันนะ

“ที่ผมเลือกจากความชอบ เพราะเชื่อว่ามันเหมือนกับเรามีแฟน เราก็จะรู้นิสัยใจคอเขาได้ดีและรู้วิธีดูแลเขาอย่างดีที่สุด”

พูดง่ายๆ เหมือนกับการเลือกแฟนเลยครับ พอเราชอบ เราก็จะรู้ว่าเขาทำอะไร เขาเป็นคนแบบไหน เขากินอะไร แต่งตัวยังไง บุคลิกยังไง พูดจาแบบไหน และถ้าเราอยากเป็นแฟนเขา เราก็จะเอาใจเขาง่าย พอเราปรับเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่คอยดูแลพวกเขาให้เติบโต เราก็จะดูแลเขาง่ายขึ้นนั่นเอง และเราอยากให้เขาโตไปเป็นแบบไหนเราก็จะทรีตเขาถูก เพราะฉะนั้นหลักการง่ายๆ ของการเลือกศิลปินคือขอให้ชอบก่อน และต้องมีความถนัดเรื่องดนตรีด้วย เพื่อที่จะนำพาเขาไปต่อได้

พี่มอย : เพิ่มอีกนิดนึงคือต้องคุยกันรู้เรื่อง และเรื่องทัศนคติก็เป็นสิ่งที่สำคัญนะครับ เพราะตั้งแต่ทำ MILK ! มา เราไม่ได้คุยกันแค่รอบสองรอบ และยิ่ง MILK ! เป็นแพลตฟอร์มใหม่ยิ่งต้องใช้การพูดคุย อธิบายให้เข้าใจ เพราะเราไม่อยากให้ศิลปินที่เข้ามาแล้วเกิดคำถามที่ตามมา

พี่บอล : ซึ่งเรื่องที่เราคุยกันก็ไม่ได้หนักไปทางทักษะด้านดนตรีนะครับ แต่จะเน้นไปในทางความชอบต่างๆ คล้ายๆ กับการถามเรื่องกีฬา ว่าสุดท้ายแล้วเราจะสามารถไปเตะบอลแก๊งค์เดียวกันได้หรือเปล่า จะลงเรือลำเดียวกันไหวไหม และยิ่งในยุคที่โซเชียลมีเดียมันสมบูรณ์แบบมาก เราไม่สามารถบอกให้ใครพูด หรือทำในสิ่งที่เขาควรจะทำได้ ทางที่ดีคือการเรียนรู้นิสัยใจคอกันก่อน เวลาเกิดปัญหาจะได้ช่วยเหลือกันได้ทัน

| คำว่า ‘อิสระ’ สำหรับ MILK !

พี่บอล : เราให้อิสระกับศิลปิน 100% ทั้งเรื่องของการทำเพลง ความคิดสร้างสรรค์ อิสระทางความคิด และยังมีพื้นที่เป็นของตัวเอง อย่างการมีช่องทางของเขา มีเพจ นอกจากนี้เขายังต้องลงไปปฏิบัติงาน ตั้งแต่เลือกคนถ่ายทำ เลือกเสื้อผ้า หรือองค์ประกอบอื่น รวมถึงคุยกับลูกค้า แต่ก็จะมีพี่เลี้ยงคอยประกบเพื่อช่วยเหลือด้วย ซึ่งก็จะไม่ใช่การทำให้ เพราะเขาต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วยตัวเองด้วย

“ไม่รู้เลยว่าวงจะเป็นยังไง แต่วันนี้สนุกอยู่”

พี่มอย : จริงๆ มันก็อิสระแทบทุกอย่างเลยนะ “แล้วแต่เขาเลย” เรื่องทำเพลง การตลาด เราอิสระอยู่แล้ว และเราก็มีเงินทุนให้ไปลงมือทำในสิ่งที่อยากทำด้วย เพราะฉะนั้น บริการนี้จะเข้ามาซัพพอร์ตเขาเอง เราจะไม่บอกว่าน้องต้องปล่อยเพลงตอนนั้นตอนนี้ แต่จะเข้าไปช่วยให้ความรู้และคอยเป็นกำลังเสริมให้

| ระยะเวลาของศิลปินที่ต้องอยู่ในบ้านหลังนี้

พี่บอล : ในแง่ของระยะยาวก็อยู่ที่สัญญา แต่สัญญาก็จะแตกต่างจากรูปแบบของค่ายเพลง ซึ่งจะมีระยะที่สั้นกว่าและประเมิณผลได้ แต่ท้ายที่สุดจะไม่มีการเซ็นสัญญาซ้ำนะครับ เพราะเมื่อได้เข้ามาอยู่ในนี้แล้ว การอยู่ร่วมกันมีเวลาที่จำกัด หากสิ้นสุดระยะเวลาหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของการทบทวนตัวเอง ประเมิณตัวเองว่าอยากไปทำอะไรต่อ

โดยที่ MILK ! ไม่ได้บังคับว่าเมื่อจบออกไปแล้ว จะต้องเป็นศิลปินที่ What The Duck เสมอไป คุณอาจจะออกไปแล้วอยากทำอาชีพอื่น หรือกลับไปเรียนต่อ แต่เราหวังแค่ว่าในช่วงเวลาหนึ่งที่คุณได้เข้ามาเรียนรู้ตามแบบที่เราจัดสรรให้ คุณจะเกิดความสะดวกในการทำงาน หรือเป็นประโยชน์ในการสร้างงานสร้างอาชีพมากขึ้น แล้วก็ได้ทดลองอะไรบางอย่าง ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการได้เรียนรู้ตัวเอง

“บางคนอาจจะไม่ได้ทำงานกับค่ายเพลงต่อ

แต่คนบางคนก็อาจจะกลายมาเป็นบุคลากรกับเราในอนาคตก็ได้”

พี่บอล : สิ่งที่น่าประทับใจคือการที่คอมมูนิตี้มันกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำเพลง แต่กลับเป็นเรื่องการทำงานด้านอื่นๆ ที่เราได้เห็นศักยภาพของเด็กๆ มากขึ้น สุดท้ายแล้วถ้าบุคลากรดี ก็จะพัฒนาให้อุตสาหกรรมดี พออุตสาหกรรมดีก็จะเอื้อให้ธุรกิจหลักของเราดีขึ้นด้วย ซึ่งที่เรามองนั้นไม่ได้มองแค่ว่าเม็ดเงินที่กลับมา แต่สิ่งสำคัญคือระบบความสัมพันธ์ที่อยากทำให้คอมมูนิตี้เพลงดีขึ้นนั้น จะดำเนินต่อไปอย่างไรมากกว่า

| ความท้าทายของ MILK !

พี่มอย : การทำให้แพลตฟอร์มนี้มันเกิดและจับต้องได้ คำว่า ‘เกิด’ ในที่นี้คือการที่จากวันแรก น้องๆ ที่เข้ามาอาจจะมีคนติดตามในแฟนเพจ 3,000 คน แต่เมื่อจบออกไปจากเรา เขามีคนติดตามหรือคนรู้จักเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 พันคน อันนี้คือประสบความสำเร็จสำหรับเราแล้วนะ

“เราไม่รู้ว่ามันจะรอดหรือเปล่า แต่คิดว่ามันต้องเริ่ม และต้องมีคนลงมือทำ”

พี่บอล : ส่วนหนึ่งที่อยากให้เกิด คือการที่เราพยายามศึกษามาหลายๆ ที่ ก็พบว่ามีหลายคนอยากผลักดันให้เกิดคอมมูตี้ใหม่ๆ ที่ไม่ได้เรียกว่าค่ายเพลงจำนวนไม่น้อย มีคนจะทำสมาพันธ์ สมาคม สหภาพ องค์กร ซึ่งพอถึงจุดที่โครงสร้างหรือระบบมันไม่ชัดเจน ก็จะเกิดความคลุมเครือและมีคำถามตามมาว่า ‘แล้วมันต่างจากค่ายเพลงยังไง ?’ แล้วพอสิ่งนี้ไม่มีคำตอบ ในที่สุดก็ค่อยๆ จางหายไป

ซึ่งเรามีการศึกษาถึงปัญหาว่าเกิดจากอะไรครับ จนค่อยๆ ปรับและพัฒนา และถือว่าเราใช้เวลาในการเตรียมตัวค่อนข้างหนัก เพราะฉะนั้นเรามีเป้าหมายที่อยากให้มันเกิดในนามของการบริการจริงๆไม่ใช่ค่ายเพลง และกล้าพูดว่าจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ จนวันหนึ่งเมื่อเด็กเหล่านั้นจบออกไป ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปทำอะไรก็ตาม แล้วเขากลับมาพูดว่าเขาเคยอยู่ทีม MILK ! แล้วมันสามารถนำไปต่อยอดในอาชีพหรือสิ่งที่เขารักได้ ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบวงหรือเดี่ยวก็ตาม

| เป้าหมายของ ‘MILK !’ ในอนาคต

พี่มอย : เพราะมันคือ Service Platform ณ ตอนนี้เราเลยอยากโฟกัสที่ 3 วงนี้ก่อน แต่หลังจากนี้หากพวกเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือเป็นศิลปินมืออาชีพได้แล้ว หรือที่ MILK ! เรียกว่า Semi-Professional นั่นคือพวกเราประสบความสำเร็จแล้ว และหลังจากนั้นเราก็อยากจะให้คนอื่นๆ หรือศิลปินในอนาคตที่ไม่ใช่แค่ 3 วง อาจจะ 5 วง หรือ 10 วงมาร่วมงานกัน เพราะ MILK ! จะไม่สามารถขยับเป็นค่ายได้

“เราจะภูมิใจมากๆ ถ้าเราเป็นต้นน้ำที่พาพวกเขาให้เติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงจนสามารถเข้าตาค่ายเพลงอื่นๆ ได้”

จากการนั่งพูดคุยกัยพี่มอยและพี่บอล เราได้เห็นมุมมองที่มากกว่าการเป็น Artist Service Platform ที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เราได้เห็นมุมมองของการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่กำลังจะก่อตัวขึ้น ซึ่งสิ่งที่ MILK !ต้องการ คือการหาจุด ‘ตรงกลาง’ ที่สมดุลกันระหว่างค่ายเพลงและศิลปินอิสระ และเราเชื่อว่านั่นอาจเป็นคำตอบที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงดีขึ้นได้

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินในสังกัด MILK! ได้ทาง : www.facebook.com/MILK.artistserviceplatform/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.