เป็นเวลาเดือนกว่าแล้วที่อิตาลีสั่งล็อคดาวน์แคว้นลอมบาร์เดียและปิดประเทศ หลังจากยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตพุ่งแบบหยุดไม่อยู่ และทุกครั้งที่เราออกจากห้องเพื่อไปซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ระหว่างทางก็จะเห็นหลายๆ บ้านเริ่มขีดเขียนป้ายด้วยภาษาอิตาลีติดเรียงรายอยู่ตามระเบียง หน้าต่าง ประตู ว่า ‘Tutto andrà bene’ หรือแปลเป็นไทยว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี
เราเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในมิลาน หนึ่งในเมืองที่ตั้งอยู่ในแคว้นลอมบาร์เดีย (Lombardia) เป็น Interior Designer ที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งช่วงที่ไวรัสกำลังระบาดแรกๆ ชาวอิตาลีก็ยังทำตัวปกติ ออกมาเดินเที่ยว ไม่ใส่หน้ากากอนามัย เหตุผลก็ด้วยธรรมชาติของคนที่นี่เป็นคนคิดบวก (จนเกินไป) แถมการเป็นไข้หวัดในช่วงอากาศหนาวก็ถือเป็นเรื่องปกติมากๆ
คนอิตาลีคิดว่าโควิด-19 เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดาสามารถหายเองได้ ถ้ารักษาสุขภาพและพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้คนที่นี่ยังอัธยาศัยดี เป็นมิตร ทักทายด้วยการเอาแก้มชนกัน ชอบกิจกรรมกลางแจ้ง รักการสังสรรค์ ทั้งยังจับกลุ่มเม้ามอยคล้ายๆ คนไทย
ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณะสุขตะวันตกประกาศให้คนป่วยเท่านั้นที่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย
ทำให้การป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสค่อนข้างต่ำ ถ้าเทียบกับการตื่นตัวของบ้านเรา และที่สำคัญอิตาลีมีผู้สูงอายุเยอะมากๆ เพราะระบบสาธารณสุขที่นี่จัดว่าดีติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปี มีถึง 22.8% ถือว่าเยอะเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นเลย
| เริ่มวันใหม่ไปพร้อมกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งขึ้นทุกๆวัน
การมาของไวรัสโควิด-19 รวดเร็วกว่าที่เราคิดไว้ ช่วงแรกที่มีข่าวการเริ่มเสียชีวิตของชาวอิตาลี เจ้านายของเราก็รับบทเป็นพนักงานหน่วยสาธารณสุข ตระเวนเดินแจกเจลล้างมือไปตามแผนกต่างๆ ทันที และยังออกมาตรการให้พนักงานที่ป่วย หรือมีอาการไข้หวัดหยุดงานได้ คนที่ไม่สะดวกเดินทางก็ให้ Work From Home แต่ถ้าใครที่จำเป็นต้องมาทำงานก็ให้เปลี่ยนการเดินทางมาเป็นรถแท็กซี่และให้เบิกค่าเดินทาง
ส่วนเราเองก็ยังคงออกไปทำงานตามปกติ เพราะออฟฟิศอยู่ห่างจากที่พักไม่กี่ร้อยเมตร เดินชมวิวไปได้แบบชิลๆ ซึ่งจริงๆ ก็แอบประทับใจกับนโยบายของบริษัทที่เอาใจใส่และเข้าใจว่าการเดินทางมาทำงานถือเป็นเรื่องเสี่ยง
ชีวิตในตอนเช้านอกจากอาบน้ำแต่งตัวเตรียมออกไปทำงานแล้ว การเช็คข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็กลายกิจวัตรประจำวันของเรา ในตอนนั้นตัวเลขผู้เสียชีวิตของอิตาลีอยู่ที่ประมาน 150 กว่าคน เป็นตัวเลขที่พุ่งเร็วมาก และที่น่าตกใจก็คือตัวเลขผู้ติดเชื้อในแคว้นลอมบาร์เดียที่เพิ่มแบบต่อเนื่องเช่นกัน
โควิด-19 อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด แต่เราก็ยังคงออกไปทำงานตามปกติ เพราะอุปกรณ์ในการทำงานที่ออฟฟิศพร้อมกว่า และเจ้านายก็เริ่มออกกฎให้ทุกคนที่มาทำงานเริ่ม Social Distancing รักษาระยะห่างกันแบบจริงจัง ห้ามจับกลุ่มกินกาแฟกันเหมือนที่เคยทำ เจ้านายประชุมงานผ่าน Skype และเวลาประชุมต้องนั่งห่างกันเสมอ ซึ่งสำหรับชาวอิตาลีแล้วถือเป็นเรื่องที่ขัดนิสัยเอามากๆ เพราะปกติเวลาคนที่นี่ทำงานมักจะสุมหัวถกกัน ขีดๆ เขียนๆ มือพันกันแบบเอาเป็นเอาตาย หลังจากนั้นก็คลายเครียดกันด้วยสภากาแฟวันละ 3-4 รอบ
.
| 9 มีนาคม 2563 ล็อคดาวน์ลอมบาร์เดียและปิดอิตาลี
จนเวลาล่วงเลยมาถึงวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 5 พัน และผู้เสียชีวิต 200 กว่าราย ทำให้รัฐบาลอิตาลีประกาศปิดแคว้นเหนือ ลอมบาร์เดีย และ 11 เมืองใกล้เคียงรวมถึงเวนิส แคว้นเวเนโต เพราะมีตัวเลขการระบาดในพื้นที่เพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่อง การตัดสินใจปิดแคว้นและเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของมิลานและเวนิส ที่เป็นศูนย์กลางของทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของอิตาลี ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากของรัฐบาลเหมือนกัน
และหลังประกาศปิดแคว้นได้ไม่นาน คนบางส่วนก็ถือโอกาสไปซื้อตั๋วขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้ายเพื่อหนีออกจากแคว้น และสถานการณ์นี้เองทำให้เชื้อไวรัสเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วอิตาลีในทันที รัฐบาลเลยต้องสั่งปิดประเทศ ในวันต่อมานายกรัฐมนตรีประกาศปิดร้านค้า เปิดเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ธนาคาร ไปรษณีย์ และร้านขายของจำเป็นในชีวิตประจำวัน และยังออกกฎให้ทุกคนที่ออกจากที่พักต้องมีเอกสารติดตัว มีที่อยู่สำหรับให้ตำรวจสุ่มตรวจ ถ้าไม่มีเอกสารก็จะถูกปรับเงิน
เราออกไปกักตุนอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหลังจากประกาศล็อคดาวน์ไม่นาน ที่ซูเปอร์ฯ มีการจำกัดจำนวนคนเข้า ตีเส้นรอบๆ ไม่ให้เข้าใกล้กันเกิน 2 เมตร พนักงานในร้านสวมหน้ากากอนามัยและใส่ถุงมือกันทุกคน ซึ่งสำหรับเราแล้วในวันนั้นก็ถือเป็นวันแรกที่เริ่มทำงานที่บ้านอย่างเต็มรูปแบบ เรา (และเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่) ก็จะมีความงงๆ มึนๆ ประสาทกินบ้าง เพราะไม่ชิน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เริ่มปรับตัวกันได้ แถมยังรู้สึกชอบการทำงานที่บ้านมากกว่าเข้าออฟฟิศเสียอีก
นอกจากนี้ทางสถานทูตไทยจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องเอกสารสำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับ แต่ก็มีคนไทยน้อยมากที่ตัดสินใจกลับไป เพราะมองว่าการเดินทางในช่วงนี้ถือว่าไม่คุ้มเสี่ยง สู้กักตัวอยู่กับที่จะดีกับทั้งคนอื่นและตัวเราเองมากกว่า
.
| ปรับความคิดปรับมุมมองเพื่อรับมือกับสถานการณ์
4 ปีที่อยู่อิตาลี ทุกนาทีมีแต่เรื่องคิดบวก
เราออกกำลังกายทุกวัน ติดตามข่าวสารแบบพอประมาณเพื่อไม่ให้เก็บมาเครียดจนวิตกกังวล ช่วงวันหยุดถ้ามีเวลาว่าง ก็เย็บหน้ากากผ้าเอาไว้ใช้เอง อาศัยเศษผ้าจากเดรสที่ไม่ใส่แล้ว (แถมยังเย็บหน้ากากเผื่อแผ่ไปฝากเพื่อนสนิท แลกกับให้เขาไปชอปปิงเสบียงที่ซูเปอร์ฯ มาให้)
และโชคดีที่คนในมิลานไม่ค่อยแตกตื่น คนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี คิดบวก มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ คนที่นี่ไม่แหกกฎ แต่เบี่ยงกฎ มีความคิดสร้างสรรค์แบบแปลกๆ อย่างการเปิดคอนเสิร์ตที่ระเบียงบ้านของตัวเอง บ้างก็ขอยืมสุนัขจากเพื่อนบ้านเพื่อออกไปเดินเล่นในละแวกบ้าน ลากรถเข็นเปล่าทำทีเหมือนไปชอปปิงแต่จริงๆ คือแค่อยากออกไปเดินเล่นเท่านั้นเอง
ในกลุ่มแชทของออฟฟิศก็จะแชร์เรื่องขำขันกันมากกว่าเรื่องซีเรียส และมักพูดถึงสิ่งที่จะทำเมื่อโควิด-19 จากไป และทุกวันศุกร์ออฟฟิศจะมีการจัดมีทติ้งผ่าน Zoom 1 ชั่วโมง สมาชิกมีตั้งแต่บอสใหญ่ ผู้บริหาร ยันพนักงานธรรมดาเดินดิน เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำอะไรแผลงๆ และสามารถคุยเรื่องไร้สาระได้ตามอัธยาศัย (เรื่องอะไรก็ได้ยกเว้นเรื่องงานนะ)
โชคดีที่คนรอบตัวมองโลกในแง่ดี ทำให้ไม่มีใครพาเราดิ่งไปกับสถานการณ์ที่แย่ลงทุกวัน
แต่ถ้าถามถึงสภาพจิตใจในวันนั้นจนถึงวันนี้บอกได้เลยว่า ‘ยังไหว’ เพราะเราคิดบวกมากๆ ทุกครั้งที่คนที่บ้านหรือเพื่อนที่ไทย ทักแชทมาถาม เราก็จะตอบไปแบบสบายๆ เพราะจริงๆ แล้วสถานการณ์ไม่ได้แย่หรือเลวร้ายเหมือนที่ข่าวรายงานไปซะทั้งหมด
| อิตาลียังเดินหน้าต่อไป
ทุกครั้งที่ออกไปชอปปิงเราจะต้องสวมถุงมือ มัดผมรวบตึงหรือใส่หมวกแบบไม่ห่วงสวย ป้องกันไม่ให้เอามือปัดผม ปัดหน้า ไม่จับโทรศัพท์มือถือและหน้ากากเด็ดขาด กักตุนอาหาร 1 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ก็พอ เพราะสินค้าในซูเปอร์ฯ ไม่เคยขาดแคลน ไม่ว่าของสด ของแห้ง ของใช้ต่างๆ คุณภาพมาตรฐานไม่มีการโก่งราคาหากำไรเพิ่มเหมือนบางประเทศ สินค้าพวกน้ำยาทำความสะอาดก็ปรับลดราคาด้วย และการกักตัวครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ได้ลองกินพิซซ่าแช่แข็ง พบว่าอร่อยไม่แพ้พิซซ่าแท้ๆ ตามร้านเลย
ขึ้นชื่อว่า ‘มิลาน’ เมืองแห่งการออกแบบ นักออกแบบจึงไม่เคยหยุดความคิดสร้างสรรค์แม้ในยามลำบาก เพราะมีการพัฒนา ‘3Ds print valves’ สำหรับต่อกับหน้ากากดำน้ำ เอามาดัดแปลงใช้เป็นหน้ากากช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งบริษัทที่เราทำงานอยู่ก็ปรินท์ 3Ds print valves ตัวนี้ไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลด้วยจำนวนหนึ่ง มีแนวคิดโครงการ Virtual Exhibitions หลายโครงการ หลังจากต้องพับเก็บโปรเจกต์ทั้งหมดที่เตรียมไว้สำหรับมิลานแฟร์ ซึ่งการปรับตัวในสถานการณ์แบบนี้ถือว่าน่าสนใจมากสำหรับเรา
นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์สำหรับชีวิตประจำวันที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะในช่วงโควิด -19 ทั้งเว็บไซต์ Register ที่เวลาจะออกไปข้างนอกเราจะต้องเข้าไปกรอกข้อมูลในเว็บฯ ว่าจะออกไปกี่ชั่วโมง และจะเดินทางไปไหน แล้วก็ยังมีเว็บฯ เช็คคิวซูเปอร์มาร์เก็ต โดยจะมีข้อมูลของจำนวนคนที่กำลังต่อคิว รวมถึงเวลาที่ต้องรอให้เราเช็คก่อนออกจากบ้าน ถือว่าเป็นเว็บไซต์ดีๆ ที่ให้เรารู้สถานการณ์ล่วงหน้าสำหรับป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงไปเจอกับผู้คนเยอะๆ
ถ้าพูดถึงการเยียวยาประชาชนในขั้นแรก รัฐบาลก็มีมาตรการให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 600 ยูโร (ประมาน 20,000 บาท) และเพิ่งออกกฎให้ทุกคนใส่หน้ากากออกจากบ้าน ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากมีคนเสียชีวิตไปแล้ว 16,000 กว่าราย (เหมือนเพิ่งคิดได้)
| สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้ระหว่างใช้ชีวิตล็อคดาวน์
เพราะเราเป็นคนชอบท่องเที่ยว ปกติชีพจรลงเท้า ออกไปเดินดู window shopping ส่องเสื้อผ้า สินค้าต่างๆ อยู่ตลอด นับว่าเป็นครั้งแรกที่ใช้เวลาอยู่บ้านต่อเนื่องได้ยาวนานที่สุดในชีวิต แต่มันก็ทำให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ได้ตามติดชีวิตเพื่อนบ้านที่ออกมาเล่นกับน้องเหมียว ได้ฝึกภาษาอิตาลีกับเพื่อนบ้านผ่านระเบียงห้อง ซึ่งคนอิตาลีก็ไม่อายที่จะทักทายพูดคุยกับคนแปลกหน้าอย่างเรา
การทำงานที่บ้านทำให้เรามีอิสระในการบริหารจัดการตัวเองตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน ไม่มีใครมาคอยจับผิดว่าต้องทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน หรืออู้งานหรือเปล่า ขอแค่ให้งานเสร็จทันตามกำหนดเป็นใช้ได้ ถือว่าได้ฝึกสกิลการเป็นฟรีแลนซ์ วันไหนมีประชุมที่ต้องโชว์หน้าก็แค่แต่งตัวสวยๆ ครึ่งท่อนก็พอ
ยังเป็นช่วงเวลาที่เราได้ทำความรู้จักเหล่า Smart Working ต่างๆ นานา ทั้ง VPN remote, Skype, Slack, Zoom, Google drive ฯลฯ ทำให้ได้รู้ว่าปัจจุบันโลกออนไลน์พัฒนาไปมากจริงๆ จนเกิดความคิดว่า “ออฟฟิศ” ยังจำเป็นอยู่ไหม ? ในเมื่อปัจจุบันเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราทำงานได้จากทุกที่ถ้ามีอินเทอร์เน็ต และถ้าลองคิดเปรียบเทียบกับสมัยก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้เราติดต่อกันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม โลกจะเป็นอย่างไรถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้และเราจะทำอะไรที่บ้านกันบ้าง ?
รัฐบาลอิตาลียังคงมาตรการ Lock Down ไปจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม แต่ก็มีการเปิดร้านค้าต่างๆ เพิ่มเป็นของขวัญวันอีสเตอร์ให้กับชาวอิตาลีตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งร้านเครื่องเขียน ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า ร้านของใช้สำหรับเด็ก รวมถึงธุรกิจค้าไม้ ค้าส่งต่างๆ ก็เริ่มเปิดกิจการบ้างบางส่วน ซึ่งในตอนนี้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตในอิตาลีมีทั้งหมด 24,114 ราย ติดเชื้อสะสม 108,237 ราย รักษาหาย 48,877 ราย (อัพเดทวันที่ 20 เมษายน 2563) ซึ่งยอดเสียชีวิตเริ่มคงที่ที่ประมาณ 400-500 รายต่อวัน นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันก็เริ่มลดลงด้วย นับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็รู้จักกันแล้วนะ อยากฝากทุกคนอย่าลืมรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย ทำร่างกายให้แข็งแรง พยายามฝึกตัวเองไม่ให้เอามือจับจมูก ตา หรือปาก และที่สำคัญอย่าลืมคิดบวกและมองโลกในแง่ดี ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และทุกๆ อาชีพที่ต้องทำงานพร้อมแบกรับความเสี่ยง แล้วเราจะผ่านมันไปได้เหมือนทุกครั้งที่เราเคยผ่านมา
‘Tutto andrà bene’
ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี
Story and photos by : Oravee P.
Sources :
www.thebangkokinsight.com : https://bit.ly/3eGkucO
https://www.ilmattino.it : https://bit.ly/2ytUujZ