mediums ซอยสุขุมวิท 42 - Urban Creature

นับตั้งแต่อาร์ตคอมมูนิตี้แห่งนี้เปิดทำการวันแรก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 ก็ทำเอาชาวเน็ตตาลุกวาว และแห่แหนกันไปเยือนถึงถิ่นเอกมัย 

mediums เรียกได้ว่าเป็น ‘The Place for Art and Creative Lover’ เพราะการมองเกมของ CEO วัย 16 ปี อย่าง พีท-กษิดิศ ประสิทธิ์รัตนพร ที่เข้าใจคนทำงานศิลปะว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และการทำงานศิลปะไม่ควรถูกเวลามาจำกัด

เขาจึงเนรมิตเซลส์แกลเลอรีคอนโดเก่าพื้นที่ราว 300 ตารางเมตร ให้กลายเป็นร้านขายสารพัดเครื่องเขียน อุปกรณ์ศิลปะ ห้องเวิร์กช็อป สตูดิโอถ่ายภาพ ไปจนถึงคาเฟ่คอนเซปต์ดีงาม และตอนนี้พีทก็รอเราอยู่แล้วที่ mediums เขาพร้อมเปิดเรื่องราวของพื้นที่สร้างสรรค์ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เบื้องหลังยันเบื้องหน้า

เด็กวัย 16 ปี ผู้มีฝัน

“พีททำงานในเชิง Artist และ Designer มาตั้งนานแล้ว เริ่มรับงานถ่ายรูป งานกราฟิก ตั้งแต่อายุสิบเอ็ด ทำมาเรื่อยๆ เพื่อฝึกฝนตัวเอง พอได้เจองาน Fine Arts (วิจิตรศิลป์) เมื่อสองสามปีที่แล้วก็เริ่มชอบ แต่ก็พบว่าในไทยมีคนทำงานแนวนี้เยอะนะ มีคนสอน มีคนเรียน แต่ไม่ค่อยมีใครที่ทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนคนตรงนี้ คนที่เรียนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีอนาคตในตรงนี้ ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในคำว่า Fine Arts ในประเทศไทย

“ตั้งแต่ทำงานศิลปะมา พีทเจอ Pain Point เล็กๆ น้อยๆ หลายอย่าง อย่าง Pain Point ที่กลายเป็นที่มาของการเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง เพราะตอนทำงาน พีทชอบของหมดตอนกลางคืนตลอด สีหมดบ้าง กระดาษหมดบ้าง แล้วดึกๆ มันก็ไม่มีร้านขายอุปกรณ์ศิลปะที่ไหนเปิด เราก็ต้องหยุดทำงานแล้วรอพรุ่งนี้เช้า

“บางครั้งก็กลายเป็นว่าทำงานต่อไม่ได้ หรือไม่ก็ส่งงานไม่ทัน ตอนแรกนึกว่าเป็นอยู่คนเดียว พอไปคุยกับเด็กที่เรียน Fine Arts เด็ก Architecture และเด็ก Interior ก็คือเป็นเหมือนกันหมดเลย” พีทหัวเราะส่งท้ายคำตอบ

ด้วยความที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ระบบการศึกษาไม่ได้เน้นการเรียนที่หนักทฤษฎี หรือท่องจำ ทำให้พีทได้ค้นหาตัวตนด้วยการลองปฏิบัติตั้งแต่งาน Drawing งาน Painting ไปจนถึงงาน Sculpture จนรู้ว่าอะไรคือแพสชันในชีวิต

บวกกับทางบ้านทำธุรกิจโลจิสติกส์ พีทจึงได้ครอบครัวช่วยสนับสนุนในความรู้ส่วนนี้ เขาพูดคุยและปรึกษาหารือกับรุ่นพี่ที่ทำงานในด้านนี้ เพื่อน และครอบครัว เพื่อตอกย้ำความมั่นใจว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นเวิร์กมั้ย 

หลังจากความมั่นใจมาเต็ม ไม่พูดพร่ำทำเพลง พีทร่าง Proposal ขึ้นมาตอนกักตัวในช่วงโควิด-19 ปีที่แล้วจนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และตั้งใจให้ mediums แก้ไขปัญหาการทำงานที่เขาพบเจอ

mediums แก้ Pain Point แรกด้วยการเปิดเป็นร้านขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะ มีสินค้าสารพัดสิ่งทั้งแบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์ไทยมากกว่า 80 แบรนด์

โลกของ mediums ที่ไปไกลกว่าร้านเครื่องเขียน

จุดเด่นของ mediums ที่เตะตาเราคือ ‘สีขาว’ ที่นักออกแบบเลือกใช้เป็นสีหลักของพื้นที่ พีทบอกเราว่า สีขาวคือการเปรียบพื้นที่นี้เป็น Blank Canvas หรือเป็นผ้าใบสีขาวให้ลูกค้า นักออกแบบหรือศิลปินจะเนรมิตไอเดียอะไรก็ได้บนผ้าใบผืนนี้

นอกจากการเป็นร้านขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะ 24 ชั่วโมง ที่เปิดตัวให้ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี mediums ยังมีแบรนด์ลูกในชายคาเดียวกันอีก 3 แบรนด์ ได้แก่

1. make[space] แบรนด์ที่เปิดให้ทั้งศิลปินหน้าใหม่ได้สร้างสรรค์งานศิลปะที่เปิดกว้างไม่รู้จบ ด้วยเวิร์กช็อปจากผู้สอนที่มีประสบการณ์ ซึ่งจะเปลี่ยนหมุนเวียนกันในแต่ละเดือน แถมยังมีบริการ At Home โดยการส่งครูไปเวิร์กช็อปเจ๋งๆ กับนักเรียนโดยตรง

2. NMBR (นัมเบอร์) แบรนด์ที่เปลี่ยนพื้นที่ภายใน mediums ให้กลายเป็นพื้นที่ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ตอบโจทย์คนที่อยากจัดกิจกรรมในสเกลที่ไม่ใหญ่เท่า IMPACT Arena หรือ GMM Live House แต่อยากมีสตูดิโอหรือพื้นที่ย่อมๆ สานโปรเจกต์ที่ฝันไว้ อยากจะแปลงเป็นที่เช่าถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ หรือจัดมินิคอนเสิร์ตก็จัดไป

3. ve/la (เวลา) คาเฟ่ที่เล่นหยิบคอนเซปต์เวลาการเปิดร้าน 24 ชั่วโมงมาตั้งเป็นชื่อ เลยเถิดไปจนถึงการเลือกรสชาติของกาแฟที่มีลูกเล่นไม่แพ้กัน ด้วยการเบลนด์เมล็ดกาแฟออกมาเป็น Dawn Blend และ Dusk Blend อยากได้แบบกลางๆ หรือเข้มๆ ก็เลือกได้ตามต้องการ

CEO วัย 16 ปี บอกเราว่า ด้วยความที่ mediums เป็นสตาร์ทอัปน้องใหม่ ฉะนั้น ไม่มีผิดถูกหากได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ เช่นการเปิดหลายแบรนด์พร้อมกันเพื่อแก้อุปสรรคที่ศิลปินหลายคนต้องเผชิญ

แบรนด์อาร์ตทั่วโลกเดินทางมายัง mediums

ปัญหาการซื้อข้าวของสำหรับทำงานศิลปะยากๆ ยามดึกหมดไปแล้ว ความตั้งใจของพีทอีกหนึ่งสิ่ง คือการคัดเลือกสารพันข้าวของภายในร้าน ซึ่งคนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าหลากหลายแบรนด์ที่เห็นกันตามท้องตลาดนั้นเพียงพอแล้ว แต่ถ้าดูในสเกลแบรนด์ทั่วโลก มันมีเยอะกว่ามาก แถมมีตัวเลือกให้เราทำความรู้จักและเลือกอีกเพียบ 

ปัญหาที่พีทเจอก็คือ หลายๆ แบรนด์ต่างประเทศที่นำเข้ามาในบ้านเราถูกตั้งราคาไว้สูงจนเกินเอื้อม พีทจริงใจต่อลูกค้าด้วยการคุมต้นทุนการขนส่ง และตั้งราคาให้มีมาตรฐานเดียวกับทั่วโลก แถมบางแบรนด์ที่หายากในไทย เขาก็นำเข้ามาเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ ให้คนทำงานศิลปะในประเทศ

“มีหลายแบรนด์ที่หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อ ซึ่งอาจจะมีราคาถูกมากๆ ในต่างประเทศ แต่พอเข้ามาในเมืองไทยไม่มีใครซื้อ เพราะอัปราคากันแบบตายกันไปข้างหนึ่ง แบบนี้มันไม่ได้ คือคนนำเข้ามาบางคนเห็นว่า Made in Switzerland หรือ Made in America ปุ๊บ ก็จะอัปไปหลายเปอร์เซ็นต์ เราต้องดึงกลับมาเหมือนเดิม ให้ Student Grade เป็น Student Grade และทำให้ Professional Grade ไม่ลอยไปไกลถึง Luxury Grade”

อย่างสีอะคริลิก พีทก็มีหลายแบรนด์ให้ลูกค้าเลือกตามการใช้งาน อย่างสินค้าไฮไลต์ของร้าน เช่น แบรนด์สีอะคริลิก Atelier มีคุณสมบัติพิเศษคือลบได้ แห้งช้า ตอบโจทย์คนทำงานศิลปะมาก หรือจะเป็นแบรนด์แมสๆ อย่าง Winsor ก็มีให้เลือกสรรเช่นกัน

พนักงานที่บริการไม่แพ้ BA เครื่องสําอาง

ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามา บ้างเรียกที่นี่ว่าเป็นร้านขายเครื่องเขียน บ้างเรียกว่าเป็นคาเฟ่ บ้างเรียกว่าอาร์ตสเปซ แต่สำหรับพีทแล้ว mediums เรียกว่าเป็น Experimental Area 

ด้วยความเป็นแบรนด์แรกที่เด็กวัย 16 คนนี้ตั้งใจทำ เขาพยายามเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของความเป็นคอมมูนิตี้ ให้ลูกค้าทุกคนเข้ามาแล้วรู้สึกว่านี่คือบ้านของเขา

สิ่งที่เราประทับใจใน mediums อย่างหนึ่ง คือแม้แต่การเทรนพนักงานก็ยังมีคอนเซปต์ ที่พีทเล่าว่า ได้ไอเดียมาจากร้าน Cosmetic ซึ่งจะเรียกพนักงานว่า Beauty Advisor (BA) แต่ที่นี่จะเรียกว่า Art Advisor ซึ่งแบ่งปันความรู้และแนะนำได้ทุกอย่างตามที่ลูกค้าต้องการ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงานศิลปะ หรือเป็นศิลปินชั้นครู ถ้าคุณมาที่นี่ คุณจะได้ทุกอย่างกลับไป

“แค่คุณเข้ามาแล้วบอกว่าอยากวาดรูปแบบนี้ สตาฟจะบอกได้เลยว่าควรใช้ Surface แบบนี้ หรือใช้แปรงและใช้สีประเภทไหน ในส่วนของคาเฟ่ก็มานั่งชิลได้ทั้งวันทั้งคืน มานั่งตรงบันได คุยงานได้ หรือโซนสตูดิโอก็มาทำอีเวนต์ จัดเวิร์กช็อปได้เต็มที่ เรามีอุปกรณ์ให้คุณ ไม่ต้องขนมา มาที่เดียวแล้วจบเลย เราทำได้ทุกอย่างที่คุณต้องการ”

mediums อยากให้คุณเข้าใจศิลปะ

“พีทได้ยินคนพูดว่า ศิลปะเป็นเรื่องที่ง่าย แต่ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครเห็นคุณค่ามัน ก็เลยโอเค สิ่งที่เรารู้กันมันเป็นเรื่อง Social Stigma แล้วหนึ่ง (การตีตราทางสังคม) ดังนั้นในการทำงานมันคือการ Undervalued หรือลดทอนคุณค่าไปแล้ว

“หรืออย่างที่พีททำงานพวกกราฟิกหรือถ่ายรูปมา คนไม่ค่อยเห็นคุณค่า แบบเฮ้ย โลโก้หนึ่งอันจะคิดราคานี้เหรอ ทำไมคิดแพง ก็ชอบอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ทำให้ฟรีได้ไหม มันเป็น Pain จุดหนึ่งที่รู้สึกได้ การที่เราสร้างตรงนี้ขึ้นมา อีกหนึ่งเป้าหมายหลักของเราเลยคือการเปลี่ยนการรับรู้ของคน ว่างานตรงนี้มันมีคุณค่าของมัน” พีทบอกกับเราอย่างมุ่งมั่น

While They Sleep, We Dream

หลังจากได้คุยกับพีท เราสัมผัสได้ถึงความเต็มเหนี่ยวของเด็ก 16 คนนี้ ที่อยากให้มีคอมมูนิตี้ด้านศิลปะดีๆ เกิดขึ้นอีกหนึ่งแห่ง เพราะตั้งแต่เราก้าวเท้าเข้ามา ทุก Element เหมือนกำลังเล่นกับความรู้สึกเรา ซึ่งไม่แปลกใจเพราะพีทเองก็แบไต๋ว่า ‘เขาตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น’

“พีทค่อนข้างโฟกัสว่าลูกค้าเข้ามาแล้ว จะได้ Journey แบบไหนกลับไป เราจัดไว้หมดเลย รส รูป กลิ่น เสียง สัมผัส เรานั่งเลือกกันอย่างบ้าคลั่ง สีไฟต้องแบบนี้ กลิ่นที่เข้ามาต้องได้แบบนี้ คือไปถึงจุดนั้น เราพยายามดีไซน์บรรยากาศให้มันเข้ากับกลุ่มลูกค้าของเรามากที่สุด”

ก่อนจะแยกย้ายและกลับมาใหม่โอกาสหน้า เราอดถามไม่ได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจเปิด mediums ที่ย่านเอกมัย เพราะภาพจำของย่านนี้อาจไม่ใช่ดินแดนแห่งศิลปะแบบที่หลายคนมอง

“พีทว่าเอกมัยใช้คำว่า The City That Never Sleeps ของกรุงเทพฯ ได้เลย มันไม่เคยหลับจริงๆ แต่พอคิดถึงอาร์ตปุ๊บ คนจะคิดถึงแถวเจริญกรุง หรือในโซนเมืองเก่า ซึ่งพอมันมาอยู่ในที่แบบนี้ มันเหมือนเราฉีกการรับรู้ของคนไปเลย คุณไม่ได้คาดหวังหรอกว่าร้านเครื่องเขียนจะมาเปิดกลางเอกมัย” พีทย้ำถึงความไม่หลับใหลของย่าน และ mediums ก็เป็นอาร์ตคอมมูนิตี้ที่ไม่หลับใหลเช่นกัน เรียกว่า Creativity Never Stops ของจริง


mediums

เว็บไซต์ : mediumsgroup.com
เฟซบุ๊ก : facebook.com/mediumsofficial
การเดินทาง : BTS สถานีเอกมัย (ซอยสุขุมวิท 42)
เวลาทำการ : 24 ชั่วโมง

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.