ใครจะไปคิดว่าขยะริมหาดอย่าง อวนจับปลาเก่า หรือ ยางรถบรรทุกเหลือทิ้ง จะสามารถหยิบมาทำเป็นกระเป๋าแฟชั่นที่ดีไซน์กลมกลืน แถมยังใช้ได้จริง เพราะไม่ว่าจะแต่งตัวลุค Smart Casual หรือเสื้อยืดกางเกงยีนส์ตัวเก่งก็แมตช์ได้สบายๆ
เราจึงชวน อาร์ค-มรรษพล สร้อยสังวาลย์ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Mat Archer ที่หยิบอวนประมงเก่า และยางรถบรรทุกมาเป็นส่วนหนึ่งของกระเป๋าทำงานในรุ่น RETRIEVE มาพูดคุยถึงการเลือกวัสดุ พร้อมเปิดมุมมองของการ Upcycling เพื่อสร้างมูลค่าให้กับขยะทะเล
นักเฟ้นหาวัสดุ
“Work and Journey are an answer to fit our lifestyle.”
เดินทางเข้าสู่ปีที่ 9 ของ Mat Archer กับความตั้งใจแรกที่อยากให้ชื่อแบรนด์บ่งบอกตัวตนถึงการเป็น ‘นักเฟ้นหาวัสดุ’ จากคำว่า Mat ที่มาจาก Materials และคำว่า Archer ที่พ้องเสียงมาจากชื่อเล่น และแปลอีกนัยหนึ่งได้ว่า ‘นักธนู’ เมื่ออาร์คทำแบรนด์ผ่านไปนานวันเข้า ก็ยิ่งรู้สึกว่ามันตอบโจทย์ชื่อที่ตั้งเอาไว้มาเรื่อยๆ เพราะความท้าทายล่าสุดที่เขาค้นพบ คือการหยิบจับอวนประมงมาผสมกับดีไซน์กระเป๋าของตัวเอง
ย้อนกลับไปตอนที่อาร์คเป็นบัณฑิตจบใหม่ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เริ่มมองหาสินค้ามาวางขายในตลาด เลยเลือกจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวอย่าง ‘กระเป๋า’ มาเป็นโปรดักต์ชิ้นหลักที่อยากทำ แต่ก่อนหน้านี้ก็ใช้หนังสัตว์ และสิ่งทอทั่วไป จนเมื่อปลาย พ.ศ. 2561 ได้มีโอกาสไปแสดงงาน Maison & Objet ที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ได้เปิดโลกอีกมุมหนึ่งของดีไซน์ จึงจุดประกายให้อาร์คหอบแรงบันดาลใจเหล่านั้นกลับมาที่ไทยด้วย
“ตอนแรกพี่ไม่ได้ตั้งใจมองว่ามันเป็นวัสดุรักษ์โลกหรอก
แค่รู้สึกว่าอวนประมงเป็นวัสดุที่น่าสนใจและแปลกใหม่ดี”
อาร์คสารภาพออกมาอย่างเขินๆ ซึ่งหลังกลับมาจากงานแสดงก็เหมือนได้อัดฉีดให้ไอเดียพุ่งพล่านมากขึ้น ทำให้เขาเริ่มมองหาวัสดุใหม่ๆ เพื่อเอามาดีไซน์โปรดักต์เพิ่มเติม ประกอบกับความไม่ตั้งใจที่บังเอิญเห็นกองอวนชำรุดถูกทิ้งไว้ริมหาดใกล้บ้าน อาร์คเสริมว่าปกติแล้วเขาจะรวมแล้วเอาไปขายที่โรงหลอมพลาสติก บางทีก็ถูกซัดหายไปกับคลื่นทะเล จากวัยเด็กที่ไม่ได้สนใจข้างทางว่ามีอะไร แต่วันนั้นกลับทำให้เขาอยากหยิบขยะทะเลเหล่านี้มาศึกษาต่อ
เรื่องเล่าจากอวน
“เราไม่รู้เรื่องอวนประมงมาก่อนทำให้ต้องมาเริ่มรีเสิร์ชตั้งแต่อวนมีกี่ชนิดวัสดุมันแตกต่างกันอย่างไร จนกระทั่งมารู้ว่าอวนจับปลามันสร้างปัญหาอะไรกับโลกบ้าง จากตอนแรกที่ไม่ได้คิดถึงสิ่งแวดล้อมกลายเป็นว่ายิ่งค้นหามากเท่าไหร่ก็ยิ่งอินกับมันมากขึ้น”
‘Ghost Nets’ คือฉายาที่ใช้เรียกอวนประมงในต่างประเทศ คล้ายกับอวนมัจจุราชที่คร่าสัตว์ทะเลมากกว่า 100,000 ตัวต่อปี ซึ่งอาร์คมองเห็นถึงบาดแผลของท้องทะเล จึงตัดสินใจมุ่งหน้าทำกระเป๋ารุ่น RETRIEVE ที่อยากสื่อถึง ‘การกู้ชีวิตสัตว์ให้กลับมา’ พร้อมทั้งฉีกดีไซน์ออกจากกรอบเดิมๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ Mat Archer เอาไว้อย่างดี
หลังจากที่อาร์คเริ่มศึกษาอวนประมงมาสักพัก ก็รู้ว่าควรเอาชนิดไหนมาใช้งาน นั่นคือ อวนดำ และ อวนเขียว ซึ่งเป็นอวนที่ใช้จับปลาทู อีกทั้งอวนชนิดนี้ประเทศไทยใช้เยอะเป็นพิเศษ รวมถึงมีคุณสมบัติยืดหยุ่นน้อย ทำให้ขึ้นรูปง่าย แต่ต้องเลือกมาใช้อีกที เพราะอวนบางชิ้นจะมีรอยแหว่ง รอยต่อ และรอยขูดจากหิน นอกจากนี้ยังมีเรื่องขนาดอวนที่ไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง น้ำหนักที่เยอะมาก หรือกลิ่นที่เป็นอุปสรรคสำคัญ จนต้องเอามาซักและเข้าอบ เพื่อขจัดกลิ่นก่อน
ถึงแม้จะรู้ว่าใช้วัสดุอะไร แต่คงเอามาขึ้นรูปกับกระเป๋าทันทีไม่ได้ จึงทำให้อาร์คหยิบแบบสเกตช์ที่เคยมี รวมถึงดีไซน์กระเป๋าจากรุ่นเดิมมาลองจับคู่กับอวนประมงว่าสามารถใช้ทดแทนตรงส่วนไหนได้บ้าง แต่ปรากฏว่าช่วงแรกดีไซน์ยังไม่กลมกลืน เพราะอวนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ให้อารมณ์ร็อก และดิบ ซึ่งผิดกับดีไซน์เดิมของแบรนด์ อาร์คจึงเริ่มดีไซน์ใหม่ทั้งหมด
“เป้าหมายเรื่องดีไซน์คือไม่อยากให้เป็นงานดีไซน์ที่เห็นแล้วรักษ์โลกหรือมาจากขยะทันทีแต่งานดีไซน์ที่ดีมันต้องใช้ได้จริงด้วย”
อีกหนึ่งพาร์ตที่อาร์คมองว่ายาก คือ การเลือกเทคนิคมาใช้ เพราะปกติเราจะเริ่มจากการเย็บผ้าเต็มผืน แต่การเย็บอวนต้องคอยมานั่งวัดว่ากระเป๋าหนึ่งใบจะต้องมีกี่ตารางของตาอวน และตัดให้ตรงพอดี ไม่อย่างงั้นเย็บแล้วจะเอียงใช้ไม่ได้ ที่สำคัญคือต้องเย็บทับตุ่มแต่ละอัน ซึ่งกว่าจะได้ออกมาแต่ละใบ อาร์คใช้เวลาศึกษา ดีไซน์ และขึ้นรูป รวมแล้วเกือบหนึ่งปีเต็มกว่าจะวางขายได้ จนมีคำพูดติดตลกว่า “กอดคอร้องไห้กับช่างอยู่เหมือนกัน”
นอกเหนือจากอวนประมง อาร์คได้เอา ยางในรถบรรทุก มาใช้แทนสายหนังด้วย เพราะคุณสมบัติมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของความยืดหยุ่น และความคงทน แต่ความพิเศษคือช่วยลดกระบวนการจากอุตสาหกรรมเครื่องหนังได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่อาร์คมองว่าเป็นส่วนช่วยเล็กๆ ที่สำคัญ
นอกกระเป๋า
พอได้มาลงลึกเรื่องสิ่งแวดล้อมมันส่งผลต่อชีวิตด้านอื่นๆ ของเราไหม?
คำถามถูกส่งออกไป รอคอยคำตอบจากคนถูกถาม ซึ่งอาร์คตอบทันทีว่า “ส่งผลนะ” พร้อมขยายความว่า เมื่อก่อนเป็นเพียงแค่คนธรรมดา ไม่ได้นึกถึงสิ่งแวดล้อมทุกกระเบียดนิ้ว ใช้ถุงพลาสติกเรื่อยเปื่อยไม่ได้คิดอะไร แต่พอเข้ามาทำเยอะขึ้น เขาก็ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกเหนือจากชีวิตประจำวัน มันก็ส่งผลต่อการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งของ Mat Archer ยกตัวอย่างเช่น กล่องใส่กระเป๋าเปลี่ยนเป็นซิปล็อกแทน เพื่อให้คนเอาถุงซิปไปทำอย่างอื่นต่อได้ เชือกไนลอนเปลี่ยนเป็นคอตตอน หรือป้ายหนังหรือพลาสติกเปลี่ยนเป็นกระดาษรีไซเคิลแทน
“เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดเลยว่าแค่เศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ
มันจะฆ่าสัตว์ได้หลายร้อยชีวิต มันเลยทำให้เราหันมามองงานของเรามากขึ้น คือบางครั้งการที่เราคิดเยอะกับแพ็กเกจจิ้งลูกค้าอาจจะไม่ได้เข้ามาถาม หรือรู้ว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไรแต่เราคนออกแบบมันรู้อยู่แก่ใจว่าทำไมเราถึงใช้หรือช่วยอะไรได้บ้าง”
มากกว่าตัวเราคือการให้คนตระหนักสิ่งแวดล้อมด้วย
อาร์คมองว่า ‘แฟชั่น’ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่จะ มาก หรือ น้อย ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะเลือกอะไรที่มันใช้ได้คงทน และระยะยาว แต่สิ่งสำคัญคือการ ‘อินสไปร์’ คนอื่นต่อๆ ไป เหมือนกระเป๋าของ Mat Archer ที่ตอนนี้อาร์ค บอกว่าไม่ได้รีไซเคิล หรือเอามาอัปไซคลิ่งทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มองว่าเป็นการบอกต่อคนที่เข้ามาเห็นว่าเราสามารถพัฒนาของที่มีอยู่ หรือเหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าได้อย่างไร
มอง Mat Archer แบบไหนต่อไป
แม้อวนทะเลเก่าอาจเป็นวัสดุชูโรง ณ ตอนนี้ แต่อาร์คยังอยากค้นหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้กับงานดีไซน์ของเขาเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นไปที่วัสดุรีไซเคิล ขยะเหลือทิ้ง หรืออาจเป็นเส้นใยรีไซเคิลก็ได้ ซึ่งระยะเวลากว่า 9 ปี การเติบโตในแง่ของคอนเซปต์ และการดีไซน์ที่ลงลึกถึงวัสดุมากขึ้นกว่าเก่า เป็นสิ่งที่อาร์คทำด้วยความสนุก และตอบโจทย์ด้านจิตใจมากกว่า การที่ได้เห็นว่า Mat Archer มีคนสนใจมากขึ้นทำให้แพสชันของเขาอยากทำต่อไป
“เป้าหมายของพี่ไม่ได้ตั้งเป้าว่าอยากโด่งดังหรือให้คนใช้เยอะมากๆ พี่แค่ทำในสิ่งที่เราชอบเป็นงานอดิเรกเราทำด้วยความสนุกไงใครจะไปรู้ว่าจากตอนแรกที่คิดเล่นๆ ทำอะไรเล่นๆ วันดีคืนดีมันอาจจะกลายเป็นอาชีพหลักของเราก็ได้”