เปลี่ยนจากการโทษเหยื่อที่โดนหลอกเป็นเข้าใจ - Urban Creature

‘หนูดีใจนะที่เขาไม่เข้าใจ โชคดีแล้วที่ไม่ต้องมาเจออะไรแบบนี้’

ผู้เขียนยังจำบทสนทนาครั้งนั้นเมื่อสิบปีมาแล้ว ที่เคยสัมภาษณ์น้องคนหนึ่งที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ดี น้องเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกตัวเองอย่างละเอียด และมุมมองของพ่อที่มีต่อเธอ พ่อหาว่าโรคซึมเศร้าไม่มีจริงหรอก เธอแค่ขี้เกียจ

สถานการณ์เดียวกันนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ถูกปั่นหัวปั่นประสาท หลอกลวง และทำร้ายไม่ว่าจะทางร่างกาย คำพูด จิตใจ หรือเซ็กซ์เป็นเวลานาน หากใครไม่ได้เป็นคนคนนั้นผู้กำลังเผชิญเหตุการณ์ที่ค่อยๆ แทรกซึมถึงจุดที่ตัวเองรู้สึกตกต่ำและหวาดกลัวสุดๆ ก็ยากมากที่จะเข้าใจว่าทำไมคนคนนั้นถึงยอมปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งจนถึงขั้น ‘ออกมาไม่ได้’ ขนาดนั้น

ระบบป้องกันตัวโดยสัญชาตญาณที่ทำให้ไม่กล้ามีปากเสียง

หากอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ระบบการรับมือกับความเครียดอย่างหนักนั้นจะต่างจากการตัดสินใจทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง แฟนถามคุณว่าคืนนี้อยากทำอะไร การตัดสินใจก็เป็นเรื่องง่ายเพราะไม่มีเรื่องคอขาดบาดตายมากดดันให้คุณต้องเครียดในการเลือก

แต่ถ้าคุณกำลังตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เช่น คนกำลังจะเข้ามาลวนลามในซอยเปลี่ยว ภายในเสี้ยววินาทีนั้นแทบไม่มีทางเลยที่สมองจะตัดสินใจได้อย่างกระจ่างเฉียบแหลม ทำให้ระบบป้องกันตัวของเราจะปรับเข้าสู่โหมด ‘1) Fight – 2) Flight – 3) Freeze’

ในตอนนั้นเราอาจเลือกต่อสู้ผู้ที่กำลังเข้ามาทำร้าย หรือหนีให้เร็วที่สุด หรือตัวแข็งชา เนื่องจากไม่สามารถประมวลผลตอบโต้อีกฝ่ายได้ ซึ่งจริงๆ แล้วคนเรามีหลายวิธีป้องกันตัวเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น พยายามพูดจาดีๆ เป็นมิตร หรือไม่มีปากเสียง ทำตัวให้เป็นปัญหาน้อยที่สุด ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพราะสมองมีหน้าที่หลักในการทำให้มั่นใจว่าเจ้าของสมองนั้นจะรอดตาย

การบังคับควบคุม manipulation สุขภาพจิต

ความยาวนานของเหตุการณ์ที่เลวร้าย ยิ่งทำให้ยากที่จะออกมาได้

นอกจากระบบป้องกันตัวที่ทำให้ไม่กล้าพูดหรือสู้กลับแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้เราออกมาจากความทุกข์ทรมานจากการถูกควบคุมหรือหลอกใช้ได้ยากคือความเคยชิน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งตัวเราจะปรับเข้าสู่โหมด ‘ยอมรับสภาพ’ แทนการพยายามดิ้นรนหาหนทางชีวิตที่ดีกว่านี้ ความผิดหวังซ้ำๆ จากการหนีไม่รอดหรือไม่มีคนเชื่อเรื่องของตนทำให้คนหมดกำลังใจจะสู้ เพราะความเจ็บปวดหลังความพยายามสู้แล้วไม่รอดพ้นมันทำให้หัวใจหดหู่ ไม่เหลือแรงที่เชื่อว่าตัวเองสามารถออกมาได้

อีกเหตุผลคือ ไม่มีใครที่พร้อมจะยอมรับกับตัวเองอย่างหมดใจว่า ‘ฉันกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ทำร้ายฉันอยู่’ เพราะนั่นหมายถึงการเปิดใจยอมรับความจริงมากมายที่เราอาจไม่พร้อมจะเชื่อมัน 

‘การเรียนรู้ว่าสิ่งที่เคยใช่มันไม่ใช่’ คือ Trauma หรือความเจ็บปวดทางใจอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับบางคนที่ไม่กล้าเปลี่ยนความเชื่อที่ฝังลึกในตัวเองมานาน อย่างเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองหรือความเชื่อทางศาสนา เพราะหากเปลี่ยนนั่นแปลว่าเขาต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเคยมีส่วนสนับสนุนหรือเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางที่ตัวเองรับรู้แล้วว่าผิด

ความรู้สึกแย่กับตัวเองและความสูญเสียตัวตนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแก่นแท้ของเราไป บางครั้งก็ทรมานจนบางคนขอยอมใช้ชีวิตลอยๆ เรื่อยไปกับสิ่งขัดใจที่เกิดขึ้นกับชีวิตปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ทำให้เรานึกถึง ‘Cognitive Dissonance’ ทฤษฎีทางจิตวิทยา ว่าด้วยการที่ถ้าใครสักคนกำลังเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิดไปกับสิ่งที่ตัวเองให้ค่า แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความอึดอัดใจในทุกวินาที ดังนั้นลึกๆ แล้วหลายคนจึงพยายามจะทำให้ ‘สิ่งที่ตัวเองทำ’ กับ ‘สิ่งที่ตัวเองเชื่อ’ นั้นลงรอยกัน

ยกตัวอย่าง วัยรุ่นคนหนึ่งที่เชื่อมาตลอดว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี วันหนึ่งโดนเพื่อนบังคับให้สูบ ก็รู้สึกแย่กับตัวเองมากจนผ่อนคลายได้ด้วยการบอกตัวเองว่า ‘ไม่เป็นไรหรอกเว้ย ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ’ เช่นกันกับกรณีของคนที่กำลังถูกหาผลประโยชน์และหลอกให้เชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลานาน ในช่วงแรก คนคนนั้นอาจสัมผัสได้ถึง ‘เสียงเอ๊ะ’ ในหัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสิ้นหวังก็เข้ามาแทนที่ และสิ่งที่ทำให้คนคนนั้นมีชีวิตอยู่ได้วันต่อวันคือเสียงเล็กๆ ในหัวที่บอกตัวเองว่า จริงๆ ที่เป็นอยู่มันก็โอเค

การบังคับควบคุม manipulation สุขภาพจิต

ความน่าเชื่อถือของคนร้าย ทำให้คนหลวมตัวเชื่อง่าย

‘Power Dynamics’ หรือขั้วอำนาจที่มีความสูงต่ำชัดเจนตาม ‘บรรทัดฐานของสังคม’ มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนมากมายเชื่อในสิ่งที่คนร้ายล่อลวงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบริษัทกระทำต่อลูกน้อง พ่อกระทำต่อลูก อาจารย์กระทำต่อนักเรียน หมอกระทำต่อคนไข้ หรือผู้นำศาสนากระทำต่อศาสนิกชน

ผู้เขียนเคยฟังโอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) พิธีกรชื่อดังคุยกับชายวัยกลางคนที่มาแชร์ประสบการณ์ตอนเด็กของเขาว่าถูกตำรวจใหญ่ในหมู่บ้านลวนลามเป็นเวลานานมาก แต่ไม่มีใครเชื่อเขา เพราะทุกคนรักตำรวจคนนี้และขนานนามเขาว่า ‘คุณตำรวจคนดี’

แน่นอนว่าอาชีพที่คนทั่วไปยกย่องว่ามีเกียรติคือเกราะกำบังอย่างดีที่ทำให้คนเชื่อถือ ขณะเดียวกัน ในยุคนี้คนที่ตั้งตัวแสดงความผูกพันต่อสิ่งที่ละเอียดอ่อนและมีผลต่อความเปราะบางของจิตใจอย่างเรื่องความเชื่อทางจิตวิญญาณ มันก็ยากจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน เพราะจิตใจของแต่ละคนสามารถศรัทธาบางอย่างจนมองข้ามจุดที่อันตรายไปได้

ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ช่วยเหลือทางจิตวิญญาณนั้นมีอยู่จริง ผู้เขียนจึงโมโหเป็นพิเศษเมื่อมีคนนำอาชีพนี้มาอ้างเพื่อทำร้ายคนอื่น เพราะหลายคนที่ต้องการที่พึ่งทางจิตวิญญาณมากๆ จากการที่ตัวเองอ่อนแอจนไม่เห็นทางไหนจะใช้ชีวิตต่อแล้ว พวกเขาย่อมทุ่มเททุกสิ่งอย่างที่มีให้ทางเลือกสุดท้ายที่คิดว่าจะช่วยชุบชีวิตตนขึ้นมาได้ การโดนโลกทำร้ายอีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่เจ็บปวดจนเกินจะจินตนาการเหลือเกิน

จากที่ได้ยินมา คนร้ายหลายคนมักใช้วิธีพยายามกล่อมเหยื่อโดยการเป่าหู และใส่ร้ายคนรอบข้างของเหยื่อและตัวเลือกที่เหยื่อมีในชีวิตประจำวัน เพื่อกันคนรอบตัวออกไป ทำให้เหยื่อสูญเสียความมั่นใจจนไม่กล้าตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง จนมีแต่คนร้ายเท่านั้นที่คอยบงการชีวิตได้

อีกวิธีหนึ่งคือการกรูมมิง (Grooming) หรือการล่อลวงด้วยวิธีโรแมนติก สร้างความหวังดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘ฉันเข้าใจเธอนะ ฉันก็เคยผ่านเหตุการณ์แบบเธอมา ฉันเข้าใจว่าเธอรู้สึกยังไง มาอยู่กับฉันนะ’ เพื่อทำให้เหยื่อรู้สึกว่าตัวเองได้รับการมองเห็นจากใครที่แคร์เป็นครั้งแรก หรือการลวนลามล่อลวงแต่พยายามจะกล่อมว่าสิ่งนี้มันโรแมนติกและมีค่ามากๆ ซึ่งเหยื่อจะรู้สึกอึดอัดและมีความกลัวในตอนแรก แต่หลังจากนั้น ด้วยความรู้สึกแย่จนแปลกแยกจากคนอื่น เหมือนหลุดออกไปอยู่อีกโลก ยากจะอธิบายให้ใครเข้าใจ เหยื่อจะสร้างสายสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งคนร้ายอยู่ตลอด เป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งกลัว แต่รู้สึกว่าเขาคือคนเดียวในชีวิตแล้วตอนนี้ที่เราสามารถหันหน้าไปหาได้

การบังคับควบคุม manipulation สุขภาพจิต
การบังคับควบคุม manipulation สุขภาพจิต

ยิ่งรัก ยิ่งเจ็บ แต่ไม่ควรโทษตัวเอง

การถูกทำร้ายโดยคนที่เรารักและไว้ใจ ทั้งที่เชื่อว่าคนคนนี้ควรจะรักและห่วงใยเรา มักมีบาดแผลทางใจที่เจ็บกว่าการโดนทำร้ายจากคนแปลกหน้า หลายคนถูกทำร้ายลักษณะนี้เป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เช่น เด็กที่ถูกผู้ปกครองทำร้ายหรือลวนลามเป็นประจำ เนื่องจากเจอกันทุกวันและตัวเขาเองยังไม่มีความสามารถพอในการหนีออกจากบ้านเพื่อเป็นอิสระ 

บาดแผลของการถูกทำร้ายโดยคนใกล้ชิดมักกลายเป็นความเจ็บที่เรียกว่า Complex Trauma หรือบาดแผลทางใจอันซับซ้อน ใช้เวลานานมากในการรักษาอาการในจิตใจที่ทั้งเจ็บและโกรธแค้น แต่อาจมีความรู้สึกผิดหรือเศร้าใจที่เราต้องโกรธต้องเกลียดคนที่เราเคยรัก ฯลฯ ในความละเอียดอ่อนของอารมณ์ทั้งหลายนั้น การเยียวยาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป มันง่ายอยู่แล้วที่จะหันมองกลับไปแล้ววิจารณ์ตัวเองว่า ตอนนั้นน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ แต่สิ่งที่เราควรทำมากที่สุดคือการให้อภัยตัวเองต่างหาก เชื่อเถอะว่าในช่วงเวลานั้น ด้วยประสบการณ์และความรู้ทั้งหมดที่เรามี ไม่ว่าเราจะรอดชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ได้เพราะอะไร นั่นแปลว่าเราทำถูกแล้ว และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เลือกทำในตอนนั้นแล้วเช่นกัน

พ้นไปจากมุมของเหยื่อที่ผ่านเรื่องราวเลวร้ายมาแล้ว สิ่งที่ทุกคนควรเปลี่ยนระบบความเชื่อคือการมองไปที่เหยื่อแล้วบอกว่า เหยื่อต้องการสิ่งนี้เอง เพราะไม่มีใครในโลกหรอกที่ต้องการให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับตัวเอง เพียงแต่ตอนนั้นเขาไม่สามารถมองเห็นความเลวร้ายนั้นหรือไม่มีพลังมากพอจะออกมาต่างหาก ซึ่งพลังที่ว่าหมายรวมถึงพลังใจด้วยนะ ไม่ใช่แค่แรงกายเท่านั้น ดังนั้นคนที่โดนข่มขืนเพราะเมา = เขาไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นเพราะเขาไม่มีสติ ไม่ใช่เมาเองแล้วไม่ได้ปฏิเสธ หรือคนที่โดนคนชั่วหลอกให้มีเซ็กซ์ด้วยเพราะจะช่วยแก้กรรม = เขาต้องการหลุดพ้นหรือมีชีวิตที่ดีกว่านี้จนหมดใจ ไม่ใช่อยากจะมีอะไรกับเขาถึงทำ เป็นต้น

“หากอีกฝ่ายไม่ได้มีสติหรือองค์ความรู้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ พร้อมเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ยังไงสิ่งที่เขาโดนกระทำก็คือการโดนทำร้าย และไม่เคยเป็นความผิดของเหยื่อ”

วิธีการเป็นคนดีแต่ไม่อยากถูกทำร้าย ต้องไม่ใช่การกลายเป็นคนไม่ดี

เมื่อคิดว่าเป็นคนดีแล้วโดนเอาเปรียบ จึงตั้งใจจะทำตัวให้กลายเป็น ‘คนไม่ดี’ นั่นอาจป้องกันไม่ให้เจอใครมาหาผลประโยชน์จากเราได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้ชีวิตผ่านตัวตนที่แทบจะตรงกันข้ามกับทุกอย่างที่เราให้ค่าเช่นกัน

และนั่นอาจหวนกลับมาทำร้ายเราในภายหลังเมื่อเราหันกลับมามองตัวเองแล้วลืมไปแล้วว่าฉันคือใคร

การเป็นคนดีควรเกิดขึ้นพร้อมความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยยอมเปิดใจฟังเสียงและคำเชื้อเชิญของคนอื่น แต่ไม่ต้องกลัวที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น หากเราต้องปฏิเสธหรือคิดลบกับใคร นั่นไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนไม่ดี แต่แปลว่าเราขอเก็บความดีไว้ใช้กับคนที่คู่ควร เพื่อถนอมความดีของเราให้อยู่กับเรานานๆ ต่างหาก

การบังคับควบคุม manipulation สุขภาพจิต

ศรัทธาและความรัก ไม่ควรต้องแลกมาด้วยความกลัว

การพูดว่า ‘ลองฟังเสียงข้างในตัวเองดู ถ้ารู้สึกว่าไม่ใช่ก็ให้ออก’ อาจเป็นเรื่องยากมาก เพราะความรู้สึกที่ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ นั้นแตกต่างออกไปในแต่ละคนผ่านประสบการณ์และความทรงจำส่วนตัว บางคนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมา มันก็เป็นธรรมดาที่เสียงในหัวของเขาจะเต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจต่อโลกใบนี้ เช่นเดียวกับคนที่ผ่านชีวิตมาด้วยความอบอุ่นราบรื่น เขาย่อมไม่ได้ยินเสียงความผิดพลาดในหัวอยู่แล้ว

ทว่าสิ่งที่เราควรยึดเอาไว้น่าจะเป็นหลักคิด ‘ความรักและความเชื่อที่สวยงาม ไม่ควรต้องทำให้เรารู้สึกกลัวจนขนหัวลุกหรือสัมผัสถึงความตกต่ำของชีวิตปัจจุบันขนาดนี้’

เรามีสิทธิ์ที่จะรักและเชื่อในทุกอย่าง แต่เราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามและคอยเช็กระดับความอยู่ดีกินดีของจิตใจและร่างกายเราในทุกๆ วันเช่นกัน

ขอให้หล่อเลี้ยงทุกวินาทีของตัวเองด้วยความอ่อนโยนจนเป็นปกติ
เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าในอนาคตเราจะผิดพลาดเรื่องอะไรบ้าง
ทว่าสิ่งที่ทำให้ลุกขึ้นมาใหม่ได้คือการให้อภัยต่อตัวเอง

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.