ช่วงนี้หลายคนน่าจะเห็นเทรนด์การมานิเฟสต์หรือการขอให้จักรวาลฟังเสียงของตัวเอง เพื่อดึงดูดสิ่งดีๆ หรือทำให้สิ่งที่ขอเป็นจริงในหลากหลายโซเชียลมีเดีย แม้ฟังเหมือนเป็นการขอพรทั่วๆ ไปที่เราทำกันอยู่แล้ว แต่หากลงลึกในรายละเอียด จะพอเห็นว่าการมานิเฟสต์มีแนวคิดที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป โดยผูกกับมายด์เซต แนวคิด ความเชื่อ และความปรารถนาที่แรงกล้าด้วย
ก่อนอื่นผู้เขียนขออธิบายถึงคำว่า มานิเฟสเทชัน (Manifestation) ก่อน คำนี้แปลให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ‘การสร้างสิ่งที่อยู่ในหัวให้ออกมาอยู่ในชีวิตจริง’ แต่ขั้นตอนของการนำสิ่งที่เราคิดให้กลายมาเป็นความจริงในโลกกายหยาบนี้ได้ ในสายโลกจิตวิญญาณเขาบอกว่า ต้องมีความเชื่อว่าเราได้ เราเป็น เราคู่ควรกับสิ่งนั้นก่อน
และเมื่อเรารู้สึกถึงประสบการณ์ที่เรามีกับสิ่งนั้น เข้าถึงมันซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ผ่านการใช้เวลา ไม่ว่าจะทั้งทางอารมณ์และความรู้สึก ภาพที่ชัดอยู่ในหัวและการกระทำของเราในแต่ละวันจะถือเป็นการเตรียมพร้อมให้สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น กลายเป็นความจริงที่เราจับต้องได้ในชีวิตตอนนี้
ยกตัวอย่าง ถ้าอยากมีแฟนที่มีหน้าที่การงานดี วางตัวภูมิฐาน ฉลาดรอบรู้ การจะมานิเฟสต์ให้ได้สิ่งนี้ เราต้องเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เหมาะสมกับเรา เชื่อลึกลงไปในทุกอณูร่างกาย เพราะถ้านั่นคือสเปกผู้ชายหรือผู้หญิงที่เราอยากคบ แต่ในแต่ละวันเรายังนั่งคิดว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นเยอะ มองแต่ข้อเสียของตัวเอง เพิ่มความรู้สึกดีไม่พอเข้าไป มันก็ยากที่ระบบในร่างกายและจิตใจของเราจะประทับลงไปว่า เรานี่ล่ะคู่ควรกับคนรักแบบนี้
นอกจากนั้นเราต้องดื่มด่ำด้วยใจเป็นสุขกับความคิดที่ว่า เรากำลังคบกับคนแบบนี้อยู่ ในแต่ละวันเราจะทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง มันสนุกแค่ไหน การใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันจะเปลี่ยนไปอย่างไร และที่สำคัญ เราต้องเตรียมพร้อมที่จะให้ภาพนี้เป็นจริงขึ้นมาด้วย
อย่าลืมตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วผู้หญิงหรือผู้ชายในฝันของคนในฝันของเราคนนี้จะต้องเป็นอย่างไรนะ แล้วในแต่ละวันตอนนี้เราทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้เป็นคนในฝันของเขาคนนั้น เช่น เราออกจากบ้านบ่อยแค่ไหน โอกาสพบเจอคนในฝันของเราต้องเป็นแบบใด ไปงานเสวนาหรือลองมองหาจากในออฟฟิศ เราเปิดใจศึกษาคนที่เข้ามามากแค่ไหน วุฒิภาวะทางอารมณ์เราเป็นอย่างไร ฯลฯ
การมานิเฟสต์เกี่ยวพันกับจิตวิทยา
ไม่ต่างจากการดูดวงหรือไหว้พระขอพร การมานิเฟสต์ก็มีแง่มุมที่ซ้อนทับกับจิตวิทยาอยู่ และเราสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้
สำหรับปรากฏการณ์ที่ดูใกล้เคียงคงเป็นคำว่า Self-fulfilling Prophecy ที่ผู้เขียนขออธิบายว่า ถ้าเราเชื่อในสิ่งไหนมากๆ ไม่ว่าความจริงของผลลัพธ์ที่เราเคยทำนายในใจไว้คืออะไร เราก็จะทึกทักว่า ‘มันเป็นอย่างที่เราคิดไว้จริงๆ ด้วย’ ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้ว เหตุผลของผลลัพธ์นั้นอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิดไว้ก็ตาม
ยกตัวอย่าง เราไปทำงานที่ใหม่ เจอผู้หญิงคนหนึ่งที่ภาพลักษณ์ดูหยิ่ง เข้าถึงยาก ในใจก็คิดไปแล้วว่าเธอคนนี้ต้องไม่ชอบเราแน่ๆ จนมีจังหวะหนึ่งที่เธอหันมาทางเราแล้วกลอกตา เราก็เลยมั่นใจว่าเธอไม่ชอบเราจริงๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเธออาจแค่ระคายเคืองตาเท่านั้น
หรืออีกตัวอย่างง่ายๆ คือ การตื่นมาแล้วรู้สึกว่าวันนี้ต้องเป็นวันที่แย่แน่ๆ จากนั้นจิตใต้สำนึกเราจะมองหาแต่เรื่องแย่ๆ เพื่อมาคอนเฟิร์มความตั้งมั่นที่เรามีในตอนเช้า ทั้งๆ ที่เรื่องดีก็มีให้เห็นแต่เราไม่เก็บเอามาใส่ใจ กลายเป็นว่า ‘มันจริงในความรู้สึกเรา เลยทำให้เราเชื่อว่ามันจริง’ แต่ผู้เขียนอยากให้เห็นตรงนี้ว่า บางครั้งสิ่งที่เรารู้สึกชัดมากๆ มันอาจมาจากความเชื่อของอคติในใจตั้งแต่แรก ไม่ใช่ความเป็นจริงเสมอไป
คำต่อไปที่ใกล้เคียงดูจะเป็นคำว่า Growth Mindset คือไม่ว่าเรื่องราวดีหรือไม่ดีเกิดขึ้น เราก็เชื่อว่าตัวเองจะหาทางออกที่ทำให้สบายใจได้เสมอ เพื่อให้เราไม่ติดแหง็กอยู่ในสิ่งที่กำลังทุกข์อยู่ เช่น หากรู้สึกว่าเจ้านายไม่ค่อยส่งงานมาให้ทำ แทนที่เราจะด้อยค่าตัวเองว่าเก่งไม่พอจนเจ้านายไม่ไว้ใจให้งาน เราก็ไปใช้เวลาว่างนี้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในสิ่งที่ยังไม่แม่น เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะมีโอกาสที่งานดีๆ เข้ามา และต้องเป็นเราแน่นอนที่พร้อมรับไป เราจึงตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อให้เดินไปถึงสิ่งที่เชื่อมั่นไว้
ในการมานิเฟสต์มีความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่
ทีนี้เราลองขยับออกมามองความละเอียดอ่อนและสิ่งที่ต้องระวังในกิจกรรมนี้บ้าง เพราะเอาเข้าจริงการมานิเฟสต์ต้องอาศัยความโปร่งโล่งของจิตใจ พร้อมกับความตั้งมั่นโฟกัสที่ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้อย่างสบายๆ
หนึ่งในอุปสรรคนั้นคือ อานุภาพของความเคยชิน ที่จะทำให้เราเด้งกลับไปหาสิ่งที่เคยชินได้ง่ายๆ ซึ่งนี่คือความปกติของจิตใจเรา
อีกอย่างผู้เขียนมีความเชื่อว่า Manifestation is Privileged เพราะการจะมานิเฟสต์ได้นั้นมันช่างเป็นสิทธิพิเศษเหลือเกิน ที่คนคนหนึ่งจะมีจิตใจแจ่มใสเพื่อคิดถึงสิ่งดีๆ ที่ตัวเองต้องการได้โดยแทบไม่มีอุปสรรคอะไร
นั่นเป็นเพราะในโลกใบนี้มีหลายคนที่ผ่านเรื่องราวกระทบกระเทือนจิตใจมา ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากต่อการนึกถึงความคิดเชิงบวก และหากเมื่อไหร่ที่คนคนนั้นเผลอรู้สึกแย่หรือคอยนึกถึงเรื่องราวที่ทำให้ตัวเองเจ็บ เขาก็ไม่ควรต้องรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองซ้ำๆ ที่เอาใจออกไปคิดถึงเรื่องอื่นไม่ได้
ผู้เขียนเคยเจอหลายคนที่มาเล่าให้ฟังว่า เขาไม่พอใจตัวเองมากๆ ที่จมอยู่กับความทุกข์ ทั้งๆ ที่ควรจะก้าวข้ามผ่านมันไปได้แล้ว ซึ่งในความเป็นจริง ‘การคิดบวก’ ควรเป็นไปด้วยความสนุกและความสุขในใจมากกว่า
แต่เมื่อไหร่ที่เรากำลังฝืนหรือด่าทอตัวเองที่ไม่สามารถคิดบวกในตอนนี้ได้ มันจะเป็นเรื่องยากมากในการมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน หากสุดท้ายแล้วสิ่งนี้ต้องแลกมาด้วยการทำร้ายตัวเองทางอารมณ์
เราอยากให้ทุกคนจดจำไว้ว่า ความรู้สึกก็มีไว้เพียงให้เราได้รู้สึก ไม่จำเป็นต้องเอามาตรวัดทางศีลธรรมหรือมาตรฐานของสังคมมากำหนดว่าสิ่งที่เรารู้สึกอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ผิดหรือถูก เพราะการเยียวยาของแต่ละคนมันไม่มีเส้นชัยกำหนดหรอกว่า ต้องภายในระยะเวลาเท่าไหร่ถึงจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะควร
สภาพจิตใจที่พิเศษของแต่ละบุคคลล้วนมีวิธีดูแลรักษาที่ต่างกันออกไป ไม่สามารถมีลำดับขั้นตอนและวิธีการที่เหมือนกันได้ อีกทั้งยังไม่มีวิธีไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร นี่คือความสวยงามของการเป็นมนุษย์
ทำความเข้าใจถึงต้นตอความคิดในหัว
สิ่งที่คิดในหัวไม่จำเป็นต้องกลายเป็นความจริงเสมอไป กับคำกล่าวที่ว่า ‘คิดอย่างไรก็ได้อย่างนั้น’ เรามองว่าบางทีก็ไม่ถูกนัก เนื่องจากเราเป็นคนผลิตความคิดนั้นขึ้นมา แต่ความคิดมันไม่ใช่ตัวเรา
บางความคิดที่เกิดขึ้น หากเราไม่ชอบและไม่อยากอยู่ในวังวนของความคิดนั้น สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การบังคับให้ตัวเองลบความคิดนั้นออกไป เพราะมันทำไม่ได้ แต่เราควรรับรู้ว่า ความคิดต่างๆ เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แค่ไม่ให้พลังกับมัน รับรู้และเข้าใจว่าความคิดร้ายๆ เหล่านั้นไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะทำให้เรากลายเป็นคนแบบนั้น หรือดึงดูดสิ่งที่เรากลัวหรือไม่อยากให้เกิดขึ้นมาหาตัวเสมอ
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในความยากจนมาตลอดวัยเด็ก จะพบว่ายากเหลือเกินที่จะเชื่อว่าวันหนึ่งความร่ำรวยจะมาถึงเรา หรือลึกลงไปในความเหลื่อมล้ำของสังคม คนที่อยู่กลุ่มชายขอบ มีเพศสภาพ เชื้อชาติ หรือสถานะทางสังคมที่เคยโดนปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ก็ยากที่จะเชื่อว่าวันหนึ่งโลกจะใจดีกับตัวเองจริงๆ
เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่แตกร้าว คุ้นชินกับการโดนทำร้าย หรือเคยผ่านเหตุการณ์ความสัมพันธ์เจ็บลึกบาดใจมา จะระแวงและคิดในแง่ร้ายไว้ก่อนว่าจะเกิดความผิดปกติในความสัมพันธ์ และแทบไม่สามารถเชื่อว่าหัวใจตัวเองจะไม่โดนเหยียบย่ำอีก
และเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับคนที่มีอาการวิตกกังวลที่จะคิดไปก่อนเสมอว่า จะต้องมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นแน่ๆ ไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหนก็ตาม
ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เมื่อไหร่ ผู้เขียนอยากให้ทุกคนค่อยๆ รับรู้กับตัวเองว่า ‘ความกลัวเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่เรากลัวไม่ได้เป็นจริงเสมอไป’ เพื่อแยกความรู้สึกออกมาจากความเป็นจริง และไม่รู้สึกผิดทับความทรมานที่มีอยู่แล้วว่า ทำไมคนอย่างเราถึงคิดเรื่องดีๆ บ้างไม่ได้
ตระหนักไว้ว่าจิตใจคือนักปรุงแต่งที่ล้ำค่าที่สุด
นักจิตบำบัดของผู้เขียนเคยพูดว่า เรามีสิทธิ์เสมอที่จะไม่เลือกเชื่อความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว เพราะมันมักเป็นความคิดสะสมที่มาจาก Trauma (เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจ)
ความคิดร้ายๆ ที่เกิดขึ้น ถูกระบบในร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อหวังจะให้ปกป้องตัวเองจากเรื่องร้ายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และระบบในร่างกายของเรามันไม่เข้าใจระบบเวลาหรอก เมื่อมันสัมผัสถึงเหตุการณ์ไหนที่คล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้ ร่างกายก็แค่จะฉายภาพนั้นซ้ำให้ชัดเจนขึ้นเพื่อให้เราระวังตัว
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากเราเคยล้มละลายมาก่อน เมื่อกำลังจะลงทุนกับธุรกิจใหม่ ก็ง่ายที่จะนึกถึงภาพความทุกข์ในอดีตของเรา หากเราเคยโดนนอกใจมาก่อน แล้วแฟนใหม่คนนี้ไม่ตอบไลน์สักห้าชั่วโมง ก็ง่ายที่ภาพแรกของเราจะเป็น ‘เขาต้องมีคนอื่นแน่ๆ’ หรือหากเราเคยประสบอุบัติเหตุรถชน ก็ง่ายที่เราจะไม่กล้าขับรถอีก เพราะร่างกายจะฉายภาพอุบัติเหตุนั้นขึ้นมาซ้ำๆ จนเราหลอน
สิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่ผลักความคิดนั้น หรือเฆี่ยนตี โมโหตัวเองที่ทำให้ความกลัวชนะอีกแล้ว เพราะสิ่งที่ชนะความกลัวได้คือความรัก ลองปลอบประโลมและสร้างสันติ (Make Peace) กับภาพจำโหดร้ายเหล่านั้น ค่อยๆ มีบทสนทนากับระบบร่างกายของเราว่า ‘ขอบคุณที่คอยปกป้องฉันมาตลอดนะ แต่ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว เรามาลองใช้ชีวิตแบบใหม่ที่สามารถชุบชูจิตใจของเราได้กันเถอะ’
ค่อยๆ เอาใจไปสะสมกับสิ่งที่เราอยากให้มันเกิด
เมื่อไล่เรียงถึงที่มาที่ไปของความคิดร้ายๆ ที่มักเกิดขึ้นในหัวได้แล้ว ผู้เขียนอยากให้ปฏิบัติต่อหัวใจของเราด้วยความอ่อนโยน หากความทรงจำเก่านั้นหนาแน่นไปด้วยภาพเหตุการณ์ที่ทำร้ายเรา ก็ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สะสมความทรงจำใหม่ๆ ที่จรรโลงใจเราได้
เริ่มจากค่อยๆ หาสิ่งที่จะมาหักล้างความเชื่อดั้งเดิม เช่น หากเคยเชื่อว่าเราเป็นคนไม่เคยถูกรัก เพราะโดนทิ้งหลายครั้งแล้ว ก็ลองเปิดโอกาสให้ได้เห็นตัวเองผ่านมุมมองของสายตาคนอื่นที่รักเราบ้าง ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม
และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ขอเพียงรู้ไว้ว่า ลึกๆ เราแกร่งกว่าที่เราคิดเสมอ ตัวช่วยคือเวลาและความหวังว่าทุกอย่างต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน