คุยกับทีมงานเบื้องหลังฝาท่อคลองโอ่งอ่าง - Urban Creature

“ถ้าเรามองย่านเก่าแค่ด้านการอนุรักษ์มันก็ไม่ใช่ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างต้องถูกพัฒนา”

ภาพฝาท่อลายศิลป์สะท้อนเอกลักษณ์ไทย ที่ประดับไว้ริมคลองโอ่งอ่างในย่านเก่าของกรุงเทพมหานคร กลายเป็นที่ฮือฮาของคนเมืองในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาเพื่อลบภาพการอนุรักษ์ย่านเก่าแบบเดิมๆ ทั้งยังเป็นการใช้ศิลปะมาชุบชีวิตชุมชนประวัติศาสตร์ให้มีสีสันกว่าที่เคย

เราเดินทางมาที่วังท่าพระ เพื่อมาคุยกับ อาจารย์พิเชฐ เขียวประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในทีมสร้างสรรค์งานวิจัยออกแบบประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ถึงเบื้องหลังโปรเจกต์ฝาท่อที่หลายคนชอบใจ ความร่วมมือของคนในชุมชน ไปจนถึงมุมมองใหม่ของคนวงการศิลป์ที่มีต่อย่านเก่าของเรา

ฝาท่อสีสดใส มาจากงานวิจัยที่คิดแล้วคิดอีก

งานวิจัยในบ้านเราถูกขึ้นหิ้งไปก็หลายชิ้น บางงานแนวคิดล้ำมากแต่ไม่ได้ถูกหยิบมาพัฒนาต่อ แต่สำหรับงานวิจัยออกแบบประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยความร่วมมือร่วมใจกันของชาวรั้วสีเขียวเวอร์ริเดียน คือสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในการฟื้นฟูย่านเก่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้

“งานวิจัยนี้ อาจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล กับผมร่วมทำด้วยกัน ศิลปากรมองเห็นว่า จุดแข็งที่เรามีในด้านศิลปะมันควรเชื่อมต่อกับชุมชน ช่วงนั้นปี 58 รัฐสั่งรื้อสะพานเหล็กตรงคลองโอ่งอ่างออก แหล่งทำมาหากินของชาวบ้านต้องหายไป พอรื้อปุ๊บก็ไม่มีแผนทันทีว่าจะทำอะไรต่อ จากหน้าบ้านกลายเป็นหลังบ้านที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านก็กังวลเรื่องความปลอดภัย

“ยิ่งเรื่องการค้าขาย พวกเขารู้สึกว่ามันไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือตอนตั้งสะพานเหล็กก็เกิดจากการสร้างแบบผิดๆ มาตั้งแต่แรก แต่มันก็ไม่ควรรื้อโดยที่ไม่มีทางออกให้เขา เราเองเห็นว่าปัญหานี้มันเป็น case study ได้

“ทีนี้เราได้ทุนวิจัยจาก สกสว. มา (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) มันประจวบเหมาะกับช่วงที่เราทำวิจัยพอดี ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเราไปเรียกสะพานเหล็กกลับคืนมาไม่ได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้มันดีขึ้นโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ

“ซึ่งเรามีการเก็บข้อมูลทั้งเข้าไปคุยด้วยตัวเอง และตอนที่ กทม. เรียกให้คนในชุมชนไปช่วยให้ความคิดเห็น เราใช้โอกาสตรงนี้ไปเสนอแนวทางว่า ถ้าจะมีการปรับจริงๆ มันสามารถใช้วิธีการเหล่านี้ได้เหมือนกัน ทีนี้เราไปเสนอกับชุมชน แล้วดูว่าเขาโอเคกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่เขาเห็นด้วยว่าถ้ามันมีอะไรที่ดูสวยงามมันก็แฮปปี้”

พื้นที่ริมน้ำ เป็นทุกอย่างให้กับเมือง

วิถีชีวิตบรรพบุรุษเราผูกพันกับแม่น้ำลำคลองอย่างแยกไม่ออก แม่น้ำลำคลองคือเส้นทางหลักของเมือง ไม่ใช่แค่สัญจรไปมา แต่ยังเป็นศูนย์กลางวัดวาอาราม การค้าขาย ตลอดจนบ้านเรือนของชาวบางกอกจนเคยมีชื่อเล่นสุดเท่ว่า ‘เวนิสตะวันออก’

“ช่วง 3 ปีหลัง ตัวงานที่พัฒนาพื้นที่ Riverfront มันค่อนข้างบูมมาก เพราะพื้นที่ริมแม่น้ำลำคลองมันเป็นพื้นที่สำคัญของเมือง แต่ก่อนเราใช้แม่น้ำในการเดินทาง คลองเป็นแหล่งคมนาคมแหล่งหนึ่งก่อนจะเกิดถนน ซึ่งคลองในกรุงเทพฯ ยังมีที่ถูกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ถ้ามันถูกจัดการให้ดี มันสามารถสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะได้เหมือนกัน หรือถ้าจะมองเป็นจุดขายเชิงท่องเที่ยว ตัวพื้นที่ริมน้ำก็มีวิวทิวทัศน์ที่สามารถเรียกนักท่องเที่ยวได้ด้วย

“อย่างพื้นที่ที่เราศึกษา เราเริ่มจากสะพานดำรงสถิต คือหัวถนนของย่านสะพานเหล็กที่ขายเกม ไปจนถึงสะพานโอสถานนท์ที่อยู่ตรงหลังวัดบพิตรพิมุขแถวศาลรัฐธรรมนูญ ช่วงระหว่างพื้นที่มีสะพานภาณุพันธุ์และสะพานหัน ซึ่งเป็นสะพานที่ใช้เป็นตลาดสมัยก่อน จะเห็นว่ามันมีความร่วมสมัยทั้งประวัติศาสตร์ ผู้คนที่อยู่อาศัย มีร้านขายเกม โบราณสถาน และแหล่งชุมชนที่อาศัยร่วมกันสามเชื้อชาติทั้งจีน อินเดียและไทย”

เข้าใจย่าน เข้าใจชุมชน จนกลายเป็นศิลปะสะท้อนเมือง

อาจารย์จักรพันธ์และอาจารย์พิเชฐที่เรามาคุยด้วยวันนี้ ได้ลงพื้นที่จนเข้าใจความเป็นอยู่ของชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง พวกเขาใช้จุดแข็งด้านศิลปะที่ศิลปากรมี ถ่ายทอดออกมาเป็นงานประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีทั้งหมด 6 รูปแบบ ได้แก่ ประติมากรรมลอยตัว ประติมากรรมนูนต่ำ ม้านั่ง ฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภค ศิลปะกราฟฟิตี้ และรั้วกั้นทางเดินริมน้ำ

“ช่วงที่เราจัดแสดงงานที่เอี๊ยะเซ้ง กงษี ช่วงเดือนกันยายน 62 เราได้ข่าวจาก กทม. พอดีว่าเขาจะติดฝาท่อจริง คือเรายื่นงานวิจัยให้กับ กทม. ไปตั้งแต่ปี 59-60 เราไม่ได้หวังว่าเขาจะเอาไปใช้งานจริง เราแค่ทำให้เห็นว่ามันเป็นแนวทางหนึ่งที่เขาสามารถนำไปใช้พัฒนาเมืองได้ ซึ่งงานประติมากรรมฝาท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภคดูจะเป็นรูปธรรมที่สุด เขาเลยเลือกไปผลิตและติดตั้งจริง

“อย่างตรงคลองโอ่งอ่างมันตั้งอยู่บนพื้นที่ของ 2 เขต คือฝั่งพาหุรัดเป็นเขตพระนคร ส่วนฝั่งเยาวราชเป็นเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งฝาท่อมันสามารถบ่งบอกได้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงจุดไหนของเมือง หรือเวลาเราเดินไปตามจุดต่างๆ ฝาท่อสามารถบอกถึงเรื่องราว และประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในชุมชนของพื้นที่นั้นได้ มันมีฟังชันก์มากกว่าแค่สวยงาม”

สวยงามอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

แน่นอนว่า ‘ศิลปะ’ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ดูสวยงาม ช่วยเปลี่ยนเมืองที่วุ่นวายให้กลายเป็นเมืองที่สดใส แต่ศิลปะและความสวยงามอย่างเดียวอาจไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เมืองดีขึ้นทั้งหมด ซึ่งอาจารย์พิเชฐมองว่า การอยู่อาศัยที่ดีจะมีแต่ของสวยงามอย่างเดียวไม่ได้ แต่คุณภาพชีวิตต้องดีด้วย 

“อย่างเยาวราชตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องของมลภาวะเกิดขึ้น อย่างฝุ่นและขยะ คือการอยู่ดีมันไม่ใช่แค่มีของสวยงามแปะอย่างเดียว มันควรมีเรื่องของสุขอนามัยที่ทำให้วงจรต่างๆ มันเป็นระบบขึ้น เช่น มีระบบการขนขยะที่ดี มีระบบจัดการมลพิษที่ดี ซึ่งในย่านเก่ามีต้นทุนสูง หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกว่ามันต้องมีการจัดการด้านความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ 

“เราให้ใครคนใดคนหนึ่งดูแลย่านเก่าเป็นหลักไม่ได้ ถ้าจะทำให้น่าอยู่ คนในชุมชนเอง ภาครัฐ หน่วยงานเอกชน องค์กรการศึกษา รวมถึงนักออกแบบหรือศิลปินต้องทำงานร่วมกัน เพราะว่าคนแต่ละกลุ่มมีศักยภาพต่างกัน อย่างภาครัฐมีในเรื่องนโยบายที่อาจไม่ถูกใจคนในชุมชน คนในชุมชนเองอาจมีความต้องการแบบหนึ่ง แต่ยังไม่มีเครื่องมือที่จะดึงความต้องการนั้นออกมาได้ ก็ต้องมาหาตัวช่วยเป็นพวกนักลงทุนหรือเจ้าของห้างร้านต่างๆ ในชุมชนให้มาร่วมด้วยช่วยกัน”

ย่านเก่าไม่ใช่แค่อนุรักษ์ไว้

ถ้าพูดถึงย่านเก่า ไม่ว่าจะเป็นชุมชนริมน้ำ ชุมชนรถไฟ ชุมชนชาติพันธุ์ หรือชุมชนรอบโบราณสถาน ล้วนต้องถูกดูแลเป็นพิเศษ แต่ถ้าใช้คำว่า ‘อนุรักษ์’ อาจารย์พิเชฐมองว่ามันดู ‘อนุรักษ์’ ไป

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองมันเปลี่ยนแปลงไป การที่ทำให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องมานั่งรักษาอาคารบ้านเรือน แต่ต้องให้การใช้ชีวิตมันไปด้วยกันทุกด้าน อย่างวิจัยที่เราทำในโครงการ Creative City (งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) นอกจากมีทีมงานด้านศิลปะแล้ว เราดึงอาจารย์จากสายวิทยาศาสตร์มาร่วมทำงาน เป็นการเชื่อมโยงกันทั้งในแง่วิทยาศาสตร์และการออกแบบ

“ย่านเก่าเป็นขุมทรัพย์ของเมือง เป็นแหล่งความรู้ที่มีโจทย์ต่างๆ ให้เราเข้าไปเล่นได้ ถ้าเรามองย่านเก่าแค่ด้านการอนุรักษ์มันก็ไม่ใช่ นั่นเหมือนการถูกฟรีซเอาไว้ สิ่งหนึ่งที่ศิลปากรมองคือ เราจะใช้รากฐานทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาปรับให้เข้ากับโลกยุคนี้อย่างไร และทำให้คนที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทั้งเชื้อชาติและความต่างของวัย”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.