อนุรักษ์อาคาร 2465 สถาปัตยกรรมในโรงงานมักกะสัน - Urban Creature

ในอดีตหากพูดถึง ‘โรงงานมักกะสัน’ (Makkasan Workshop) ภาพของความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองคงมีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพราะสมัยก่อนนั้น ถือได้ว่าเป็นโรงงานซ่อมรถไฟแห่งเดียวในอาเซียนที่สามารถทำการซ่อมและผลิตรถโดยสารได้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน บทบาทที่เคยเกรียงไกรก็ลดลงเหลือเพียงงานซ่อมหนักรถจักรดีเซล ซ่อมรถดีเซล รางรถโดยสาร ซ่อมดัดแปลงล้อ และอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงสนับสนุนงานซ่อมบำรุงในส่วนภูมิภาคเท่านั้น 

ท่ามกลางโรงงานและอาคารหลายหลังในที่ดินหลายร้อยไร่ของโรงงานมักกะสัน ได้ซุกซ่อนสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมไว้นับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือ ‘อาคาร 2465’  หรือ ‘โรงซ่อมรถโดยสาร โรงงานมักกะสัน’ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นอาคารพัสดุ

| ย้อนเวลาไปหาสถาปัตยกรรมล้ำค่าอาคาร 2465’

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลูกระเบิดหล่นลงบริเวณโรงงานมักกะสันและพื้นที่โดยรอบเป็นว่าเล่น จนอาคารภายในโรงงานพังทลายเสียหายไปเกือบหมด มีเพียงไม่กี่หลังที่อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ‘โรงซ่อมรถโดยสาร โรงงานมักกะสัน’ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของโรงงาน

‘โรงซ่อมรถโดยสาร’ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2465 มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ตัวอาคารเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐโชว์แนวทั้งหลัง ส่วนข้างบนเป็นโครงหลังคาเหล็ก ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตรงหน้าบันมีตัวเลขไทยระบุปีที่สร้าง คือ ๒๔๖๕ และอักษรย่อ ร.ฟ.ผ. หรือกรมรถไฟแผ่นดิน (เป็นชื่อที่ใช้ระหว่าง พ.ศ. 2464-2467) อาคารมีความกว้าง 32 เมตร ยาว 125 เมตร และสูง 20 เมตร โดยพื้นอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. ส่วนโถงกลาง กว้าง 20 เมตร มีโครงสร้างเป็นระบบเสาและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้เป็นพื้นที่ซ่อมรถโดยสาร มีการวางราง 3 รางไปตามความยาวของอาคาร โดยข้างใต้รางขุดลึกลงไปเป็นคูสำหรับให้ช่างซ่อมลงไปได้ และด้านบนใต้ระดับขื่อมีคานเหล็กเคลื่อนที่ (crane) สำหรับยกรถโดยสารวิ่งไปมาตลอดความยาวของอาคาร 

2. ส่วนริมสองข้างของโถงกลาง มีความกว้างด้านละ 6 เมตร มีรางซ่อมข้างละ 1 ราง ผนังด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร ประกอบด้วย ประตูโครงสร้างคานโค้งต่อเนื่อง 5 ช่วง อยู่ที่โถงกลาง 3 ช่วง และริมข้างอย่างละช่วง 

3. ส่วนบนของผนังโถงกลางแบ่งซอยออกเป็นคานโค้งต่อเนื่องขนาดเล็ก 6 ช่วงติดต่อกัน เป็นช่องแสงกรุกระจก หลังคาโครงสร้างเหล็กรูปจั่วเปิดยอดยกขึ้นไปและเป็นจั่วเล็กอีกชั้นเพื่อระบายลม ส่วนผนังด้านยาวทั้งสองข้างเป็นผนังก่ออิฐเปิดผิว แต่ละช่วงเจาะช่องแสงกรุกระจกช่องละ 2 บาน ตลอดแนวอาคาร

ซึ่งตัวอาคารโรงซ่อมรถโดยสาร ถือเป็นตัวอย่างอาคารที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างเสา คาน พื้น และผนัง ซึ่งยังรักษาโครงสร้างและวัสดุดั้งเดิมเอาไว้ได้ โดยไม่มีการปิดบังและตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นอาคารคลังพัสดุ และส่วนต่อเติมด้านข้างเป็นโรงเก็บรถพระที่นั่งจำนวน 2 ชุด

| ‘อาคารอนุรักษ์ถึงเก่าแต่ก็ยังเก๋าอยู่

แม้จะมีอายุมากที่สุด แต่อาคารโรงซ่อมรถโดยสารก็ยังคงสภาพโครงสร้างและวัสดุเดิมไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ในปี พ.ศ. 2549 อาคารโรงซ่อมรถโดยสาร ได้รับรางวัล ‘อนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสาธารณะ’ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยเป็นอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ ทั้งในทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์สังคมเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นอาคารที่มีการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีนั่นเอง

อ.ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อดีตประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ เล่าให้เราฟังว่า ถึงแม้ทางสมาคมฯ จะให้รางวัลแก่โรงซ่อมรถโดยสาร โรงงานมักกะสัน เป็นอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นไปแล้ว แต่ในช่วงแรกหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังคงไม่ค่อยตระหนักหรือให้ความสำคัญในการดูแลรักษาเท่าที่ควร ขณะเดียวกันก็ไม่มีการคุ้มครองทางด้านกฎหมายใดๆ เเละยังมีความสุ่มเสี่ยงในการถูกรื้อถอนในช่วงที่ทางการรถไฟจะดำเนินการให้สัมปทานพื้นที่ให้เอกชนไปพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี พ.ศ.2548 

ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงทำเรื่องไปถึงกรมศิลปากรให้เข้ามาสำรวจคุณค่าอาคาร ซึ่งปรากฏว่าในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2549 ทางกรมศิลป์ฯ ก็ได้มีจดหมายส่งไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า อาคารนี้ได้รับการจัดลำดับความสำคัญโบราณสถานอยู่ในลำดับ 3 มรดกทางวัฒนธรรมจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ.2549 พร้อมกับอาคารโรงซ่อมรถจักรไอน้ำ (สร้าง พ.ศ.2471)

“เดิมทีด้านหน้าอาคารจะมีต้นพลูด่างขนาดใหญ่เกาะตามผนังอาคารและประตูหน้าต่าง ต่อมาได้มีคำสั่งให้รื้อต้นไม้ออก โดยไม่มีแผนการที่จะมารองรับหรืออนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม้ที่ประตูหน้าต่างเมื่อเจอแดด เจอฝนโดยตรงและขาดการยึดโยงจากรากไม้ ยิ่งผุพังมากกว่าเดิม และหากมองไปในอนาคตก็อยากให้มีหน่วยงานภาครัฐจัดทำบัญชีอาคารที่มีคุณค่าระดับท้องถิ่นไว้ อย่างสถานีรถไฟในจังหวัดต่างๆ ที่มีความโดดเด่นและเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ที่ควรจะได้รับการขึ้นบัญชีเป็นอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ในระดับท้องถิ่นไว้เช่นกัน” อ.ปองขวัญ กล่าว

จริงๆ แล้ว นอกจาก ‘โรงซ่อมรถโดยสาร’ อาจารย์บอกอีกว่า ยังมีอีกหลายหลังที่มีคุณค่าและความสำคัญมากพอๆ กัน ทั้งยังเข้าข่ายที่จะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานได้ เพียงแต่ว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการขึ้นทะเบียนอาจจะมีงบประมาณหรือบุคลากรไม่เพียงพอและครอบคลุมถึงสถาปัตยกรรมหลายๆ ยุค โดยเฉพาะยุคหลังๆ ที่เป็นอาคารยุคโมเดิร์น (Modern Architecture) หรือมรดกทางอุตสาหกรรม (Industrial Heritage) ซึ่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเห็นความสำคัญในมรดกยุคนี้อย่างมาก และมีหลายแหล่งที่กลายเป็นมรดกโลกไปแล้วด้วย เราก็หวังว่าในอนาคต หากเกิดการพัฒนาขึ้นในพื้นที่นี้จริงๆ อาคารอนุรักษ์เหล่านี้จะยังคงอยู่เป็นสถานที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า 

“ความเฟื่องฟูของการรถไฟในสมัยนั้น มันเคยยิ่งใหญ่และมีค่าเพียงใด”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.