กรุงเทพฯ น่าอยู่ตามนโยบาย ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ - Urban Creature

‘กรุงเทพฯ’ ในฝันตามแบบฉบับของ ‘ชัชชาติ’ จะเป็นแบบไหนกันนะ

หนึ่งในบุคคลที่กระแสแรงที่สุดในช่วงนี้ก็คือ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 ผู้คว้าชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 อย่างถล่มทลาย สูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หรือกว่า 1,386,769 คะแนน (คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ)

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติยังเป็นขวัญใจของคนหลายกลุ่ม จากภาพลักษณ์ธรรมดาๆ เข้าถึงง่าย วิธีหาเสียงที่คำนึงถึงผู้คนและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสโลแกน ‘กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ มาพร้อมนโยบายกว่า 214 ข้อที่เกิดจากการลงพื้นที่ฟังเสียงของชาว กทม. นานกว่า 2 ปี โดยรวบรวมให้ทุกคนอ่านอย่างละเอียดที่ www.chadchart.com

คอลัมน์ Urban Sketch จึงอยากจำลองและออกแบบเมืองกรุงเทพฯ ให้ทุกคนเห็นว่า หากชัชชาติพัฒนาเมืองตามนโยบายเหล่านี้ได้จริง เมืองน่าอยู่ในสายตาของเขาจะมีหน้าตาประมาณไหน โดยเราได้หยิบยกไอเดียมาจากนโยบายที่น่าสนใจ ครอบคลุมบริบทของเมืองกรุงเทพฯ หลากมิติ เช่น พื้นที่สาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ไปจนถึงเศรษฐกิจ

แนวทางของชัชชาติจะพัฒนากรุงเทพฯ อย่างไร และจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเมืองขนาดไหน ไปสำรวจพร้อมกันได้เลย!

หมายเหตุ : บทความนี้อ้างอิงนโยบายที่โดดเด่นและน่าสนใจบางข้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย 214 ข้อที่ชัชชาตินำเสนอใน www.chadchart.com โดยเว็บไซต์นี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือเพิ่มข้อเสนอแนะในนโยบายต่างๆ ได้ด้วย

01 | กรุงเทพฯ ที่สนุกและเปิดกว้างให้ทุกกิจกรรมสร้างสรรค์

Make Bangkok Liveable Again จำลองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ตามนโยบายของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

เราเชื่อว่าหลายคนคงอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ส่งเสริมกิจกรรมของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะ ดนตรี และการแสดง เพื่อสนับสนุนศักยภาพของคนทุกกลุ่ม และช่วยให้ผู้คนได้รับความสุนทรีย์นอกบ้านในทุกๆ วัน

ชัชชาติเองก็มีนโยบายพัฒนาและส่งเสริม ‘การแสดงในพื้นที่สาธารณะ’ หรือ ‘สตรีทโชว์’ โดยการกำหนดพื้นที่สาธารณะ สถานีรถไฟฟ้าสายต่างๆ สกายวอร์ก และป้ายรถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ ให้สามารถจัดแสดงศิลปะทุกแขนง โดยเฉพาะดนตรีและศิลปะการแสดง ให้ศิลปินได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ยุ่งยาก

นอกจากพื้นที่สำหรับสตรีทโชว์แล้ว ชัชชาติยังให้ความสำคัญกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน ผ่านนโยบายส่งเสริมการจัดศิลปะกลางแจ้ง เปลี่ยนพื้นที่ทุกมุมเมืองเป็น ‘พื้นที่ศิลปะ’ ให้คนทุกเพศทุกวัยได้ชม เรียนรู้ และสัมผัสผลงานสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวัน

เราจึงนำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสตรีทโชว์และศิลปะมารังสรรค์เป็นกรุงเทพฯ ในอนาคตให้ทุกคนเห็นภาพกัน เริ่มจากการเปลี่ยน ‘พื้นที่ใต้ทางด่วน’ เป็นพื้นที่ให้ศิลปินทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าได้แสดงศักยภาพเจ๋งๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบ ทั้งการแสดงดนตรี ร้องเพลง เต้น มายากล หรือจะแต่งกายเป็นรูปปั้นคนเพื่อมอบรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็ได้เช่นกัน

นอกจากการแสดงหลากประเภท ผู้คนยังสามารถใช้พื้นที่นี้เฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ เช่น Pride Month ที่กำลังจะมาถึง เพื่อแสดงออกถึงสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ รวมไปถึงการสนับสนุนความหลากหลายให้เกิดขึ้นในสังคมไปในตัว

มากไปกว่านั้น เรายังเปลี่ยนบริเวณกลางแจ้งและกำแพงริมคลองให้เป็นแกลเลอรีจัดแสดงงานศิลปะ และตกแต่งด้วยภาพวาดจากนักเรียนในพื้นที่ ศิลปินท้องถิ่น รวมไปถึงข้าราชการ กทม. เพื่อให้ผู้คนมีส่วนร่วมในงานศิลปะมากขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ศิลปินใช้พื้นที่ต่างๆ ของ กทม. เช่น ศาลารอรถเมล์ ป้ายรถเมล์ ทางเท้า ป้าย และจอดิจิทัลประชาสัมพันธ์ เพื่อแสดงผลงานทุกประเภทด้วย

ไอเดียทั้งหมดจะช่วยให้ศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์มีพื้นที่ในการแสดงออก เกิดการหมุนเวียนของศิลปะ และส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว ถ้าทำได้จริง เมืองหลวงของเราคงจะกลายเป็นเมืองที่มีศิลปินทั่วทุกมุมเมืองอย่างที่หลายคนเคยเห็นในนครนิวยอร์ก ลอนดอน หรือโซล ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ มีชีวิตชีวาและน่าดึงดูดกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว

02 | กรุงเทพฯ ที่สว่างและมีทางเท้าปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่ม

Make Bangkok Liveable Again จำลองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ตามนโยบายของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

หลายคนคงรู้ดีว่า ทางเดินและฟุตพาทของกรุงเทพฯ นั้นไม่เป็นมิตรกับคนเดินถนนเอาเสียเลย เพราะในหลายพื้นที่มีปัญหาทางเท้าครอบคลุมหลายมิติ ทั้งปัญหาด้านลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ขรุขระ เป็นหลุมบ่อ พื้นกระเบื้องไม่แน่น และมีน้ำขัง ด้านความสะอาดจากคราบอาหารและสิ่งสกปรก รวมถึงด้านความปลอดภัย เนื่องจากทางข้ามไม่ครบ เบรลล์บล็อกไม่ต่อเนื่อง และป้ายกีดขวางทางจราจร

ชัชชาติชูนโยบายหลายข้อเกี่ยวกับการเดินทางที่ดีและปลอดภัย เราจึงคัดเลือกนโยบายที่น่าสนใจมาจำลองเป็นภาพเส้นทางของกรุงเทพฯ ที่เป็นมิตรและส่งเสริมการเดินทางของประชาชน เริ่มที่ ‘การพัฒนาทางเท้าอย่างน้อย 1,000 กิโลเมตรทั่วกรุงเทพฯ’ โดยการกำหนดแบบก่อสร้างมาตรฐานทางเท้าใหม่และพิจารณาแบบกระเบื้องให้เรียบไม่มีตัดขอบ ให้เป็นมาตรฐานอารยสถาปัตย์ (Universal Design) 

การออกแบบ Universal Design คือมาตรฐานที่ดีในการก่อสร้างเพื่อให้ทางเท้าคงทนแข็งแรง ซึ่งต้องคำนึงถึงความเรียบและความกว้างของทางเท้า การติดตั้งป้ายต่างๆ ในระยะทางที่กำหนด การสร้างทางต่างระดับที่มีทางลาดในองศาที่กำหนด รวมไปถึงการติดตั้งกระเบื้องเตือนและกระเบื้องนำทาง เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม รวมไปถึงเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สามารถใช้งานทางเดินได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

นอกจากทางเท้าที่มีคุณภาพ บริเวณโดยรอบยังต้องให้ความร่มรื่น โดยจะจัดหา ‘รุกขกร’ หรือ ‘เจ้าหน้าที่จัดการและดูแลต้นไม้มืออาชีพ’ มาดูแลต้นไม้ริมทางและสภาพแวดล้อมในแต่ละเขตให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ และยังจะสร้าง ‘Covered Way’ สำหรับป้องกันแดดและฝนให้ผู้สัญจร โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งในด้านโครงสร้าง การออกแบบ และการบำรุงรักษา

ส่วนถนนและซอยย่อยที่ไม่มีทางเท้า เราได้ปรับปรุงไหล่ทางและแนวท่อระบายน้ำให้เรียบ ไม่เป็นร่อง สำหรับแบ่งเป็นทางเดินและทางจักรยานที่เดินทางได้ง่ายและปลอดภัย ตีเส้นถนน ทำสัญลักษณ์ลงพื้น และติดกล้อง CCTV สอดส่องความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางเดินและทางปั่นจักรยาน เป็นอีกหนึ่งการออกแบบที่อาจช่วยกระตุ้นให้คนเดินถนนมากขึ้น ใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลน้อยลง

สุดท้ายก็คือการติดตั้งแสงสว่างและบำรุงรักษาโคมไฟที่เสียหายทั่วเมือง รวมไปถึงพื้นที่ในซอย ตรอก และชุมชนต่างๆ ตามนโยบาย ‘กรุงเทพฯ ต้องสว่าง’ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทุกคน พร้อมพิจารณาติดตั้งไฟส่องสว่างแบบโคมปิดครอบด้านบน ป้องกันแสงรบกวนผู้อยู่อาศัย นก แมลง และสัตว์ป่าอื่นๆ ในเมืองที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ด้วย

03 | กรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและปราศจากมลพิษ

Make Bangkok Liveable Again จำลองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ตามนโยบายของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

ใครเคยเจอเหตุการณ์นี้บ้าง? อยากไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ไป เพราะพื้นที่สีเขียวเหล่านี้อยู่ไกลบ้าน บางแห่งต้องใช้เวลาเดินทางนานเกือบหนึ่งชั่วโมง แค่คิดจะก้าวเท้าออกจากบ้านก็ท้อแล้ว

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะปัจจุบันการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง (Outdoor Public Space) หรือพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ทั่วกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลัก 40 แห่ง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สีเขียวอื่นๆ กระจายอยู่บ้าง ซึ่งมีหลายแห่งที่ไม่สามารถระบุประเภทการใช้งานได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้น้อย

ชัชชาติจึงมีนโยบาย ‘สวน 15 นาที ทั่วกรุง’ เพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งที่ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยการเดิน กำหนดเป้าหมายการเดินทางของผู้คนในระยะทาง 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10 – 15 นาที 

นอกจากนี้ยังจะพัฒนาสวนหย่อมขนาดเล็ก (Pocket Park) ในแต่ละพื้นที่ โดยศึกษาพื้นที่ศักยภาพน่าพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย อาคารขนาดใหญ่ รวมถึงการเปิดให้ประชาชนร่วมเสนอได้

ที่สำคัญ เรายังเสริมโครงสร้างของพื้นที่สีเขียวด้วยการพัฒนาบึงและทะเลสาบที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็น ‘แก้มลิงธรรมชาติ’ สำหรับรองรับน้ำฝนส่วนเกิน ช่วยหน่วงน้ำในช่วงฤดูมรสุมหรือฝนตกหนักเฉียบพลัน สนับสนุนให้โครงข่ายระบบระบายน้ำทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดเหตุการณ์น้ำท่วมขังหรือน้ำรอระบายหลายชั่วโมงในพื้นที่อยู่อาศัยหรือเส้นทางสัญจรของประชาชน

นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ชัชชาติยังมีนโยบายแก้ไขปัญหา ‘มลพิษ’ อย่างการผลักดันให้เกิด ‘เขตควบคุมการปล่อยมลพิษในตัวเมือง (Low Emission Zone)’ โดยการร่วมมือกับภาคเอกชนในย่านธุรกิจเพื่อผลักดันให้เกิดการ Work from Home หรือการทำงานเหลื่อมเวลา เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวในชั่วโมงเร่งด่วนบริเวณ Low Emission Zone

มากไปกว่านั้น ยังจะหารือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะไซต์ก่อสร้างและธุรกิจขนส่งสินค้าให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางของรถบรรทุกในบริเวณ Low Emission Zone หรือบริเวณที่มีมลพิษสูงอื่นในเขตกรุงเทพฯ เช่นกัน เป็นแนวทางในการลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 

ทั้งนี้ การลดปริมาณการใช้รถยนต์อย่างเดียวอาจยังไม่พอ ชัชชาติจึงมีนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นรอบกรุงเทพฯ นอกจากจะช่วยลดฝุ่นและมลพิษแล้ว การปลูกต้นไม้ยังจะช่วยสร้างร่มเงา ส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศเมือง และสนับสนุนเกษตรกรรมในชุมชนด้วย

หากกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองสีเขียวตามนโยบายข้างต้นได้จริง เราเชื่อว่าสุขภาพกายและสุขภาพจิตของใครหลายๆ คนดีขึ้น และกรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองน่าอยู่ ที่เป็นมิตรกับทั้งคนในพื้นที่และผู้มาเยือนอย่างแท้จริง

04 | กรุงเทพฯ ที่ส่งเสริมหาบเร่แผงลอยและธุรกิจกลางคืน

Make Bangkok Liveable Again จำลองกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ตามนโยบายของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพราะที่นี่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ทำได้แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง จนได้รับฉายาว่า ‘มหานครที่ไม่เคยหลับใหล’ หนึ่งในเสน่ห์ของเมืองหลวงแห่งนี้ก็คือบรรดาร้าน ‘สตรีทฟู้ด’ และ ‘แผงลอย’ ริมถนนที่ทำให้ย่านต่างๆ คึกคักตลอดวัน แต่หลังมีการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ธุรกิจที่เคยคึกคักกลางคืนซบเซาลงไปมาก

แม้หลายคนมองว่าการค้าขายหรือการตั้งหาบเร่แผงลอยริมถนนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน เพราะกีดขวางทางเดิน สร้างขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ทำให้พื้นที่สกปรก ไม่เป็นระเบียบ แต่ชัชชาติมองว่า หาบเร่แผงลอยคือช่องทางในการทำมาหากินของคนตัวเล็กตัวน้อย และมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง

เราจึงขอลองออกแบบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ตามแบบฉบับชัชชาติ เริ่มที่นโยบายสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันออกแบบร้านค้าให้เข้ากับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของพื้นที่ จากภาพจะเห็นร่มและรถเข็นของร้านค้าที่มีสีและลวดลายกลมกลืนไปกับตึกด้านหลัง เป็นการปรับทัศนียภาพ และทำให้ร้านค้าและชุมชนมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นระเบียบ และมีเอกลักษณ์มากขึ้น

สำหรับด้านความสะอาด กรุงเทพฯ จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การจัดตั้งจุดทิ้งขยะและจุดแยกขยะรวม รวมไปถึงบ่อดักไขมัน ในบางพื้นที่อาจใช้รถเข็นที่มีทั้งบ่อดักไขมันและจุดทิ้งขยะเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บ

ปิดท้ายด้วยนโยบาย ‘ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน’ ที่มุ่งส่งเสริมการใช้ชีวิตของประชาชนที่ทำงานกลางคืน ผู้ใช้บริการ รวมไปถึงส่งเสริมธุรกิจกลางคืนหลายรูปแบบ ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจอาหาร สตรีทฟู้ด และแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี เพราะชัชชาติเชื่อว่า การใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง

ดังนั้น กทม. จะกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบเป็นผู้ว่าฯ เที่ยงคืน เพื่อพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ ได้แก่

– ด้านความปลอดภัย : ปรับปรุงและเพิ่มไฟส่องสว่างตามทางเท้าหรือถนนในย่านธุรกิจกลางคืน และจัดให้มีเทศกิจดูแลความปลอดภัยและตรวจตราพื้นที่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้คนทำงาน ผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการ 

– ด้านการเดินทาง : ส่งเสริมให้มีระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุม 24 ชั่วโมง และมีเทศกิจคอยตรวจตราและอำนวยความสะดวกบริเวณจุดจอดรถแท็กซี่ของย่านธุรกิจกลางคืน เพื่อลดการกีดขวางช่องทางจราจร

– ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก : ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพห้องน้ำสาธารณะให้ปลอดภัย สะอาด และใช้งานได้จริงตลอด 24 ชั่วโมง

เราเชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตตอนกลางคืนได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล อีกทั้งยังเป็นวิธีเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เพราะมีการจ้างงานและผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกด้วย

Sources : 
Escalalatina | t.ly/S2u2
Studio Alternativi | t.ly/q8EN, t.ly/Fa2a, t.ly/33-L

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.