LOVEWINS : รักและเข้าใจ ในความหลากหลายผ่าน “หลักสูตร LGBTQ” - Urban Creature

แม้สมัยนี้ เราจะเปิดกว้างเรื่องเพศทางเลือกกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะยอมรับเสมอไป รวมไปถึงความคิดเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่า LGBTQ ที่บางคนยังมองว่าเป็นเรื่องตลก เป็นสิ่งประหลาด หรือไม่ยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาเลยก็มี

อย่างเช่น ประเทศไต้หวัน ถ้าทุกคนจำกันได้ เมื่อช่วงปีที่แล้ว ประเทศไต้หวันเป็นที่แรกของเอเชียที่ยอมรับกฎหมายการแต่งงานของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ดีใจกับข่าวดีสำหรับชาว LGBTQ ได้ไม่นาน ความฝันก็ต้องดับวูบลง เมื่อล่าสุดประชาชนส่วนมากในไต้หวัน ลงเสียงไม่ยินยอมที่จะให้เปลี่ยนกฎหมายเพื่อชาว LGBTQ

หรือจะเป็นประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พิจารณากฎหมายบทลงโทษเพศสัมพันธ์นอกสมรส ซึ่งรวมถึงการรักเพศเดียวกัน ในกฎหมายนับว่าเป็น อาชญากรรม ดังนั้นถ้าเรื่องแดงไปถึงหูทางการเมื่อไหร่ อาจต้องได้รับบทลงโทษ ยังไม่นับรวมถึงฝั่งตะวันตกอย่างประเทศ อิหร่าน อิรัก ไนจีเรีย หรือ ซาอุดิอาระเบีย ที่มีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต

ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม บางทีการปลูกฝังหรือสอนให้เข้าใจซึ่งกันและกัน อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้คนเราอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเคารพกันมากขึ้น เหมือนบางประเทศที่เริ่มแทรกบทเรียนที่สอนให้คนเปิดใจมากขึ้นกับ “หลักสูตร LGBTQ”

| รู้จัก LGBTQ

ก่อนที่จะไปลงลึกถึงหลักสูตร เรามาทำความรู้จักกับคำว่า “LGBTQ” กันก่อน เพราะกว่าจะมีคำนี้ได้ ต้องผ่านเรื่องราวมากมายเลยทีเดียว

L = Lesbian (ผู้หญิงชอบผู้หญิง)
G = Gay (ผู้ชายชอบผู้ชาย)
B = Bisexual (ชอบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง)
T = Transgender (คนข้ามเพศ)
Q = Queer (ชอบและเป็นได้ทุกเพศ)

จุดเริ่มต้นของคำนี้ เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1969 ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา สมัยนั้นการรักเพศเดียวกันถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายและต้องถูกจำคุก การเข้าไปจับกุมแต่ละทีใช้ความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง

จนวันหนึ่งความไม่พอใจเริ่มสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตำรวจจับกุมชาวเกย์และเลสเบี้ยนในบาร์ Stonewall Inn เกิดการขัดขืนและเหตุจลาจลลุกลามอยู่หลายวัน จากเหตุการณ์คราวนั้น ส่งผลให้ผู้ชุมนุมหลายพันคนมารวมตัวกันในเวลาอันรวดเร็ว และก่อเป็นกระแสเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนรักเพศเดียวกัน ผ่านการเดินขบวนพาเหรด ในชื่อ “Pride Parade” ที่ต่อมาถูกกำหนดให้จัดในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองพาเหรดของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ

| ผลสำรวจส่วนใหญ่ กลุ่มเพศทางเลือกมักโดนรังแกสูง

เมื่อเราได้ลองค้นหาข้อมูลสำรวจเกี่ยวกับชาว LGBTQ ก็ต้องตกใจ เมื่อพบว่าโพลสำรวจส่วนใหญ่ กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ มักโดนรังแก ไม่ว่าจะเยาวชนหรือเป็นผู้ใหญ่ และพวกเขาเลือกที่จะแก้ปัญหาโดยการไม่พูดถึงมันดีกว่า รวมถึงมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายตามมาอีกด้วย

ในประเทศไทย จากงานวิจัยปีค.ศ. 2014 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับองค์กรแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล และยูเนสโก พบว่า

56% โดนรังแกเมื่อเปิดเผยตัวเองว่าเป็นชาว LGBTQ, 36% ถูกกระทำทางสังคม, 31% เคยโดนทำร้ายร่างกาย, 29% ถูกกระทำทางวาจา และ 26% ถูกละเมิดทางเพศ

นักเรียนส่วนมากเลือกที่จะไม่บอกให้ใครรู้ เพราะคิดว่าไม่มีใครสามารถช่วยอะไรได้ ข้อมูลที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มคนอีก 7% พยายามฆ่าตัวตาย”

บินข้ามมาที่ฝั่งอเมริกา ผลสำรวจคนทำงานที่เปิดเผยตัวว่าเป็นชาว LGBTQ จากแฮร์ริสโพล ค.ศ. 2017 พบว่า 56% มักถูกรังแกซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ ในออฟฟิศ, 41% ถึงขั้นต้องลาออกจากงานเพราะทนถูกรังแกไม่ไหว และเมื่อเกิดการกลั่นแกล้ง คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่บอกความจริงกับ HR โดยส่วนใหญ่พบว่าโดนรังแกจากคนที่มีอายุมากกว่า ถูกใส่ร้ายในสิ่งที่เจ้าตัวไม่ได้ทำ รองลงมาคือเพิกเฉย ไม่ยอมรับเข้าสังคมด้วย และหนักสุดถึงขั้นถูกข่มขืน

ย้ายมาที่ประเทศอินโดนีเซีย ค.ศ. 2018 ผลสำรวจจากหน่วยวิจัยไซฟุลมุลจาดี (SMRC) พบว่า 88% จากผู้ตอบทั้งหมด 1,200 คน มีความคิดว่าชาว LGBTQ คือภัยคุกคาม และอีก 82% มองว่าพวกเขาขัดต่อหลักศาสนา เพราะคนอินโดส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชินกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และยังมีความเชื่อว่า พวกเขายังมีความผิดปกติทางจิตอยู่ หรือที่เรียกว่า Mental Disorder

จากผลสำรวจทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม หรืออยู่ในประเทศที่เราคิดว่าเปิดกว้างความหลากหลายทางเพศแล้ว ก็ยังคงเจอปัญหาถูกรักแกอยู่ดี แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครหาทางแก้ไข เพราะอย่างประเทศสกอตแลนด์ก็ได้เพิ่ม “หลักสูตร LGBTQ” เพื่อสร้างความเข้าใจและแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางเพศในสังคมแล้ว

| สกอตแลนด์ ประเทศแรกในโลกที่เพิ่มหลักสูตร LGBTQ”

เมื่อพูดถึงประเทศสกอตแลนด์ คงรู้กันดีว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศอีกประเทศหนึ่งในโลก แต่ก่อนจะมีวันนี้ ก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ถูกปิดกั้นจากสังคมเหมือนกัน จากโพลสำรวจพบว่า 9 ใน 10 ของนักเรียน LGBTQ เคยเผชิญหน้ากับความเกลียดชังจากคนรอบข้าง (Homophobia) และอีก 27% บอกว่าเคยพยายามฆ่าตัวตายหลังจากถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน

หลังจากเห็นผลการสำรวจ ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการสกอตแลนด์ เพิ่ม “หลักสูตรความหลากหลายทางเพศ” เพื่อให้นักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนๆ สามารถค้นพบตัวตนของตัวเอง โดยไม่มีความเกลียดชังเป็นกำแพงปิดกั้น และเข้าใจความหลากหลายทางเพศ ลดอคติต่อคนที่ไม่ใช่เพียงแค่เพศชายหญิง ด้าน Jordan Daly จากกลุ่ม Time For Inclusive Education Campaign ซึ่งเป็นคนผลักดันรัฐบาลให้เกิดนโยบายเพิ่มหลักสูตร LGBTQ ขึ้นมาในสกอตแลนด์และรัฐบาลเซย์เยสที่จะเพิ่มหลักสูตรนี้ กล่าวว่า

“เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์สำหรับประเทศเราที่มีหลักสูตร LGBTQ ทั่วทุกโรงเรียนของรัฐเป็นที่แรกของโลก ในช่วงเวลาที่โลกเรายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ นี่คือการส่งข้อความออกไปว่า ชาว LGBTQ ทุกคนล้วนมีคุณค่าในสกอตแลนด์ ”

ซึ่งในหลักสูตร LGBTQ ของสกอตแลนด์จะพูดถึง

  • การสอนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ
  • การยอมรับสิทธิและปกป้องสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ
  • คำศัพท์เฉพาะทาง อัตลักษณ์ ของความหลากหลายทางเพศ
  • ปัญหาเรื่อง โฮโมโฟเบีย (Homophobia) การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน
  • อคติต่อสังคม ความไม่เท่าเทียมต่อ LGBTQ
  • เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ

นอกจากนี้ ยังมีการฝึกสอนอาจารย์ และสร้างสื่อการสอนใหม่ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับ LGBTQ ด้วย โดยคาดว่าหลักสูตรนี้จะเริ่มต้นที่โรงเรียนรัฐบาลใน ค.ศ. 2021

ไม่ได้มีเพียงแค่สกอตแลนด์เท่านั้นที่เริ่มใส่หลักสูตร LGBTQ ในห้องเรียน ยังมีอีกหลายประเทศที่เริ่มแทรกบทเรียนเกี่ยวกับ LGBTQ เข้าไปด้วย อย่าง รัฐแคลิฟอร์เนียในอเมริกา

เมื่อเราเข้าสู่ชั้น ป.2 เราจะได้เริ่มเรียนรู้พื้นฐานถึงเรื่องความหลากหลายจากครอบครัวก่อน เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาจากครอบครัวของเรา อย่างครอบครัวที่มีหลายเชื้อชาติ ครอบครัวที่ถูกอพยพ หรือ ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น

ป.4 เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิและเรื่องกฎหมาย การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ หรือการต่อสู้ทางกฎหมายของกลุ่มรักร่วมเพศในแคลิฟอร์เนีย พอถึงมัธยมปลายจะเริ่มเรียนลึกขึ้นเกี่ยวกับบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่กล้าเปิดเผยตัวตน เพื่อต่อสู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งต่อไปมีแพลนจะนำเรื่อง LGBTQ สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.2

ย้ายมาฝั่งเอเชียบ้านเรา ในย่านชินจูกุ, เมืองโตเกียว เริ่มต้นจากการเปิดสถาบันสอนความเป็นผู้หญิงให้กับชาวกลุ่ม LGBTQ ที่มีเพศสภาพเป็นชายแต่มีใจใฝ่ฝันอยากเป็นผู้หญิง ชื่อหลักสูตรว่า “โอโตเมะจูคุ” โดยในห้องเรียนจะแบ่งเป็น 3 คลาส เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ท่าทางของผู้หญิง, คอร์สแต่งหน้าแต่งตัว และการฝึกพูดโทนเสียงผู้หญิง โดยเจ้าของสถาบันได้จัดตั้งสถาบันเพื่อเป็นกระบอกเสียงของชาว LGBTQ และสร้างความมั่นใจของผู้ชายที่อยากแต่งเป็นหญิงอย่างมั่นใจ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่รัฐเริ่มผลักดันหลักสูตร LGBTQ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวลส์, ไอร์แลนด์ และ สหราชอาณาจักร ที่พิจารณาเพิ่มหรือปรับปรุงเนื้อหาใส่ประเด็นเกี่ยวกับ LGBTQ เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นความตั้งใจในการเพิ่มหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพื่อหวังจะให้ทุกคนเข้าใจ เคารพ และสร้างความเท่าเทียมกับทุกคนซึ่งกันและกันมากขึ้น เริ่มจะกระจายออกไปในวงการ

แต่ก็มีบางความเห็นมองว่า การสอนหลักสูตรที่เจาะจงความเป็น LGBTQ จะทำให้ดูแบ่งแยกพวกเขาไปหรือเปล่า หรือเป็นการตีกรอบมากเกินไปหรือไม่ แล้วผู้อ่านคิดอย่างไรกัน ?

SOURCE :

https://www.dek-d.com/studyabroad/48958/
https://www.online-station.net/movie/view/103462
http://press.careerbuilder.com/2017-10-19-Two-in-Five-LGBT-Workers-Feel-Bullied-at-Work-According-to-Recent-CareerBuilder-Survey
 https://prachatai.com/journal/2018/11/79831

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.