Loreto Bay Village ชุมชนยั่งยืน - Urban Creature

City in Focus ครั้งนี้จะพาไปแถบทวีปอเมริกาเหนือกันบ้าง กับประเทศเม็กซิโก ท่ามกลางภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งภูเขา ทะเล ทะเลทราย ไปจนถึงการเจริญเติบโตของการท่องเที่ยว และสถานที่นั้นคือ ‘Loreto Bay’ ชุมชนที่พยายามขับเคลื่อนแนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้วยการเริ่มหันมาทดลองใช้พลังงานหมุนเวียน ฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่ให้ไม่ถูกทำลายจากการท่องเที่ยว และหันกลับมาให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในพื้นที่ด้วย เรื่องราวของชุมชนนี้จะเป็นอย่างไรไปตามไปดูกัน

| Focusing on Loreto Bay Village

‘Loreto Bay Village’ คือชุมชนต้นแบบของการอยู่อาศัยที่ผู้คนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่าวโลเรโต (Loreto Bay) บนพื้นที่ 8,000 เอเคอร์ ท่ามกลางความเจริญเติบโตของการท่องเที่ยวและรีสอร์ตมากมาย เดิมอ่าวแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านชาวประมงมาก่อน และยังเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ที่สวยงามและมีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์มากๆ ด้วย และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต่อมาเมื่อความเจริญเกิดขึ้น ก็มักตามมาด้วยผู้คนและธุรกิจมากมาย แต่อาจต้องแลกมาด้วยสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ผู้คนท้องถิ่นที่ต้องอพยพ และร่องรอยของประวัติศาสตร์อาจหายไปจนอาจไม่หลงเหลือให้คนรุ่นต่อไปอีกแล้ว

นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่จะพัฒนาชุมชนด้วยผลลัพธ์ที่ว่า ‘เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะไม่ขัดแย้งกัน’ ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชน ภาครัฐ และเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการนำเรื่องของพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ลดการสร้างขยะและมลพิษต่างๆ ไปจนถึงสร้างโอกาสให้คนในท้องถิ่นมีรายได้ นอกจากนั้นยังตั้งกฎสำหรับผู้ประกอบการที่สร้างที่พักอาศัยในพื้นที่ ต้องคืนกำไรจากการขายแต่ละครั้งผ่านการบริจาคให้กับมูลนิธิ ‘Loreto Bay’ เพื่อนำเอาเงินก้อนนี้กลับไปพัฒนาชุมชนโดยรอบ

| Focusing on Green Architecture

นอกจากแนวคิดและความร่วมมือจากทุกฝ่ายแล้ว การออกแบบเมืองก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน สำหรับชุมชน Loreto Bay มีแนวคิดที่ว่า ชุมชนควรได้รับการออกแบบอย่างไม่ใช่เพื่อรถยนต์ แต่ควรทำเพื่อคน และไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการออกแบบควรมุ่งมั่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเรา หรือที่เรียกกันว่า Green Architecture นั่นเอง โดยแนวคิดนี้มาจากสถาปนิกที่ชื่อว่า ‘Ayrie Cunliffe’ ซึ่งจะสังเกตได้จากดีไซน์ของตัวบ้านแต่ละหลังที่มีรายละเอียดคล้ายกัน

เช่น ผนังของตัวอาคารทำมาจากโฟมรีไซเคิลผสมกับคอนกรีต รวมถึงการสร้างหน้าต่างขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการปรับอุณหภูมิทั้งภายนอกและภายในได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่ออากาศในที่อยู่อาศัยนั้นอยู่สบาย ปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศก็จะน้อยลง

หรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะส่วนตัวยังถูกออกแบบให้หลากหลาย และมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่าง โดยในชุมชน Loreto Bay แห่งนี้ ด้านบนของตัวอาคารจะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่พักผ่อน เพื่อให้ได้รับมุมมองจากธรรมชาติและอากาศที่ถ่ายเทสะดวก และยิ่งไปกว่านั้น สีที่ใช้ทาตัวอาคารยังมาจากเม็ดสีซึ่งทำโดยแร่ธาตุออร์แกนิกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย แถมยังมีการปรับผังเมืองให้พื้นที่กับคนเดินถนนมากกว่าใช้รถยนต์ เพราะการที่ผู้คนหันมาใช้การเดินมากขึ้น มลพิษที่เกิดจากการใช้รถยนต์ก็จะน้อยลงไปด้วย ซึ่งในทุกกระบวนการออกแบบมีส่วนช่วยให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ทั้งยังส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

| Focusing on Sustainability

ความยั่งยืนคืออะไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนคิดหาคำตอบอยู่หลายครั้งเหมือนกัน หากมองในมุมของชุมชน Loreto Bay นั้น ความยั่งยืนคือชุมชนที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และการยืนด้วยเองนี้ต้องไม่ทำร้ายผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย โดยภายในชุมชนมีหลากหลายโครงการที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

เช่น การสร้างฟาร์มกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานส่งต่อให้ทั่วบริเวณ Loreto Bay และชุมชนรอบนอก โรงกลั่นน้ำทะเลสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อนำมาใช้อุปโภคและบริโภค ทั้งยังมีศูนย์เกษตรกรรมที่ผลิตผักและผลไม้ออร์แกนิก เพื่อให้ผู้คนในท้องถิ่นได้กินของที่ปลอดภัยจากสารเคมี และสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ด้วย

หรือแม้แต่ในบริเวณที่พักอาศัยจะมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อน โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และที่สำคัญสำหรับเมืองท่องเที่ยวคือเรื่องของการจัดการขยะ ชุมชนก็มีการวางแผนจัดการขยะ และลดปริมาณของขยะให้น้อยลงมากที่สุด เพื่อลดจำนวนมลพิษที่เกิดขึ้น ทั้งยังเตรียมพร้อมเรื่องการจัดการระบบนิเวศชายฝั่งเพื่อให้สิ่งแวดล้อมมีโอกาสได้ฟื้นตัว และชาวประมงท้องถิ่นเองก็สามารถมีวิถีชีวิตปกติได้

| Focusing on Parallel Development

เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามา การพัฒนาก็เริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว บริเวณ Loreto Bay กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและแหล่งลงทุนมากขึ้นเช่นกันเป็นเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา การสร้างชุมชนต้นแบบอย่าง Loreto Bay ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการเจริญเติบโตของธุรกิจ สามารถเดินไปพร้อมๆ กับชุมชนที่ผู้คนท้องถิ่นยังมีวิถีชีวิตของตนเองได้ ทั้งยังมีการสร้างบริษัท Loreto Bay Company ขึ้นมา โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิ Loreto Bay เพื่อพัฒนาโปรแกรมการศึกษา ยกระดับทักษะของคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะ และลดปัญหาการแย่งงานจากคนนอกพื้นที่ รวมถึงคนในท้องถิ่นเองก็มีศักยภาพที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งทำให้คนในท้องถิ่นมีงานทำอย่างมั่นคงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

โดยจากโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน Loreto Bay นั้น นอกจากจะช่วยผู้คนในท้องถิ่นให้มีชีวิตและการเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ยังมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมด้วยการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน้อยปีละ 140,000 ตัน และการวางผังเมืองที่ลดการใช้รถยนต์สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 11,400 ตันต่อปี แถมการเริ่มใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 11.4 กิกะวัตต์ต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนแห่งนี้ถูกยกย่อง ว่ามีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือเลยล่ะ


Sources :
Alliance for Regeneration | bit.ly/2Uv6NEO
CNU | bit.ly/3e2a46g
Terrain.org | bit.ly/2MJJB1l
ThoughtCo | bit.ly/2B0hW9K
TSD | https://bit.ly/3hgDAHt

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.