ย้อนกลับไปเมื่อ 4 – 5 ปีก่อน สมัยยังเป็นนักศึกษาคณะนิเทศฯ ทำให้กลุ่มคนที่วนเวียนอยู่รอบตัวล้วนแล้วแต่เป็นคอหนังด้วยกันทั้งสิ้น จำได้ว่าถึงจะเรียนอยู่เชียงใหม่ จังหวัดใหญ่แห่งเมืองเหนือ แต่ก็ไม่วายที่หนังใหญ่บางเรื่องจะไม่เข้าฉาย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้เหตุผลเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร
นอกจากเสียงบ่นของเพื่อนพ้องน้องพี่แล้ว อีกหนึ่งความไม่พอใจที่เห็นกันชัดๆ คือในเฟซบุ๊กมีเพจเรียกร้องให้เอาหนังมาฉายที่จังหวัดตัวเองผุดขึ้นเต็มไปหมด ไม่ต่างกับที่หาดใหญ่ซึ่ง ต้น–พรชัย เจียรวณิช ในฐานะคนรักหนัง ก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่าทำไมภาพยนตร์บางเรื่องที่ดังระดับประเทศ แถมยังเป็นหนังระดับฮอลลีวูดที่หากเปิดให้เข้าชมในโรงฯ คนดูก็ไม่โหรงเหรงแน่ๆ แต่ทำไมคนต่างจังหวัดกลับไม่มีสิทธิ์ได้ดู
เรื่องนี้ฉายเหอะ…คนต่างจังหวัดอยากดู
ต้นเล่าให้ฟังว่าภาพยนตร์ที่จะฉายในหาดใหญ่ถูกสกรีนด้วย ‘สายหนัง’ (ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์) ที่จะคัดเลือกหนังที่มีแนวโน้มจะทำรายได้ดีเข้ามาฉายในพื้นที่ แต่บางทีก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมภาพยนตร์อย่าง Sing Street ที่เป็นหนังแมส คนอยากดูก็เยอะทำไมไม่เข้าโรงภาพยนตร์ที่หาดใหญ่ ด้วยความเก็บกดก็เลยเปิดเพจชื่อ ‘เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู’ เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงออก
ก่อนจะพบว่ามีกลุ่มคนที่อัดอั้นตันใจอยู่ไม่น้อย จึงเข้าไปคุยกับโรงภาพยนตร์เพื่อหาทางออกร่วมกัน
“ทีแรกเขาบอกว่าให้ไปรวมกลุ่มกันมาว่ามีคนดูกี่คน แต่เราส่งตัวเลขไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ก็เลยมองไปที่การเช่าเหมาโรงฯ แล้วไปดีลกับค่ายหนังแทน ทีนี้เราก็เป็นเหมือนคนจัดฉายหนัง ลองหาดูว่าเรื่องไหนมีศักยภาพที่จะดึงคนมาดูแล้วเราไม่เจ็บหนักมากกับราคาเหมาโรงฯ ที่สองหมื่นบาท บางเรื่องก็คัฟเวอร์ บางเรื่องก็เข้าตัว แต่อย่างน้อยก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนเข้าถึงหนังได้
“แต่ปัญหาคือดีลกับโรงหนังแต่ละครั้ง กลายเป็นต้องเริ่มใหม่ทุกรอบ เพราะคนที่รับเรื่องเป็นคนละคน แถมราคาที่เสนอมาก็ไม่เท่ากัน เลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง”
เมื่อผิดหวังกับระบบของโรงภาพยนตร์ และหวังจะสร้างคอมมูนิตี้ของคนรักหนังในหาดใหญ่ ต้นจึงตระเวนออกไปฉายภาพยนตร์ตามโคเวิร์กกิ้งสเปซ และเชิญสปีกเกอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับหนังแต่ละเรื่องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ชม
แต่การเช่าสถานที่ในรูปแบบนี้ก็ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดอยู่ดี เช่นมีเวลาไม่เพียงพอสำหรับวงเสวนาในตอนท้าย ทำให้ขาดอรรถรสในการพูดคุย หรือปัญหาจุกจิกต่างๆ เมื่อผ่านมาได้ราว 5 ปี นักฉายหนังอิสระจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีที่ทางเป็นหลักเป็นแหล่งเสียที
Lorem Ipsum กับหนังทางเลือกในหาดใหญ่
ริมถนนนิพัทธ์อุทิศของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในอดีตเคยเฟื่องฟูและเป็นย่านการค้า แต่ปัจจุบันกลับซบเซาลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ ท่ามกลางอาคารพาณิชย์เก่าแก่จะมีห้องแถวห้องหนึ่งที่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยกลิ่นกาแฟ เสียงเพลงคลอเบาๆ และดาราฮอลลีวูดที่ส่งสายตามาทักทายจากโปสเตอร์ภาพยนตร์สุดคลาสสิก
“เราคิดไว้นานแล้วว่าอยากมีพื้นที่เป็นของตัวเอง จนเริ่มรู้จักกับกลุ่มคนที่มาดูหนัง บางคนทำขนมได้ อีกคนหนึ่งเป็นสถาปนิกที่เล็งตึกเก่าบนถนนสายประวัติศาสตร์ของเมืองที่อยากปลุกให้กลับมาคึกคักอีกครั้งไว้อยู่แล้ว ก็ถือเป็นจังหวะที่ลงตัวพอดี เพราะถ้าจะเช่าตึกไว้ฉายหนังอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้แน่ เราก็อยากให้มีอะไรที่คอยหล่อเลี้ยงจนมาลงตัวที่คาเฟ่นี่แหละ”
กลิ่นอายของคนรักหนังที่อยู่ในคาเฟ่บริเวณชั้นหนึ่งอบอวลมากขึ้นไปอีกเมื่อก้าวมาที่ชั้นสอง บริเวณของห้องฉายภาพยนตร์ กับจอฉายโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ และเก้าอี้ราวยี่สิบตัวตั้งอยู่เรียงราย เชื้อเชิญให้เอนหลังสักสองชั่วโมงและผ่อนคลายไปกับหนังดีๆ สักเรื่องหนึ่ง
“แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่เราก็ให้ความสำคัญกับอุปกรณ์เหมือนกัน พอทำเอง ภาพและเสียงก็อยากให้ดีระดับหนึ่งแม้ราคาจะไม่ถึงหลักแสน แต่อย่างน้อยดูแล้วต้องได้อรรถรส ตัวจอก็ขึ้นโครงเองทำใหม่ทั้งหมด อย่างน้อยถ้าพื้นที่โอเค อาจจะดึงคนที่อยากเสพประสบการณ์ดูหนังอีกแบบมาลองได้”
ภาพจำของโรงหนังอิสระมักจะมาคู่กับภาพยนตร์นอกกระแส หรือบางคนอาจจะคิดว่าฉายหนังตามใจเจ้าของด้วยซ้ำ เหมือนเจ้าของบาร์ที่ชอบฟังเพลงแนวไหนก็อยากเปิดร้านแนวนั้น แต่ความจริงแล้วรายละเอียดค่อนข้างวุ่นวาย ไม่สามารถทำตามใจได้ทุกอย่างเสมอไป
“เราไม่ได้อยากจำกัดประเภท แต่ภาพยนตร์บางเรื่องก็เอามาฉายไม่ได้ คิดดูว่าค่ายใหญ่ซื้อหนังมาแล้วเราเป็นใครที่จะไปขอมาฉาย หนังบางเรื่องก็มีสัญญาระบุไว้ว่าให้ฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ซึ่งที่นี่ก็ไม่ใช่อีก
“ในขณะที่บางกลุ่มยินดีมากที่จะให้เราเอาหนังมาฉาย อย่างภาพยนตร์ที่ Documentary Club ทำสัญญาไว้ ก็มาฉายที่นี่บ่อยเหมือนกัน เพราะเขาอยากให้หนังกระจายไปทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่มีข้อแม้ว่าต้องเก็บเงินค่าตั๋วเพราะอยากให้หนังมีมูลค่า ไม่ต้องเก็บแพงถึงขนาดไปดูในโรงก็ได้ ซึ่งเราทำอยู่แล้ว หรือบางทีอยากฉายเรื่องไหนก็คุยกับผู้กำกับโดยตรงเลย”
อีกหนึ่งจุดเด่นของ Lorem Ipsum ที่มีมาตลอดตั้งแต่จัดฉายตามโคเวิร์กกิ้งสเปซ คือการเปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนหลังภาพยนตร์รูดม่าน ซึ่งบางครั้งผู้กำกับที่เราไปขอหนังมาฉายก็ร่วมแจมด้วยตัวเอง ถ้ามีโอกาสและเวลาเหมาะสม
“รอบไหนผู้กำกับมาเองคนดูก็จะเยอะเป็นพิเศษ (หัวเราะ) สิ่งสำคัญคือเรามีการแลกเปลี่ยนกันหลังหนังจบ เรื่องที่คุยกันจะไปแตะตัวหนังแค่บางส่วนเท่านั้น และถกกันเรื่องประเด็นสังคมมากกว่า คุณไม่จำเป็นต้องดูหนังเก่งหรือเป็นนักวิจารณ์ก็พูดได้ วัฒนธรรมของที่นี่คือเราตั้งใจฟังทุกคน จะเด็กพูดหรือผู้ใหญ่พูดก็ฟัง
“เราฉายเรื่อง School Town King หนังเกี่ยวกับแรปเปอร์คลองเตย ที่ความฝันถูกกดทับด้วยขนบสังคม รอบนี้มีทั้งเด็กและอาจารย์มาดู พอหนังจบเด็กก็ใส่ใหญ่เลยว่ากฎระเบียบโรงเรียนทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้
“เรารู้สึกว่าพื้นที่นี้มันทำให้คนถอดหัวโขนออกมาอยู่ในระนาบเดียวกัน ถ้าอยู่โรงเรียนคงไม่กล้าถามขนาดนั้น สุดท้ายแล้วนักเรียนก็ได้รู้ว่าอาจารย์ก็อึดอัดกับกฎระเบียบของโรงเรียน แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะตัวเองก็เป็นฟันเฟืองในระบบนั้นเหมือนกัน”
ว่าด้วยความหลากหลาย
ต้นเป็นอีกคนหนึ่งที่เติบโตมาในยุคที่ร้านวิดีโอครองเมือง มีหนังสืบสวนสอบสวนไว้เป็นเพื่อนวัยเด็ก มีหนังขึ้นหิ้งอย่าง Memento ของคริสโตเฟอร์ โนแลน เปิดโลกภาพยนตร์ให้กว้างใหญ่กว่าเดิม
“พอโตมาชอบหนังของฝั่งเอเชีย รู้สึกว่ามีความใกล้ตัวและเข้าถึงได้ง่ายกว่า พอได้มาทำที่นี่ เราอยากสนับสนุนหนังทางเลือก เพราะหนังฮอลลีวูดหรือภาพยนตร์กระแสหลักมีที่ทางของตัวเองอยู่แล้ว บางเรื่องอยู่ทุกโรงทุกเวลา แต่หนังไทยนอกกระแสอยู่ได้แค่สองสามวัน บางทีก็จัดเวลาฉายเป็นรอบกลางวัน โอกาสที่จะได้ดูก็น้อยไปอีก
“เราทำงานด้วยความเชื่อมั่นว่ามีชอยส์ให้เลือก ยังไงก็ดีกว่าไม่มีตัวเลือกอะไรเลย ขอเป็นส่วนหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้คนทำหนังนำผลงานตัวเองออกสู่สายตาผู้ชม แล้วต่อจากนั้นจะตัดสินอย่างไรก็ให้เป็นสิทธิ์ของเขา”
ในฐานะที่เป็นเด็กหาดใหญ่โดยกำเนิดและไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่กรุงเทพฯ ต้นเล่าให้ฟังว่า ความหลากหลายในการเสพศิลปวัฒนธรรมของเมืองกรุงโดดเด่นกว่าบ้านเกิดมาก และความตั้งใจหนึ่งของ Lorem Ipsum คือการผลักดันศิลปะหลากหลายแขนงให้เติบโตขึ้นได้ในหาดใหญ่
“รู้สึกว่าหาดใหญ่มันเฉาและแห้งเหี่ยว ไม่ได้มีอะไรให้เสพเยอะเหมือนที่กรุงเทพฯ เอาแค่หนังที่เข้าโรงก็ไม่เหมือนกันแล้ว ถ้าดูในห้องฉายหนังจะเห็นว่าเก้าอี้เคลื่อนย้ายได้ เพราะเราไม่ได้อยากจำกัดไว้อยู่ที่ภาพยนตร์ แต่เปิดพื้นที่ให้คนทำงานแขนงอื่นด้วย
“เรามาทำตรงนี้ จุดหนึ่งก็รู้สึกอยากมีเพื่อนมาขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมด้วยกัน ถ้าทำให้ถนนสายนี้กลับมาคึกคักเหมือนนิมมานเหมินทร์ของเชียงใหม่ได้ก็คงจะดี
“แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปทำตามใคร เพราะศิลปวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่คุณจะเสกขึ้นมาได้ในสองอาทิตย์ แต่ต้องสร้างรากฐานให้กับพื้นที่ ไม่ใช่เห็นที่ไหนคนไปเช็กอินเยอะก็ก๊อบมา มันไม่ใช่ มันไม่มีราก โผล่มาโดดๆ ไม่มีใครอิน ไม่มีใครเก็ตหรอก”
จุดเริ่มต้นแห่งการส่งต่อ
ใครที่คลุกคลีกับวงการดีไซน์หรือการออกแบบ คงจะมีโอกาสเห็นชื่อ Lorem Ipsum ผ่านตามาไม่มากก็น้อย เพราะเป็นตัวหนังสือจำลองไว้ใช้สำหรับแทนอักษรจริง เพื่อให้ผู้ใช้งานโฟกัสกับงานออกแบบได้อย่างเต็มที่ ต้นอยากทำให้สเปซแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการส่งต่อเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมให้กับคนในพื้นที่
“Lorem Ipsum คือชุดคำจำลองที่จะถูกใช้ในงานอย่าง PowerPoint เวลาสร้างกล่องข้อความจะขึ้นคำว่า Lorem Ipsum ยาวเป็นก้อนๆ มักจะเอามาใช้ในงานดีไซน์ การจัดหน้าหนังสือ หรือฉลากผลิตภัณฑ์ เป็นคำภาษาละตินที่ถูกตัดต่อไม่ให้มีความหมาย
“เราเลือกใช้ชื่อนี้เพราะอยากให้ตัวเองเป็นจุดเริ่มต้น คุณไม่รู้หรอกว่าอนาคตข้างหน้าจะมีเนื้อหาอะไรเข้ามาบ้าง อนาคตข้างหน้าจะเป็นอะไรก็ได้ เราแค่เป็นไอเดีย เป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่กล้าจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ให้เขารู้ว่าอย่างน้อยก็มีกลุ่มคนและพื้นที่ตรงนี้ที่คอยซัปพอร์ตอยู่ เพราะอย่างที่บอกไปว่า เป้าหมายหลักของเราไม่ได้อยากเป็นตัวจริงเรื่องหนัง แต่อยากสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมาต่างหาก”