หาดป่าตองที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวตลอดทั้งวัน ย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และของอร่อย ฝูงปลาที่แหวกว่ายอยู่ในปะการังที่สิมิลัน พระอาทิตย์ตกดินที่แหลมพรหมเทพ หรือเขาตะปูที่เป็นฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ อะไรที่ทำให้นักท่องเที่ยวติดอกติดใจภูเก็ตจนขึ้นชื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับโลกที่มีบทความแนะนำเต็มไปหมด
หันกลับมามองที่ปัจจุบันแม้จะอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นตอนกลางของช่วง High Season คลื่นลมมรสุมไม่มีทีท่าว่าจะกระหน่ำเข้ามา แต่ภูเก็ตกลับไม่มีนักท่องเที่ยวหนาตาอย่างที่เคย ในช่วงที่ธุรกิจกำลังซบเซาหัวเรือใหญ่ของภูเก็ต พัชทรีทัวร์ บริษัทนำเที่ยวที่อยู่คู่ภูเก็ตมากว่ายี่สิบปีอย่างโกดำ-ไชยา ระพือพล กลับเลือกเปลี่ยนหมากบนหน้ากระดาน ด้วยการเปิดตัวเรือนำเที่ยวที่ใช้พลังงานไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ การปฏิวัติวงการในครั้งนี้ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะขอเดินทางข้ามสะพานสารสิน เพื่อเรียนรู้มิติใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ไม่ได้หวังกำไรแต่เอาธรรมชาติเป็นตัวตั้ง
ภูเก็ตในความทรงจำ
ย้อนกลับไปราวๆ 20 ปีที่แล้ว อาชีพแรกของโกดำหลังข้ามทะเลมาที่ภูเก็ตคือการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์คาเดีย รีสอร์ต แอนด์ สปา โรงแรมเก่าแก่ที่มีวิวทะเลเป็นหาดกะรน อะคาเดมีที่ฝึกปรือวิชาให้ลูกชาวสวนที่มีปริญญาประดับตัวอย่างโกดำเรียนรู้สารพันวิชาในธุรกิจท่องเที่ยวก่อนจะลงจากเขาเหลียงซาน และเริ่มก้าวแรกในฐานะเจ้าของกิจการ
“แต่ก่อนเป็นลูกชาวสวน มาจากกระบี่แบบไม่มีอะไรเลย มีแต่ความรู้ พอมาที่นี่ก็ได้โอกาสได้ฝึกทำอะไรหลายอย่าง พัชทรีทัวร์คือที่ทำงานที่ที่สอง ช่วงแรกเมื่อประมาณสักยี่สิบปีที่แล้วก็เช่าเรือแคนูมาทำทัวร์ล่องเรือ ผมชอบทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติหรือการอนุรักษ์ หัวใจเราเป็นอย่างนี้”
เพราะมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร แถมยังงดงามไปทั่วทุกตารางนิ้ว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของภูเก็ตเป็นที่หมายปองของใครต่อหลายคน ยิ่งจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากเท่าไหร่ ธุรกิจก็ยิ่งเฟื่องฟูมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีผลทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเมืองติดอันดับประเทศและสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติ แต่โกดำกลับมองว่า ยิ่งมีปริมาณผู้เล่นในเกมมากเท่าไหร่ และทุกคนสนใจแต่ตัวเลข สิ่งนี้ย่อมไม่ใช่การแข่งขันที่ยั่งยืน รวมถึงธรรมชาติที่เคยงดงามได้เสียหายลงไปทุกวัน
“เราไม่ได้แข่งกันให้มันดีขึ้น เราแข่งกันให้มันเลวลง เหมือนเรามีเค้กก้อนหนึ่ง ถึงจะใหญ่มากๆ แต่พอแย่งกันกินเราก็ตายหมด อย่างช่วงนี้ (เดือนกุมภาพันธ์) ก็เป็นจุดต่ำสุดของคนทำธุรกิจแล้ว ผมพูดมาตั้งแต่สมัยเป็นนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอันดามันแล้วว่าทำไมเราไม่จับมือกัน
“ทำไมเราต้องแย่งกันกิน ทำไมถึงไม่ทำแค่พอดี ไม่ต้องเป็นเจ้าใหญ่ที่สุด หรือทำให้คนอื่นตายเพื่อที่ตัวเองจะอยู่ได้ ผมเคยพูดกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวว่าอย่าเน้นปริมาณ ไม่ว่าทำอะไรก็ตามขอให้มีคุณภาพ อย่าไปทำแบบวันต่อวัน คุณไม่ได้มองเลยว่าอีกห้าปีข้างหน้าจะเป็นแบบไหน”
ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้ภูเก็ตเปลี่ยนสถานะจากจังหวัดที่ไม่เคยหลับใหลกลายเป็นเงียบเหงา ธุรกิจท่องเที่ยวรับผลกระทบไปเต็มๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้าหมอง แต่ในฐานะหัวเรือใหญ่ โกดำถือโอกาสนี้เริ่มต้นเปลี่ยนหมากบนกระดานของภูเก็ต พัชทรีทัวร์ เพราะมองไปไกลกว่าสมรภูมิท่องเที่ยวที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวนำ แล้วคิดตามว่าจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกิดขึ้นได้จริง
“การท่องเที่ยวแบบอีโค่จะเกิดขึ้นได้ยังไงถ้าเรือยังใช้น้ำมันอยู่ คิดถึงตอนเข้าไปในถ้ำในอ่าวพังงาที่ธรรมชาติมันสวยมาก แต่เราไปใช้เรือน้ำมันเร่งเครื่องทีหนึ่ง บรึ้นๆๆ ผมว่ามันไม่ใช่การทำธุรกิจแบบอนุรักษ์ที่แท้จริง เราเคยใช้น้ำมันมาก่อนแต่ผมเห็นว่ามันไม่ได้แล้ว อย่างแรกเลย คุณเสียเงินค่าน้ำมันมหาศาล และมากไปกว่านั้นคือธรรมชาติ”
โลกสวย เพราะอยากให้ธรรมชาติสวยตาม
ด้วยความอึดอัดและความผูกพันกับธรรมชาติเป็นทุนเดิม โกดำมองว่าภูเก็ตต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ‘เรือนำเที่ยวไฟฟ้า’ คือคำตอบที่เข้ามาได้ตรงใจนายหัวแดนใต้พอดิบพอดี โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภูเก็ต พัชทรีทัวร์ ได้ร่วมกับบ้านปู เน็กซ์ และสกุลฎ์ซีนำเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าทางทะเลลำแรกของไทยมาให้บริการนักท่องเที่ยวในเส้นทางภูเก็ต-พังงา
ข้อดีของเรือไฟฟ้านอกจากเปิดประสบการณ์ใหม่แล้ว ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เป็นรายแรกคือ ธรรมชาติ เพราะเรือไฟฟ้าไม่สร้างมลพิษทางอากาศ เดินเครื่องอย่างเงียบเชียบไม่มีเสียงรบกวน หรือทิ้งคราบน้ำมันไว้ข้างหลังเหมือนเรือที่ใช้เครื่องยนต์แบบเดิม เรียกได้ว่าหันไปทางไหนก็เจอข้อดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับธรรมชาติภูเก็ตที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดตัวเลขทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล แต่ก็ยังไม่วายมีเสียงค่อนขอดตามมา
“การเป็นคนแรกมันยาก ยากที่สุดแต่ภูมิใจที่สุด ผมโดนด่าเพราะเขาคิดว่ามาเปลี่ยนอีกแล้ว ทั้งที่ทำกับเรือของตัวเอง แต่มันไปกระทบคนอื่น (ยิ้ม) แต่โดนด่าก็ดีนะ เพราะแปลว่าสนใจในสิ่งที่เราทำ และวันหนึ่งก็จะถึงตาที่เขาจะต้องกลับไปเปลี่ยนตัวเอง ปรัชญาของโกดำคือคิดแล้วต้องทำ เชื่อว่าในอนาคตอย่างไรโลกต้องเปลี่ยน ถ้ายังอยู่แบบนี้ประเทศก็จะเสีย น้ำก็จะเสีย เสียทั้งหมด”
หัวเรือใหญ่แห่งภูเก็ต พัชทรีทัวร์เล่าต่อไปด้วยความภาคภูมิใจว่า ตอนนี้มีผู้ประกอบการหลายคนหันมาให้ความสนใจเรือไฟฟ้า อย่างช่วงกลางเดือนมีนาคมหากไปเดินเล่นที่นครศรีธรรมราชก็จะมีโอกาสไปดินเนอร์ท่ามกลางพระอาทิตย์ตกดินที่อ่าวไทยบนเรือไฟฟ้า แต่หากมองไปไกลกว่านั้นสักห้าปี อาจจะเห็นสปีดโบ๊ตที่ภูเก็ตแล่นชนคลื่นลมพานักท่องเที่ยวชมธรรมชาติด้วยพลังงานสะอาดก็เป็นได้
“เชื่อว่าอีกห้าปี มีความเป็นไปได้ที่เรือเร็วของภูเก็ตจะเป็นไฟฟ้าหมดแล้ว อะไรก็ต้องเป็นไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด เรือหางยาวไฟฟ้าสำหรับชาวประมงผมก็เตรียมไว้เรียบร้อยหมดแล้ว อยากให้ภูเก็ตเป็นต้นแบบเรื่องยานพาหนะไฟฟ้าของทั้งประเทศ
“เขาว่าโกดำเพี้ยน โลกสวย ทำแบบนี้ได้เพราะมีตังค์ (ยิ้ม) การวิพากษ์วิจารณ์มันเกิดได้ทุกสถานที่ ถ้าผมฟังก็เป็นทุกข์ แต่ผมไม่โกรธ ถ้าแนะนำหรือติเพื่อก่ออันนี้ยอมรับนะ ทันทีเลยด้วย แต่ถ้าเอาแต่จะด่ากันผมเฉยๆ จะทำไปเรื่อยๆ ให้ดูว่าทำวันนี้อีกสามปีห้าปี สิ่งที่ทำกันอยู่มันเกิดแน่ เพราะอยากให้โลกสวยไงถึงได้ทำแบบนี้”
จะไปให้ไกล ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากคิดแล้วทำทันที อีกหนึ่งปรัชญาประจำใจของโกดำคือจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และภูเก็ต พัชทรีทัวร์ไม่ได้มองเรือไฟฟ้าในเชิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอยากให้กระจายไปถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย
“ก่อนหน้านี้เราทำทัวร์โดยอาศัยเรือของชุมชนด้วย ทีนี้พอเราเปลี่ยนเป็นเรือไฟฟ้าก็ยังอยากให้พวกเขามาด้วยกัน บางคนสงสัยว่าแล้วชาวบ้านธรรมดาจะเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้าได้ไหม ผมว่าเปลี่ยนได้และเตรียมการไว้หมดแล้ว บางทีของแบบนี้มันอยู่ที่วิธีคิด จะดีกว่าไหมถ้าเอาเงินที่จ่ายค่าน้ำมันมาซื้อไฟฟ้าแทน
“ยกตัวอย่างให้ฟังว่าเรือไฟฟ้าลำนี้ขนาดบรรทุกเก้าสิบคน แค่ลำเดียว จากเดิมที่ใช้น้ำมันสามร้อยลิตรต่อวัน เหลือชาร์จไปต่อวันแค่หนึ่งพันห้าร้อยบาท ต้องยอมรับว่าการลงทุนครั้งแรกมันหนัก แต่ก็หนักเพื่ออนาคตที่ไม่ต้องลงทุนอีกเลย และสิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่ความประหยัด แต่ได้สิ่งแวดล้อมด้วย ที่จริงคนในชุมชนอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่แล้ว จากที่ได้สัมผัสบอกเลยว่าชาวบ้านแถวนี้คือสุดยอดของมนุษย์ ถ้าจับปูจับปลาตัวเล็กที่ไม่ได้ขนาดเขาปล่อยกลับทะเลนะ นี่คือหัวใจของเขา”
แม้จะเป็นวันที่แสงแดดแผดแรงกล้า แต่ก็มีลมทะเลที่หอบเอาความเย็นสบายมาฝากเป็นระยะ เคียงคู่ไปกับคลื่นที่ซัดชายฝั่งอย่างทะนุถนอมและเหมาะกับการออกเรือเป็นอย่างยิ่ง แต่ท่าเรืออ่าวปอเวลานี้กลับเงียบเหงาไม่ต่างจากหาดป่าตอง หรือแหลมพรหมเทพที่กำลังเฝ้ารอเวลาให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของธุรกิจท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ หัวเรือใหญ่อย่างโกดำบอกว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาของการถ้อยทีถ้อยอาศัย และห้ามหวังกำไรเด็ดขาด
“ท่าเรืออ่าวปอมีเรือจอดอยู่ประมาณร้อยกว่าลำจากยี่สิบแปดบริษัท พอช่วงโควิดเราไม่เอาอะไรเลยนะ ให้จอดได้เลย ผมถือว่าเขาเจ็บอยู่แล้ว อย่าไปทำอะไรให้เจ็บเพิ่ม มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน แต่ก่อนรายได้จากท่าเรืออ่าวปอบริจาคให้ชุมชนทุกปี สิบเปอร์เซ็นต์หลังหักจากกำไรคืนให้กับชุมชน ถือว่าชุมชนสร้างผมขึ้นมา ก็ต้องตอบแทนกลับไป แต่ช่วงโควิดไม่ได้บริจาค (หัวเราะ) เพราะไม่มีรายได้เหมือนกัน
“ที่จริงในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาบนท่าเรือนี้จะต้องมีฟู้ดทรักมาขายอาหารประมาณหกสิบคัน ผมจะเปิดให้คนมาตั้งขายของในวันศุกร์-อาทิตย์ ตอนนี้ทำไม่ได้เพราะเกิดโควิด แต่เปิดเมืองเมื่อไหร่ก็คอยดูได้เลย รถอาหารทุกคันต้องมาจอดที่นี่ ให้คนมาเดินชมท่าเรือได้กินของดีๆ ที่คนในชุมชนที่แหละเป็นคนขาย ผมไม่ได้ต้องการรวย แต่อยากให้ภูเก็ตพัฒนาขึ้น แม้จะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สักวันต้องตอบแทนเรากลับมาอยู่แล้ว แต่เรื่องเงินต้องมาทีหลัง” โกดำกล่าวอย่างแน่วแน่
ถ้าจะมาต้องอนุรักษ์ ถ้ามาแล้วทำลายไม่ต้องมา
เมื่อดำเนินธุรกิจแบบยึดเอาสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง และมีภารกิจหลักเป็นการอนุรักษ์ ไม่ใช่สร้างกำไร โกดำบอกเต็มเสียงว่า คนที่จะมาภูเก็ตต้องมาเพื่ออนุรักษ์ ไม่ใช่มาเพื่อทำลาย
“มองสิ่งแวดล้อมก่อน ถ้าสิ่งแวดล้อมดีนักท่องเที่ยวก็จะเข้ามาและเงินก็จะตามมาด้วย แต่ว่าเรื่องธรรมชาติอย่าไปโทษนักท่องเที่ยว ไปเขียนได้เลยว่าสิ่งที่ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมีปัญหามาจากผู้ประกอบการทั้งนั้น แทนที่จะเอาสิ่งดีๆ ออกมานำเสนอ เล่นเอาของราคาร้อยยี่สิบไปขายพันสอง แล้วเอาเงินส่วนต่างมาใส่กระเป๋า พอมีปัญหาขึ้นมาทีหนึ่งผู้ใหญ่ทุกคนไปโทษไปว่านักท่องเที่ยว ทั้งที่จริงเขาไม่เกี่ยว ไม่ได้รู้เรื่องเลย
“ผมบอกนักท่องเที่ยวเลยว่าเราจะไม่หลอกคุณเด็ดขาด (เสียงแข็ง) แต่คุณต้องรักธรรมชาตินะ ไม่งั้นไม่เอาด้วย ผมไม่รับคุณ เราจะเป็นคนเลือกลูกค้า ไม่ใช่ให้เขามาเลือก”
โกดำย้อนความให้ฟังว่า ในอดีตภูเก็ต พัชทรีทัวร์ก็เคยตกไปอยู่ในบ่วงของการทำทัวร์ที่เน้นปริมาณเหมือนกัน แต่ปัจจุบันเห็นแล้วว่าแนวทางนั้นไม่เวิร์ก ไม่ยั่งยืนทั้งกับธรรมชาติและธุรกิจ พร้อมประกาศจุดยืนชัดเจนว่าตนเองจะแข่งขันด้วยคุณภาพเท่านั้น
“ไม่แข่งเรื่องราคากับใคร จะแข่งด้วยคุณภาพ มีคนเคยคิดว่าผมเป็นมาเฟียพังงา (หัวเราะ) เพราะเขาเห็นว่ามีทัวร์มาลงวันละหกร้อยเจ็ดร้อยคน ถึงตอนนั้นจะมีความสุขแต่มันไม่ยั่งยืน หลังจากนี้ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาวันละร้อยห้าสิบถึงสองร้อยคน ก็โอเคแล้ว ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะกว่านั้นก็กระจายออกให้บริษัทอื่น ผมพูดเสมอว่าทุกคนต้องได้ แต่คุณต้องทำให้มีคุณภาพเหมือนเรา เรือต้องเป็นไฟฟ้าแล้วราคาห้ามตัดกันเด็ดขาด
“ถามว่าถ้ามีเงินแต่เห็นต่างกันแล้วมาขอซื้อเรือไฟฟ้าสักสิบลำ พูดตรงๆ ว่าไม่ขายให้ คุณต้องรักทะเล รักธรรมชาติ อย่ารักเงินอย่างเดียว ถ้ารวยแล้วทำให้คนอื่นพัง ธรรมชาติพัง ผมไม่เอาด้วย”
เดินหน้ารักษาทะเลไทย
ถึงจะลงหลักปักฐานอยู่ที่ภูเก็ต แต่โกดำมองไปไกลกว่าสิมิลัน หรืออ่าวพังงา เขาอยากให้ท้องทะเลทั้งอันดามันและอ่าวไทยเต็มไปด้วยพลังงานสะอาดจากเรือไฟฟ้า โดยขอเริ่มต้นจากท่าเรืออ่าวปอ เพื่อเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับทุกคน
“ต่อไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างน้อยในห้าปีข้างหน้าเรืออีกสองร้อยลำของภูเก็ต พัชทรีทัวร์จะกลายเป็นเรือไฟฟ้าทั้งหมด เรือยนต์แถบนี้มีทั้งหมดสองพันกว่าลำ ขอให้เปลี่ยนได้สิบเปอร์เซ็นต์ก็ดีใจแล้ว และไม่แน่ว่าในอนาคตจะกลายเป็นไฟฟ้าฟีเวอร์
“ตอนนี้เราเตรียมเรือไฟฟ้าไปลงที่พังงาแล้วสี่ห้าลำ เพราะเขาสนใจสิ่งแวดล้อมอยากที่จะ Go Green ไปด้วยกัน สิมิลันก็มีคนสนใจเรือไฟฟ้า อันดามันตอนนี้เข้มแข็งมาก สถานีต่อไปคืออ่าวไทย ผมวางแผนจะเอาเรือไฟฟ้าไปเปิดบริการที่อ่าวไทยในไม่กี่เดือนนี้ ทะเลสองฝั่งต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน ความฝันของผมคือเรือไฟฟ้าต้องวิ่งทั่วประเทศไทย
“ผมไม่ได้ทำเพื่อภูเก็ต พังงา หรือว่าสตูล แต่คิดว่าถ้าทั้งประเทศกลายเป็นเรือไฟฟ้า เราจะประหยัดคาร์บอนฯ ไปได้เท่าไหร่ สิ่งนี้ไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้นะ และถ้าทำได้จริงผมจะรู้สึกชื่นใจมากที่ความเพี้ยนจากคนแปลกๆ อย่างเราจะมีประโยชน์ในอนาคต โลกสวยวันนี้ วันข้างหน้าอาจจะซ้วยสวย (หัวเราะ)”
ก่อนจบบทสนทนาและเตรียมตัวเดินทางออกจากท่าเรืออ่าวปอ เราถามโกดำว่า อะไรที่ทำให้หลงรักธรรมชาติ เขาตอบด้วยการย้อนถึงประสบการณ์วัยหนุ่ม
“ผมเคยไปเที่ยวที่เกาะตะเภาใหญ่ตรงข้ามกับท่าเรือน้ำลึกแล้วไปเห็นนกเงือกที่สวยมาก หรือที่เกาะละวะตอนเย็นค้างคาวจะบินออกมาเป็นพันๆ ตัว คุณลองไปนั่งดูของพวกนี้นะ เป็นหนี้สักร้อยล้านก็ลืม เพราะมันชื่นใจ มันบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ บอกว่าธรรมชาติสร้างอะไรมากมายให้ภูเก็ต ทุกอย่างที่นี่เกิดขึ้นเพราะธรรมชาติทั้งนั้น
“เห็นไหมว่ากรุงเทพฯ กับที่นี่ต่างกันแค่ไหน แล้วถ้าวันหนึ่งกรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเรือไฟฟ้าทั้งหมดอะไรจะเกิดขึ้น ผมว่าเราอย่าไปมองแค่ผลประโยชน์ส่วนตัว EV มันคือการทำเพื่อคนอื่น ถ้าเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นไฟฟ้า กรุงเทพฯ หรือที่ไหนก็จะดีกว่านี้มาก เราต้องทำกันแล้ว อย่ามัวแต่คิดว่าจะเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง” โกดำทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง