ในเดือนแห่งความรัก ผู้เขียนขอชวนคุยเรื่องความรัก ที่บางครั้งก็ดูเหมือนน้อยนิดแต่กลับยิ่งใหญ่ นั่นคือการให้ของขวัญแทนการบอกรัก ที่บางคนก็ตั้งหน้าตั้งตารอ อยากได้เหลือเกิน โดยเฉพาะในทุกเทศกาลพิเศษ แต่บางคนกลับมองว่านี่เป็นสิ่งไร้สาระและไม่จำเป็น บ้างยังบอกว่าเป็นสิ่งสิ้นเปลือง
ท้าทายอำนาจทุนนิยม
ถ้ามองแบบคนไม่โรแมนติกเลยก็เข้าใจได้ว่า การรู้สึกโดนกระตุ้นจากสังคมกลุ่มหนึ่งที่กดดันให้เราต้องเชื่อว่า ‘สิ่งของนอกกาย’ นั้นมีคุณค่ามากกว่าสิ่งอื่น อาจทำให้เรารู้สึกต่อต้านได้ โดยเฉพาะหากของสิ่งนั้นโดนบวกราคาขึ้นหลายเท่าเมื่ออยู่ในบางเทศกาล เช่น ดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์
การต้องจ่ายเงินที่เยอะเกินปกติเพื่อทะนุถนอมความสัมพันธ์ที่มันควรเป็นแค่เรื่องของเรา ก็คงทำให้รู้สึกหงุดหงิดจริงๆ นั่นแหละ แต่ความรู้สึกของอีกคนล่ะ เราอาจต้องมองทะลุไปให้เห็นถึงจิตใจของเขาหรือเปล่า
ความน้อยใจจากสังคมในโซเชียลมีเดีย
เราอยู่ในยุคที่โลกจริงถูกกลืนเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียลมากขึ้นทุกที จนหลายคนยังหลงคิดเลยว่า ถ้าฉันไม่โพสต์รูปลงโซเชียลมีเดีย คนอื่นจะรู้ไหม แล้วถ้าคนอื่นไม่รู้ เรื่องของเรามันจะเป็นเรื่องจริงไหม
ด้วยแพลตฟอร์มที่สร้างมาให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกโซเชียลมีอิทธิพลอย่างมากในการวัดค่าความรักของตัวเองผ่านเรื่องราวของคนอื่น เช่น การรู้สึกไม่ไว้ใจหากแฟนตัวเองไม่ลงรูปคู่ หรือความรู้สึกน้อยใจที่เห็นแฟนไม่ซื้อดอกไม้มาให้ ทั้งๆ ที่คู่อื่นเขาโชว์ดอกไม้ช่อใหญ่กันเกลื่อนอินสตาแกรมไปหมด
ผลกระทบจากโซเชียลมีเดียอาจทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่เป็นที่รักมากพอ และอีกฝ่ายหนึ่งก็รู้สึกกดดันที่ต้องแสดงออกซึ่งความรักมากขึ้น ซึ่งปกติเขาอาจไม่ใช่คนที่ทำแบบนั้น
อะไรเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้อาจกำลังบั่นทอนความสัมพันธ์อยู่ โดยที่ทั้งคู่ไม่ทันฉุกคิดก็ได้
สิ่งที่อยู่ในใจมีมากกว่าแค่ของที่ซื้อให้กัน
ผู้หญิงคนหนึ่งอาจโกรธมากที่แฟนลืมซื้อน้ำผลไม้ปั่นที่เธอชอบมาให้ ทั้งๆ ที่เขาขับรถผ่านร้านนั้น
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดูงี่เง่า แต่ลึกๆ แล้วมันไม่ใช่แค่การเจ็บใจที่ไม่ได้ทานของโปรด แต่คือความโดดเดี่ยวในความรู้สึกที่ไม่ได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษจากคนรักของตัวเอง
ไม่ต่างกัน อีกคนหนึ่งอาจงอนมากที่คนรักไม่เคยซื้อของขวัญอะไรให้เลย แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยขนาดไหน ถ้าได้สำรวจภายในจิตใจ ลึกๆ มันอาจไม่ใช่แค่การได้ใช้ ได้อวด ได้ชื่นชมของชิ้นนั้น แต่คือความรู้สึกที่ได้รับการมองเห็นคุณค่า ซึ่งเธอเริ่มคิดว่ามันเลือนรางไปจากใจของคนรักก็เป็นได้
และความรู้สึกที่อยู่ลึกๆ เหล่านี้เอง หากยังไม่ได้รับการมองเห็นสักที นับวันก็ยิ่งเสี่ยงกลายเป็นความเคยชิน จนจืดชืดเฉยชาในใจของคนนั้น
ความรักที่ดีต้องเรียนรู้ว่าอีกฝ่ายให้ค่าความรักอย่างไร
หลายครั้งการทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรารักเขาแค่ไหน ไม่ใช่แค่การส่งความรักในแบบของเราให้เขาเสมอไป แต่คือการคอยสังเกตและใส่ใจว่าสำหรับเขา ‘อะไรบ้างที่ทำให้สัมผัสถึงความรัก’ และคอยมอบสิ่งนั้นให้เขาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความรักมั่นคงที่เรามีให้
‘ดร.แกรี แช็ปแมน’ (Dr.Gary Chapman) ได้จำแนก 5 Love Languages หรือภาษารักทั้งห้า สำหรับคู่รักหรือใครก็ตามในการคอยสังเกตภาษารักผ่านการแสดงออกถึงความรู้สึกได้รับความรักของอีกฝ่าย เพื่อความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งแน่นแฟ้นขึ้น
1) การบริการ (Acts of Service) : การทำให้อีกฝ่ายมีชีวิตสะดวกขึ้น เช่น ไปรับไปส่งที่ทำงาน แวะไปรับชุดที่ซักแห้งแล้วมาให้ ช่วยทำความสะอาดบ้าน
2) การได้รับของ (Receiving Gifts) : รู้สึกมีความสุขในการซื้อของ/ทำของให้อีกฝ่าย และรู้สึกพิเศษในหัวใจเมื่อได้รับของบางอย่างจากคนที่รัก
3) ช่วงเวลาคุณภาพ (Quality Time) : ให้ค่าการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน โดยโฟกัสความสัมพันธ์ที่อยู่ตรงหน้า
4) คำพูด (Words of Affirmation) : ชอบการได้รับคำชม ชอบฟังการให้กำลังใจ
5) สัมผัส (Physical Touch) : ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชอบการมีเซ็กซ์เสมอไป แต่คือการได้สัมผัสกันเมื่ออยู่ด้วยกัน เช่น จับมือกันในที่สาธารณะ นอนกอดกันดูทีวีบนโซฟา
แต่ละคนอาจให้ค่าภาษารักต่างกัน เช่น คนหนึ่งรู้สึกเป็นที่รักเมื่อได้รับของขวัญแทนใจ แม้จะไม่ใช่ของราคาสูง แต่ทำให้รู้สึกว่าอีกคนยังนึกถึงตนเสมอ แต่หากอีกฝ่ายส่งภาษารักให้แต่คำพูดหวานๆ หรือหาเวลามาอยู่ด้วยกันบ่อยๆ ถึงแม้ทั้งสองจะรักกัน แต่ก็อาจรู้สึกมีช่องโหว่บางอย่างในความรักนั้น ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รักเขาในแบบที่เขารู้สึกถูกรักบ้าง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาษารักมีมากกว่า 5 ข้อนี้อีกนะ คู่รักแต่ละคู่อาจมีเอกลักษณ์ต่างกันไป บางคู่เป็นมุกตลกที่มีจริตเดียวกัน ต้องมีแพสชันไปในทางเดียวกัน ให้ความสำคัญบางอย่างในระดับที่เท่ากัน เช่น ต่างคนต่างเห็นงานมาก่อน และทุกฝ่ายมีความสุขที่เห็นอีกฝ่ายให้คุณค่ากับงานของตัวเองมากๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เราต่างต้องคอยสังเกตกันและกันให้ดี และพร้อมใจปรับเข้าหาความชอบความสบายใจของอีกฝ่าย เพื่อให้คนที่อยู่ในความสัมพันธ์ได้รับรู้ถึงความรักเหมือนกัน และก็ไม่ใช่แค่สังเกตสิ่งที่ชอบ แต่ต้องสังเกตสิ่งที่ไม่ชอบหรือทำให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำด้วย รวมถึงทำความเข้าใจว่าทำไมอีกฝ่ายถึงไม่โอเคกับมันขนาดนี้ และเตือนตัวเองให้มีสติ ไม่ทำแบบนั้น
การใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ช่วยอุดช่องโหว่ความสัมพันธ์ได้
หลายคู่เมื่ออยู่ด้วยกันนานๆ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะชินชา บ้างคิดว่าความสัมพันธ์ของเราไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก มันจะอยู่กันไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละ เลยเผลอหลงลืมความสำคัญของการดูแลใจกันและกัน
‘เจมส์ เซ็กซ์ทัน’ (James Sexton) ทนายหย่าร้างชื่อดังเล่าถึงเคสหนึ่งที่เขาเคยดูแล ว่าด้วยผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะหย่ากับสามีของเธอ เพราะที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ขนมกราโนลาในตู้ใกล้หมด สามีจะเป็นคนคอยซื้อใหม่มาเติมให้อยู่เสมอ ซึ่งนี่คือเรื่องเล็กๆ อันยิ่งใหญ่ที่เธอสัมผัสถึงความรักของอีกคน ทว่าพอนานเข้าสามีก็ไม่ได้ทำสิ่งนี้แล้ว เธอจึงรู้สึกว่า หากอีกฝ่ายไม่ได้มีความสุขที่จะทำให้เธอมีความสุข เธอก็ไม่อยากอยู่ในความสัมพันธ์ต่อ
ความสม่ำเสมอในเรื่องเล็กน้อยของความสัมพันธ์ จึงเป็นกาวใจชั้นดีที่จะประสานให้คนสองคนประคับประคองความรักความเข้าใจกันต่อไปได้อย่างราบรื่น
ปรับหลักคิดและการกระทำ เพื่อลดความหวาดกลัวในความไม่แน่นอน
ความรู้สึกมั่นคงในจิตใจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการได้รับสิ่งของใหญ่ๆ ชิ้นเดียว แต่เป็นการค่อยๆ ใส่ใจความชอบง่ายๆ ของอีกฝ่าย และทำให้เขารู้สึกว่าเรามองเห็นและให้ค่ามัน อาจเป็นการให้ของเล็กๆ ในวันสำคัญของความสัมพันธ์ เพื่อเตือนใจว่าความรักของเรายังน่าจดจำอยู่เสมอ อาจเป็นการไม่ลืมซื้อขนมที่อีกฝ่ายชอบมาให้ระหว่างวิ่งออกกำลังในเส้นทางประจำทุกเย็น หรืออาจเป็นการบอกรักก่อนนอนทุกคืน ฯลฯ
หลายอย่างในชีวิตนั้นอยู่เหนือการควบคุมของเรา การทำให้อีกฝ่ายรู้ว่ายังมีบางอย่างในชีวิตที่ยังเหมือนเดิมไม่ไปไหน จะนำพาความรู้สึกเย็นใจว่าความสัมพันธ์ที่เราคอยหล่อเลี้ยงมาอย่างยาวนานนี้ยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัยเสมอ
แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะได้อย่างใจเราทุกอย่างในความสัมพันธ์ แต่สิ่งที่จะช่วยให้การเอาอกเอาใจคู่ของเราเป็นเรื่องเบาสบายคือ การรับรู้ว่า การที่เราปรับตัวเองบางอย่างเพื่อทำให้คนที่เรารักมีความสุขบ้าง นั่นก็คือความสุขของเราเช่นกัน และหากทุกคนสามารถสัมผัสถึงความสุขเดียวกันนี้ได้ในความสัมพันธ์ มันจะเป็นเชื้อเพลิงให้ความสัมพันธ์ของเราขับเคลื่อนออกไปได้อีกไกล
Sources :
PsychCentral | bit.ly/48lioK2
The 5 Love Languages | bit.ly/3uCn1l2