ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอยู่ไม่น้อย ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน ‘ทิดธรรม’ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมในชายแดนใต้ของไทย ซึ่งแวดล้อมไปด้วยวัฒนธรรม วิถีคนท้องถิ่น ความรุนแรง และความไม่สงบในอำเภอเบตง, ยะลา
เรากำลังพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘โอเค เบตง’ จากฝีมือผู้กำกับเบอร์ใหญ่ “คุณอุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ที่นอกจากจะใช้เป็นพื้นที่สะท้อนมุมสังคมชายแดนใต้แล้ว หนังเรื่องนี้ยังเป็นจุดกำเนิด วิถีมนุษย์จักรยานของคุณอุ๋ย ในการปั่นออกไปมองฟ้า มองน้ำ และมองกรุงเทพฯ เมืองที่มีความสัมพันธ์กับผู้คนแบบ Love and Hate
“ชีวิตก็เหมือนการขี่จักรยาน จะสนุกได้ มันต้องรู้จักถีบ”
โอเค | เริ่มปั่นจักรยาน
“เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เราเคยไปถ่ายหนังเรื่อง “โอเค เบตง” เราเห็นทีมงานเอาจักรยานไปด้วยกันเต็มไปหมด ตื่นเช้าขึ้นมา เขาก็ลุกมาปั่นจักรยานกัน เรามองแล้วมันเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากนะ มันเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เราตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ มาซื้อจักรยานเป็นของตัวเอง แล้วเอาขึ้นเครื่องกลับไปปั่นกับทีมงานที่เบตง”
“เมืองเบตง เป็นที่เริ่มต้นปั่นจักรยานที่ดีมากสำหรับเรา ซึ่งเป็นเมืองที่มีของกินเยอะมาก อากาศดี เย็นสบาย แล้วก็มีสถานที่ท่องเที่ยวเต็มไปหมดเลย มันทำให้เรารู้สึกว่าการเริ่มต้นขี่จักรยาน มันเป็นการเริ่มต้นที่งดงาม แล้วก็มีพี่ๆ น้องๆ ในกองถ่ายที่ปั่นอยู่แล้ว ชวนเราไปขี่จักรยาน แนะนำวิธีการขี่ที่ถูกต้อง ต้องใส่หมวกกันน็อค ปั่นยังไงให้ปลอดภัย ขึ้นเขายังไง ลงเขายังไง ใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานมาก ช่วงถ่ายหนังก็สามเดือนแล้ว ก็ขี่จักรยานกันทุกวัน ทำให้เราเรียนรู้เรื่องการขี่จักรยาน แล้วก็รู้สึกชอบ รู้สึกว่าเป็นกีฬาที่เหมาะกับเรา”
อานนั่ง สองล้อ | ครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร
“เราเริ่มแถวบ้านนะ เพราะคนที่เริ่มออกถนนครั้งแรก ส่วนใหญ่แล้วจะมีความกลัว วิธีการคือเราต้องซ้อม ให้เกิดความชำนาญในการขี่จักรยาน รู้วิธีการดูแลรักษา อุปกรณ์ช่วยในความปลอดภัย หมวกกันน็อค ถุงมือ อะไรต่างๆ ว่าพร้อมขนาดไหน ซึ่งตอนที่เริ่มขี่ในกรุงเทพฯ อากาศเป็นอย่างแรกที่เราคำนึงถึง ทุกคนจะบอกว่ากรุงเทพฯ ร้อน แต่จริงๆ แล้วพอเรารู้ว่าร้อน ก็หาเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ใส่ปลอกแขน สวมหน้ากาก”
“พอเรามีความชำนาญมากขึ้น เราขี่ไปที่นู่นที่นี่บ่อยๆ ด้วยความเป็นจักรยาน เราสามารถไปไหนก็ได้ ตรอก ซอกเล็กๆ เราก็ไปได้ ซึ่งเราพยายามเลี่ยงถนนใหญ่ เพราะเรารู้เรื่องมลพิษ ซึ่งข้อดีของกรุงเทพฯ คือมันสามารถไปตามซอยได้ แล้วมันสร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยนะ คือเรานึกถึงว่า เมื่อก่อนเราขับรถ เราก็จะจำได้ว่าเราขับจากตรงนี้ไปตรงนี้ เราจะไปยังไง เราก็นึกภาพออกหมดเลย แต่พอเป็นจักรยาน เราได้เห็นเส้นทางใหม่ๆ เรารู้สึกตื่นเต้น ได้เห็นอะไรที่คนอื่นเค้าไม่เห็น คนขับรถยนต์ไม่มีทางเห็น หรือบางครั้งมอเตอร์ไซค์ก็เข้าไม่ได้ แต่เราสามารถลงเดินแล้วจูงจักรยานเข้าไป”
เรียนรู้และเข้าใจ | ท้องถนน
“เราไม่ได้ไปโทษเขาเท่าไหร่นะ ก็มันเป็นอาชีพของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องทำ ซึ่งเราเองก็ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”
“เมื่อจำเป็นต้องอยู่บนเส้นถนนใหญ่ เราก็ต้องคอยระมัดระวัง ดูให้ดี รู้จักเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้จักรถเมล์ รู้จักแท็กซี่ รู้จักมอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊กด้วย เพราะ อาชีพของเขาก็คือรับส่งผู้โดยสาร จะมีการปาดหน้า เบียด หรืออะไรก็ตาม ที่เขาต้องทำตามหน้าที่ของเขา อย่างถ้าต้องตามตุ๊กตุ๊ก เราจะต้องตามยังไง ควรจะแซงหรือควรจะอยู่ข้างหลัง เห็นท่าไม่ดีก็ยกขึ้นฟุตปาธ ตามแท็กซี่เราก็ต้องดู เขาเปิดไฟเลี้ยวหรือเปล่า เพราะผู้โดยสารเขาก็จะเปิดประตูเลยแล้วก็ลง ผู้โดยสารเขาก็จะรีบ เขาก็ไม่ได้มองเราเลย มันมีโอกาสที่เราจะชนประตู หรือไม่ก็คนด้วยนะ ก็เรียนรู้จักซึ่งกันและกัน เราว่าทุกๆ อย่างอยู่ที่เรานี่แหละ ว่าเราอยากจะเรียนรู้เขาหรือเปล่า เราจำเป็นต้องอยู่ในเมืองหลวงแบบนี้ ชอบไม่ชอบไม่ว่ากัน แต่ใครจำเป็นต้องอยู่ในเมืองหลวงก็ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง”
เลนจักรยาน | ใช้บ้างไหม
“ก็ได้ใช้ แต่ใช้ๆ หยุดๆ เพราะว่าเดี๋ยวก็มีมอเตอร์ไซค์มาจอด แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก หรือรถเก๋งเองก็จอดบนเลนจักรยาน เราก็ต้องยอมรับระดับหนึ่งว่า ความเป็นคนไทยโดยรวม มีความมักง่าย มีความเห็นแก่ตัวในระดับหนึ่งอยู่ นี่คือความจริง ที่เราว่าทุกคนยอมรับได้ คือ ไม่สนใจว่าจะจอดอยู่ในเลนจักรยาน แม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์ที่ขี่สวนจักรยานตลอดเวลา เพราะคนด่าเวลาเขาขี่จักรยานสวนเลน ดังนั้นเลนจักรยานมันเซ็ฟไง มอเตอร์ไซค์เขาก็จะมาวิ่งสวนเลนจักรยาน พอขี่จักรยานมาก็ เห้ยย!! ยังไงกัน กลับต้องเป็นคนยกจักรยานขึ้นไปบนฟุตปาธเพื่อให้เขาไป”
“กระทั่งบางเลนจักรยานที่เขาทำที่กั้นสีส้มเต็มยาว ยังพังที่กั้นเข้ามาจอดได้เลย”
“แต่เรายังมีความหวังอยู่ว่า อีกสักหน่อย คนรุ่นใหม่ขึ้นมา เขาคงมีจิตสำนึกที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะในระหว่างช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราเห็นคนทำแย่กว่านี้มาเยอะ ไม่เข้าคิวเลย ทื้งขยะ ถุยน้ำลายบนพื้น ซึ่งเดี๋ยวนี้มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะใช้เวลานานมาก แต่เรามีโซเชียลมีเดีย มันมีรายการโทรทัศน์ที่พูดถึงสิ่งดีๆ ให้คนมีจิตสำนึกที่ดีขึ้น ทุกอย่างมันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น”
ปั่นแล้วประทับใจ | จนอยากไปปั่นบ่อยๆ
“จริงๆ มีหลายที่มากนะ เช่น ไปเส้นสนามหลวง เส้นราชดำเนิน เป็นเส้นที่มีความสุขมาก เพราะว่าถ้าเราใช้จักรยานจริงๆ มันสามารถมีทางลัดเลาะไปถึงปากคลองตลาด เสาชิงช้า มีซอยทุกซอย แล้วแต่ละซอยมีความโบราณ คือข้างหน้ามันอาจจะดูเป็นสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ถ้าคุณเลี้ยวเข้าซอยไปเมื่อไหร่ จะเจอความโบราณที่มันงดงาม มันเป็นศิลปะ มันเคยเป็นศิลปะชิโนโปรตุกีส หรือเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ เป็นไม้ ที่สวยจังเลย”
“แม้กระทั่งบางกระเจ้า ก็ถือว่ายังอยู่ในกรุงเทพฯ นะ บางกระเจ้าเป็นเส้นทางปั่นจักรยานที่สวยงามมาก มีทั้งตลาดน้ำ บ้านพัก โฮมสเตย์สวยๆ แล้วมีเส้นทางจักรยานยาวๆ แบบคุณจะเอากี่โล ห้าสิบโลก็ได้ เพราะมันมีเส้นทางเต็มไปหมดเลย มันมีที่ดูนก มีสวนสาธารณะ มีฟาร์มเห็ด มีการส่งเสริมการเกษตร ปลอดภัย แล้วก็จะมีคนปั่นจักรยานกันเยอะ มันเหมือนเกาะ แต่มันมีของครบอยู่บนนั้น ซึ่งไปทีไรก็รู้สึกประทับใจทุกที”
“เส้นทางในกรุงเทพฯ พอพ้นจากถนนใหญ่เมื่อไหร่ ความงามมันจะเกิดขึ้นทุกที่”
ขี่จักรยาน | แรงบันดาลใจ | ภาพยนตร์
“การที่เราเข็นจักรยานไปหาเขา พูดคุยกับเขา เรานึกถึงว่าถ้าเราขับรถเก๋ง รถเบนซ์หรือรถอะไรไม่รู้ไป เขาก็คง โห! ไอนี่มาทำไมวะ แต่ความเป็นมนุษย์จักรยาน มันทำให้คนกล้าพูดกับเรา เขาไม่ได้กังวลว่าเราจะมาทำอะไร มาตรวจอะไรเขาหรือเปล่า เราไม่สร้างมลพิษให้ใคร แล้วเราเห็นได้เลยว่า แต่ละชุมชนมีความงาม มีวิธีเล่นของเด็ก ของผู้ใหญ่ มันมีสารพัด ที่ยิ่งเราเป็นคนทำหนังเนี่ย เราก็จะได้ข้อมูล หยิบตรงนั้นมาหน่อย หยิบตรงนั้นมานิดนึง แล้วเอามาใส่ในตัวละครเรา”
“อย่างล่าสุดเราทำหนังเรื่อง “ของขวัญ-ตอนดอกไม้ในกองขยะ” เราได้พล็อตนี้มาจากการขี่จักรยาน คือวันหนึ่งเราขี่จักรยานไปในซอยเล็กๆ ธรรมดา เจอรถขยะเต็มซอย แล้วเราจำเป็นต้องขี่จักรยานตามรถขยะ ซึ่งกลิ่นมันสุดยอดมาก ขณะเดียวกันเราก็ถอยหลังมาดูคนเก็บขยะเขาทำงาน แล้วคิดในแง่มุมที่ว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่โครตเสียสละเลย เขาอยู่กับความเหม็น อยู่กับสิ่งที่เรารังเกียจ เขาอยู่กับทุกอย่างที่เราทิ้ง เราทิ้งแต่เขาเก็บ นั่นคือความเสียสละของคนเก็บขยะที่เรารู้สึกได้”
“ในโมเมนท์ที่เรายืนอยู่บนจักรยานแล้วเห็นเขาทำงานกันอยู่ ขนาดเราถอยมาไกล เรายังได้กลิ่นอยู่ตลอดเวลา แต่เขามีความสุข เอ็นจอยด์กับการทำงาน ยอมตื่นแต่เช้ากว่าคนอื่น เสียสละเพื่อเก็บทุกอย่างให้สะอาด นั่นคือต้นทางของหนังเลย ซึ่งเราว่ามันแบบแจ๋วมาก รุ่งขึ้นเราก็ไปพูดคุยกับเขา และได้เห็นแง่มุมหนึ่งซึ่งมันงดงามในด้านจิตใจ มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าเขาจะมีรายได้เท่าไหร่ แต่วิธีคิดของเขามันงดงามมาก”
“เราถามเขาว่า อนาคตเขาอยากเป็นอะไร เขาบอกว่าเขาอยากขยับจากคนเก็บขยะข้างหลัง ไปขับรถข้างหน้า เราแบบโห! ความฝันเขาใกล้จังเลย มันน่ารัก เพราะว่าคนเก็บขยะเป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่คนขับรถเป็นข้าราชการ แล้วนั่งห้องแอร์ ชนชั้นมากนะ แค่หัวรถท้ายรถ เขาคิดแค่ว่า ถ้าได้ไปตรงนั้นมีความสุขจะตาย ฟังเพลง อยู่ในห้องแอร์ สบายๆ”
มองกรุงเทพฯ | ผ่านสายตาผู้กำกับ
“เอาจริงๆ เลยนะ (หัวเราะ) คือจริงๆ แล้วเราเป็นคนไม่ชอบความหนาแน่น ความคนเยอะ ความอึกกะทึกคึกโครม เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ มี 3 อย่างนี้ครบ เลยทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าไม่จำเป็นเราจะไม่เข้ามา สังเกตไหมว่าหนังเรื่องแรกๆ ของเรา 5-6 เรื่อง เราไม่ถ่ายที่กรุงเทพฯ เลย เรารู้สึกว่า เราไม่ชอบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มันเป็นเหลี่ยม มันดูอึดอัด เราก็เลยบอกตัวเองว่าเราไม่ชอบกรุงเทพฯ แต่จริงๆ มันก็ไม่ถึงกับไม่ชอบหรอก แต่เราแค่รู้สึกว่าเรา ไม่ได้อยากจะเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ตลอด
“แต่เรารู้สึกว่า กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่น่าอยู่อีกเมืองหนึ่ง ในแง่มุมของคนขี่จักรยาน เรารู้สึกว่า มันมีแง่มุมที่ไม่ได้เลวร้าย เหมือนบางคนเขาบอกว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับของโลกเลย พอเราใช้จักรยานเที่ยว ก็จะเห็นเสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ ที่มันซุกซ่อนอยู่ คือบางทีความสุขมันอยู่บนรอยแตกของถนนนะ เราจำได้ว่า เห้ย อันนี้มันเพิ่งแตกนี่ แล้วมันเริ่มมีใบไม้ขึ้นมาในรอบที่สาม มีดอกไม้ขึ้นมาในรอบที่ห้า ซึ่งเรามีความสุขมาก บางทีเราก็ลงไปถ่ายรูปมัน ไม่ต้องรีบร้อนไปไหน มันเป็นสโลว์ไลฟ์ที่มีความสุขอย่างหนึ่ง คราวนี้มันก็อยู่ที่ใจเราแล้ว ว่าเราจะเอ็นจอยด์มันยังไง เราจะหาความสุขระหว่างทางได้ยังไง”
“ถ้าเรารู้จักกรุงเทพฯ รู้จักตัวเอง ก็จะรู้จักการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้อย่างมีความสุข”